
๔
จินตความคิดที่ก้าวพ้นข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์
ใคร ๆ ก็ทราบว่า ในนิทาน มีจินตนาการและความฝันของมนุษย์ มนุษย์เรามักจินตนาการถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง ดังนั้น จึงน่าศึกษาว่า มนุษย์จินตนาการถึงเรื่องอะไรที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง ซึ่งคงมีหลายเรื่องมากมาย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะจินตนาการ “ที่ไปพ้นข้อจำกัดทางกายภาพ” บางประการของมนุษย์เท่านั้น
ขอยกตัวอย่างจาก ดัชนีอนุภาคนิทานพื้นบ้าน หมวด D Magic (ความวิเศษ) หมวดนี้รวบรวมจินตความคิดเกี่ยวกับความวิเศษในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การแปลงร่าง (Transformation) ของวิเศษ (Magic Objects) อำนาจวิเศษ (Magic Powers) ตั้งแต่ D0 – D2199 เท่ากับว่ามีจินตความคิดเกี่ยวกับความวิเศษอยู่ถึง ๒,๑๙๙ เรื่องที่ปรากฏในนิทานต่าง ๆ อย่างเป็นสากล
จินตความคิดเกี่ยวกับ “การแปลงร่าง” เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ แน่นอนในความเป็นจริง มนุษย์ไม่สามารถแปลงร่างได้ แต่มนุษย์สามารถแปลงร่างได้ในนิทาน มีทั้งที่ (๑) แปลงร่างจากมนุษย์เป็นมนุษย์ เช่นแปลงจากเพศชายเป็นหญิง จากหญิงเป็นชาย แปลงเป็นคนเชื้อชาติอื่น (จากคน “ผิวขาว” เป็น “ผิวดำ”) แปลงเป็นคนต่างชนชั้น (๒) มนุษย์แปลงร่างเป็นสัตว์ ซึ่งแยกย่อยลงไปเป็นหมวดย่อย ๆ ตั้งแต่จากมนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น แปลงเป็นสิงโต เสือ หมี ควาย กวาง หนู หมู, แปลงเป็นนกชนิดต่าง ๆ แปลงเป็นปลา แปลงเป็นแมลง แปลงเป็นสัตว์เลื้อยคลาน (๓) สัตว์แปลงร่างเป็นมนุษย์ สัตว์แปลงร่างเป็นนก เป็นปลา เป็น แมลง เป็นสัตว์เลื้อยคลาน (๔) มนุษย์แปลงเป็นพืช (แปลงเป็นดอกไม้ ดอกบัว แปลงเป็นข้าวโพด ข้าว หญ้า แอปเปิล ลูกท้อ) (๕) มนุษย์แปลงเป็นสิ่งของ (เรือ เครื่องดนตรี สร้อยคอ พรม)

