การสืบทอดการพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขนเรื่องรามเกียรติ์ของครูวีระ มีเหมือน

การสืบทอดการพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขนเรื่องรามเกียรติ์ของครูวีระ มีเหมือน

ผศ.รัตนพล ชื่นค้า

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๔

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาการสืบทอดการพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขนเรื่องรามเกียรติ์ของครูวีระ มีเหมือน
๒. เพื่อเปรียบเทียบการพากย์เจรจาของการแสดงหนังใหญ่กับโขนเรื่องรามเกียรติ์ของครูวีระ มีเหมือน

สมมติฐานของการวิจัย
๑. ครูวีระ มีเหมือนเป็นครูผู้สืบทอดการพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขนตามแบบแผนโบราณ และสร้างสรรค์คำเจรจาประเภทลอยดอก
๒. การพากย์-เจรจหนังใหญ่ของครูวีระ มีเหมือนแตกต่างจากการพากย์-เจรจาโขนในเรื่องทำนอง คือการพากย์เจรจาหนังใหญ่จะใช้ทำนองเร็วกว่าการพากย์-เจรจาโขน

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการสืบทอดการพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขนเรื่องรามเกียรติ์ของครูวีระ มีเหมือน โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครูวีระ มีเหมือน และวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการพากย์-เจรจาหนังใหญ่กับโขน โดยเลือกตอนศึกทศกัณฐ์ครั้งที่ ๕ (ศึกใหญ่) ของครูวีระ มีเหมือน เป็นกรณีศึกษา

ผลการศึกษาพบว่า ครูวีระ มีเหมือนเป็นครูผู้สืบทอดการพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขนตามแบบแผนโบราณ โดยสืบทอดการพากย์-เจรจาหนังใหญ่จากหม่อมราชวงศ์จรูญสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ ในสายของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) และสืบทอดการพากย์-เจรจาโขนจากครูสง่า ศะศิวณิช ในสายของพระยาสุนทรเทพระบำ (เปลี่ยน สุนทรนัฏ) การสืบทอดองค์ความรู้ดังกล่าวเป็นการสืบทอดตามประเพณีมุขปาฐะ ด้วยวิธีการฝากตัวเป็นศิษย์กับครูและวิธีครูพักลักจำ

องค์ความรู้ในการพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขนตามแบบแผนโบราณ ประกอบด้วย ประเภทของการพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขน ขั้นตอนการฝึกพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขน หลักการฝึกพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขน ภูมิปัญญาด้านการพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขนของครูวีระ มีเหมือน นอกจากสืบทอดองค์ความรู้ตามแบบแผนโบราณแล้ว ครูวีระ มีเหมือนยังได้สร้างสรรค์คำเจรจาลอยดอกในการแสดงหนังใหญ่และโขน ผู้วิจัยพบว่าทำนองพากย์-เจรจา หนังใหญ่และโขนมี ๕ ทำนอง คือ ทำนองพากย์ฉบัง ทำนองพากย์ยานี ทำนองพากย์ชมดง ทำนองพากย์โอ้ และทำนองเจรจาเท้าความ โดยทำนองพากย์-เจรจาหนังใหญ่และโขนที่มีความแตกต่างกัน คือ ทำนองพากย์ฉบังและทำนองเจรจาเท้าความ

ปัจจัยที่ทำให้ไม่มีการสืบทอดองค์ความรู้ดังกล่าวในปัจจุบันมี ๓ ประการ คือ ปัจจัยเรื่อง ผู้ถ่ายทอด ปัจจัยเรื่องผู้สืบทอด และปัจจัยเรื่องสภาพการแสดง

ผลการศึกษาเปรียบเทียบการพากย์-เจรจาหนังใหญ่กับโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกทศกัณฐ์ ครั้งที่ ๕ (ศึกใหญ่) ของครูวีระ มีเหมือน พบว่า มีความแตกต่างอยู่ ๕ องค์ประกอบ คือ คำพากย์ คำเจรจา ทำนองพากย์-เจรจา สำเนียงพากย์-เจรจา และการเรียนรู้ประเภทและอายุของตัวละคร ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ ทำนองพากย์-เจรจาหนังใหญ่เร็วกว่าทำนองพากย์-เจรจาโขน การพากย์-เจรจาหนังใหญ่ใช้สำเนียงอ่อนหวาน ขณะที่การพากย์-เจรจาโขนใช้สำเนียงดุดัน ขึงขัง

รางวัลที่ได้รับ:
รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประเภทนิสิตมหาบัณฑิต
กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๕

Download PDF

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/22477