

การสืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของหมอเหยาและอัตลักษณ์ของผู้ไทในพิธีเหยาเลี้ยงผี: กรณีศึกษาตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
อ.ดร.สุรชัย ชินบุตร
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๓
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อวิเคราะห์วิธีการสืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธิ์และวิธีการสร้างเครือข่ายของกลุ่มหมอเหยาในพิธีเลี้ยงผีและในบริบททางสังคมของชาวผู้ไท
๒. วิเคราะห์อัตลักษณ์ของผู้ไทจากองค์ประกอบของพิธีเหยาเลี้ยงผีที่ตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
สมมติฐานของการวิจัย
๑. พิธีเหยาเลี้ยงผีมีบทบาทสำคัญในการสืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ผู้ที่จะเป็นหมอเหยารักษาโรคและพิธีกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างเครือข่ายของกลุ่มหมอเหยาชาวผู้ไท
๒. วัตถุสัญลักษณ์ เช่น เครื่องเซ่นสังเวย เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย และพฤติกรรมสัญลักษณ์ เช่น การตีกลองไข่ การปัดหิ้งผี ซึ่งเป็นองค์ประกอบในพิธีเหยาเลี้ยงผี แสดงอัตลักษณ์ของผู้ไท ตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาการสืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของหมอเหยาและอัตลักษณ์ของผู้ไทในพิธีเหยาเลี้ยงผี โดยศึกษาพิธีกรรมเหยาเลี้ยงผีของกลุ่มหมอเหยาชาวผู้ไทของตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓ โดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในพิธีกรรมเหยาเลี้ยงผีและสัมภาษณ์หมอเหยาทุกคนที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาพบว่าวิธีการสืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของหมอเหยาชาวผู้ไท มี ๒ ประเภท คือ ประเภทแรก สืบทอดโดยผ่านสายตระกูล และประเภทที่สอง สืบทอดโดยผ่านพิธีเหยาคุมผีออก ซึ่งหมอเหยาจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีไท้ผีแถนเพื่อรับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ติดต่อกัน ๓ ครั้ง หมอเหยาจึงจะมีพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์เพื่อไปรักษาโรคให้กับผู้ป่วยต่อไป ผู้ป่วยที่หายจากการเจ็บป่วยอาจจะฝากตัวเป็นลูกศิษย์และตัดสินใจที่จะได้รับอำนาจศักดิ์สิทธิต่อจากหมอเหยาและเป็นหมอเหยาต่อไป ในกรณีนี้ ผู้ป่วยผู้นั้นก็จะมีสภาพเป็น ลูกเมือง และหมอเหยาผู้ที่ทำการรักษาก็จะมีสภาพเป็นแม่เมือง แต่ถ้าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาผู้นั้นไม่ต้องการเป็น ลูกเมือง แต่เลือกที่จะเป็นเพียงบริวารของหมอเหยา ผู้ป่วยในกรณีหลังนี้ก็จะมีสภาพเป็นเพียง ลูกเลี้ยง ซึ่งทั้งสองวิธีดังกล่าวนี้นับเป็นการสร้างเครือข่ายของกลุ่มหมอเหยาชาวผู้ไท อันประกอบด้วยทั้ง แม่เมือง ลูกเมือง และลูกเลี้ยง
ผู้วิจัยได้วิเคราะห์สัญลักษณ์ในพิธีเหยาเลี้ยงผีว่า วัตถุสัญลักษณ์ และพฤติกรรมสัญลักษณ์เปรียบเหมือนภาพจำลองสนามรบระหว่างผีไท้ผีแถนกับวิญญาณผีร้ายที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย วัตถุและพฤติกรรมต่าง ๆ ล้วนแสดงนัยสำคัญในเรื่องของอำนาจและพลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถทำลายล้างสิ่งอวมงคล และบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ผู้ป่วยได้ พิธีกรรมเหยาเลี้ยงผีซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ชาวผู้ไทสืบทอดกันมายาวนานหลายศตวรรษ จึงเป็นเสมือนการเน้นย้ำให้ชาวผู้ไทได้ตระหนักถึงความเป็นมากลุ่มของตนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่มีวัฒนธรรมในระดับเมือง ที่เคยมีพิธีกรรมหนึ่งที่สืบทอดอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท นอกจากนั้น วัตถุสัญลักษณ์และพฤติกรรมสัญลักษณ์ในพิธีเหยาเลี้ยงผียังสะท้อนลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของชาวผู้ไทและสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อทางศาสนากับการรักษาโรคแบบพื้นบ้านของชาวผู้ไท
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58158
ภาพเปิดเรื่อง : หมอเหยาเชิญผีลงเทียมร่างผู้ป่วยในพิธีเหยาคุมผีออก ที่มา : สุรชัย ชินบุตร. (๒๕๕๓). การสืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของหมอเหยาและอัตลักษณ์ของผู้ไทในพิธีเหยาเลี้ยงผี: กรณีศึกษาตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ภาพที่ ๒๙ หน้า ๘๘.