ท้าวภังคีแปลงกายเป็นกระรอกด่อน (กระรอกเผือก) เมื่อกระรอกด่อนตายแล้วชาวเมืองก็แบ่งเนื้อกันกิน ยกเว้นแม่ม่าย เพราะถือว่าไม่ได้ช่วย ที่มา : https://www.baanmaha.com/community/threads/47489-%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99/page3?langid=3&styleid=2
จินตนาการเรื่อง “ของวิเศษ” สะท้อนความปรารถนาของมนุษย์ที่ต้องการ “ตัวช่วย” ที่จะตอบสนองความฝันความปรารถนาที่ไม่สามารถกำหนดให้เป็นไปได้ดั่งใจมนุษย์ในความเป็นจริง. เรื่องของ “ของวิเศษ” จึงเป็นจินตความคิดสากลที่ปรากฏในนิทานทั่วโลก. ใน ดัชนีอนุภาคนิทานพื้นบ้าน ได้จัดจำแนกประเภทของของวิเศษไว้อย่างละเอียด เช่น ป่าวิเศษ ต้นไม้วิเศษ สวนวิเศษ พืชวิเศษ ผลไม้วิเศษ อาหารวิเศษ เครื่องดื่มวิเศษ เสื้อผ้าวิเศษ เครื่องประดับวิเศษ (หวี สร้อย แหวน) เครื่องดนตรีวิเศษ อาวุธวิเศษ (ดาบ มีด ธนู) เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ (เก้าอี้ กุญแจ กระจก หม้อน้ำ ถังน้ำ ตะเกียง พรม) ส่วนจินตความคิดเรื่อง “อำนาจวิเศษ” ก็เช่น ตาทิพย์ หูทิพย์ ความจำทิพย์ พลังทิพย์ ฯลฯ
ในนิทานหลากหลายประเภท เช่น นิทานมหัศจรรย์ ตำนานปรัมปรา รวมทั้งนิทานประจำถิ่น มักจะปรากฏจินตความคิดเรื่อง การแปลงร่าง การปลอมตัว ของวิเศษ นอกจากนั้นแล้ว ในคลังนิทานของแต่ละกลุ่มชนต่าง ๆ ทั่วโลก จะมีนิทานอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า นิทานเรื่องโม้ หรือ นิทานโกหก (Tall Tale) ที่จะเล่าเรื่องมนุษย์ที่เดินได้ก้าวละ ๑๐ โยชน์ มนุษย์ที่สามารถอมน้ำทะเลทั้งมหาสมุทรไว้ในปากได้ ซึ่งล้วนเป็นจินตนาการที่ไปพ้นขีดจำกัดทางกายภาพของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น นิทานเรื่องโม้ทางภาคเหนือของไทย เรื่อง อ้ายง้มฟ้า ที่มีรูปร่างสูงใหญ่มาก เวลายืน หัวจะชนท้องฟ้า เวลาจะไปไหว้พระที่ถ้ำเชียงดาว เข่าจะอยู่ที่เมืองพร้าว เท้าจะอยู่ที่เชียงราย หรือ เรื่อง อ้ายเจ็ดไห ผู้มีพลังมหาศาล เกิดมาก็กินข้าวทีละเจ็ดไห เป็นต้น
หากเราศึกษาจินตความคิด ๒,๑๙๙ เรื่องในหมวด D เราก็จะได้หยั่งรู้ถึงความปรารถนาของมนุษย์ในอดีต ซึ่งก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้สูญหายไปในความปรารถนาของมนุษย์ปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จาก “ของวิเศษ” เกือบ ๒,๐๐๐ ชนิดในการ์ตูน โดราเอมอน ที่สะท้อนความต้องการของมนุษย์ปัจจุบันในลักษณะที่ไม่ต่างจากอดีตมากนัก เพียงแต่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่ของโลกปัจจุบันมากขึ้น เช่น กระจกเปลี่ยนตัว (ช่วยแปลงร่าง เมื่อกดปุ่มแดง เปลี่ยนตัวได้ ถ้ากดปุ่มเขียว ก็คืนร่างเดิม) คอปเตอร์ไม้ไผ่ ที่เมื่อติดไว้บนหัวแล้วกดปุ่มก็จะเลี้ยวไปซ้ายไปขวาได้ (เหมาะสำหรับการหนีรถติด), วุ้นแปลภาษา ที่กินแล้วสามารถพูดภาษาของคู่สนทนาได้, ขนมปังช่วยจำ ที่พอนำไปแปะบนหนังสือก็จะจำเรื่องที่แปะได้, แก๊ซสวนดอกไม้ พอพ่นแก๊ซออกไป เมล็ดก็จะกลายเป็นต้นไม้ ออกดอกกลายเป็นสวนดอกไม้ หรือของวิเศษประเภท หุ่นยนต์ เป็นต้น. อนึ่ง สิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายทางวิทยาศาสตร์ก็ล้วนต้องอาศัยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นพื้นฐานทั้งสิ้น.

คอปเตอร์ไม้ไผ่ของโดราเอมอน ที่มา : https://www.wegointer.com/2017/10/16-things-that-disney-changed-in-doraemon-us/
ทั้งจินตความคิดเรื่อง ของวิเศษ อำนาจวิเศษ พลังวิเศษ และความสามารถทางกายภาพที่เกินธรรมชาติของมนุษย์ ล้วนเป็นจินตนาการที่สะท้อนความต้องการของมนุษย์ที่อยากจะมี อยากจะครอบครอง อยากจะทำ อยากจะเป็น อยากจะบันดาลให้อะไร ๆ ที่มีไม่ได้ ทำไม่ได้ เป็นไม่ได้ในชีวิตจริง อันเป็นข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์… ไม่ว่าจะเป็น การครอบครองข้าวของต่างๆ การมีอำนาจวิเศษจากการมีหูทิพย์ ตาทิพย์ หรือ การแปลงร่าง การเหาะเหินเดินอากาศ การนั่งพรมวิเศษจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง… ให้เป็นไปได้ดังใจปรารถนา.
ความฝันและจินตนาการเป็นคุณสมบัติที่สะท้อน “ความเป็นมนุษย์” ที่มนุษย์ทุกคนและมนุษย์ในทุกสังคมวัฒนธรรมมี… ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในอดีตหรือในปัจจุบัน. ขึ้นชื่อว่า “เป็นมนุษย์” ก็ย่อมมีความฝันและจินตนาการที่ต้องการอยู่เหนือข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์และที่เป็นความปรารถนาทางใจของมนุษย์.
ในชีวิตจริง สรรพความปรารถนาที่เป็นไปไม่ได้เหล่านี้… เป็นข้อจำกัด… แต่ในนิทาน…มนุษย์สามารถจินตจินตนาการถึงความปรารถนาเหล่านี้ได้อย่างไร้ข้อจำกัด… และสามารถทำให้สรรพความปรารถนาเป็นจริงได้…ในโลกของนิทาน

ผู้เขียน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง
คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย