อ่านนิทาน “อ่านมนุษย์”

อ่านนิทาน “อ่านมนุษย์”[1] 

ศิราพร ณ ถลาง [2]

เกริ่นนำ: รู้จักมนุษย์จากมุมมนุษยศาสตร์

        มนุษยศาสตร์ (Humanities) เป็นสาขาวิชาการที่ไม่ได้รับการยกย่องเท่าวิทยาศาสตร์ (Science) คงด้วยความคิดและค่านิยมทางสังคมบางประการ  เช่น คนที่ “หัวดี” และคิดว่าตัวเอง “เก่ง” มักเลือกเรียนแพทยศาสตร์ เรียนวิศวกรรมศาสตร์,  ผู้ที่เรียนทาง “สายวิทย์” มักเรียนต่อในสาขาที่ “ทำเงิน” ได้มากกว่าผู้ที่เรียนทาง “สายศิลป์” คนที่เรียนทางด้านภาษาและวรรณคดีมักถูกมองว่าเป็นคนเพ้อฝัน ฯลฯ  และคนทั่วไปก็ไม่ค่อยเห็นว่ามนุษยศาสตร์สำคัญ เพราะคงคิดว่า “ก็เราเป็นมนุษย์อยู่แล้ว” “รู้จักมนุษย์ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องเรียน” “เรียนทางมนุษยศาสตร์หางานทำยาก ได้เงินเดือนไม่มากเท่าสายวิทยาศาสตร์”

        ทว่า ในความเป็นจริง มนุษยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ทำให้เข้าใจจิตวิญญาณ อารมณ์ความรู้สึก และศักยภาพในทางสร้างสรรค์ของมนุษย์ ถ้าแปลตรงตัว “มนุษยศาสตร์” ก็น่าจะแปลว่า “วิชาที่เกี่ยวกับมนุษย์” หรือ “วิชาที่สะท้อนความเป็นมนุษย์” ครอบคลุมสาขาวิชาที่เป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น การใช้ภาษาในแง่มุมต่าง ๆ การสร้างสรรค์วรรณคดี วรรณกรรม เรื่องเล่า นิทานตำนาน ละคร ตลอดจนการบันทึกเรื่องราวของมนุษย์ผ่านประวัติศาสตร์  เป็นต้น


มนุษยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ทำให้เข้าใจจิตวิญญาณ อารมณ์ความรู้สึก และศักยภาพในทางสร้างสรรค์ของมนุษย์
ถ้าแปลตรงตัว “มนุษยศาสตร์” ก็น่าจะแปลว่า “วิชาที่เกี่ยวกับมนุษย์” หรือ “วิชาที่สะท้อนความเป็นมนุษย์”
ครอบคลุมสาขาวิชาที่เป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของมนุษย์



        การเรียนการสอนในสาขาวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์ทำให้เห็นว่า

    • มนุษย์มีวัฒนธรรมการสื่อสารด้วยภาษาที่เป็นระบบสัญลักษณ์แทนความหมายอย่างหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่เป็นถ้อยคำ ภาษาภาพ ภาษากาย เช่น สีหน้า ดวงตา รอยยิ้ม น้ำตา ภาษาท่าทางเพื่อแสดงอารมณ์  เช่น การโอบกอดเพื่อแสดงความรัก  การลงไม้ลงมือทำร้ายกันเพื่อแสดงความไม่พอใจหรือแสดงอารมณ์โกรธ ตลอดจนการใช้ภาษาเขียนในการบันทึกข้อมูลเรื่องราวหรือสร้างสรรค์งานวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ
    • มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความคิด มีจินตนาการ มีความฝัน มีความคิดสร้างสรรค์; ผลผลิตจากคุณสมบัติดังกล่าวนี้จึงมีทั้งเรื่องเล่า นิทาน วรรณคดี ของเล่น ภาพวาด รูปปั้น ผ้าทอ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ รถยนต์ เครื่องบิน คอมพิวเตอร์ ตลอดจนเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ
    • มนุษย์ชอบฟังเรื่องเล่า และชอบเล่าเรื่อง มีความตื่นเต้นไปกับเรื่องเล่า และมีความสุขหรือทุกข์ไปตามเรื่องเล่า จึงทำให้เกิดเรื่องเล่าประเภทต่าง ๆ เช่น นิทานมหัศจรรย์ นิทานตลก นิทานเรื่องโม้ นิทานอธิบายเหตุ นวนิยาย โศกนาฏกรรม สุขนาฏกรรม ละครประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องราวและประวัติศาสตร์เหตุการณ์ที่มีปมขัดแย้งและการคลี่คลายของปมขัดแย้ง
    • มนุษย์ต้องการคำอธิบายเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางสังคม มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากไม่ได้รับคำอธิบายหรือคำตอบกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความต้องการอันนี้ทำให้เกิดการเล่าเรื่อง การสร้างเรื่องเล่า นิทานอธิบายเหตุ นิทานอธิบายสภาพภูมิศาสตร์แปลก ๆ เช่น ภูเขาที่มีช่องกระจก เกาะทะลุ หอยมวนพลู รวมไปถึงตำนานอธิบายกำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ สัตว์ พืชต่าง ๆ ตำนานอธิบายฟ้า ดิน ภูเขาลำธาร ตำนานอธิบายที่มาของการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
    • มนุษย์ชอบแสดงออก ต้องการความสนุกสนานและการผ่อนคลายทางอารมณ์ นี่จึงเป็นที่มาของการร้องเพลง การเล่นดนตรี การละเล่น การแสดง การฟ้อนรำ ละคร การชอบดูภาพยนตร์ การเล่นเกม การเล่นกีฬา; บทเพลงต่าง ๆ เช่น เพลงเกี้ยวพาราสี เครื่องดนตรีของกลุ่มชนชาติพันธุ์ทั้งหลายในโลก การแสดงพื้นบ้าน นาฏกรรมในราชสำนัก ละครเวที ละครร้อง ภาพยนตร์ประเภทต่าง ๆ เกมกีฬาประเภทต่าง ๆ ตลอดจนศิลปะต่าง ๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ล้วนเป็นผลผลิตที่สะท้อนความต้องการและความสามารถในการแสดงออกด้านต่าง ๆ ของมนุษย์
    • แต่.. มนุษย์ก็กลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น กลัวสิ่งที่ไม่รู้ กลัวสิ่งที่ควบคุมไม่ได้; ในวัฒนธรรมมนุษย์จึงมีความเชื่อเรื่องผี เทวดา เทพเจ้า พระเจ้า มีความเชื่อว่ามีสิ่งเหนือธรรมชาติและพิธีกรรมที่จะบนบานต่อสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งแท้ที่จริงคือการต่อรองและความพยายามในการควบคุมอำนาจเหนือธรรมชาติ ทำให้เกิดคนทรง หมอผี หมอขวัญ หมอธรรม พระ หมอดู ฯลฯ
    • มนุษย์ในสังคมประเพณีให้คุณค่าและความสำคัญต่อความมั่นคงทางจิตใจ เช่น เมื่อใดที่มนุษย์มีความหวั่นใจว่าปีนี้ฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ เมื่อใดที่มีความไม่มั่นใจว่าปีนี้ข้าวจะได้ผลดีหรือไม่  เมื่อใดที่มีความสงสัยว่าคนในครอบครัวไม่สบายเพราะอะไร เมื่อใดที่ต้องการความมั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ มนุษย์จะประกอบพิธีกรรมติดต่อสื่อสารกับเทวดาฟ้าดิน เทวดาอารักษ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าฝนจะตก ข้าวจะดี มีเทวดาคุ้มครอง  เราจึงมักจะพบว่ามีพิธีกรรมมากมายในสังคมประเพณี โดยเฉพาะในสังคมชนบท สังคมชาติพันธุ์ เพราะเป็นสังคมที่พึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติและใช้พิธีกรรมเป็นที่พึ่งทางใจ ให้ใจสงบและเป็นสุข (มากกว่าจะมีความสุขเพราะมีทรัพย์สินเงินทองเช่นในสมัยนี้)

        นข้อเขียนนี้ ผู้เขียนประสงค์จะนำเสนอให้ผู้อ่านที่เป็นคนทั่วไปได้เห็น “คุณค่าของนิทาน” ในฐานะที่เป็นข้อมูลทางมนุษยศาสตร์ประเภทหนึ่ง.  โดยทั่วไป คนเรามักมองว่านิทานเป็นเรื่องของจินตนาการที่เพ้อฝัน หาความจริงมิได้  แต่ผู้เขียนมองว่า นิทานประเภทต่าง ๆ สะท้อนให้เห็น “ความเป็นมนุษย์” ในแง่มุมต่าง  ๆ ที่น่าสนใจ ทั้งความคิด จินตนาการ อารมณ์ความรู้สึก นิสัย ทัศนคติ โลกทัศน์ อันล้วนเป็น “ธรรมชาติ” ของ “มนุษยชาติ”


ผู้เขียนขอนำเสนอความคิดเห็นจากการ “อ่านนิทาน” ที่นำไปสู่การ “อ่านมนุษย์” ใน ๖ เรื่องต่อไปนี้

          ๑. คติชนวิทยากับความเป็นมนุษย์

        ๒. จินตความคิด (อนุภาค) เกี่ยวกับกำเนิดจักรวาล กำเนิดโลกและกำเนิดมนุษย์

          ๓. “Us” and “the Others”: มนุษย์มอง “ตนเอง (พวกเรา)” และ “คนอื่น (พวกเขา)” อย่างไร

          ๔. จินตความคิดที่ก้าวพ้นข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์

          ๕. มนุษย์อธิบายสภาพภูมิศาสตร์/ธรรมชาติที่แปลก ๆ ด้วยเรื่องเล่า

          ๖. มนุษย์ใช้นิทานเป็นช่องทางในการระบายความคับข้องใจ


ทั้งนี้จะขอเขียนแบบ “เล่าสู่กันฟัง” ไม่เป็นวิชาการมากนัก ดังนั้น จะไม่ใส่อ้างอิงไว้ในเนื้อหา แต่ผู้สนใจสามารถตามอ่านหนังสือเพิ่มเติมจากบรรณานุกรมได้

คติชนวิทยากับความเป็นมนุษย์

        วิชาคติชนวิทยา (Folklore) ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งในสาขามนุษยศาสตร์ที่ศึกษามนุษย์ผ่านข้อมูลคติชนซึ่งเป็นผลผลิตจากความคิด จินตนาการ อารมณ์ และการแสดงออกของมนุษย์  นักคติชนจะศึกษาวัฒนธรรมส่วนที่เป็นศิลปะการแสดงออก (expressive art) ของมนุษย์ผ่านคติชนประเภทที่ใช้ถ้อยคำ (verbal folklore) เช่น นิทาน เพลง สุภาษิต ปริศนาคำทาย, คติชนที่เป็นการแสดง (performing folklore) เช่น การละเล่น การแสดง ดนตรี ละครพื้นบ้าน, คติชนที่เป็นวัตถุ (material folklore) เช่น ผ้าทอ เครื่องจักสานเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน และคติชนที่เป็นธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ (customary folklore) ครอบคลุมความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมรักษาโรคแบบพื้นบ้าน พิธีกรรมตามปฏิทิน พิธีกรรมในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ข้อมูลคติชนทั้ง ๔ ประเภทนี้จะทำให้เข้าใจทั้งความคิด อารมณ์ ปัญญา และความสามารถของมนุษย์ได้ในหลากหลายมิติ

        ในวิชาคติชนวิทยา คติชนแต่ละประเภทยังแยกออกเป็นประเภทย่อย ๆ (genre) อีกหลายประเภท เช่น คติชนที่ใช้ถ้อยคำที่เป็นนิทานพื้นบ้าน (folktale) ก็ยังแบ่งได้อีกเป็น ๑๐ ประเภทย่อย ได้แก่ ตำนานปรัมปรา (myth) นิทานประจำถิ่น (legend) นิทานมหัศจรรย์ (fairytale) นิทานมุขตลก (joke) นิทานอธิบายเหตุ (explanatory tale)  นิทานเรื่องโม้ (tall tale) นิทานลูกโซ่ (chain tale) นิทานเรื่องผี (ghost tale) นิทานเรื่องสัตว์ (animal tale) นิทานศาสนาสอนใจ (didactic tale)

        นิทานแต่ละประเภทดังกล่าวข้างต้นนี้จะมีลักษณะเฉพาะของเนื้อหา วิธีการเล่า และบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น myth เป็นเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับตัวละครที่เป็นพระเจ้า เทพ เทวดา มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอธิบายกำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ และเป็นเรื่องเล่าที่ใช้อธิบายที่มาของการประกอบพิธีกรรม เช่น ตำนานเรื่อง พญาคันคาก ใช้อธิบายที่มาของพิธีจุดบั้งไฟ, สำหรับ legend เป็นเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับ locality หรือท้องถิ่น เกี่ยวกับบุคคลหรือวีรบุรุษในท้องถิ่น มีเรื่องราวที่สัมพันธ์กับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง หรือใช้อธิบายที่มาของสถานที่ในท้องถิ่น เช่น นิทานเรื่อง ผาแดง-นางไอ่ ใช้อธิบายหนองหารซึ่งเป็นน้ำขนาดใหญ่ว่าเป็นเพราะมีเมืองล่มอยู่เบื้องล่างหนองน้ำ.

        ส่วน fairytale เป็นเรื่องการผจญภัยของตัวละครประเภทเจ้าหญิงเจ้าชายที่มักมีผู้ช่วยหรือของวิเศษ พระเอกต้องต่อสู้กับพันธกิจบางประการ ท้ายที่สุดได้แต่งงานกับนางเอก เป็นเรื่องเล่าเพื่อความสนุกสนาน เต็มไปด้วยจินตนาการถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง. อนึ่ง ตัวละครในเรื่องมักเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ-ลูกชาย, แม่-ลูกสาว, แม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยง, เมียหลวง-เมียน้อย, พ่อตา-ลูกเขย, แม่สามี-ลูกสะใภ้ ฯลฯ คู่ขัดแย้งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความขัดแย้งในครอบครัวในชีวิตจริงในสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ ในโลก. Fairytale มักหยิบยื่น “ทางออก” ที่ตอบสนองความปรารถนาทางใจให้กับคู่ขัดแย้งในครอบครัวในชีวิตจริง

        สำหรับ joke เป็นเรื่องเล่าตลกขำขันเพราะตัวละครมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานพฤติกรรมทางสังคมบางประการ เช่น คนพิการ คนโง่-คนฉลาด หรือ เป็นเรื่องตลกเพราะได้ยั่วล้อบรรทัดฐานทางสังคมบางประการ เรื่องใดที่สังคม “ห้าม” เรื่องเหล่านั้นมักเป็นเนื้อหาของ joke เช่น นิทานมุขตลกเกี่ยวกับ “พี่เขย-น้องเมีย” หรือ “ตาเถร-ยายชี” หรือนิทาน “ศรีธนญชัย” ที่ตัวเอกสามารถทำให้ “ผู้ปกครอง” เสียหน้าหรือได้อาย. นิทานเรื่อง joke จึงมีบทบาทหน้าที่เป็นทางออกทางจิตใจให้กับผู้คนในสังคมที่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดบางประการ

       ในระยะแรกเริ่มของการมีวิชาคติชนวิทยา ประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักคติชนได้รวบรวมนิทานจากแหล่งต่าง ๆ ในโลก เช่น ยุโรป (สแกนดิเนเวีย รัสเซีย สเปน กรีก อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ) อินเดีย อเมริกันอินเดียนแดง ฮาวาย จีน เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อัฟริกา ฯลฯ   ต่อมาได้พยายามแยกตัวบทนิทานแต่ละเรื่องจากแหล่งกำเนิดนิทานต่าง ๆ ทั่วโลกออกเป็นหน่วยย่อยที่สุดที่นักคติชนเรียกว่า อนุภาค (motif) แล้วจัดหมวดหมู่อนุภาคที่เป็นจินตความคิดสากลของมนุษย์ได้เป็น ๒๖ หมวด ตั้งแต่หมวด A-Z เช่น หมวด A เกี่ยวกับปกรณัมปรัมปรา (mythological motifs) หมวด B สัตว์ (Animals)  หมวด C ข้อห้าม (Tabu) หมวด D ความวิเศษ (Magic) หมวด H การทดสอบ (Tests) หมวด K การหลอกลวง (Deceptions) หมวด Q รางวัลและการลงโทษ (Rewards and Punishments) หมวด T เพศ (Sex – ความรัก การแต่งงาน การเกิด) เป็นต้น แล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุด Motif-Index of Folk Literature (ดัชนีอนุภาคนิทานพื้นบ้าน) มี ๖ เล่ม. จึงอาจกล่าวได้ว่าหนังสือชุดนี้เป็น “ขุมทรัพย์แห่งจินตความคิดของมนุษยชาติ” ที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง.

หนังสือชุด Motif-Index of Folk Literature ที่มา: https://www.vialibri.net/years/books/131889179/1975-stith-thompson-motif-index-of-folk-literature-stith

         จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และงานสร้างสรรค์จากจินตนาการ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั่วไป.  จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในหัวของคนที่เป็น “นักประดิษฐ์” เท่านั้น แต่มีอยู่ในหัวของมนุษยชาติทุกคน.

        ในหัวข้อต่อ ๆ ไป ผู้เขียนจะนำเสนอให้เห็น “ลักษณะร่วม” ของมนุษยชาติในหลากหลายแง่มุมของ “ความเป็นมนุษย์”   โดยจะวิเคราะห์ผ่านตัวบทนิทานหลากหลายประเภทที่พบอย่างเป็นสากลในคลังเรื่องเล่าของกลุ่มชนต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งนิทานแต่ละประเภท เช่น ตำนานปรัมปรา นิทานมหัศจรรย์ นิทานประจำถิ่น นิทานมุขตลก ฯลฯ จะสะท้อน “ความเป็นมนุษย์” ในแง่มุมที่ต่างกัน.

จินตความคิด (อนุภาค)[3]เกี่ยวกับกำเนิดจักรวาล กำเนิดโลกและกำเนิดมนุษย์

         เรื่องของจักรวาล กำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์เป็นประเด็นที่พูดกันในแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่ที่น่าสนใจก็คือ เรื่องเหล่านี้ก็มีปรากฏในแวดวงมนุษยศาสตร์โดยเฉพาะจากข้อมูลคติชนประเภทตำนานปรัมปราของมนุษยชาติทั่วโลกอย่างเป็นสากลด้วย ดังนั้น เราจึงควรใส่ใจศึกษาจินตความคิดในตำนานที่ว่าด้วยจักรวาล กำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ ผู้สร้างโลก สวรรค์ ฟ้า-ดิน น้ำท่วมโลก ไฟล้างโลก ฯลฯ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องทำนองเดียวกัน.  ในหัวข้อนี้ จะขอยกตัวอย่างจาก ดัชนีอนุภาคนิทานพื้นบ้าน หมวด A ที่เกี่ยวกับตำนานปรัมปราเป็นหลัก.

         ในหมวด A มีหมวดย่อยที่สะท้อนความคิดมนุษย์เกี่ยวกับ จักรวาล (A600 Universe) ตำนานของบางกลุ่มชนเล่าว่าจักรวาลสร้างขึ้นใน ๖ วัน (ฮาวาย) บางกลุ่มชนเชื่อว่าจักรวาลเกิดจากไฟและหมอก (ไอซ์แลนด์) หลายกลุ่มเชื่อว่าจักรวาลเกิดจากไข่ (Cosmic Egg) (ฟินแลนด์ เอสธัวเนีย กรีก อินเดีย ฮาวาย เมารี) และจากไข่จักรวาลเกิดเป็น heaven and earth (กรีก อินโดนีเซีย) ครึ่งบนของไข่กลายเป็นสวรรค์และฟ้า ครึ่งล่างเป็นโลกและแผ่นดิน นอกจากนั้น ตำนานหลายแห่งพูดถึงจำนวนของสวรรค์ บางแห่งเชื่อว่าสวรรค์มี ๙ ชั้น (อินเดีย) ๘ ชั้น (ซามัว) ๗ ชั้น (ไอริช อินเดีย สุมาตรา) ๓ ชั้น (ไอซแลนด์ ฮาวาย เมารี อินเดียนแดง)

         มีจินตความคิดของคนโบราณที่น่าสนใจอันหนึ่งที่เชื่ออย่างเป็นสากลว่า ฟ้าและดินเคยอยู่ติดกัน (A 625.2)  แต่ต่อมาแยกจากกัน (ความคิดนี้พบในตำนานทั่วโลก เช่น ตำนานของอียิปต์ บาบิโลเนีย มองโกเลีย ไซบีเรีย อินเดีย จีน ลาว ไมโครนีเซีย โพลีนีเซีย  ซามัว ฮาวาย เมารี ฟิลิปปินส์ อัฟริกา).  ตำนาน “ปู่เยอ-ย่าเยอ” ของลาวหลวงพระบางเล่าว่า แต่ก่อนโลกมืดมิดเพราะฟ้าและดินอยู่ติดกัน ถูกพันไว้ด้วยเครือเขากาด ปู่เยอย่าเยออาสาปีนขึ้นไปตัดเครือเขากาดจนตัวตาย ฟ้าและดินจึงแยกจากกัน โลกจึงบังเกิดแสงสว่าง. คนไทดำในเวียดนามก็เล่าไว้ใน “ความโทเมือง” ซึ่งเป็นตำนานโบราณว่า แต่ก่อนฟ้าและดินอยู่ใกล้กันมาก เวลาเอาสากตำข้าว สากยังกระทุ้งไปถึงชั้นฟ้า หรือเวลาวัวลุกขึ้นยืน โหนกบนหลังวัวยังชนฟ้า!.  ทำไมคนโบราณหลายกลุ่มชนจึงมีความเชื่อเรื่องนี้และเล่าไว้ตรงกันในตำนานเช่นนี้? นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่มนุษย์ในปัจจุบันต้องนำไปขบคิดต่อ.

