อิทธิปาฏิหาริย์กับการสร้างเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์: ขนบนิยมและพลวัตในประวัติพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทยภาคกลาง

อิทธิปาฏิหาริย์กับการสร้างเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์: ขนบนิยมและพลวัตในประวัติพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทยภาคกลาง

ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๕

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อวิเคราะห์ที่มา ลักษณะ และบทบาทของอิทธิปาฏิหาริย์ประเภทต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทยภาคกลาง
๒. เพื่อวิเคราะห์ขนบนิยมและพลวัตของการสร้างสรรค์เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทยภาคกลาง

สมมติฐานของการวิจัย
เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์ในภาคกลางของไทยมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์เป็นชุดเหตุการณ์สำคัญที่มีบทบาทในการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์นั้นมีทั้งการผลิตซ้ำจากชุดเหตุการณ์เดียวกันจากวรรณกรรมประเภทพุทธประวัติและประวัติพระสาวกซึ่งเป็นการสร้างสรรค์เรื่องเล่าตามขนบนิยม อีกทั้งมีการผนวกเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์จากวรรณกรรมพื้นบ้านของไทย รวมถึงความเชื่อเรื่องคาถาอาคมและเครื่องรางของขลังซึ่งเป็นที่นิยมในสังคมไทย อันเป็นพลวัตของการสร้างสรรค์เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์ในสังคมภาคกลางของไทย

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ที่มา ลักษณะ และบทบาทของอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในชีวประวัติพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทยภาคกลาง และเพื่อวิเคราะห์ขนบนิยมและพลวัตของการสร้างสรรค์เรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์โดยมีขอบเขตการวิจัย คือ ชีวประวัติของพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทยภาคกลางที่มรณภาพแล้ว และมีบันทึกชีวประวัติสมบูรณ์ จำนวน ๘๙ รูป

ผลการศึกษาพบว่า ชุดเหตุการณ์สำคัญในเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตพระเกจิอาจารย์ของไทย รวมทั้งขั้นตอนความเป็นวีรบุรุษทางศาสนามักเป็นไปตามขนบนิยมที่พบในเรื่องเล่าของศาสนบุคคลในคัมภีร์พุทธศาสนา ทว่าก็มีเหตุการณ์ย่อยและขั้นตอนบางขั้นตอนที่แตกต่างกันอันนับว่าเป็นลักษณะอันเป็นพลวัตในเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์ของไทย

ลักษณะของอิทธิปาฏิหาริย์ที่พบในชีวประวัติพระเกจิอาจารย์ของไทยมีทั้งที่เป็นไปตามขนบนิยมทางพุทธศาสนาและที่เป็นพลวัตด้วยอิทธิพลของสังคมวัฒนธรรมไทย อิทธิปาฏิหาริย์จากขนบนิยมทางพุทธศาสนาได้แก่ ๑) การมีตาทิพย์-หูทิพย์ ๒) ปฏิสัมพันธ์กับอมนุษย์ ๓) ความสามารถในการหยั่งรู้เหตุการณ์ในอดีต ๔) ความสามารถในการระลึกชาติ ๕) ความสามารถในการหยั่งรู้เหตุการณ์ปัจจุบันด้วยญาณ ๖) ความสามารถในการหยั่งรู้เหตุการณ์ในอนาคต ๗) ความสามารถในการหยั่งรู้วาระจิตของผู้อื่น ๘) การสำแดงฤทธิ์ด้วยวิธีต่าง ๆ ๙) การบรรลุธรรมและฌานสมาบัติ ๑๐) การปรากฏลักษณะของผู้มีบุญ ๑๑) ความสามารถสั่งสอนธรรมได้เป็นอัศจรรย์ ๑๒) ความสามารถในการทำสัตว์ให้เชื่องหรือสื่อสารกับสัตว์ด้วยอำนาจแห่งเมตตา ๑๓) การบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บด้วยอำนาจการกำหนดจิต และ ๑๔) เหตุมหัศจรรย์ในช่วงมรณภาพและการจัดการสรีระสังขาร ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นพลวัต ได้แก่ ๑) อิทธิปาฏิหาริย์ว่าด้วยความแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี ๒) อิทธิปาฏิหาริย์ว่าด้วยการทำให้มีเสน่ห์ทางเพศ ๓) อิทธิปาฏิหาริย์ว่าด้วยเมตตามหานิยม เรียกทรัพย์ ๔) คาถาอาคม ๕) การประลองฤทธิ์ ๖) วาจาสิทธิ์ ๗) การปราบภูตผี ๘) การรักษาโรค ๙) การกลายเป็นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์หลังการมรณภาพ และ ๑๐) อิทธิปาฏิหาริย์ที่มีที่มาจากความคิดความเชื่ออื่น ๆ ในสังคมไทย

อิทธิปาฏิหาริย์ทั้งที่เป็นขนบนิยมและพลวัตมีบทบาททั้งในการสร้างสรรค์เรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวประวัติพระเกจิอาจารย์ให้เป็นเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ช่วยเติมเต็มความต้องการทางใจของพุทธศาสนิกชนและมีบทบาทต่อธุรกิจวัตถุมงคล

Download PDF

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55412

ขอบคุณต้นฉบับภาพปกจาก http://www.baanjompra.com/webboard/thread-2522-1-1.html