การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบเรื่องและอนุภาคในปัญญาสชาดก

การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบเรื่องและอนุภาคในปัญญาสชาดก

เอื้อนทิพย์ พีระเสถียร

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๒๙

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
วิทยานิพนธ์นี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาเนื้อหานิทานในปัญญาสชาดกตามแนวนิทานพื้นเมือง โดยมุ่งศึกษาเนื้อหาของนิทานเรื่องนั้น ๆ เป็นสำคัญ และแบ่งประเด็นการศึกษา ออกเป็น ๒ ประการ คือ ๑. แบบเรื่อง (type) ของนิทาน ๒. อนุภาค (motif) ของนิทาน แล้วนำไปเปรียบเทียบกับแบบเรื่องและอนุภาคสากลที่รวบรวมไว้ในดัชนีแบบเรื่องนิทานพื้นเมือง และดัชนีอนุภาคนิทานพื้นเมือง เพื่อศึกษาความเหมือน ความแตกต่าง เพื่อความรู้เกี่ยวกับบ่อเกิดและความเปลี่ยนแปลงของนิทาน รวมทั้งค่านิยมที่ปรากฏ

สมมติฐานของการวิจัย
แบบเรื่องและอนุภาคในปัญญาสชาดกมีลักษณะอันอาจจัดเป็นหมวดหมู่ ทั้งลักษณะเฉพาะตัวและลักษณะอันเป็นไปตามแบบเรื่องและอนุภาคสากล

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาวิเคราะห์แบบเรื่องและอนุภาคในปัญญาสชาดกฉบับหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๖๑ เรื่อง เปรียบเทียบกับดัชนีแบบเรื่องนิทานพื้นเมือง (The Types of the Folktale) และดัชนีอนุภาคนิทานพื้นเมือง (Motif-Index of Folk Literature) ซึ่งเป็นดัชนีที่รวบรวมและจัดจำแนกแบบเรื่องและอนุภาคของนิทานพื้นเมืองหลายประเภทจากดินแดนสำคัญทั่วโลก การวิเคราะห์นิทานปัญญาชาดกนี้ มีสมมติฐานว่านิทานเหล่านี้เป็นนิทานพื้นเมืองดั้งเดิมที่นำมาดัดแปลงให้เป็นชาดก

การวิเคราะห์แบบเรื่อง กระทำโดยแบ่งนิทานเป็นประเภท และวิเคราะห์ตามรูปแบบเปรียบเทียบกับแบบเรื่องในดัชนีแบบเรื่องนิทานพื้นเมืองเป็นเรื่อง ๆ ไป ผลของการวิเคราะห์ปรากฎว่า นิทานในปัญญาสชาดก แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีแบบเรื่องปรากฎในดัชนี ได้แก่ นิทานส่วนใหญ่ในประเภทนิทานทรงเครื่อง นิทานอุทาหรณ์ นิทารมุขตลก และนิทานปริศนา ซึ่งมีเนื้อหาเป็นนิทานทางโลก กลุ่มหนึ่งไม่มีแบบเรื่องปรากฏในดัชนี ได้แก่ นิทานศาสนาส่วนใหญ่ หรือเรียกว่านิทานทางธรรมและอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มผสม กล่าวคือ เนื้อเรื่องบางตอนมีแบบเรื่องปรากฎในดัชนี บางตอนไม่มีแบบเรื่องปรากฎในดัชนี ซึ่งตอนที่ไม่มีแบบเรื่องปรากฎในดัชนีนี้มักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางศาสนา นิทานเรื่องหรือตอนที่มีแบบเรื่องปรากฎในดัชนี หรือที่มีเนื้อหาเป็นนิทานทางโลกนี้ สันนิษฐานได้ว่ามีที่มาจากนิทานพื้นเมืองดั้งเดิม นำมาแต่งเติมเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ให้เป็นชาดก ส่วนนิทานที่ไม่มีแบบเรื่องปรากฏในดัชนีหรือนิทานทางธรรมนั้น ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนิทานพื้นเมืองหรือไม่ โดยอาจเป็นนิทานที่เรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อสั่งสอนศาสนาโดยเฉพาะ หรือเป็นนิทานพื้นเมืองที่มีลักษณะเฉพาะประเภท เฉพาะถิ่น

การวิเคราะห์อนุภาคกระทำตามบทบาท พฤติกรรมของตัวละคร และความมหัศจรรย์ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครในนิทานแต่ละประเภท เปรียบเทียบกับอนุภาคในดัชนีอนุภาคนิทานพื้นเมืองผลการวิเคราะห์อนุภาค ทำให้เห็นถึงค่านิยมและวัฒนธรรมของชนผู้เป็นเจ้าของนิทาน ได้แก่ ความปรารถนาจะประสบความสำเร็จโดยง่ายดาย ความปรารถนาจะเอาชนะธรรมชาติ ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับเทพเจ้า ความเชื่อในสวรรค์ว่าเป็นสถานที่สวยงามสุขสบาย ความเชื่อในเทพเจ้าว่ามีอำนาจลิขิตชีวิตมนุษย์ ธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ อย่างเช่น การออกป่าบำเพ็ญพรต การสร้างโรงทาน การเสี่ยงราชรถเลือกกษัตริย์ ความนับถือพราหมณ์ และความเชื่อทางโหราศาสตร์ ค่านิยมดังกล่าวแสดงสัญชาตญาณและความปรารถนาของมนุษย์ทั่วไป ส่วนวัฒนธรรมแสดงลักษณะสังคมอินเดียโบราณอย่างเห็นได้ชัด แสดงว่าผู้เรียบเรียงปัญญาสชาดก ซึ่งนำนิทานมาจากคัมภีร์ภาษาบาลีและสันสกฤตนั้น มิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขนิทานจากของเดิมมากนัก

วิทยานิพนธ์นี้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการรวบรวมพื้นเมืองไทย จัดทำดัชนีแบบเรื่องและดัชนีอนุภาค เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบในระหว่างนิทานพื้นเมืองไทยด้วยกันหรือระหว่างนิทานพื้นเมืองไทยกับนิทานจากเขตอื่น ทั้งค้นคว้าที่มาของนิทานศาสนาหรือนิทานทางธรรมที่มีแบบเรื่องเฉพาะตัว แตกต่างไปจากแบบเรื่องในดัชนีแบบเรื่องนิทานพื้นเมือง

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่ 
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/27862

ขอบคุณภาพจากทะเบียนนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.arts.chula.ac.th/AlumWeb/100years/Alumni.php?id=2068