
๕
มนุษย์อธิบายสภาพภูมิศาสตร์/ธรรมชาติที่แปลก ๆ ด้วยเรื่องเล่า
ธรรมชาติในสภาพภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ในโลก มีทั้งภูเขา เกาะ หาดทราย ถ้ำ โขดหิน หน้าผา แม่น้ำ ฯลฯ ธรรมชาติเหล่านี้มีอายุนับล้านปี วิวัฒน์ไปตามปัจจัยตามธรรมชาติ มนุษย์เกิดมาก็ “เห็น” ธรรมชาติเหล่านี้ แต่ดวงตาและสมองของมนุษย์ “มอง” สรรพสิ่งในธรรมชาติมากกว่าที่ “เห็น” และที่ “เป็น” เพราะมนุษย์สร้างสรรค์เรื่องเล่ามาอธิบายธรรมชาติที่มีรูปลักษณ์แปลก ๆ โดยผูกเป็นเรื่องราวเป็นนิทาน มีตัวละคร มีคำอธิบายว่าทำไมภูเขาลูกนั้นจึงมี “ช่องกระจก” ทำไมถ้ำนั้นจึงชื่อ “ถ้ำลอด” ทำไมเกาะนั้นจึงชื่อ “เกาะนมสาว” ทำไมหาดทรายยาวเหยียดนั้นจึงชื่อว่า “หาดแม่รำพึง” ฯลฯ
ถ้าเราไปท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ ก็จะพบว่า ธรรมชาติที่ดูแปลก ๆ เช่น โขดหิน ๓ อันที่ตั้งเป็นแนวตรงเรียงติดกัน ที่ชื่อว่า “The Three Sisters” จะมีนิทานเรื่อง “The Three Sisters” ที่เป็นเรื่องของพี่สาวน้องสาวสามคนที่ตายอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองในออสเตรเลียเล่าให้นักท่องเที่ยวฟัง หรือป่าหินที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีตำนานเรื่อง “Ashima” ที่นาง Ashima ตายและร่างกายกลายเป็นโขดหินเล่าให้นักท่องเที่ยวฟัง ในประเทศไทยก็มีนิทานอธิบายสถานที่ในธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น เขานางรอง ภูพระบาท เขาช่องกระจก เกาะนมสาว เกาะสาก เกาะทะลุ หาดแม่รำพึง หอยเจดีย์ ล้วนมีนิทานอธิบายอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

The Three Sisters, Australia โดย Arjun Komath ที่มา https://unsplash.com/photos/m9FhlL9oBG4
ความคิดและจินตนาการที่สร้างสรรค์ผูกเรื่องเป็นนิทานเพื่ออธิบายสภาพภูมิศาสตร์จึงสะท้อนเป็น “ความเป็นมนุษย์” ที่ “เป็นสากล” ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ว่า มนุษย์ชอบเล่านิทาน อันเป็นนิสัยในเชิงสร้างสรรค์ที่เกิดจากจินตนาการและความสามารถในการผูกเรื่องราวเพื่ออธิบายรูปลักษณ์ที่แปลก ๆ ของภูมิศาสตร์ในธรรมชาติ.

ผู้เขียน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง
คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย