คือสมบัติส่องชาติสยาม

คือสมบัติ

ส่องชาติ

สยาม

คือสมบัติส่องชาติสยาม

        ผมอ่านหนังสือ “ส่องชาติ ชีวิตศิลปินของ คุณครูส่องชาติ ชื่นศิริ” ที่ผู้เขียนคือ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ฝากมาให้แล้ว ประทับใจมาก รู้สึกได้ว่าความเคารพรักและผูกพันระหว่างครูกับศิษย์เป็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่ อยู่เหนือกายสังขาร และอยู่เหนือกาลเวลา

        หนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้ ถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่าควรแก่การเป็น “สมบัติส่องชาติสยาม” อย่างแท้จริง แม้ผู้เขียนจะออกตัวไว้ว่า “เขียนขึ้นอย่างรีบเร่ง” แต่อ่านแล้วประจักษ์ใจว่านี่เป็น “Less is more.” คือทำน้อยแต่ได้มาก เพราะคือประวัติศาสตร์วิชารำที่นักมานุษยวิทยาผู้เป็น “คนใน” ได้ถ่ายทอดในฐานะศิษย์ของครู ศิษย์ผู้บัญญัติกลเม็ดเด็ดพรายของครูว่ามีลักษณะเป็น “สุนทรีย์ของความน้อยแต่หนักแน่น”

        หนังสือเล่มนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะน้อยในเชิงขนาด แต่หนักแน่นในเชิงเนื้อหา และไม่โจ่งแจ้งคือไม่เขียนยกย่องครูอย่างสุดโต่ง ผู้เขียนระบุช่วงเวลา บอกข้อจำกัดในการเขียน วิเคราะห์ และให้แง่คิดต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ศึกษาทางนาฏศิลป์ มานุษยวิทยา คติชนวิทยา และศาสตร์อื่น ๆ อีกหลายสาขา ที่น่าสนใจคือทำให้เห็นความสำคัญของ “บันทึกภาคสนาม” (fieldnotes) ที่ได้แปรมาเป็นหนังสืออนุสรณ์แด่ครู อ่านแล้วทำให้เห็นภาพว่าศิษย์พึงสังเกต ซักถาม เรียนรู้ และปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้วิชาจาก “ครู” จึงเป็นตัวอย่างการบันทึกและสะท้อนคุณสมบัติที่นักวิจัยภาคสนามพึงมีและพึงเป็น

        ผู้เขียนบอกไว้ในเนื้อหาหลายตอนซึ่งคงมาจากบันทึกภาคสนามและการสัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่า “หากไม่สนใจ โปรดอ่านข้าม” บางตอนบอกว่าจะได้ “ไม่ปวดศีรษะ” แต่ผมกลับอ่านข้อความเหล่านั้นอย่างตั้งใจ แม้จะไม่มีความรู้เรื่องการรำและนาฏยศัพท์ต่าง ๆ อ่านแล้วกลับคิดว่าหากอ่านข้ามไปจริง ๆ จะพลาดส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเป็นส่วนที่ทำให้เราได้ใช้จินตนาการอย่างเพลิดเพลิน ชวนให้นึกภาพว่าคุณครูมีวิธีสอนศิษย์และตีความท่ารำต่าง ๆ อย่างไร ภาพในจินตนาการของผมก็คือภาพที่คุณครูส่องชาติ “จับ” ให้อาจารย์ปริตตารำในท่าต่าง ๆ นั่นเอง ความรู้จะแห้งมากหากขาดความรู้สึก ศิลปะก็เช่นกัน คงจะอ่านเรื่องของศิลปินไม่เข้าใจหากไม่ใช้จินตนาการ

        หนังสือเล่มนี้ เล่าประวัติชีวิตของคุณครูส่องชาติอย่างมีมิติ แตกต่างไปจากหนังสืออนุสรณ์ที่เรามักคุ้น แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๙ ตอน และปิดท้ายด้วยประวัติผู้เขียนที่ท่านบอกว่า “ปัจจุบันเป็นแม่บ้าน” เราต่างทราบดีว่าท่านเป็นแม่บ้านที่เป็นศิลปินและเป็นนักวิชาการที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างมาก

