

เพลงบอกบุญ จังหวัดตราด: กลวิธีการโน้มน้าวใจและบทบาทต่อสังคม
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๔๗
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาและรวบรวมเพลงบอกบุญ จังหวัดตราด
๒. เพื่อวิเคราะห์กลวิธีการใช้ภาษาเพื่อโน้มน้าวใจของเพลงบอกบุญจังหวัดตราด
๓. เพื่อวิเคราะห์บทบาทของเพลงบอกบุญ จังหวัดตราด ที่มีต่อสังคม
สมมติฐานของการวิจัย
เพลงบอกบุญ หมายถึงเพลงพื้นบ้านของไทยประเภทหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ในการร้องขอบริจาคสิ่งของ และเงินเพื่อนำไปถวายวัดในเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลออกพรรษา สารทไทย ฯลฯ ผู้ร้องทำหน้าที่เป็นผู้ขอเพื่อให้ผู้บริจาคทานได้มีโอกาสสร้างและสะสมบุญกุศลตามความเชื่อของชาวพุทธ เพลงบอกบุญ พบในจังหวัดตราด ๓ ชนิด ได้แก่เพลงขอทาน เพลงรำภาข้าวสาร และเพลงเดินบาตรข้าวสาร ส่วนใหญ่ใช้กลวิธีโน้มน้าวใจผ่านการใช้ภาษาและคัดสรรเนื้อหาจากวรรณคดีพระพุทธศาสนา เพลงบอกบุญจึงมีบทบาทในการสืบทอดพระพุทธศาสนาในสังคม
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมเพลงบอกบุญ จังหวัดตราด วิเคราะห์กลวิธีการใช้ภาษาเพื่อโน้มน้าวใจของเพลงบอกบุญ ตลอดจนวิเคราะห์บทบาทของเพลงบอกบุญที่มีต่อสังคมจังหวัดตราด
ผลการวิจัยพบว่า เพลงบอกบุญ คือเพลงที่ชาวบ้านใช้ร้องเพื่อเรี่ยไรเงินทองหรือสิ่งของให้วัดในเทศกาลสงกรานต์ มีที่มาจากประเพณีรำภาข้าว ที่ขอข้าวสารเข้าวัดเพื่อใช้เตรียมงานเทศน์มหาชาติในปลายเดือน ๕ ต่อ เดือน ๖ ปัจจุบันเพลงบอกบุญ จังหวัดตราด มี ๓ ชนิด ได้แก่ เพลงรำภาข้าวสาร เพลงขอทาน และเพลงเดินบาตรข้าวสาร มีโครงสร้างของเพลงประกอบด้วยองค์ประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ การบอกวัตถุประสงค์ การโน้มน้าวใจ และการให้พร
ผู้ร้องเพลงบอกบุญมีกลวิธีการใช้ภาษาเพื่อโน้มน้าวใจให้ได้รับบริจาคทานหลากหลายกลวิธี โดยใช้กลวิธีทางภาษาได้แก่ การใช้คำสรรพนามแสดงความอ่อนน้อมและแสดงความเป็นหมู่คณะเดียวกัน การใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบเพื่อแสดงความขาดแคลน การใช้กลวิธีทางเนื้อหาได้แก่ การยกตัวอย่างการทำทานและผลของทานบุคคลสำคัญทางศาสนา การพรรณนารายละเอียดความขาดแคลน การอ้างหลักธรรม การแทรกอารมณ์ขัน การอ้างถึงอานิสงส์ และการเสนอสารซ้ำ ๆ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญ ปัจจุบันเพลงบอกบุญยังมีบทบาทสำคัญต่อสังคมจังหวัดตราด ทั้งบทบาทในด้านการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ในสังคม บทบาทด้านการให้ความหวังเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดแคลน บทบาทด้านการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน บทบาทด้านการเป็นสื่อพื้นบ้าน และบทบาทด้านการให้ความบันเทิง
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/25658
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล