การสืบทอดทำนองสวดและประเพณีสวดพระมาลัยที่บ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี

การสืบทอดทำนองสวดและประเพณีสวดพระมาลัยที่บ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี

ปรมินท์ จารุวร

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๔๒

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาประเพณีสวดพระมาลัยของชาวบ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
๒. เพื่อรวบรวมบทสวดและทำนองสวดพระมาลัย
๓. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อการสืบทอดประเพณีสวดพระมาลัย

สมมติฐานของการวิจัย
๑. ประเพณีสวดพระมาลัยมีบทบาทในการรักษาทำนองสวดและช่วยสืบทอดวรรณกรรมเรื่องพระมาลัย
๒. ลักษณะเฉพาะทางสังคมของชาวบ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีเป็นปัจจัยสำคัญในการสืบทอดประเพณีสวดพระมาลัย

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาประเพณีสวดพระมาลัยที่บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทสวดและทำนองสวด ตลอดจนวิเคราะห์ปัจจัยทางสังคมที่มีต่อการสืบทอดประเพณีสวดพระมาลัย

ผลการศึกษาสรุปว่า การสวดพระมาลัยที่บ้านหนองขาวสวดโดยฆราวาส ผู้สวดเป็นชายวัย ๔๐ ปีขึ้นไป มีคณะสวด ๓ สำรับ ใช้บทสวดจากคัมภีร์สวดพระมาลัย ฉบับ ส. ธรรมภักดีเป็นหลัก ปัจจุบันมีทำนองสวดทั้งสิ้น ๒๒ ทำนอง จำแนกได้เป็น ทำนองสวดพระธรรม ๒ ทำนอง ทำนองเก่า ๕ ทำนอง และทำนองลำนอก ๑๕ ทำนอง

ผู้วิจัยพบว่า ปัจจัยทางสังคมของบ้านหนองขาวมีผลต่อการสืบทอดประเพณีสวดพระมาลัย ประการแรก ความเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานทำให้ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นและตนเอง จึงเกิดการสืบทอดประเพณีของชุมชน ประการที่สอง การมีลักษณะสังคมแบบพึ่งพากันทางด้านแรงงานทำให้เกิดความผูกพันและรักพวกพ้อง ประการที่สาม การมีระบบเครือญาติที่ผูกพันกันด้วยความเชื่อในผีบรรพบุรุษ ผีประจำหมู่บ้าน และประเพณีแต่งงานทำให้มีคนมาร่วมในพิธีศพเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการสืบทอดประเพณีสวดพระมาลัย ประการที่สี่ การนับถือพุทธศาสนาแบบชาวบ้านที่เชื่อในเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดผลักดันให้เกิดประเพณีสวดพระมาลัยเพราะชาวบ้านเชื่อว่าการสวดพระมาลัยจะทำให้ผู้ตายได้ไปสวรรค์ นอกจากนี้ การมีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองซึ่งเกิดจากการตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ยังเป็นปัจจัยที่เอื้อให้มีการสืบทอดประเพณีของชุมชนอีกด้วย ปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้ประเพณีสวดพระมาลัยยังคงสืบทอดอยู่ที่บ้านหนองขาวนี้ได้

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/9646

 

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย