ผลงานชุดคติชนวิทยา ลำดับที่ ๕

วัชราภรณ์ ดิษฐป้าน. แบบเรื่องนิทานสังข์ทอง : การแพร่กระจายและความหลายหลาก. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙. (๒๙๕ หน้า)

“นางจันท์มเหสีเอกประสูติพระโอรสเป็นหอยสังข์”
“พระราชาองค์หนึ่งประสูติพระโอรสเป็นหอยขาว”
“สามีภรรยาคู่หนึ่งมีบุตรเป็นกบตัวเมีย ซึ่งพูดและทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนคน”
“นางหล่าคลอดบุตรรูปร่างอัปลักษณ์และมีผิวดำ”

หากพิจารณาเหตุการณ์ข้างต้นแล้ว ทำให้ผู้อ่านนึกถึงนิทานเรื่องใด? นิทานที่มีตัวละครกำเนิดผิดปกติต้องอำพรางร่างกายไว้ นิทานเรื่องหนึ่งที่หลาย ๆ คนคงพอจะนึกออกคงไม่พ้นเรื่อง “สังข์ทอง”

เหตุการณ์ทั้ง ๔ เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์สำคัญในนิทานสังข์ทอง จากหนังสือ แบบเรื่องนิทานสังข์ทอง : การแพร่กระจายและความหลายหลาก ของ ผศ.ดร. วัชราภรณ์ ดิษฐป้าน ศึกษาความแพร่หลายของแบบเรื่องสังข์ทองของคนไทยในถิ่นต่าง ๆ และของกลุ่มชาติพันธุ์ไท รวมทั้งศึกษาลักษณะการแตกเรื่องของนิทานในแบบเรื่องสังข์ทอง

แบบเรื่องคืออะไร?
ทำไมต้องศึกษานิทานด้วยแบบเรื่อง?

แบบเรื่อง คือ นิทานหรือเรื่องเล่าที่มีดำรงอยู่อย่างอิสระมีลักษณะเป็นเรื่องเล่าที่สมบูรณ์ในตัวเอง หรือเป็นเรื่องที่เล่าไปพร้อมกับนิทานเรื่องอื่น ๆ แบบเรื่องนิทานเป็นสิ่งที่กำหนดให้นิทานเรื่องหนึ่ง ๆ มีเอกลักษณ์ และต่างจากนิทานเรื่องอื่น ๆ แบบเรื่องแต่ละเรื่องจะกำหนดด้วยลำดับเหตุการณ์ และอนุภาคสำคัญในเรื่อง แบบเรื่องอาจประกอบด้วยอนุภาคเดียวหรือมีหลายอนุภาคก็ได้ เช่น แบบเรื่องของนิทานมุกตลกอาจมีอนุภาคเดียว ส่วนแบบเรื่องนิทานมหัศจรรย์มักประกอบด้วยหลายอนุภาค

ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนศึกษานิทานสังข์ทองสำนวนต่าง ๆ และได้จัดระบบแบบเรื่องนิทานสังข์ทอง เป็น ๓ แบบเรื่องย่อย ได้แก่ แบบเรื่อง ก สังข์ทอง : การทดสอบหลังแต่งงาน แบบเรื่อง ข ก่ำกาดำ : การทดสอบก่อนแต่งงาน และแบบเรื่อง ขก ท้าวแบ้ : การผสมของแบบ ก กับแบบ ข

จากการศึกษาแบบเรื่องทำให้เห็น “ความเหมือน” และ “ความต่าง” ของนิทานสังข์ทองในแต่ละวัฒนธรรม เห็นภาพองค์รวมของนิทานสังข์ทองที่เป็นที่รับรู้ของกลุ่มชนแม้ว่าจะอยู่ต่างวัฒนธรรม แต่มีนิทานหรือเรื่องเล่าอยู่ในแบบเรื่องเดียวกัน อาจต่างกันในรายละเอียดบางประการ การศึกษานิทานโดยใช้แบบเรื่องจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาศึกษาเพื่อจัดระบบนิทานหรือเรื่องเล่าแบบเดียวกันที่อยู่ต่างวัฒนธรรมได้
ด้านการแตกเรื่องทำให้เห็นความแพร่หลาย และการเปลี่ยนแปลงของนิทานสังข์ทองที่มาจากโครงเรื่องนิทานต้นแบบกลายเป็นนิทานสังข์ทองหลากหลายสำนวน และหลากหลายประเภทมากขึ้น ทั้งเป็นนิทานมหัศจรรย์ นิทานอธิบายเหตุ หรือชาดกท้องถิ่น

หนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักนิทานสังข์ทองสำนวนต่าง ๆ เห็นวิธีการศึกษานิทานโดยใช้วิธีวิทยาทางคติชน ทั้งเรื่องอนุภาค แบบเรื่อง และการแตกเรื่องที่แสดงให้เห็นว่านิทานหรือเรื่องเล่าในวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์ต่อระบบคิด วิถีชีวิตของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ผู้ปริทัศน์: ฉัฑริกา ปรานช่วย
นิสิตอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาคติชนวิทยา
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

#ปริทัศน์หนังสือผลงานของศูนย์คติชนวิทยา