

ย่านไชน่าทาวน์เยาวราช:
พื้นที่การนำเสนออัตลักษณ์เชิงซ้อนของวัฒนธรรมความเป็นจีนในสังคมไทยร่วมสมัย
อ.ดร.นรุตม์ คุปต์ธนโรจน์
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๘
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. ศึกษาความหลากหลายของการแสดงอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นจีนที่นำเสนอในย่านไชน่าทาวน์เยาวราชในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย
๒. วิเคราะห์วิธีการนำเสนออัตลักษณ์ของวัฒนธรรมความเป็นจีนในย่านไชน่าทาวน์เยาวราชในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย
๓. วิเคราะห์ปัจจัยและบริบทของโลกาภิวัตน์ที่มีผลต่อการนำเสนออัตลักษณ์ของย่านไชน่าทาวน์เยาวราชในสังคมไทยร่วมสมัย
สมมติฐานของการวิจัย
ย่านไชน่าทาวน์เยาวราชเป็นพื้นที่ที่มีการมีการนำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่อย่างหลากหลายและซ้อนทับกัน เช่น อัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายจีน อัตลักษณ์ของเยาวราชที่อิงกับความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ อัตลักษณ์ที่สัมพันธ์กับความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ และอัตลักษณ์ความเป็นจีนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรืออ้างอิงของเก่า อัตลักษณ์เหล่านี้นำเสนอผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยคนในชุมชนและคนนอกชุมชน ในบริบทของการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการเมือง ความมั่นคงของชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน รวมถึงการธำรงรักษาความเป็นจีนในสังคมไทย
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการนำเสนออัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นจีนในย่านไชน่าทาวน์เยาวราชในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย เพื่อวิเคราะห์ “อัตลักษณ์เชิงซ้อน” ที่มีลักษณะหลากหลายในพื้นที่ทางวัฒนธรรมในย่านเยาวราช รวมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยและบริบททางสังคมที่มีผลต่อการนำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผู้วิจัยศึกษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมความเป็นจีนผ่านพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในย่านได้แก่เทศกาลตามประเพณีจีนซึ่งจัดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจำนวน ๔ เทศกาล คือ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลบ๊ะจ่าง เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลกินเจ โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๕ – พ.ศ. ๒๕๕๘ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในย่าน ได้แก่ ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช วัดไตรมิตรวิทยาราม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตสัมพันธวงศ์ และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านเก่าเล่าเรื่องชุมชนเมืองเจริญไชย
ผลการศึกษาพบว่า เทศกาลตามประเพณีจีนและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในย่านเยาวราชเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กลุ่มต่าง ๆ นำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมความเป็นจีน ในพื้นที่เยาวราชมีกลุ่มที่จัดงานเทศกาลและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในบริบทต่าง ๆ อยู่ ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง คือ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ สภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์ นักการเมืองท้องถิ่นและบริษัทออร์กาไนเซอร์ และกลุ่มที่สอง คือ ผู้จัดระดับชุมชน มีทั้งสิ้น ๓ ชุมชน คือ ชุมชนเวิ้งนาครเขษม ชุมชนตลาดน้อย และชุมชนเจริญไชย
อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมความเป็นจีนที่นำเสนอ คือ อัตลักษณ์ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น อาหาร อาชีพ พิธีกรรมความเชื่อ และอัตลักษณ์การเป็นคนไทยเชื้อสายจีนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ทั้งนี้อัตลักษณ์ที่นำเสนอโดยกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มนับว่าเป็น “อัตลักษณ์เชิงซ้อน” ที่ “หลากหลาย” และ “ซ้อนทับ” อีกทั้งยังมีความซับซ้อนของผู้สร้างและนำเสนออัตลักษณ์ รวมทั้งมีลักษณะเชิงซ้อนของกระบวนการสร้างสรรค์และวิธีนำเสนออัตลักษณ์ก็มีการผลิตซ้ำ ประดิษฐ์สร้าง และอ้างอิงวัฒนธรรมอื่น ซึ่งแปรไปตามปฏิสัมพันธ์ที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญด้วย เช่น นักท่องเที่ยว กลุ่มทุน
ผู้วิจัยพบว่า การนำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมความเป็นจีนที่เกิดขึ้นในย่านเยาวราชดังที่กล่าวมา เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของการท่องเที่ยวและบริบทของโลกาภิวัตน์ทั้งในมิติของบุคคล เทคโนโลยี ทุน สื่อไร้พรมแดน และ อุดมการณ์ซึ่งเป็นบริบททางสังคมที่สำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/50679