เรื่องผีในสังคมไทยร่วมสมัย: บทบาทและการผสมผสานทางวัฒนธรรม

เรื่องผีในสังคมไทยร่วมสมัย: บทบาทและการผสมผสานทางวัฒนธรรม

นลิน สินธุประมา

ปริญญานิพนธ์อักษรศาสตรบัณฑิต
ภาควิชาภาษาไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา ๒๕๖๐

วัตถุประสงค์ของการศึกษา
๑. เพื่อศึกษาเนื้อหาและลักษณะสําคัญของเรื่องผี
๒. เพื่อศึกษาลักษณะการผสมผสานทางวัฒนธรรมของเรื่องผีในสังคมไทยร่วมสมัยจากการศึกษาโครงสร้างของเรื่องผีไทยร่วมสมัย
๓. เพื่อศึกษาบทบาทที่เรื่องผีไทยร่วมสมัยมีต่อสังคมไทย รวมถึงแนวทางการนําเรื่องผีไปใช้ในสื่อร่วมสมัย

บทคัดย่อ
ปริญญานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเรื่องผีในสังคมไทยร่วมสมัยโดยใช้ข้อมูลเรื่องผีไทยร่วมสมัยในอินเทอร์เน็ตจำนวน ๙๘ เรื่อง ๑๐๐ สำนวน ประกอบกับภาพยนตร์สยองขวัญจำนวน ๓ เรื่องและเกมสยองขวัญจำนวน ๓ เกม ศึกษาโดยประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องอนุภาค แบบเรื่อง และการศึกษานิทานเชิงโครงสร้างของวลาดิมีร์ พรอพพ์มาเป็นเครื่องมือในการศึกษาลักษณะ การผสมผสานทางวัฒนธรรม และบทบาทของเรื่องผีไทยร่วมสมัย

ผลการศึกษาพบว่าเรื่องผีไทยร่วมสมัยมีลักษณะสำคัญคือการสร้างความสยองขวัญโดยใช้ความผิดปกติบางอย่างเป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดความน่ากลัว อนุภาค แบบเรื่อง และโครงสร้างของเรื่องผีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความน่ากลัว อนุภาคที่พบในเรื่องผีประกอบด้วยอนุภาค ๔ กลุ่ม ได้แก่ อนุภาคตัวละคร อนุภาคเหตุการณ์ อนุภาคสิ่งของ และอนุภาคสถานที่ อนุภาคกลุ่มใหญ่ทำหน้าที่สร้างความผิดปกติทำให้เกิดความน่ากลัว แบบเรื่องที่พบประกอบด้วย ๔ แบบเรื่อง ได้แก่ ผีผู้รับกรรม ผีสิงที่ตาย ผีผู้ปรารถนาดี และผีทวงแค้น แบบเรื่องทั้งสี่แบบแสดงให้เห็นปมขัดแย้งของเรื่องอันเป็นเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ผียังคงต้องสิงสู่อยู่ในโลกของมนุษย์และเป็นสิ่งสำคัญในการอธิบายเหตุว่าเหตุใดความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากความตายของผีจึงไม่สามารถสงบลงไปโดยง่าย โครงสร้างของเรื่องผีประกอบด้วย ๗ พฤติกรรม คือ กผ พฤติกรรมลางบอกเหตุ (ความตายของผี) ข พฤติกรรมไม่ดีค การตาย กค พฤติกรรมลางบอกเหตุ (เคราะห์ของคน) จ พฤติกรรมการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผีฉ พฤติกรรมการหลอกหลอน ช พฤติกรรมการรับรู้เกี่ยวกับการตายของผี และ ซ พฤติกรรมการรับมือกับผี โครงสร้างของเรื่องผีมีลักษณะพิเศษคือสามารถเกิดวนซ้ำได้

เรื่องผีไทยร่วมสมัยมีบทบาทในการสร้างความบันเทิง บทบาทในการการกำหนดพฤติกรรมของคนด้วยความรู้สึกกลัว และบทบาทในการอธิบายพื้นที่และการส่งต่อความความทรงจำ เรื่องผีไทยร่วมสมัยมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมจากวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีส่วนประกอบทั้งลักษณะของวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่เดิมและวัฒนธรรมการเล่าเรื่องแบบเก่า ผสมผสานกับวัฒนธรรมใหม่ซึ่งมีที่มาทั้งจากวัฒนธรรมต่างชาติ วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ และลักษณะการเล่าเรื่องแบบใหม่ การผสมผสานทางวัฒนธรรมนี้ปรากฏทั้งในระดับเนื้อหาของเรื่องเล่าและในระดับรูปแบบของเรื่องเล่า บทบาทและลักษณะการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องผีไทยร่วมสมัยเหล่านี้ถูกขับเน้นให้เห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อเรื่องเล่าถูกนำไปนำเสนอในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์ เกม เป็นต้น

ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญามหาบัณฑิต สาขาคติชน
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์
(นิสิตโครงการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะนิสิตทางด้านศิลปะระดับชาติ นานาชาติ (สาขาวิชาภาษาไทย) รุ่นที่ ๒๒)

อ่านปริญญานิพนธ์ฉบับออนไลน์ได้ที่
https://www.arts.chula.ac.th/folklore/wp-content/uploads/2020/06/ปริญญานิพนธ์-เรื่องผีร่วมสมัยในสังคมไทย-บทบาทและการผสมผสานทางวัฒนธรรม-ฉบับสมบูรณ์.pdf