
๖
มนุษย์ใช้นิทานเป็นช่องทางในการระบายความคับข้องใจ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ก็ต้องอยู่ร่วมกับคนหลากหลายภายใต้กติกาและกฎเกณฑ์ทางสังคม กฎเกณฑ์มักจะมาพร้อมกับข้อควรปฏิบัติและข้อห้าม แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่ใช้อารมณ์ความรู้สึก (มากกว่าใช้เหตุผล) กฎเกณฑ์คงจะ “ไม่ถูกใจ” คนทุกคนได้ และเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกติกาทางสังคมได้ ทำให้มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในครอบครัวเดียวกันและในสังคมเดียวกันอาจต้องอดทนกับข้อห้ามและกฎเกณฑ์บางประการ และรู้สึก “ถูกกดดัน” และมีความคับข้องใจ
นิทานบางประเภทจะทำหน้าที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกถูกกดดันในใจมนุษย์ด้วยการหยิบยื่น “ทางออก” ให้กับ “ความคับแค้นใจ” ถ้าดูในสังคมตะวันตกซึ่งมักจะมีเรื่อง “ปมอิดิพุส” หรือ “ปมอีเล็คตร้า” ที่ลูกชายมักไม่ถูกกับพ่อ ลูกสาวไม่ถูกกับแม่ นิทานมหัศจรรย์ในสังคมตะวันตก ตัวร้ายจึงมักเป็นยักษ์ (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพ่อที่สูงใหญ่ดุร้าย เช่นเรื่อง “แจ๊กผู้ฆ่ายักษ์”) หรือ แม่มด แม่เลี้ยง (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนแม่ที่ใจร้ายในความรู้สึกของลูกสาว เช่น เจ้าหญิงนิทรา สโนว์ไวท์ ฯลฯ). ความคับแค้นใจของเด็กทำให้มองพ่อแม่เป็นผู้ร้ายที่เป็นยักษ์ หรือ แม่มด

สโนไวท์
ที่มา : https://bkksr.com/th/movies/snow-white
โลกของนิทานอาจหยิบยื่นทางออกที่เป็น “ความปรารถนา” ที่มนุษย์อยากจะทำอะไรบางอย่างที่ทำไม่ได้ในชีวิตจริง ในสังคมประเพณีของคนไทย มีธรรมเนียม “แต่งลูกเขยเข้าบ้าน” ทำให้ลูกเขยต้องเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของพ่อตาและอยู่ท่ามกลางวงศาคณาญาติของฝ่ายหญิง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “พ่อตากับลูกเขย” ในนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ของไทยจึงมักเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างพระเอกกับยักษ์หรือพระราชาที่เป็นพ่อตา ในชีวิตจริงลูกเขยทำร้ายพ่อตาไม่ได้ แต่ในนิทาน ลูกเขยอย่างเจ้าเงาะก็ “เอาชนะ” พ่อตาอย่างท้าวสามลได้ หรือ สุวรรณหงส์ก็ถูกหอกยนต์ของพ่อตาฆ่าตาย เมื่อฤาษีชุบให้สุวรรณหงส์ฟื้นแล้ว สุวรรณหงส์ก็กลับมาฆ่าพ่อตาที่เป็นยักษ์ตาย นิทานจึงหยิบยื่นทางออกที่ “เด็ดขาด” สร้างความพึงพอใจให้คู่ขัดแย้งในครอบครัวได้. นอกจากนั้น ในครอบครัวไทย เมื่อลูกเขยย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านภรรยาซึ่งในบ้านอาจมี “น้องเมีย” ในสังคมไทยจึงมีข้อห้ามระหว่าง “พี่เขย-น้องเมีย” ไม่ให้อยู่ใกล้กัน ให้เลี่ยงกัน แต่ในคลังนิทานไทย ก็มักมีมุขตลกเกี่ยวกับ “พี่เขยเข้าหาน้องเมีย”!
นอกจากนั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพนับถือพระสงฆ์ ผู้ถือศีล ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ ซึ่ง “เป็นบุคคลที่เราไม่พึงวิจารณ์” ยิ่งสังคมเคร่งครัดเรื่องใด คนในสังคมก็จะรู้สึก “ถูกกดดัน” จากกฎเกณฑ์ที่ไม่สามารถวิจารณ์บุคคลเหล่านั้นได้ นิทานมุขตลกมักทำหน้าที่ให้คนในสังคมได้หัวเราะ “บุคคลต้องห้าม” ดังกล่าว จึงมักมีมุขตลกเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ทำผิดศีล หรือ มุขตลกเรื่อง “ตาเถรเข้าหายายชี” หรือนิทานเรื่อง “ศรีธนญชัย” ที่ทำให้คนที่เป็นผู้ปกครอง “ได้อาย” หรือเป็นที่หัวเราะเยาะ ในหลายประเทศในอุษาคเนย์ก็มีนิทานที่มีตัวละครประเภทศรีธนญชัยเช่นกัน หรือในประเทศเยอรมัน มีนิทานเรื่อง “ทิล ออยเลนชปีเกิล” คล้าย ๆ เรื่อง “ศรีธนัญชัย แต่ทิลมักจะทำให้พ่อค้า ชนชั้นกลาง “ได้อาย” จากการกระทำที่ “เถนตรง” ของตน
สังคมมีกฎเกณฑ์ แต่สังคมก็รู้ดีว่ามนุษย์จะรู้สึก “ถูกกดกัน” เพราะกฎเกณฑ์ สังคมก็หาทางออกให้มนุษย์ ผ่านกลไกนิทาน นิทานซึ่งเป็นข้อมูลคติชนจึงทำหน้าที่สำคัญด้วยการเป็น “ช่องทาง” ระบายความคับข้องใจให้กับบุคคลต่าง ๆ ในสังคม เพราะสังคมก็รู้ว่า เมื่อมนุษย์รู้สึกถูกกดกัน มนุษย์ต้องมีทางระบายออกซึ่งความคับข้องใจนั้น!
สรุป
จากข้อมูลคลังนิทานของกลุ่มชนทั้งหลายทั่วโลก ทำให้สรุปได้ว่า มนุษย์ชอบเล่าเรื่อง (stories) ชอบแต่งเรื่อง ชอบเขียนเรื่อง ชอบฟังนิทาน ชอบอ่านนิทาน ชอบติดตามเรื่อง ชอบความตื่นเต้นในเรื่องเล่า รวมทั้งชอบความเศร้าในเรื่องเล่าด้วย
การที่มนุษย์ชอบสร้าง stories เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มนุษย์ใช้ภาษา (verbal language) ในการผูกเรื่องเพื่อเล่าหรือเขียนให้เป็นเรื่องที่ประกอบด้วยตัวละคร (ผู้แสดง) เหตุการณ์ ความขัดแย้งในเรื่อง การคลี่คลายเรื่อง ซึ่งการ “เล่าเรื่อง” นี้แสดงออกในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเล่านิทาน การเขียนเพลงยาว การแสดงละคร การแต่งวรรณคดี การแต่งกวีนิพนธ์ การแต่งนวนิยาย การสร้างภาพยนตร์ การนำเสนอข่าว การเล่าข่าวในทีวี ในหนังสือพิมพ์ การเล่าเรื่องของตัวเองในเฟซบุ๊ก ตลอดจนการถ่ายคลิปวิดิโอเพื่อโพสต์ในเฟซบุ๊กหรือเพื่อให้ “เป็นเรื่อง เป็นข่าว” ในโลกโซเชียลมีเดีย
นี่คือนิสัยและการแสดงออกของมนุษย์ที่พัฒนามาจากการใช้ภาษาและการ “สร้างเรื่อง” ทั้งสิ้น ซึ่งต้องนับว่าเป็นนิสัยของมนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลจนถึงปัจจุบันอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่รูปแบบและช่องทางการ “สร้างเรื่อง” และ “เล่าเรื่อง” อาจพัฒนาเปลี่ยนไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยีในการเล่าเรื่อง
มาถึงจุดนี้จึงน่าจะเห็นได้แล้วว่า นิทานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตของความเป็นมนุษย์ไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป หากมองให้สัมพันธ์กับธรรมชาติในเชิงสร้างสรรค์ของมนุษย์และศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์.

ผู้เขียน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง
คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย