อ่านนิทาน “อ่านมนุษย์” (๓)

อ่านนิทาน “อ่านมนุษย์”[1] (๓)

ศิราพร ณ ถลาง [2]

“Us” and “the Others”:
มนุษย์มอง “ตนเอง (พวกเรา)” และ “คนอื่น (พวกเขา)”  อย่างไร

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มิได้อยู่โดดเดี่ยว หากแต่สัมพันธ์กับ “คนอื่น ๆ” ตลอดเวลา จึงย่อมต้องมีทัศนคติและมุมมองเกี่ยวกับ “ตนเอง” และ “คนอื่น ๆ” ว่าต่างกันอย่างไร   ดังนั้น ความคิดที่แบ่งแยกว่าเป็น “พวกเรา (Us)” กับ  “พวกเขา” หรือกับ “คนอื่น” (The Others) จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของ “ความเป็นมนุษย์” และความคิดอันเป็นปกติธรรมดาเรื่อง “พวกเรา กับ คนอื่น” นี้ ก็สะท้อนให้เห็นในตำนานปรัมปราและนิทานที่พบในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลก

          มนุษย์ปัจจุบันเติบโตในประเทศต่าง ๆ ที่มีพื้นที่พรมแดนเป็นตัวกำหนดรัฐชาติ และมีแบบเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ที่ “เขียนเล่า” ประวัติศาสตร์ของชาติและคนในชาติ  ส่วนมนุษย์ในสังคมบรรพกาลในยุคที่ยังไม่มีตัวอักษรใช้ คงใช้วิธี “เล่าเรื่องราว” ผ่านประเพณีมุขปาฐะ ผ่านตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์ของตน (ethnic origin myth) ซึ่งน่าสนใจว่า มักปรากฏตัวละครที่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ อยู่ในตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์ของตนด้วย

          ตัวอย่างเช่น ตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว เรื่อง “น้ำเต้าปุง” เล่าว่าแถนได้แทงลูกน้ำเต้า ๒ ครั้ง ครั้งแรกเอาเหล็กแทง มีคนผิวคล้ำ คือ ข่า ขมุ ออกมาจากน้ำเต้า และครั้งที่ ๒ เอาสิ่วแทง มีคนผิวขาวออกมา คือ ลาว ไทแดง ไทพวน;  ถ้าเป็นตำนานของไทดำ จะเล่าว่า พวกที่ออกมาครั้งที่ ๒ จะเป็น ไทดำ ลาวพุงขาว ฮ่อ แกว; ตำนานอธิบายกำเนิดของชาติพันธุ์เย้า  เล่าว่า พี่ชายกับน้องสาวแต่งงานกัน น้องสาวคลอดลูกออกมาเป็นน้ำเต้า น้องสาวบอกให้พี่ชายเอาเมล็ดน้ำเต้าหว่านบนดิน เอาเนื้อหว่านไปบนภูเขา แต่พี่ชายทำสลับกัน เอาเมล็ดน้ำเต้าหว่านบนภูเขา เกิดเป็นเย้า ๑๒ ตระกูล เอาเนื้อน้ำเต้าหว่านบนดิน เกิดเป็น ฮั่น ๑๐๐ ตระกูล; ตำนานอธิบายกำเนิดมนุษย์ของไทอาหม กล่าวถึงคนที่ออกมาจากน้ำเต้าว่า มีคนไท คนเผ่านาคา และเผ่าอื่น ๆ ในอินเดีย

ภาพกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง วาดโดย สุรเดช แก้วท่าไม้ อยู่ในห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ที่มา : https://www.matichonweekly.com/column/article_160974

          ตำนานอธิบายกำเนิดกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้อธิบายเฉพาะกำเนิดชาติพันธุ์ของตนแต่เพียงชาติพันธุ์เดียว แต่จะกล่าวถึงชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันในพื้นที่อยู่ด้วย เช่น ตำนานของไท-ลาวลุ่มที่อาศัยอยู่ที่ราบเชิงเขาริมน้ำ ก็จะกล่าวถึงลาวเทิง คือ ข่า ขมุ ที่อยู่บนดอยด้วย;  ตำนานของไทดำในเวียดนาม ก็จะกล่าวถึงลาว จีน (ฮ่อ) และคนเวียด (แกว) ด้วย; ตำนานของเย้า ก็จะกล่าวถึงฮั่น (จีน) ด้วย; ตำนานของไทอาหม ก็จะกล่าวถึงชาติพันธุ์อื่น ๆ ในอินเดียด้วย. ในแง่นี้ ตำนานปรัมปราจึงเป็น “ประวัติศาสตร์สังคม” ที่บอกเล่าเรื่องราว กำเนิดของ “พวกเรา” และอธิบายความสัมพันธ์ของ “พวกเรา” กับ “พวกเขา” ซึ่งเป็น “คนอื่น ๆ” ในพื้นที่ด้วย.

          อนึ่ง ถ้าอ่านอย่างตีความ ก็จะจับ “น้ำเสียง” ได้ว่า ตำนานเล่าถึงสถานภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ “อย่างไม่เท่าเทียมกัน”     ตำนาน “น้ำเต้าปุง” ที่เล่าโดยคนไท-ลาว จะเล่าว่า “พวกที่ออกมาจากน้ำเต้าก่อนมักเป็นพวกผิวคล้ำ ไม่ชอบอาบน้ำ ทำมาหากินบนภูเขา พวกที่ออกมาทีหลังเป็นพวกผิวขาว ชอบอาบน้ำ และทำมาหากินในที่ลุ่ม” แฝงนัยยะของการแบ่งแยกกลุ่มที่มีลักษณะทางกายภาพ นิสัย และวิถีชีวิตไม่เหมือนกัน แต่เหมือนจะบอกว่า  “พวกที่ออกมารุ่นหลัง “เจริญกว่า”” แต่ถ้าฟังสำนวนของข่า หรือ ขมุ จะเล่าด้วยความภาคภูมิใจและเน้นประเด็นที่ “พวกเราขมุ เป็นพวกที่ออกมาเป็นรุ่นแรก” 

          ประเด็นเรื่อง “สถานภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน” ของชาติพันธุ์ยังแฝงอยู่ในเรื่องเล่าและน้ำเสียงของตำนานเรื่องอื่น ๆ อีกเช่น ตำนานที่อธิบายว่า “เหตุใดพวกเราจึงไม่มีตัวอักษรใช้”

          น่าแปลก และน่าสนใจ ที่ชาติพันธุ์ที่ “ไม่มีตัวอักษรใช้” มักจะเล่าในทำนองเดียวกันว่า “พวกเราเคยมีตัวอักษรใช้เพราะพระเจ้าเคยให้เรามา”  แต่เพราะ…“เราลืมทิ้งไว้ท้ายไร่ พอเผาไร่ ตัวอักษรเลยถูกไฟเผาหมดไป” (กะเหรี่ยง) “เรากินตัวหนังสือเข้าไปไว้ในตัวหมดแล้ว” (ลาหู่ และ ฮานี) “พวกเราปิ้งหนังควายที่พระเจ้าเขียนตัวอักษรไว้ให้กินไปหมดแล้ว” (อาข่า)…ทุกวันนี้ เราจึงไม่มีตัวอักษรใช้!

          “ตำนานตัวอักษร” ของชาติพันธุ์ที่ไม่มีตัวอักษรจึงเป็นเสมือนวาทกรรมตอบโต้ชาติพันธุ์ที่มีตัวอักษรที่มักเป็น “ผู้ปกครอง” หรือเป็นผู้นำศาสนาอื่นเข้ามาเผยแพร่ที่ดูจะมีสถานภาพ “สูงกว่า” มี “อารยธรรม” สูงกว่า ตำนานเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ล้วนมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์  แต่สถานภาพและอำนาจทางสังคมอาจไม่เท่ากัน.  “ตำนานตัวอักษร” เป็นเสมือนกลไกทางวัฒนธรรมที่ประกาศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันว่า “ครั้งหนึ่ง เราก็เคยมีตัวอักษรเช่นกัน”

          ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นข้อมูลที่แฝงไว้ซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับกำเนิด สถานภาพ และปฏิสัมพันธ์กับ “คนอื่น” ที่ต้องมีการปะทะสังสรรค์กันทางสังคม.   ในแง่นี้ ตำนานของชาติพันธุ์จึงเป็นข้อมูลที่สะท้อนตัวตน  อัตลักษณ์ของกลุ่มชน และ “ความเป็นมนุษย์” ที่ “พวกเรา” ก็มีกำเนิด ประวัติศาสตร์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับ “คนอื่น ๆ”

          ในขณะที่ตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์มักเป็นเรื่องที่กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ “มองตนเอง” อย่างมีความสัมพันธ์เปรียบเทียบเชิงสถานภาพทางสังคมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ  ยังมีเรื่องเล่าอีกประเภทหนึ่ง คือ มุขตลกชาติพันธุ์ (ethnic joke) ที่กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ “มองชาติพันธุ์อื่นอย่างขำขัน” สะท้อน “ทัศนคติ” เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใกล้ชิดกัน เช่น ในประเทศไทยมักจะมีมุขตลกเกี่ยวกับคนลาว คนจีน, ทางภาคเหนือของประเทศไทยอาจมีมุขตลกของคนเมืองล้านนาเกี่ยวกับคนม้ง คนกะเหรี่ยง หรือ ทางยุโรปอาจเป็นมุขตลกเกี่ยวกับคนยิว คนสก๊อต คนโปแลนด์. 

          “ทัศนคติเชิงขำขัน” ดังกล่าวเป็นสิ่งสะท้อนความคิดของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีต่ออีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มักมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใกล้ชิดกันทางสังคม หรือทางการค้าขายกัน.   ในแง่นี้ มุขตลกชาติพันธุ์จึงเป็นข้อมูลคติชนอีกประเภทหนึ่งที่นักคติชน นักมานุษยวิทยา ควรให้ความสนใจ หากต้องการทราบข้อมูลลึก ๆ (insight) เกี่ยวกับลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังศึกษาอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์นั้น.

หมายเหตุ

[1] ข้อเขียนนี้ ข้าพเจ้าเขียนให้เนื่องในโอกาสการเปิดตัวเว็บไซต์ https://www.arts.chula.ac.th/folklore/ ของ ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[2] ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพเปิดเรื่องโดย Victoria Priessnitz จาก unsplash.com

ผู้เขียน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง
คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย