
ศิราพร ณ ถลาง, (บรรณาธิการ). ไวยากรณ์ของนิทาน: การศึกษานิทานเชิงโครงสร้าง. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๗. (๓๑๒ หน้า)
นิทานมีไวยากรณ์ด้วยหรือ ?
ไวยากรณ์ของนิทานมีโครงสร้างอย่างไร ?
หนังสือเรื่อง ไวยากรณ์ของนิทาน: การศึกษานิทานเชิงโครงสร้าง มีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษานิทานในเชิงโครงสร้าง โดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างของวลาดิมีร์ พรอพพ์ (Vladimir Prop) เป็นแนวทางในการศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นว่านิทานมีไวยากรณ์ คือมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดการดำเนินเรื่อง
ศ.กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง ผู้เขียนและบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ ได้ทดลองให้นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาภาษาไทย ที่เรียนรายวิชาสัมมนาทฤษฎีคติชนวิทยา ในภาคต้น ปีการศึกษา ๒๕๔๔ ทำภาคนิพนธ์โดยประยุกต์ทฤษฎีโครงสร้างนิทานของพรอพพ์กับข้อมูลนิทานในวัฒนธรรมต่าง ๆ และนำเสนอในรูปบทความ พร้อมทั้งสรุปข้อค้นพบเกี่ยวกับโครงสร้างนิทานไทยที่นำทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้ด้วย ทำให้หนังสือเล่มนี้มีบทความที่ให้ทั้งความกระจ่างเกี่ยวกับข้อสงสัยข้างต้นว่านิทานมีไวยากรณ์หรือไม่ และเป็นตัวอย่างในการนำทฤษฎีสำคัญทางคติชนวิทยามาประยุกต์ใช้รวมทั้งสิ้น ๗ บทความ ดังนี้
บทนำ: การศึกษานิทานเชิงโครงสร้าง โดย ศ.กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง
เนื้อหาในบทนี้เป็นการสรุปภาพรวมของการศึกษานิทานเชิงโครงสร้างจากบทความต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้ เริ่มจากการสรุปทฤษฎีโครงสร้างนิทานของวลาดิมีร์ พรอพพ์ เปรียบเทียบเชื่อมโยงข้อค้นพบโครงสร้างนิทานประเภทต่าง ๆ จากหลายวัฒนธรรม โดยเสนอข้อสรุปไว้อย่างชัดเจนน่าสนใจว่า ไวยากรณ์หรือโครงสร้างของนิทานถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ ๓ ประการ คือ
๑) ระบบคิดที่เป็นสากลของมนุษย์ (พฤติกรรมในนิทานที่เป็นสากล)
๒) ประเภทของนิทาน (พฤติกรรมที่ถูกกำหนดให้เหมาะสมกับประเภทนิทาน)
๓) ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของเจ้าของนิทาน (พฤติกรรมเฉพาะที่พบในแต่ละวัฒนธรรม)
กฎเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจไวยากรณ์ของนิทานชัดเจนและเห็นความคิดอันแยบยลที่แฝงอยู่ในนิทานในแต่ละวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นแนวทางให้เข้าใจการศึกษาโครงสร้างนิทานในบทความเรื่องต่อ ๆ ไปในหนังสือเล่มนี้ได้มากขึ้นด้วย
บทถัดมา ทฤษฎีโครงสร้างนิทานของวลาดิมีร์ พรอพพ์ โดย ศ.กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง และ อ.พิชญาณี เชิงคีรี เป็นการสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับทฤษฎีโครงสร้างนิทานของวลาดิมีร์ พรอพพ์ จากหนังสือ The Morphology of the Folktale กล่าวถึงที่มาของทฤษฎี สมมติฐานของทฤษฎีจากการศึกษานิทานรัสเซีย ๑๐๐ เรื่องที่พรอพพ์ศึกษา และวิธีการศึกษาโครงสร้างนิทานของพรอพพ์ อันจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจการศึกษาของวลาดิมีร์ พรอพพ์ ซึ่งนับว่าเป็นทฤษฎีที่สำคัญทฤษฎีหนึ่งในแวดวงคติชนวิทยา ดังที่นักคติชนเช่นอลัน ดันดีส (Alan Dundes) ยกย่องพรอพพ์ว่าเป็น “ผู้จุดประกายทางทฤษฎีคติชนวิทยาที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ ๒๑ คนหนึ่ง”
หนังสือเล่มนี้ยังประกอบด้วยบทความที่น่าสนใจ ได้แก่
– บทความเรื่อง “โครงสร้างนิทานจักร ๆ วงศ์” โดย อ.พิชญาณี เชิงคีรี ไชยยะ
– บทความเรื่อง “โครงสร้างชาดกพื้นบ้านของไทเขิน” โดย รศ. ดร.ปรมินท์ จารวุร
– บทความเรื่อง “โครงสร้างนิทานเชียงใหม่ปัณณาสชาดก” โดย ผศ. ดร.วีรวัฒน์ อินทรพร
– บทความเรื่อง “โครงสร้างนิทานกำพร้าของไท-ลาว” โดย ผศ. ดร.พิสิทธิ์ กอบบุญ
– บทความเรื่อง “โครงสร้างนิทานจีน” โดย อ.วาสนา ศรีรักษ์
บทความทั้ง ๕ เรื่องนี้นับเป็นตัวอย่างของการนำทฤษฎีโครงสร้างนิทานของวลาดิมีร์ พรอพพ์มาประยุกต์ใช้ศึกษาโครงสร้างของนิทานต่างประเภทและต่างวัฒนธรรมกัน ทำให้พบ “ไวยากรณ์ของนิทาน” ที่มีลักษณะเฉพาะและสัมพันธ์กับ “วิธีคิด” ของคนในแต่ละวัฒนธรรม นอกจากนี้ในตอนท้ายของแต่ละบทความยังมีภาคผนวกที่แสดงให้เห็นลำดับพฤติกรรมของโครงสร้างนิทานแบบต่าง ๆ ที่นำมาศึกษาและตัวอย่างของนิทานแต่ละแบบเรื่องอีกด้วย ผู้ที่สนใจอาจใช้เป็นแนวทางในการจำแนกสิ่งที่พรอพพ์เรียกว่าเป็น “พฤติกรรม” (function) ในนิทานได้เป็นอย่างดี
ไวยากรณ์ของนิทาน: การศึกษานิทานเชิงโครงสร้าง จึงเป็นหนังสือที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการนำทฤษฎีโครงสร้างนิทานของวลาดิมีร์ พรอพพ์มาเป็นแนวทางในการศึกษานิทานและอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาข้อมูลคติชนอื่น ๆ ได้ต่อไป เป็นหนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่งในแวดวงคติชนวิทยาของไทย ที่ใช้เป็นตำราประกอบการเรียนการสอนและการสัมมนาทางด้านทฤษฎีคติชนวิทยามาจวบจนปัจจุบัน
หมายเหตุ: ตำแหน่งทางวิชาการของผู้เขียนบทความ เป็นตำแหน่งทางวิชาการในปัจจุบัน
ผู้ปริทัศน์: ชุตินันท์ มาลาธรรม
นิสิตอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาคติชนวิทยา
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย