นิทานเรื่องศรีธนญชัยในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัย

นิทานเรื่องศรีธนญชัยในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัย

อ.อัญมาศ ภู่เพชร

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๖๐

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาการนำนิทานเรื่องศรีธนญชัยมาใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยประเภทนิทานภาพและหนังสือการ์ตูน
๒. เพื่อศึกษาพลวัตและบทบาทของนิทานเรื่องศรีธนญชัยที่ปรากฎในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยประเภทนิทานภาพและหนังสือการ์ตูน

สมมติฐานของการวิจัย
การนำนิทานเรื่องศรีธนญชัยมาใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยประเภทนิทานภาพและหนังสือการ์ตูน แสดงให้เห็นถึงการสร้างสรรค์นิทานในบริบทใหม่ โดยนำอารมณ์ขันและความเจ้าปัญญามาใช้ในการผูกเรื่องสร้างตัวละครและองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตในสังคมสมัยใหม่และการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์แนววัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture)

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาการนำนิทานเรื่องศรีธนญชัยมาใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยประเภทนิทานภาพและหนังสือการ์ตูนที่พบทั้งหมดในปัจจุบันจำนวน ๘ เรื่อง และศึกษาพลวัตและบทบาทของนิทานเรื่องศรีธนญชัยที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่า นิทานเรื่องศรีธนญชัยในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยจำแนกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑) ศรีธนญชัยในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยที่ยังคงเค้าโครงเรื่องเดิม ๒) ศรีธนญชัยในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยที่มีการดัดแปลงและสร้างสรรค์บางส่วน ๓) ศรีธนญชัยในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยที่มีการสร้างสรรค์ใหม่ โดยมีลักษณะการนำองค์ประกอบนิทานเรื่องศรีธนญชัยมาใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัย ๓ แนวทาง คือ ๑) การคงองค์ประกอบเดิม เช่น อนุภาคเหตุการณ์สำคัญ อนุภาคตัวละครสำคัญ ความเป็นนิทานเจ้าปัญญา ๒) การดัดแปลงองค์ประกอบ เช่น อนุภาคเหตุการณ์สำคัญ อนุภาคตัวละครสำคัญ แนวคิดสำคัญ ๓) การเพิ่มเติมองค์ประกอบ เช่น อนุภาคตัวละครสำคัญ แนวคิดสำคัญ องค์ประกอบที่สร้างอารมณ์ขัน

พลวัตในนิทานกลุ่มที่คงเค้าเรื่องเดิมมี ๒ ประการ คือ ๑) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเรื่องศรีธนญชัยมาเป็นนิทานภาพและหนังสือการ์ตูน ๒) การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับสื่อรูปแบบใหม่ ในนิทานกลุ่มที่มีการดัดแปลงและสร้างสรรค์บางส่วน และในนิทานกลุ่มที่มีการสร้างสรรค์ใหม่ พบพลวัต ๓ ประการ คือ ๑) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นหนังสือการ์ตูนและนิทานภาพ ๒) การเปลี่ยนแปลงจุดประสงค์เพื่อเป็นสื่อความรู้ทางวิชาการและการสอนศีลธรรม ๓) การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับสื่อรูปแบบใหม่และบริบทร่วมสมัย ได้แก่ การเพิ่มอนุภาคเหตุการณ์ใหม่เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการและสั่งสอนคุณธรรม การเพิ่มอนุภาคตัวละครประกอบที่มีลักษณะแปลกใหม่ น่าสนใจ การเปลี่ยนรายละเอียดอนุภาคตัวละครเอกให้มีลักษณะที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเนื้อเรื่องที่สร้างสรรค์ใหม่ การเปลี่ยนรายละเอียดอนุภาคเหตุการณ์เพื่อนำเสนอเรื่องในแง่มุมใหม่ การยืมอนุภาคตัวละครจากวรรณคดีเรื่องอื่นมาใช้ และการยืมอนุภาคเหตุการณ์จากวรรณคดีเรื่องอื่นมาใช้ การปรับเปลี่ยนดังกล่าวสัมพันธ์กับการอนุรักษ์และเผยแพร่นิทานไทย และการสร้างจุดขายของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในสังคม การปรับเปลี่ยนนี้ส่งผลให้นิทานเรื่องศรีธนญชัยในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยร่วมสมัยมีบทบาทหน้าที่ในการให้ความเพลิดเพลิน บทบาทในการอบรมระเบียบสังคม และบทบาทในการเป็นสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่

Download PDF

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาไทย
สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/60009