แบบเรื่องนิทานสังข์ทอง: การแพร่กระจายและความหลายหลาก

แบบเรื่องนิทานสังข์ทอง: ความแพร่หลายและการแตกเรื่อง

วัชราภรณ์ ดิษฐป้าน

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๔๕

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาความแพร่หลายของแบบเรื่องนิทานสังข์ทองของคนไทยในถิ่นต่าง ๆ และในกลุ่มชนชาติไท
๒. เพื่อเปรียบเทียบลักษณะร่วมและลักษณะแตกต่างของนิทานแบบเรื่องสังข์ทองสำนวนต่าง ๆ
๓. เพื่อศึกษาลักษณะการแตกเรื่องของนิทานในแบบเรื่องนิทานสังข์ทอง

สมมติฐานของการวิจัย
แบบเรื่องนิทานสังข์ทองเป็นแบบเรื่องที่แพร่หลายอย่างมากในกลุ่มคนไทยและกลุ่มชนชาติไทจนเกิดการแตกเรื่องเป็นนิทานเรื่องใหม่ ๆ อีกหลายเรื่อง

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษาความแพร่หลายของแบบเรื่องนิทานสังข์ทอง และปรากฏการณ์การแตกเรื่องของนิทานที่เกิดขึ้นในกระบวนการแพร่กระจายของนิทานสังข์ทอง ผู้วิจัยได้รวบรวมนิทานในแบบเรื่องนิทานสังข์ทองได้ ๗๒ สำนวนจากนิทานของคนไทยภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งนิทานของกลุ่มชนชาติไทที่อยู่นอกประเทศไทย

ผลการศึกษาพบว่าแบบเรื่องนิทานสังข์ทองเป็นแบบเรื่องที่แพร่หลายมากในกลุ่มชนชาติไท เพราะปรากฏทั้งในนิทานของคนไทยภาคต่าง ๆ และในกลุ่มชนชาติไททั้งในและนอกประเทศ ซึ่งมีความรับรู้เรื่องสังข์ทองและนิทานในแบบเรื่องนิทานสังข์ทองที่คล้ายคลึงกัน การวิเคราะห์โครงสร้างของนิทานสังข์ทองพบว่าแบบเรื่องนิทานสังข์ทองประกอบไปด้วยเหตุการณ์สำคัญ ๔ ตอน คือ กำเนิดผิดปกติ-ตัวเอกออกผจญภัย-ตัวเอกที่ซ่อนรูปพบคู่ครองและถูกพ่อตาทดสอบ-การเผยร่างและการยอมรับ และมีพฤติกรรมหลักทั้งหมด ๑๑ พฤติกรรมที่กำหนดโครงสร้างของแบบเรื่อง คือ การกำเนิดในรูปลักษณ์ประหลาด การแสดงความสามารถพิเศษ การออกเดินทาง การได้ผู้อุปถัมภ์ การได้สิ่งวิเศษหรือทรัพย์สมบัติ การอำพรางตัวหรือรูปลักษณ์ที่น่ารังเกียจ การเลือกคู่ การทดสอบความสามารถ การแต่งงาน การถอดรูป และเหตุการณ์หลังจากตัวเอกเปิดเผยตัว

ผู้วิจัยได้นำเหตุการณ์สำคัญทั้ง ๔ ตอนและพฤติกรรมหลักทั้ง ๑๑ พฤติกรรมมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างนิทาน ๗๒ สำนวน ทำให้สามารถจำแนกโครงสร้างในแบบเรื่องนิทานสังข์ทองได้เป็น ๓ แบบ ได้แก่ แบบเรื่อง ก สังข์ทอง แบบเรื่อง ข ก่ำกาดำ และแบบเรื่อง ขก ท้าวแบ้

การศึกษาปรากฏการณ์การแตกเรื่องของนิทานทำให้พบว่าความแพร่หลายของนิทานสังข์ทองทำให้เกิดนิทานเรื่องใหม่อีกหลายเรื่องจากโครงเรื่องสังข์ทองอันเป็นโครงเรื่องต้นแบบ นิทานเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในกระบวนการแตกเรื่องนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่าง ๆ ทั้งในระดับพฤติกรรมและโครงเรื่อง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการแตกเรื่องของนิทานสามารถสรุปได้ ๘ ลักษณะ คือ การเปลี่ยนแปลงลำดับของพฤติกรรมหลัก การตัดเนื้อหาบางตอนหรือตัดบางพฤติกรรมหลักออกจากโครงเรื่อง การนำโครงเรื่องบางตอนไปแต่งเป็นนิทานเรื่องใหม่ การเพิ่มจำนวนครั้งในบางพฤติกรรมหลักเพื่อเน้นพฤติกรรมหลักในบางตอน การเพิ่มพฤติกรรมใหม่และเหตุการณ์บางตอนแทรกในโครงเรื่องเดิม การเพิ่มโครงเรื่องย่อย การผนวกเรื่อง และการคงโครงสร้างเดิมแต่เปลี่ยนรายละเอียดในพฤติกรรม ทำให้นิทานเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในกระบวนการแตกเรื่องมีความแตกต่างจากนิทานต้นแบบแม้ว่าจะยังคงมีโครงสร้างหลักร่วมกัน

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/5139

 

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์