        หลังจากเริ่มต้นด้วย “ความนำ” เพื่อแสดงจุดมุ่งหมาย ข้อจำกัด และขอบคุณผู้ที่ช่วยเหลือในการทำหนังสือเล่มนี้แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงชีวิตของคุณครูตั้งแต่ “เริ่มแรกฝึกหัด” เล่ากำเนิดของครูและการฝากตัวเป็นศิษย์ที่บ้านของพระยาสุนทรเทพระบำ (เปลี่ยน สุนทรนัฐ) โดยได้ให้ภาพของแหล่งฝึกฝนในยุคต้นทศวรรษ ๒๔๗๐ ในช่วงที่ยังไม่มีโรงเรียนหรือสถานศึกษาของรัฐสำหรับสอนรำ

        ต่อมาได้กล่าวถึงชีวิตของคุณครูใน “โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์” ของกรมศิลปากร ซึ่งตั้งขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ทำให้ท่านได้พบกับผู้ที่ท่านเคารพเทิดทูนที่สุดในชีวิตคือคุณครูลมุล ยมะคุปต์ อ่านตอนนี้แล้วก็ทำให้เห็นภาพชีวิตของนักเรียนนาฏศิลป์และความรักความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์ในสมัยนั้นอย่างชัดเจน การฝึกฝนอย่างเชี่ยวชาญทำให้คุณครูส่องชาติประทับใจเรื่อง “นาฏศิลป์สยามไปญี่ปุ่น” อย่างมาก เพราะท่านได้เป็นหนึ่งใน ๓๕ คนที่เดินทางไปจัดการแสดงเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นโดยใช้เวลาถึง ๘๕ วัน เนื้อหาในตอนนี้นอกจากจะได้เห็นความสามารถของคุณครูส่องชาติที่ได้แสดงเป็นตัวเอกแล้ว ยังทำให้ได้ความรู้และเห็นภาพประวัติศาสตร์ต่าง ๆ อันทรงคุณค่าที่ผู้เขียนนำมาถ่ายทอดไว้

        แง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “ชีวิตรักและการจากลา” กล่าวถึงชีวิตครอบครัวของคุณครูส่องชาติกับคุณเจียด ชื่นศิริ และการเป็นครูที่โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ เป็นตอนที่แสดงให้เห็นถึงความรัก ความสมหวัง และความสูญเสียที่ทำให้คุณครูต้องต่อสู้ดิ้นรน สะท้อนความเข้มแข็งและความซื่อตรงต่อวิชาชีพของท่านอย่างชัดเจน

        ชีวิตหลังเกษียณของคุณครูได้นำเสนอในตอนต่อมาคือ “สำนักรำคุณธาดา” ซึ่งผู้เขียนได้พบครูส่องชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๒ คุณธาดา วิทยาพูล ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นผู้ที่หัดโขนธรรมศาสตร์ได้เชิญคุณครูส่องชาติมาสอนรำให้แก่สมาชิกสำนักนี้ ทั้งนี้ ผู้เขียนเรียกว่าเป็นสำนักเชลยศักดิ์ คือเป็นสำนักอิสระ เนื้อหาตอนนี้ทำให้เห็นการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมด้วยความรักของกลุ่มผู้ที่สนใจนาฏศิลป์อันเป็นพลังในการสร้างความสุขให้แก่คุณครูส่องชาติอยู่มิใช่น้อย

        ตอน “รำงามตามแบบคุณครูสอน” และ “สองรำ สองรส ฉุยฉายพราหมณ์ และรำกริชสุหรานากง” เป็นตอนที่ถ่ายทอดมาจากการจดบันทึกของผู้เขียน นักวิจัยภาคสนามควรอ่านอย่างยิ่งเพราะไม่เพียงแต่เห็นวิธีการสังเกต ซักถาม และบันทึกข้อมูลเท่านั้น ยังเห็นการเชื่อมโยง ตีความ และอารมณ์ขันของผู้เขียนอีกด้วย ทำให้เข้าใจเสน่ห์อันเกิดมาจากท่า ลีลา กลเม็ดเด็ดพราย และรสในการรำ อ่านแล้วชวนให้คิดว่านี่คือแบบอย่างในการบันทึกองค์ความรู้ของครูบาอาจารย์ไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ได้บอกเพียงว่าครูสอนด้วยวิธีใดเท่านั้น ยังเห็นภาพในมุมกลับด้วยว่าลูกศิษย์รู้สึกนึกคิดอย่างไรเมื่อได้รับความรู้และโอกาสจากครู

