ลัทธิพิธีบูชาพระพรหมในสังคมไทยร่วมสมัย : พลวัตของตำนาน ความเชื่อ และพิธีกรรม

ลัทธิพิธีบูชาพระพรหมในสังคมไทยร่วมสมัย: พลวัตของตำนาน ความเชื่อ และพิธีกรรม

ผศ.ดร.อภิวัฒน์ สุธรรมดี

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๖๐

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อรวบรวมตำนาน เรื่องเล่า และความเชื่อเกี่ยวกับพระพรหมในบริบทสังคมไทย
๒. เพื่อศึกษาองค์ประกอบและสัญลักษณ์ในพิธีกรรมบูชาพระพรหมในสังคมไทยร่วมสมัย
๓. เพื่อวิเคราะห์ความหมายและพลวัตของลัทธิพิธีบูชาพระพรหม

สมมติฐานของการวิจัย
ลัทธิพิธีบูชาพระพรหมในสังคมไทยร่วมสมัยมีลักษณะเป็นประเพณีประดิษฐ์ โดยนำตำนานและความเชื่อเรื่องพระพรหมมาปรับเปลี่ยน ตีความ และสร้างพิธีกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นอย่างหลากหลาย อันเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่สัมพันธ์กับบริบททุนนิยม การท่องเที่ยว และโลกาภิวัตน์

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลัทธิพิธีบูชาพระพรหมและการประดิษฐ์สร้างลัทธิพิธีบูชาพระพรหมในสังคมไทยร่วมสมัย ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามในช่วง พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๖๐ ในพื้นที่ที่ปรากฏลัทธิพิธีบูชาพระพรหม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สิงห์บุรี ร้อยเอ็ด และประจวบคีรีขันธ์

ผลการศึกษาพบว่า ความเชื่อพระพรหมดำรงอยู่ในวัฒนธรรมไทยมายาวนาน ตำนานเรื่องเล่าพระพรหมในสังคมไทยส่วนใหญ่อิงอยู่กับศาสนาพุทธ มีลักษณะที่ปรากฏอยู่แต่ไม่โดดเด่น คือ เป็นเทวดาชั้นสูงแต่มีบทบาทเป็นรองพระพุทธเจ้าและเกี่ยวข้องกับเรื่องทางธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ กลุ่มนักการเมืองได้นำรากความเชื่อพระพรหมมาปรุงแต่ง แล้วสร้างเป็นพระพรหมเอราวัณ เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของพระพรหมเอราวัณเล่ากันอย่างแพร่หลายในสื่อสมัยใหม่ เกิดเป็นความนิยมบูชาพระพรหมขึ้นในสังคมเมืองแล้วกลายเป็นลัทธิพิธีบูชาพระพรหมทำให้ “พระพรหม” ซึ่งเป็นเทพเจ้าชั้นสูงที่มีบทบาทอยู่แต่ในศาสนาลงมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในเรื่องทางโลกมากขึ้น

ลัทธิพิธีนี้ได้แพร่กระจายไปยังภูมิภาค แต่ละที่ได้ประดิษฐ์สร้างพิธีบูชาพระพรหมขึ้น พิธีบูชาพระพรหมที่จัดขึ้นมีองค์ประกอบแตกต่างกันเพราะมี ‘ที่มา’ ต่างกัน สัญลักษณ์ในพิธีกรรมปรากฏอย่างหลากหลาย ทำให้ลัทธิพิธีบูชาพระพรหมเกิดความสมจริง และสร้างความศรัทธาจากผู้เคารพบูชา นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์ชุดอื่น ๆ อันแสดงถึงการผนวกรวมความเชื่อต่าง ๆ ในวัฒนธรรมไทย ซึ่งสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของผู้จัดงาน สัญลักษณ์ในลัทธิพิธีบูชา พระพรหมสื่อว่าพระพรหมเป็นตัวแทนความดีงามและเป็นตัวแทนคนในวัฒนธรรมเมือง อีกทั้งยังสะท้อนการผสมผสานลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ในวัฒนธรรมไทยเพื่อให้คนเมืองมี “จุดร่วม” ทางความเชื่อ ลัทธิพิธีบูชาพระพรหมมีพลวัตทั้งด้านตำนานเรื่องเล่า ความเชื่อ และพิธีกรรม คุณสมบัติที่หลากหลาย ภาพลักษณ์ที่สื่อด้านดี ทำให้คนร่วมสมัยนำความเชื่อพระพรหมมาปรุงแต่งเพื่อรับใช้สังคมปัจจุบัน ลัทธิพิธีบูชาพระพรหมเป็น ‘ลัทธิคนในวัฒนธรรมเมือง’ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองคนเมืองซึ่งมีวิถีชีวิตและความปรารถนาอันซับซ้อน ลัทธิพิธีนี้เป็นทุนวัฒนธรรมที่นำมาสร้างจุดขายและส่งออกไปสู่สากลได้

Download PDF

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58158