ความเชื่อและบทบาทของประเพณีทานธัมม์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ความเชื่อและบทบาทของประเพณีทานธัมม์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

อ.ดร.จตุพร เพชรบูรณ์

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๙

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาประเพณีทานธัมม์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่อพยพจากรัฐฉานและสิบสองพันนามาอาศัยอยู่ที่ตำบลเวียงพานคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
๒. เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อและวิธีคิดของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่ตำบลเวียงพานคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในการเลือกวรรณกรรมที่ใช้ถวายในประเพณีทานธัมม์
๓. เพื่อวิเคราะห์บทบาทของประเพณีทานธัมม์ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทข้ามพรมแดนในบริบทของประเทศไทย

สมมติฐานของการวิจัย
๑. กลุ่มชาติพันธุ์ไทที่ตำบลเวียงพานคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีความเชื่อและวิธีคิดในการเลือกถวายวรรณกรรมในประเพณีทานธัมม์ที่สัมพันธ์กับชะตาเกิดและวัตถุประสงค์ของผู้ถวาย
๒. ประเพณีทานธัมม์มีบทบาทในการเป็นศูนย์รวมกลุ่มชาติพันธุ์ไทและตอบสนองความต้องการทางจิตใจให้กลุ่มชาติพันธุ์ไทข้ามพรมแดนในบริบทของประเทศไทย

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเพณีทานธัมม์ซึ่งเป็นประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในการถวายคัมภีร์ให้วัด, เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อและวิธีคิดของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่อพยพมาจากรัฐฉานและสิบสองพันนามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายในการเลือกคัมภีร์ถวายให้วัดในแต่ละโอกาส และเพื่อวิเคราะห์บทบาทของประเพณีทานธัมม์ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทในบริบทข้ามพรมแดน ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามช่วง พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๘

ผลการศึกษาพบว่า ความเชื่อเรื่องอายุพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดคติทานธัมม์เพื่อค้ำชูศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์ไทที่ ต.เวียงพางคำ มีประเพณีทานธัมม์ทั้งในระดับบุคคล ในระดับชุมชน และมีประเพณีทานธัมม์บางอย่างที่รับมาจากชาวไทยวน ในระดับบุคคล คนไทมีขนบในการทานธัมม์ “จากน้อยไปใหญ่” ซึ่งเป็นการทำบุญด้วยการถวายวัตถุสิ่งของและถวายคัมภีร์เป็นลำดับขั้น เริ่มจากทานธัมม์ปารมี ทานธัมม์ชาตา ทานธัมม์ปิฏกะทังสาม ทานธัมม์สามสุมสี่ทัน ทานมหาปาง และทานธัมม์กัมม์วาจา, ประเพณีทานธัมม์ในระดับชุมชนพบเพียงประเพณีเดียวคือ ตั้งธัมม์เวสสันตระ (การถวายธัมม์มหาชาติ), ส่วนการทานธัมม์ที่รับอิทธิพลจากชาวไทยวน คือ การทานธัมม์อุทิศในงานทำบุญร้อยวัน

ในบรรดาคัมภีร์ที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทถวายเข้าวัดพบว่า ธัมม์ชาตา หรือคัมภีร์ที่กำหนดให้ถวายตามวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด ของผู้ถวาย และ ธัมม์อุทิศ หรือคัมภีร์ที่ถวายเพื่ออุทิศบุญให้ผู้เสียชีวิตเป็นประเภทของคัมภีร์ที่มีผู้ถวายเข้าวัดจำนวนมากที่สุด ผู้วิจัยจึงเน้นการศึกษาคัมภีร์ ๒ กลุ่มดังกล่าว

ผลการศึกษาพบว่า วิธีคิดในการเลือกเรื่องถวายคัมภีร์ในการทานธัมม์ชาตาตั้งอยู่บนฐานคิดที่สัมพันธ์กับโหราศาสตร์ ปีนักษัตร และคติปัญจอันตรธาน ผู้ถวายจะเลือกเรื่องถวายตามชาตาเกิดของผู้ถวายให้ตรงตามที่มีระบุไว้ในคัมภีร์ที่บอกว่าพระโพธิสัตว์องค์ใดเกิดเดือนใดปีใด หรือเลือกเรื่องที่มีชื่อพ้องกับปีนักษัตรของผู้ถวาย ส่วนวิธีคิดในการเลือกเรื่องถวาย ธัมม์อุทิศ สัมพันธ์กับความคิดเรื่องการชำระบาปและการสั่งสมบุญ และมีขนบในการเลือกถวาย ธัมม์อุทิศ ที่กำหนดด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างผู้ถวายกับผู้ที่ต้องการอุทิศบุญไปให้ ซึ่งทั้งหมดนี้นับว่าเป็นวิถีปฏิบัติในประเพณีพุทธศาสนาแบบไท

ประเพณีทานธัมม์มีบทบาทต่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทในบริบทข้ามพรมแดน ๕ ด้าน ได้แก่ บทบาทในการอธิบายที่มาของการประกอบพิธีกรรม บทบาทในการสร้างความมั่นคงทางใจให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ไท บทบาทในการสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรม บทบาทในการสืบทอดพระพุทธศาสนา และบทบาทในการเชื่อมความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไททั้งที่อยู่ในพื้นที่วิจัยและต่างพื้นที่และช่วยสร้างความสามัคคีให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ไทและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น

รางวัลที่ได้รับ
รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลวิทยานิพนธ์ประจำปี ๒๕๖๐ ระดับดี

Download PDF

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสารัตถศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/52139