บทบาทของจระเข้ในนิทานไทย

บทบาทของจระเข้ในนิทานไทย

ผศ.ดร.พรรณราย ชาญหิรัญ

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๑

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อวิเคราะห์ลักษณะและบทบาทของตัวละครจระเข้ที่ปรากฏในนิทานไทย

สมมติฐาน
ตัวละครจระเข้ที่มีลักษณะตามธรรมชาติในนิทานไทย ส่วนใหญ่เป็นตัวเอกที่มีบทบาทร้าย ส่วนตัวละครจระเข้ที่มีลักษณะเหนือธรรมชาติมักเป็นตัวเอกที่มีบทบาทดี

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะและบทบาทของจระเข้ในนิทานไทย ผู้วิจัยรวบรวมนิทานไทยที่ปรากฏบทบาทของตัวละครจระเข้ทั้งสำนวนลายลักษณ์และสำนวนมุขปาฐะได้ทั้งสิ้น ๑๐๗ เรื่อง ซึ่งปรากฏตัวละครจระเข้ทั้งสิ้น ๑๕๒ ตัว

ผลการศึกษาพบว่าตัวละครจระเข้ปรากฏในนิทานไทย ๙ ประเภท ได้แก่ ตำนานปรัมปรา นิทานศาสนา นิทานคติ นิทานมหัศจรรย์ นิทานชีวิต นิทานประจำถิ่น นิทานอธิบายเหตุ นิทานสัตว์ และมุขตลกและเรื่องโม้ ตัวละครจระเข้ที่ปรากฏในนิทานไทยแบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ ตัวละครจระเข้ที่มีลักษณะตามธรรมชาติ และตัวละครจระเข้ที่มีลักษณะเหนือธรรมชาติ ตัวละครจระเข้ที่มีลักษณะตามธรรมชาติจะมีลักษณะทางกายภาพเหมือนจระเข้ในธรรมชาติ และมักมีลักษณะนิสัยที่ร้าย ส่วนตัวละครจระเข้ที่มีลักษณะเหนือธรรมชาติจะมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างไปจากจระเข้ในธรรมชาติ ๓ ประการ คือ รูปร่างหน้าตา กำเนิด และอำนาจวิเศษ ตัวละครจระเข้มีลักษณะเหนือธรรมชาติมักมีลักษณะนิสัยที่ดี ตัวละครจระเข้ในนิทานไทยแบ่งตามบทบาทในเรื่องได้ทั้งสิ้น ๔ ประเภท คือ ตัวเอก ตัวปฏิปักษ์ ผู้ช่วย และตัวประกอบ

ตัวละครจระเข้ทั้ง ๔ ประเภทแสดงบทบาทในการเป็นผู้ทำลาย ผู้คุ้มครอง ผู้ช่วยเหลือตัวเอก ผู้เป็นพาหนะ ผู้สืบทอดประเพณี และผู้อบรมสั่งสอน ผู้วิจัยพบว่าตัวละครจระเข้ในนิทานไทยมักมีบทบาทเป็นผู้ทำลายและผู้คุ้มครองมากที่สุด ซึ่งเป็นบทบาทที่ตรงข้ามกันแต่มีสาเหตุมาจากความหวาดกลัวจระเข้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้นิทานไทยยังทำให้จระเข้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างน้อย ๒ ประการ คือ เป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่หวงสมบัติและตระหนี่ในทาน

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/57225

 

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาพเปิดเรื่อง : รูปไกรทองสู้กับชาละวัน จากเรื่องไกรทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ.๒๕๓๙– ๒๕๔๐ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ที่มา : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Levi-strauss_260.jpg