

วัตถุมงคลทางดนตรีไทยในสังคมไทยร่วมสมัย: การสร้าง ความหมาย และบทบาท
อ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์
วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๕๙
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อรวบรวมและจัดประเภทวัตถุมงคลทางดนตรีไทยที่สร้างขึ้นใหม่ในสังคมไทยร่วมสมัย
๒. เพื่อวิเคราะห์กระบวนการสร้างความหมายและบทบาทของวัตถุมงคลทางดนตรีไทยในสังคมไทยร่วมสมัย
สมมติฐานของการวิจัย
การสร้างวัตถุมงคลทางดนตรีไทยในปัจจุบันเป็นทั้งปรากฏการณ์ทางศิลปะและปรากฏการณ์ทางสังคม มีรูปแบบหลากหลาย เช่น เหรียญ ผ้ายันต์ ล็อกเกต เครื่องดนตรีย่อส่วน เป็นต้น วัตถุมงคลทางดนตรีไทยเหล่านี้แตกต่างกันตามคติความเชื่อทางดนตรีและปริบทของการสร้าง กระบวนการสร้าง ประกอบด้วยผู้สร้างซึ่งมีทั้งคนในและคนนอกวงการดนตรีไทยที่นำคติความเชื่อและอนุภาคต่าง ๆ ในวัฒนธรรมดนตรีไทย วัฒนธรรมท้องถิ่น และวรรณคดีไทยมาประกอบสร้าง ทำให้ความหมายและบทบาทของวัตถุมงคลที่สร้างมีนัยเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงพลวัตของวัฒนธรรมดนตรีไทยในสังคมไทยร่วมสมัย
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและจัดประเภทวัตถุมงคลทางดนตรีไทยที่มีการสร้างใหม่ในสังคมไทยร่วมสมัย และวิเคราะห์กระบวนการสร้าง การสร้างความหมาย และบทบาทของวัตถุมงคลทางดนตรีไทย โดยรวบรวมข้อมูลวัตถุมงคลทางดนตรีไทยจากข้อมูลเอกสาร ข้อมูลภาคสนาม รวมถึงข้อมูลในสื่อสมัยใหม่ ทั้งในบริบทวัฒนธรรมดนตรีไทยและบริบทนอกวัฒนธรรมดนตรีไทย
ผลการวิจัยพบว่า การสร้างเหรียญพระนารทฤๅษี (พ่อแก่) ของวัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร ในปี ๒๕๑๓ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัตถุมงคลทางดนตรีไทยในบริบทวัฒนธรรมดนตรีไทยและสังคมไทยร่วมสมัย และหลังจากปี ๒๕๑๓ เป็นต้นมา การสร้างวัตถุมงคลดนตรีไทยปรากฏให้เห็นเป็นพลวัตที่มีความหลากหลาย ผู้วิจัยจัดประเภทรูปแบบของวัตถุมงคลทางดนตรีไทยได้ ๗ ประเภท คือ เหรียญ ผ้ายันต์ ล็อกเกต รูปจำลองเทพสังคีตาจารย์ รูปจำลองเครื่องดนตรีไทย รูปแบบวัตถุมงคล “จตุคามรามเทพ” และรูปแบบอื่น ๆ
วัตถุมงคลทางดนตรีไทยในสังคมไทยร่วมสมัยเกิดขึ้นโดยผู้สร้างที่จัดทั้งที่เป็นคนในวงการดนตรีไทย ประกอบด้วย บ้านหรือสำนักดนตรี วัด สถาบันทางดนตรี และบุคคล และ ผู้สร้างที่เป็นคนนอกวงการดนตรีไทย ประกอบด้วยสถาบันต่าง ๆ ในสังคม และกลุ่มผู้มีจิตศรัทธา
ในการประกอบสร้างความหมายของวัตถุมงคลทางดนตรีไทย พบว่า มีการใช้สัญลักษณ์ทางดนตรีไทยอย่างหลากหลายและมีพลวัต ทั้งการใช้สัญลักษณ์จากความเชื่อดั้งเดิม การใช้สัญลักษณ์จากความเชื่อท้องถิ่น การสร้างสัญลักษณ์ใหม่ และการนำสัญลักษณ์เดิมมาสร้างความหมายใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความเป็นมงคลให้แก่วัตถุมงคลทางดนตรีไทยผ่านพิธีกรรม ได้แก่ พิธีพุทธาภิเษก พิธีเทวาภิเษก พิธีสังคีตาภิเษก และ ผ่านการผูกเรื่องเล่า
วัตถุมงคลทางดนตรีไทยเหล่านี้แตกต่างกันด้วยคติความเชื่อทางดนตรีและปริบทของการสร้างโดยมีการนำคติความเชื่อและอนุภาคต่าง ๆ ในวัฒนธรรมดนตรีไทยผนวกกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและวรรณคดีไทยมาประกอบสร้างทำให้ความหมายของวัตถุมงคลทางดนตรีไทยขยายขอบเขตกว้างกว่าเดิม ประเด็นดังกล่าวทำให้เห็น พลวัตด้านรูปแบบและการใช้สัญลักษณ์ พลวัตด้านการสร้างความหมายและความเชื่อให้แก่วัตถุมงคลทางดนตรีไทย และพลวัตทางวัฒนธรรมเมื่อเทพสังคีตาจารย์และครูในวัฒนธรรมดนตรีไทยถูกทำให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม
วัตถุมงคลทางดนตรีไทยมีบทบาทในฐานะวัตถุทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อจิตใจ ความเชื่อ และวัฒนธรรมการดนตรี นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในฐานะที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดนตรีไทยด้วยการดำรงรักษาความเชื่อทางดนตรีไทยผ่านวัตถุสัญลักษณ์ต่าง ๆ ด้วยวิธีคิดในลักษณะของการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม
รางวัลที่ได้รับ: รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ:รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒ รางวัลระดับดี
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55413