        “หนึ่งศตวรรษศิลปินละครรำ” เป็นตอนที่สรุปและวิเคราะห์ชีวิตของคุณครูส่องชาติ ชื่นศิริ ไว้อย่างน่าสนใจมาก เป็นวิชาความรู้ที่ทรงคุณค่า อ่านเข้าใจง่าย แม้ผู้เขียนจะระบุไว้ในความนำของหนังสือว่า “หนังสือเล่มนี้มิได้เป็นหนังสือวิชาการ” ก็ตาม ในฐานะผู้อ่านคนหนึ่ง ขอมองหนังสือนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์จากชีวิตและจิตวิญญาณที่ศิษย์ตั้งใจน้อมบูชาครูด้วยคารวะ เป็นผลงานที่เล่าให้ครูเป็นตัวเอกของเรื่องโดยมีศิษย์น้อยใหญ่เป็นผู้ก้าวตาม และเล่าผ่านทัศนะของผู้เขียนซึ่งเป็นคนใน เพราะชีวิตที่ครูต่อสู้มาอย่างเข้มข้นก็เป็นโครงเรื่องที่น่าสนใจในตัวเอง และในระดับลึกก็ไม่ผิดแผกไปจากโครงสร้างชีวิตของศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย

        หนังสือเล่มนี้มีคุณค่ายิ่ง คือสมบัติส่องชาติสยาม ที่งดงามด้วยพลังความรู้ ความคิด และความรัก ขอจบด้วยข้อความที่แสดงอารมณ์สะเทือนใจของ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ในหน้า ๑๒๒ – ๑๒๓ ที่ว่า

        “ในวงการมานุษยวิทยายุคที่ผู้เขียนเคยศึกษามา มักจะกล่าวกันว่า นักมานุษยวิทยาเป็นคนที่เกิดสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อถือกำเนิดขึ้นมาในโลก และครั้งที่สองเมื่อได้ทำงานภาคสนาม ได้รู้จักชีวิตแบบอื่นและเข้าใจโลกของคนอื่นที่ต่างจากเราโดยสิ้นเชิง สำหรับผู้เขียนเองอาจกล่าวได้ว่า การได้มาเป็นลูกศิษย์คุณครู แม้จะในระยะเวลาไม่ยาวนานนัก เหมือนกับการได้เกิดครั้งที่สาม เมื่อได้หัดรำอย่างจริงจัง ได้รู้จักศิลปินที่รักศิลปะของตัวเองอย่างเป็นชีวิตจิตใจ ได้เห็นการสอนแบบตัวต่อตัวที่ละเอียดประณีตพิถีพิถัน ได้รับรู้ประสบการณ์การสัมผัสและสนทนากับร่างกายในระหว่างรำ และได้เห็นว่าความผูกพันอย่างล้ำลึกระหว่างครูกับศิษย์นั้น แม้ความตายก็มิอาจพรากได้

        นักมานุษยวิทยาท่านหนึ่งที่ศึกษาดนตรีไทย ได้บรรยายถึงความผูกพันนี้ไว้ด้วยคำพูดที่กินใจ เธอบอกว่า นักดนตรีไทยคนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อเสียพ่อแม่นั้นเขาร้องไห้ แต่เมื่อเสียคุณครูเขาร่ำไห้ ซึ่งก็เป็นความรู้สึกของผู้เขียนเช่นเดียวกันเมื่อคุณครูจากไป เมื่อพูดถึงการเกิดหลายครั้งนั้น นักมานุษยวิทยาสากลคงจะจำกัดวงเอาไว้เฉพาะชีวิตปัจจุบันในโลกนี้ แต่ในบริบทวัฒนธรรมความเชื่อแบบไทย ๆ คงไม่ยากที่จะจินตนาการถึงเวลาอันยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์ และคิดถึงชาติภพอื่น ๆ ที่เรายังไปได้ไม่ถึง ผู้เขียนจึงขอเพิ่มเติมคำกล่าวข้างต้นต่อไปอีกว่า ไม่เพียงแต่เกิดครั้งที่สามในโลกใบนี้ หากเกิดเป็นคนได้อีก ก็ขอภาวนาให้ได้พบและได้เป็นลูกศิษย์คุณครูต่อไปอีกเรื่อย ๆ ด้วยเถิด”


กราบคุณครูส่องชาติ ชื่นศิริ
และด้วยความเคารพอาจารย์ปริตตาครับ
ปรมินท์ จารุวร


ผู้ที่สนใจ อาจารย์ปริตตาอนุญาตให้ดาวน์โหลดได้จากลิงก์นี้ครับ
https://drive.google.com/open?id=1sNND84Ax8jC3X7dJvk9-ie1C14aTqCBa



หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๑

รศ.ดร.ปรมินท์ จารุวร

ผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยา
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย