ตำนานพระธาตุของชนชาติไท: ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม

ตำนานพระธาตุของชนชาติไท: ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม

ศ.ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๔๘

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. วิเคราะห์บทบาทและความสำคัญของตำนานพระธาตุของคนไทกลุ่มต่าง ๆ
๒. วิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิมที่สะท้อนจากโครงสร้างและเนื้อหาของตำนานพระธาตุโดยใช้ระเบียบวิธีทางคติชนวิทยา

สมมติฐานของการวิจัย
ตำนานพระธาตุสำนวนต่าง ๆ ของชนชาติไทเป็นกลุ่มข้อมูลทางวัฒนธรรมที่สำคัญทั้งในฐานะที่เป็นวรรณคดีท้องถิ่นและวรรณคดีพุทธศาสนา และมีบทบาทในการอธิบายความเชื่อและพิธีกรรมในวิถีชีวิตของชนชาติไท นอกจากนั้นโครงสร้างและเนื้อหาของตำนานพระธาตุยังสะท้อนปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิมในหลายลักษณะ ทั้งการขัดแย้ง การประนีประนอม และการผสมผสานทางความเชื่อ

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษาตำนานพระธาตุของชนชาติไทในแง่ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม ทั้งนี้ผู้วิจัยได้รวบรวมตำนานพระธาตุที่อยู่ในการรับรู้ของชนชาติไท ได้แก่ ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ลาว ไทภาคเหนือและภาคอีสาน ทั้งที่เป็นข้อมูลลายลักษณ์และข้อมูลมุขปาฐะจำนวน ๙๖ เรื่อง ในการวิเคราะห์นี้ ผู้วิจัยได้ประยุกต์วิธีวิทยาในเชิงโครงสร้างนิยมของนักคิดสำคัญ ๒ ท่าน คือ Vladimir Propp และ Claude Lévi-Strauss มาเป็นกรอบแนวคิดในงานวิจัย

ผลการศึกษาพบว่า โครงสร้างของตำนานพระธาตุของชนชาติไทสามารถจำแนกออกเป็น ๔ แบบ คือ ๑) แบบมีการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าและการไม่ยอมรับพุทธศาสนา ๒) แบบมีการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าและการยอมรับพุทธศาสนา ๓) แบบไม่มีการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าและการไม่ยอมรับศาสนา และ ๔) แบบไม่มีการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า และการยอมรับพุทธศาสนา

ผู้วิจัยได้วิเคราะห์เปรียบเทียบวิธีคิดที่แตกต่างกันระหว่างความเชื่อดั้งเดิมแบบพุทธศาสนา โดยแยกพิจารณาจากชุดความคิดเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตัวละคร และพฤติกรรมของตัวละคร วิธีคิดแบบความเชื่อดั้งเดิมในชุดความคิดเกี่ยวกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วย “ท้องฟ้า, ภูเขา, ต้นไม้, เสาหลัก, ก้อนหิน, ถ้ำ และน้ำ” ส่วนความคิดเกี่ยวกับตัวละคร ประกอบด้วย “นาค, ยักษ์, ผี, สัตว์, ชนพื้นเมือง และฤาษี” ในขณะที่ชุดความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรม ประกอบด้วย “การเดินทางกลับมาสร้างเมือง, การสั่งสอนเรื่องทางโลก, การบูชาผี, การสร้างหอผี การพยากรณ์จากผี” ส่วนวิธีคิดแบบพุทธศาสนาในชุดความคิดเกี่ยวกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วย “สวรรค์ พระธาตุ พระบาท พระพุทธรูป ต้นโพธิ์ พุทธบัลลังก์ และวัด” ส่วนชุดความคิดเกี่ยวกับตัวละคร ประกอบด้วย “พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า พระสาวก พระเจ้าอโศก พระนางจามเทวี พระอินทร์ และเทวดา” ในขณะที่ชุดความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรม ได้แก่ “การเดินทางมาเผยแพร่พุทธศาสนา, การสั่งสอนเรื่องทางธรรม, การบูชาพระพุทธเจ้า, การสร้างพระธาตุ และการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า”

นอกจากจะวิเคราะห์วิธีคิดที่แตกต่างระหว่างความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนาแล้ว ผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์ลักษณะที่เป็นการผสมผสานทางความคิดระหว่างความเชื่อทางศาสนาทั้งสองระบบอีกด้วย ผู้วิจัยได้วิเคราะห์พิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาพระธาตุที่ปรากฏในบริบทสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาติไท ทั้งพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาพระธาตุ พิธีกรรมเกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ พิธีกรรมเกี่ยวกับการบันดาลความอุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมเกี่ยวกับการสร้างบุญและอุทิศส่วนกุศล พิธีกรรมเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อทางพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม

การวิเคราะห์ลักษณะปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิมที่สะท้อนโครงสร้างและเนื้อหาของตำนานพระธาตุตลอดจนพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาพระธาตุพบว่ามีหลายลักษณะ ทั้งการขัดแย้ง การยอมรับ และการผสมผสานกลมกลืนกัน ลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางความคิดความเชื่อทางศาสนาของคนไทที่นับถือพุทธศาสนา

Download PDF

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58158

ภาพเปิดเรื่อง : ภาพต้นศรีมหาโพธิ์ หรือ ไม้สรีใจเมือง วัดหัวข่วง และวัดพระเจ้าหลวง เมืองเชียงตุง  ที่มา : ปฐม หงษ์สุวรรณ. (๒๕๔๘). ตำนานพระธาตุของชนชาติไท : ความสำคัญและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๒๑๓.