ปู่เยอ-ย่าเยอ ในงานปีใหม่(สงกรานต์)เมืองหลวงพระบาง ที่มา : http://www.isan.clubs.chula.ac.th/simboard/post_view.php?room_no=0&id_main=821&star=170&pg=18

         นักวิทยาศาสตร์อธิบายกำเนิดกาแลกซีและดาวนพเคราะห์ในสุริยจักรวาลว่ามาจากปรากฏการณ์บิกแบงหรือหลุมดำ (แต่ก็ต้องนับว่าเป็นคำอธิบายที่เป็นการคาดคะเน)  ครั้นกลับไปดูในข้อมูลประเภทตำนานปรัมปราบ้าง พบว่า มนุษย์ในสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลกมีจินตความคิดว่าโลกเรานี้ มีผู้สร้าง (A0 Creator) แต่จินตความคิดว่า “ใครเป็นผู้สร้างโลก” อาจหลากหลายแตกต่างกันไป เช่นคิดว่าผู้สร้างโลกคือ พระอาทิตย์ (อียิปต์) พระพรหม (อินเดีย) นก (ฮาวาย) เหยี่ยว (อินเดียนแดง) นกปีกดำ (กรีก) แมงมุม (อินเดีย) แมงเต่าทอง (อินเดียนแดง) หนอน (อินเดียนแดง) ช่างปั้นหม้อ (อินเดีย) เป็นต้น.  ดังนั้น โลกของเราในความคิดของคนโบราณจึงมักเชื่อว่า “มีผู้สร้าง” ไม่ได้เกิดจากปรากฏการณ์บิกแบงหรือหลุมดำอย่างที่นักวิทยาศาสตร์อธิบาย และน่าสนใจว่า ผู้สร้างโลกไม่ได้มีแต่พระเจ้าที่สูงส่งดังปรากฏในศาสนาหลักของโลก แต่สัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น แมงมุม แมงเต่าทอง หรือแม้แต่หนอน ก็เป็นผู้สร้างโลกได้!

         จินตความคิดเรื่อง “มนุษย์เกิดจากอะไร” (A1200) ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งที่มนุษย์โบราณพยายามจะตอบ. แน่นอนไม่ใช่คำอธิบายอย่างทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าเกิดจากการปฏิสนธิระหว่างสเปิร์มของผู้ชายกับไข่ของผู้หญิง แต่คำตอบว่า “มนุษย์เกิดจากอะไร” ก็มีหลากหลาย เช่น เกิดจากเหงื่อของพระเจ้า (ลิธัวเนีย) เกิดจากตาของพระเจ้า (อียิปต์) เกิดจากหนอน (อินโดนีเซีย อัฟริกา อินเดียนแดง) เกิดจากวัว (อินเดีย) เกิดจากลิง (จีน) เกิดจากลูกอ๊อด ( ชนเผ่าว้าในจีน) เกิดจากปลา (อินเดียนแดง) เกิดจาดมด (กรีก) เกิดจากฟ้า (อินเดีย นิวกีนี อินโดนีเซีย เอสกิโม อินคา) เกิดจากน้ำเต้า (ลาว)  เกิดจากดิน (ไอริช อินเดีย บาบิโลเนียน จีน โพลีเนเชียน ฮาวาย เอสกิโม) เกิดจากมะเดื่อ (อินเดียนแดงในอเมริกาใต้) เกิดจากแอปเปิล (จีน).

         เราจึงได้เห็นความหลากหลายของจินตความคิดที่อธิบายว่า “มนุษย์เกิดจากอะไร” ซึ่งคำตอบสะท้อนให้เห็นว่ามีทั้งมาจากพระเจ้า ฟากฟ้า สัตว์และพืช ซึ่งก็สะท้อนความคิดของมนุษย์โบราณที่ไม่ได้แบ่งแยกระหว่างธรรมชาติ สัตว์ และพืชกับมนุษย์.

         ในตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์หลายกลุ่มเชื่อว่า “มนุษย์เกิดจากน้ำเต้า” ตำนานกำเนิดมนุษย์ของคนลาว เล่าว่า มนุษย์เกิดจากการที่แถนหรือเทวดาเอาเหล็กหรือสิ่วไปแทงน้ำเต้า ทำให้มีคนหลายกลุ่มออกมาจากน้ำเต้า ครั้งแรกมีคนข่า ขมุ ออกมา และครั้งที่ ๒ มีคนลาวลุ่ม ไทลื้อ ไทดำ ไทขาว ฯลฯ ออกมา   ในแง่นี้ ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสังคมลาวจึงต้องถือว่า “เป็นพี่น้องกัน” เพราะออกมาจากน้ำเต้าลูกเดียวกัน  ส่วนตำนานสร้างมนุษย์ของคนไทดำเล่าว่า แถนเอาน้ำเต้ามาให้ยังโลกมนุษย์ ในน้ำเต้ามี ๓๓๐ แบบตัวคน ๓๓๐ แบบตัวปลา ๓๓๐ แบบ (พันธุ์) ข้าว (อันเป็นอุดมคติของคนไท – กินข้าว กินปลา)

         อนึ่ง คำอธิบายว่า “มนุษย์เกิดจากดิน” ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทำไมมนุษย์ในหลายวัฒนธรรมจึงคิดว่ามนุษย์เกิดจากดิน?   ตำนานกำเนิดมนุษย์ของชนชาติไทหลายกลุ่ม เช่น ไทลื้อ ไทยวน ก็เล่าว่า ปู่แถน-ย่าแถน (หรือปู่สางสี-ย่าสางไส้, ปู่สังกะสา-ย่าสังกะสี) เอาดินมาปั้นเป็นมนุษย์ผู้ชายมนุษย์ผู้หญิงแล้วเสกชีวิตให้รูปปั้นนั้น  ต่อมามนุษย์ชาย-หญิงคู่นั้นให้กำเนิดลูก ๑๒ คน ปู่แถน-ย่าแถนก็เอาดินมาปั้นเป็นรูปสัตว์ ๑๒ ตัว ปั้นหนูให้ลูกหลานคนโตเล่น ปั้นวัวให้คนที่ ๒ เล่น ปั้นเสือให้คนที่ ๓ เล่น ปั้นกระต่ายให้คนที่ ๔ เล่น ฯลฯ ซึ่งก็คือตำนานปีนักษัตรด้วย (และในแง่นี้ สัตว์ในปีนักษัตรก็เกิดจากดินเช่นกัน)

         โคลด เลวี่-สเตราส์ นักมานุษยวิทยาคนสำคัญ ก็เคยวิเคราะห์ตำนานอิดิพุสของกรีกว่า ปมขัดแย้งในตำนานเรื่องนี้มาจากความสงสัยของมนุษย์ที่ว่า “มนุษย์เกิดจากดิน หรือ เกิดจากพ่อแม่” ดังนั้น ข้อมูลตำนานปรัมปราของมนุษย์โบราณจึงแฝงร่องรอยความคิดเรื่อง “มนุษย์เกิดจากดิน” เอาไว้ (อาจเพราะเห็นว่า เวลาตายก็ฝังลงดิน?)

โคลด เลวี่-สเตราส์ (Claude Lévi-Strauss) ที่มา : https://www.bbc.co.uk/programmes/b01sjjxl

         จินตความคิดของมนุษย์เกี่ยวกับจักรวาลและกำเนิดจักรวาล กำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ สะท้อนว่ามนุษย์ใส่ใจ สงสัย และอธิบายธรรมชาติรอบตัวผ่านเรื่องเล่า ดังนั้น ตำนานจึงเป็นข้อมูลคติชนและเป็นข้อมูลทางมนุษยศาสตร์ที่ทำให้เราสามารถศึกษาความรู้สึกคิดนึก และจินตนาการของมนุษย์โบราณ.   ในแง่นี้ ตำนานจึงเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าเพราะสามารถใช้ “ถอดรหัส” ความคิดของมนุษย์ที่เป็นบรรพบุรุษของเราในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ นักโบราณคดีศึกษาโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ ไดโนเสาร์ ชั้นหิน ชั้นดิน ฯลฯ เพื่อบอกอายุของโลกและสรรพสิ่งในโลกของเรา

         น่าสนใจว่าจินตความคิดเรื่อง น้ำท่วมโลก (A1010)  ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ปรากฏตรงกันในตำนานปรัมปราทั่วโลก. ความเชื่อนี้มีปรากฏในตำนานของกรีก อียิปต์ มายา อินเดียนแดงหลายเผ่า อินเดีย จีน เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมลานีเซีย เอสกิโม  ไซบีเรีย เป็นต้น และรวมทั้งจินตความคิดเรื่อง ไฟล้างโลก (A 1030) ด้วย ซึ่งก็พบในตำนานของสังคมโบราณและสังคมชนเผ่าอย่างหลากหลาย เช่น ในตำนานของอินเดีย กรีก ลิธัวเนีย บาบิโลเนีย อัสสีเรีย จีน ไซบีเรีย เมารี อินเดียนแดง เป็นต้น

         ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจะเคยมี น้ำท่วมโลก และ ไฟบัลลัยกัลป์  เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็ยากจะยืนยัน จินตความคิดที่พบอย่างเป็นสากลในหลายพื้นที่ในโลก (ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้หยิบยืมความคิดกัน แต่เป็น “การคิดตรงกัน” มากกว่า) นั้นเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะ (๑) อาจเป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง และมนุษย์ในสังคมต่าง ๆ ทั่วโลกเล่าสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นตามวิถีการถ่ายทอดโดยมุขปาฐะ ตำนานเรื่องน้ำท่วมโลกและตำนานเรื่องไฟล้างโลกจึงเป็น “หลักฐานมุขปาฐะ” ที่บันทึกปรากฏการณ์ดังกล่าว. ทุกวันนี้เราก็พูดกันถึงเรื่องน้ำจะท่วมโลก ท่วมหลายประเทศ ท่วมเมืองเช่นกรุงเทพฯ หรือหลายจังหวัดในภาคกลาง ในแง่นี้ ปรากฏการณ์น้ำท่วมโลกก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในอดีต หรือ (๒) อาจไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่มนุษย์ในต่างวัฒนธรรม “คิดเหมือนกัน” ถามต่อว่า “คิดเหมือนกันเรื่องอะไร” ตอบว่า คิดเหมือนกันเรื่องต้องใช้ “น้ำล้างโลก” หรือ “ไฟล้างโลก” เพื่อเป็นการ “set zero” เพื่อต้องการให้โลกเริ่มต้นใหม่ (re-creation) ถามต่อว่า “เริ่มต้นใหม่จากอะไร? จากสภาวะที่มนุษย์ไร้ศีลธรรมจนเกินเยียวยาถึงขั้นต้อง “ล้าง” หรือ “ล้ม” เพื่อ “เริ่มใหม่” ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็สรุปได้ว่า (๓) ในอดีต หรือในปัจจุบัน มนุษยชาติก็มี “วิธีคิดที่ไม่ต่างกัน” เพราะในยุคสมัยใดที่มีผู้คนประพฤติผิดศีลธรรมมาก ๆ ก็อธิบายว่าโลกกำลังเข้าสู่ “กลียุค” และท้ายที่สุดยุคสมัยนั้นก็ดับสูญได้ดังที่พุทธศาสนาก็พูดถึงกัปป์ต่าง ๆ ที่จบลงเพราะผู้คนไร้ศีลธรรม จะท่องคาถาภาษาบาลีไม่ได้สักคำ ใน พ.ศ. ๕๐๐๐ ต้องรอพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปมาประกาศธรรมเริ่มศาสนากันใหม่ คือ เริ่มยุคพระศรีอาริย์ หรือเริ่มยุคพุทธกัปป์ใหม่

เรือโนอาห์, saint étienne du mont, Paris, France ที่มา : WikimediaImages on Pixabay.com

         ในหมวด A (A0-A2899) (ซึ่งหมายถึงว่า มีจินตความคิดของมนุษย์อยู่ถึง ๒,๘๙๙ เรื่อง) ยังมีจินตความคิดที่น่าสนใจอีกมากมายหลายเรื่อง เช่น เรื่องราวของเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ ตำนานอธิบายกำเนิดดวงจันทร์ ดวงดาวต่าง ๆ, ตำนานอธิบายกำเนิดสภาพภูมิศาสตร์ทั้งหลาย เช่น กำเนิดทะเล ภูเขา แม่น้ำลำธาร, ตำนานอธิบายกำเนิดสัตว์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกำเนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก แมลง ปลา หอย,  ตำนานที่อธิบายลักษณะต่าง ๆ ของสัตว์และพืช รวมไปถึงตำนานที่อธิบายว่า “ทำไม” สัตว์แต่ละชนิดจึงมีสี มี ขน และมีลักษณะทางกายภาพเช่นนั้น เช่น ทำไมไคโยตี้จึงมีตาสีเหลือง ทำไมทากจึงตาบอด ทำไมจระเข้ไม่มีลิ้น ทำไมวอลรัสจึงมีเขี้ยวเป็นงา ทำไมกบไม่มีฟัน ตลอดจนนิสัยสัตว์ต่าง ๆ เช่น ทำไมสัตว์บางคู่ไม่ถูกกัน เช่น ทำไมหนูไม่ถูกกับแมว ฯลฯ

         หมวด A จึงเป็นหมวดที่รวมจินตความคิดของมนุษย์เกี่ยวกับโลกและธรรมชาติที่อยู่รอบตัวมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ ทะเล ภูเขา ลำเนาไพร สัตว์ พืชต่าง ๆ รวมไปถึงสิ่งที่อยู่ “นอกโลก” เช่น ดวงจันทร์ ดวงดาวต่าง ๆ และ สิ่งที่อยู่ “เหนือโลก” คือ ผู้สร้าง พระเจ้า เทพเจ้า  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจินตความคิดที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นโดยการผูกเป็นเรื่องเล่าที่มีลักษณะเป็นตำนานปรัมปรา

         กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า มนุษย์อธิบายโลกธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบตัวมนุษย์ด้วยเรื่องเล่า/ตำนานปรัมปรา ซึ่งแม้ตำนานปรัมปราจะเล่าเป็นภาษาสัญลักษณ์ที่ต้องใช้จินตนาการและต้องผ่านการตีความ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ต้องนับว่าเป็นผลผลิตจากจินตความคิด  โลกทัศน์ ข้อสังเกตเกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งล้วนสะท้อนแง่มุม “ความเป็นมนุษย์” ทั้งสิ้น.

“Us” and “the Others”:
มนุษย์มอง “ตนเอง (พวกเรา)” และ “คนอื่น (พวกเขา)”  อย่างไร

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มิได้อยู่โดดเดี่ยว หากแต่สัมพันธ์กับ “คนอื่น ๆ” ตลอดเวลา จึงย่อมต้องมีทัศนคติและมุมมองเกี่ยวกับ “ตนเอง” และ “คนอื่น ๆ” ว่าต่างกันอย่างไร   ดังนั้น ความคิดที่แบ่งแยกว่าเป็น “พวกเรา (Us)” กับ  “พวกเขา” หรือกับ “คนอื่น” (The Others) จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของ “ความเป็นมนุษย์” และความคิดอันเป็นปกติธรรมดาเรื่อง “พวกเรา กับ คนอื่น” นี้ ก็สะท้อนให้เห็นในตำนานปรัมปราและนิทานที่พบในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลก

          มนุษย์ปัจจุบันเติบโตในประเทศต่าง ๆ ที่มีพื้นที่พรมแดนเป็นตัวกำหนดรัฐชาติ และมีแบบเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ที่ “เขียนเล่า” ประวัติศาสตร์ของชาติและคนในชาติ  ส่วนมนุษย์ในสังคมบรรพกาลในยุคที่ยังไม่มีตัวอักษรใช้ คงใช้วิธี “เล่าเรื่องราว” ผ่านประเพณีมุขปาฐะ ผ่านตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์ของตน (ethnic origin myth) ซึ่งน่าสนใจว่า มักปรากฏตัวละครที่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ อยู่ในตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์ของตนด้วย

          ตัวอย่างเช่น ตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว เรื่อง “น้ำเต้าปุง” เล่าว่าแถนได้แทงลูกน้ำเต้า ๒ ครั้ง ครั้งแรกเอาเหล็กแทง มีคนผิวคล้ำ คือ ข่า ขมุ ออกมาจากน้ำเต้า และครั้งที่ ๒ เอาสิ่วแทง มีคนผิวขาวออกมา คือ ลาว ไทแดง ไทพวน;  ถ้าเป็นตำนานของไทดำ จะเล่าว่า พวกที่ออกมาครั้งที่ ๒ จะเป็น ไทดำ ลาวพุงขาว ฮ่อ แกว; ตำนานอธิบายกำเนิดของชาติพันธุ์เย้า  เล่าว่า พี่ชายกับน้องสาวแต่งงานกัน น้องสาวคลอดลูกออกมาเป็นน้ำเต้า น้องสาวบอกให้พี่ชายเอาเมล็ดน้ำเต้าหว่านบนดิน เอาเนื้อหว่านไปบนภูเขา แต่พี่ชายทำสลับกัน เอาเมล็ดน้ำเต้าหว่านบนภูเขา เกิดเป็นเย้า ๑๒ ตระกูล เอาเนื้อน้ำเต้าหว่านบนดิน เกิดเป็น ฮั่น ๑๐๐ ตระกูล; ตำนานอธิบายกำเนิดมนุษย์ของไทอาหม กล่าวถึงคนที่ออกมาจากน้ำเต้าว่า มีคนไท คนเผ่านาคา และเผ่าอื่น ๆ ในอินเดีย

ภาพกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง วาดโดย สุรเดช แก้วท่าไม้ อยู่ในห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ที่มา : https://www.matichonweekly.com/column/article_160974

          ตำนานอธิบายกำเนิดกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้อธิบายเฉพาะกำเนิดชาติพันธุ์ของตนแต่เพียงชาติพันธุ์เดียว แต่จะกล่าวถึงชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันในพื้นที่อยู่ด้วย เช่น ตำนานของไท-ลาวลุ่มที่อาศัยอยู่ที่ราบเชิงเขาริมน้ำ ก็จะกล่าวถึงลาวเทิง คือ ข่า ขมุ ที่อยู่บนดอยด้วย;  ตำนานของไทดำในเวียดนาม ก็จะกล่าวถึงลาว จีน (ฮ่อ) และคนเวียด (แกว) ด้วย; ตำนานของเย้า ก็จะกล่าวถึงฮั่น (จีน) ด้วย; ตำนานของไทอาหม ก็จะกล่าวถึงชาติพันธุ์อื่น ๆ ในอินเดียด้วย. ในแง่นี้ ตำนานปรัมปราจึงเป็น “ประวัติศาสตร์สังคม” ที่บอกเล่าเรื่องราว กำเนิดของ “พวกเรา” และอธิบายความสัมพันธ์ของ “พวกเรา” กับ “พวกเขา” ซึ่งเป็น “คนอื่น ๆ” ในพื้นที่ด้วย.

          อนึ่ง ถ้าอ่านอย่างตีความ ก็จะจับ “น้ำเสียง” ได้ว่า ตำนานเล่าถึงสถานภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ “อย่างไม่เท่าเทียมกัน”     ตำนาน “น้ำเต้าปุง” ที่เล่าโดยคนไท-ลาว จะเล่าว่า “พวกที่ออกมาจากน้ำเต้าก่อนมักเป็นพวกผิวคล้ำ ไม่ชอบอาบน้ำ ทำมาหากินบนภูเขา พวกที่ออกมาทีหลังเป็นพวกผิวขาว ชอบอาบน้ำ และทำมาหากินในที่ลุ่ม” แฝงนัยยะของการแบ่งแยกกลุ่มที่มีลักษณะทางกายภาพ นิสัย และวิถีชีวิตไม่เหมือนกัน แต่เหมือนจะบอกว่า  “พวกที่ออกมารุ่นหลัง “เจริญกว่า”” แต่ถ้าฟังสำนวนของข่า หรือ ขมุ จะเล่าด้วยความภาคภูมิใจและเน้นประเด็นที่ “พวกเราขมุ เป็นพวกที่ออกมาเป็นรุ่นแรก” 

          ประเด็นเรื่อง “สถานภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน” ของชาติพันธุ์ยังแฝงอยู่ในเรื่องเล่าและน้ำเสียงของตำนานเรื่องอื่น ๆ อีกเช่น ตำนานที่อธิบายว่า “เหตุใดพวกเราจึงไม่มีตัวอักษรใช้”

          น่าแปลก และน่าสนใจ ที่ชาติพันธุ์ที่ “ไม่มีตัวอักษรใช้” มักจะเล่าในทำนองเดียวกันว่า “พวกเราเคยมีตัวอักษรใช้เพราะพระเจ้าเคยให้เรามา”  แต่เพราะ…“เราลืมทิ้งไว้ท้ายไร่ พอเผาไร่ ตัวอักษรเลยถูกไฟเผาหมดไป” (กะเหรี่ยง) “เรากินตัวหนังสือเข้าไปไว้ในตัวหมดแล้ว” (ลาหู่ และ ฮานี) “พวกเราปิ้งหนังควายที่พระเจ้าเขียนตัวอักษรไว้ให้กินไปหมดแล้ว” (อาข่า)…ทุกวันนี้ เราจึงไม่มีตัวอักษรใช้!

          “ตำนานตัวอักษร” ของชาติพันธุ์ที่ไม่มีตัวอักษรจึงเป็นเสมือนวาทกรรมตอบโต้ชาติพันธุ์ที่มีตัวอักษรที่มักเป็น “ผู้ปกครอง” หรือเป็นผู้นำศาสนาอื่นเข้ามาเผยแพร่ที่ดูจะมีสถานภาพ “สูงกว่า” มี “อารยธรรม” สูงกว่า ตำนานเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ล้วนมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์  แต่สถานภาพและอำนาจทางสังคมอาจไม่เท่ากัน.  “ตำนานตัวอักษร” เป็นเสมือนกลไกทางวัฒนธรรมที่ประกาศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันว่า “ครั้งหนึ่ง เราก็เคยมีตัวอักษรเช่นกัน”

          ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นข้อมูลที่แฝงไว้ซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับกำเนิด สถานภาพ และปฏิสัมพันธ์กับ “คนอื่น” ที่ต้องมีการปะทะสังสรรค์กันทางสังคม.   ในแง่นี้ ตำนานของชาติพันธุ์จึงเป็นข้อมูลที่สะท้อนตัวตน  อัตลักษณ์ของกลุ่มชน และ “ความเป็นมนุษย์” ที่ “พวกเรา” ก็มีกำเนิด ประวัติศาสตร์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับ “คนอื่น ๆ”

          ในขณะที่ตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์มักเป็นเรื่องที่กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ “มองตนเอง” อย่างมีความสัมพันธ์เปรียบเทียบเชิงสถานภาพทางสังคมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ  ยังมีเรื่องเล่าอีกประเภทหนึ่ง คือ มุขตลกชาติพันธุ์ (ethnic joke) ที่กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ “มองชาติพันธุ์อื่นอย่างขำขัน” สะท้อน “ทัศนคติ” เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใกล้ชิดกัน เช่น ในประเทศไทยมักจะมีมุขตลกเกี่ยวกับคนลาว คนจีน, ทางภาคเหนือของประเทศไทยอาจมีมุขตลกของคนเมืองล้านนาเกี่ยวกับคนม้ง คนกะเหรี่ยง หรือ ทางยุโรปอาจเป็นมุขตลกเกี่ยวกับคนยิว คนสก๊อต คนโปแลนด์. 

          “ทัศนคติเชิงขำขัน” ดังกล่าวเป็นสิ่งสะท้อนความคิดของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีต่ออีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มักมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใกล้ชิดกันทางสังคม หรือทางการค้าขายกัน.   ในแง่นี้ มุขตลกชาติพันธุ์จึงเป็นข้อมูลคติชนอีกประเภทหนึ่งที่นักคติชน นักมานุษยวิทยา ควรให้ความสนใจ หากต้องการทราบข้อมูลลึก ๆ (insight) เกี่ยวกับลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังศึกษาอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์นั้น.

จินตความคิดที่ก้าวพ้นข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์

          ใคร ๆ ก็ทราบว่า ในนิทาน มีจินตนาการและความฝันของมนุษย์ มนุษย์เรามักจินตนาการถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง ดังนั้น จึงน่าศึกษาว่า มนุษย์จินตนาการถึงเรื่องอะไรที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง ซึ่งคงมีหลายเรื่องมากมาย  ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะจินตนาการ “ที่ไปพ้นข้อจำกัดทางกายภาพ” บางประการของมนุษย์เท่านั้น

          ขอยกตัวอย่างจาก ดัชนีอนุภาคนิทานพื้นบ้าน หมวด D Magic (ความวิเศษ)  หมวดนี้รวบรวมจินตความคิดเกี่ยวกับความวิเศษในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การแปลงร่าง (Transformation) ของวิเศษ (Magic Objects) อำนาจวิเศษ (Magic Powers) ตั้งแต่ D0 – D2199 เท่ากับว่ามีจินตความคิดเกี่ยวกับความวิเศษอยู่ถึง ๒,๑๙๙ เรื่องที่ปรากฏในนิทานต่าง ๆ อย่างเป็นสากล

          จินตความคิดเกี่ยวกับ “การแปลงร่าง” เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ แน่นอนในความเป็นจริง มนุษย์ไม่สามารถแปลงร่างได้ แต่มนุษย์สามารถแปลงร่างได้ในนิทาน   มีทั้งที่ (๑) แปลงร่างจากมนุษย์เป็นมนุษย์ เช่นแปลงจากเพศชายเป็นหญิง จากหญิงเป็นชาย แปลงเป็นคนเชื้อชาติอื่น (จากคน “ผิวขาว” เป็น “ผิวดำ”) แปลงเป็นคนต่างชนชั้น (๒) มนุษย์แปลงร่างเป็นสัตว์ ซึ่งแยกย่อยลงไปเป็นหมวดย่อย ๆ ตั้งแต่จากมนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น แปลงเป็นสิงโต เสือ หมี ควาย กวาง หนู หมู, แปลงเป็นนกชนิดต่าง ๆ  แปลงเป็นปลา แปลงเป็นแมลง แปลงเป็นสัตว์เลื้อยคลาน (๓) สัตว์แปลงร่างเป็นมนุษย์ สัตว์แปลงร่างเป็นนก เป็นปลา เป็น แมลง เป็นสัตว์เลื้อยคลาน (๔) มนุษย์แปลงเป็นพืช (แปลงเป็นดอกไม้ ดอกบัว แปลงเป็นข้าวโพด ข้าว หญ้า แอปเปิล ลูกท้อ) (๕) มนุษย์แปลงเป็นสิ่งของ (เรือ เครื่องดนตรี สร้อยคอ พรม)

ท้าวภังคีแปลงกายเป็นกระรอกด่อน (กระรอกเผือก) เมื่อกระรอกด่อนตายแล้วชาวเมืองก็แบ่งเนื้อกันกิน ยกเว้นแม่ม่าย เพราะถือว่าไม่ได้ช่วย ที่มา : https://www.baanmaha.com/community/threads/47489-%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99/page3?langid=3&styleid=2

          จินตนาการเรื่อง “ของวิเศษ” สะท้อนความปรารถนาของมนุษย์ที่ต้องการ “ตัวช่วย” ที่จะตอบสนองความฝันความปรารถนาที่ไม่สามารถกำหนดให้เป็นไปได้ดั่งใจมนุษย์ในความเป็นจริง.   เรื่องของ “ของวิเศษ” จึงเป็นจินตความคิดสากลที่ปรากฏในนิทานทั่วโลก.   ใน ดัชนีอนุภาคนิทานพื้นบ้าน ได้จัดจำแนกประเภทของของวิเศษไว้อย่างละเอียด เช่น ป่าวิเศษ ต้นไม้วิเศษ สวนวิเศษ พืชวิเศษ ผลไม้วิเศษ อาหารวิเศษ เครื่องดื่มวิเศษ เสื้อผ้าวิเศษ เครื่องประดับวิเศษ (หวี สร้อย แหวน) เครื่องดนตรีวิเศษ อาวุธวิเศษ (ดาบ  มีด ธนู) เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ (เก้าอี้ กุญแจ กระจก หม้อน้ำ ถังน้ำ ตะเกียง พรม) ส่วนจินตความคิดเรื่อง “อำนาจวิเศษ” ก็เช่น ตาทิพย์ หูทิพย์ ความจำทิพย์ พลังทิพย์ ฯลฯ 

          ในนิทานหลากหลายประเภท เช่น นิทานมหัศจรรย์ ตำนานปรัมปรา รวมทั้งนิทานประจำถิ่น   มักจะปรากฏจินตความคิดเรื่อง การแปลงร่าง การปลอมตัว ของวิเศษ นอกจากนั้นแล้ว ในคลังนิทานของแต่ละกลุ่มชนต่าง ๆ ทั่วโลก จะมีนิทานอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า นิทานเรื่องโม้ หรือ นิทานโกหก (Tall Tale) ที่จะเล่าเรื่องมนุษย์ที่เดินได้ก้าวละ ๑๐ โยชน์ มนุษย์ที่สามารถอมน้ำทะเลทั้งมหาสมุทรไว้ในปากได้ ซึ่งล้วนเป็นจินตนาการที่ไปพ้นขีดจำกัดทางกายภาพของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น นิทานเรื่องโม้ทางภาคเหนือของไทย เรื่อง อ้ายง้มฟ้า ที่มีรูปร่างสูงใหญ่มาก เวลายืน หัวจะชนท้องฟ้า เวลาจะไปไหว้พระที่ถ้ำเชียงดาว เข่าจะอยู่ที่เมืองพร้าว เท้าจะอยู่ที่เชียงราย หรือ เรื่อง อ้ายเจ็ดไห ผู้มีพลังมหาศาล เกิดมาก็กินข้าวทีละเจ็ดไห เป็นต้น

          หากเราศึกษาจินตความคิด ๒,๑๙๙ เรื่องในหมวด D เราก็จะได้หยั่งรู้ถึงความปรารถนาของมนุษย์ในอดีต ซึ่งก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้สูญหายไปในความปรารถนาของมนุษย์ปัจจุบัน  ดังจะเห็นได้จาก “ของวิเศษ” เกือบ ๒,๐๐๐  ชนิดในการ์ตูน โดราเอมอน ที่สะท้อนความต้องการของมนุษย์ปัจจุบันในลักษณะที่ไม่ต่างจากอดีตมากนัก เพียงแต่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่ของโลกปัจจุบันมากขึ้น เช่น กระจกเปลี่ยนตัว (ช่วยแปลงร่าง เมื่อกดปุ่มแดง เปลี่ยนตัวได้ ถ้ากดปุ่มเขียว ก็คืนร่างเดิม) คอปเตอร์ไม้ไผ่ ที่เมื่อติดไว้บนหัวแล้วกดปุ่มก็จะเลี้ยวไปซ้ายไปขวาได้ (เหมาะสำหรับการหนีรถติด), วุ้นแปลภาษา ที่กินแล้วสามารถพูดภาษาของคู่สนทนาได้,  ขนมปังช่วยจำ ที่พอนำไปแปะบนหนังสือก็จะจำเรื่องที่แปะได้,  แก๊ซสวนดอกไม้ พอพ่นแก๊ซออกไป เมล็ดก็จะกลายเป็นต้นไม้ ออกดอกกลายเป็นสวนดอกไม้ หรือของวิเศษประเภท หุ่นยนต์ เป็นต้น.    อนึ่ง สิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายทางวิทยาศาสตร์ก็ล้วนต้องอาศัยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นพื้นฐานทั้งสิ้น. 

คอปเตอร์ไม้ไผ่ของโดราเอมอน ที่มา : https://www.wegointer.com/2017/10/16-things-that-disney-changed-in-doraemon-us/

          ทั้งจินตความคิดเรื่อง ของวิเศษ อำนาจวิเศษ พลังวิเศษ และความสามารถทางกายภาพที่เกินธรรมชาติของมนุษย์ ล้วนเป็นจินตนาการที่สะท้อนความต้องการของมนุษย์ที่อยากจะมี อยากจะครอบครอง อยากจะทำ อยากจะเป็น อยากจะบันดาลให้อะไร ๆ ที่มีไม่ได้ ทำไม่ได้ เป็นไม่ได้ในชีวิตจริง อันเป็นข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์… ไม่ว่าจะเป็น การครอบครองข้าวของต่างๆ การมีอำนาจวิเศษจากการมีหูทิพย์ ตาทิพย์ หรือ การแปลงร่าง การเหาะเหินเดินอากาศ การนั่งพรมวิเศษจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง… ให้เป็นไปได้ดังใจปรารถนา.  

          ความฝันและจินตนาการเป็นคุณสมบัติที่สะท้อน “ความเป็นมนุษย์” ที่มนุษย์ทุกคนและมนุษย์ในทุกสังคมวัฒนธรรมมี… ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในอดีตหรือในปัจจุบัน.   ขึ้นชื่อว่า “เป็นมนุษย์” ก็ย่อมมีความฝันและจินตนาการที่ต้องการอยู่เหนือข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์และที่เป็นความปรารถนาทางใจของมนุษย์.

          ในชีวิตจริง สรรพความปรารถนาที่เป็นไปไม่ได้เหล่านี้… เป็นข้อจำกัด… แต่ในนิทาน…มนุษย์สามารถจินตจินตนาการถึงความปรารถนาเหล่านี้ได้อย่างไร้ข้อจำกัด… และสามารถทำให้สรรพความปรารถนาเป็นจริงได้…ในโลกของนิทาน

สรุป

          จากข้อมูลคลังนิทานของกลุ่มชนทั้งหลายทั่วโลก ทำให้สรุปได้ว่า มนุษย์ชอบเล่าเรื่อง (stories) ชอบแต่งเรื่อง ชอบเขียนเรื่อง ชอบฟังนิทาน ชอบอ่านนิทาน ชอบติดตามเรื่อง ชอบความตื่นเต้นในเรื่องเล่า รวมทั้งชอบความเศร้าในเรื่องเล่าด้วย

          การที่มนุษย์ชอบสร้าง stories เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มนุษย์ใช้ภาษา (verbal language) ในการผูกเรื่องเพื่อเล่าหรือเขียนให้เป็นเรื่องที่ประกอบด้วยตัวละคร (ผู้แสดง) เหตุการณ์ ความขัดแย้งในเรื่อง การคลี่คลายเรื่อง ซึ่งการ “เล่าเรื่อง” นี้แสดงออกในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเล่านิทาน การเขียนเพลงยาว การแสดงละคร การแต่งวรรณคดี การแต่งกวีนิพนธ์ การแต่งนวนิยาย การสร้างภาพยนตร์ การนำเสนอข่าว การเล่าข่าวในทีวี ในหนังสือพิมพ์ การเล่าเรื่องของตัวเองในเฟซบุ๊ก ตลอดจนการถ่ายคลิปวิดิโอเพื่อโพสต์ในเฟซบุ๊กหรือเพื่อให้ “เป็นเรื่อง เป็นข่าว” ในโลกโซเชียลมีเดีย

          นี่คือนิสัยและการแสดงออกของมนุษย์ที่พัฒนามาจากการใช้ภาษาและการ “สร้างเรื่อง” ทั้งสิ้น ซึ่งต้องนับว่าเป็นนิสัยของมนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลจนถึงปัจจุบันอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่รูปแบบและช่องทางการ “สร้างเรื่อง” และ “เล่าเรื่อง” อาจพัฒนาเปลี่ยนไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยีในการเล่าเรื่อง

          มาถึงจุดนี้จึงน่าจะเห็นได้แล้วว่า นิทานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตของความเป็นมนุษย์ไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป หากมองให้สัมพันธ์กับธรรมชาติในเชิงสร้างสรรค์ของมนุษย์และศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์.

มนุษย์อธิบายสภาพภูมิศาสตร์/ธรรมชาติที่แปลก ๆ ด้วยเรื่องเล่า

          ธรรมชาติในสภาพภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ในโลก มีทั้งภูเขา เกาะ หาดทราย ถ้ำ โขดหิน หน้าผา แม่น้ำ ฯลฯ  ธรรมชาติเหล่านี้มีอายุนับล้านปี วิวัฒน์ไปตามปัจจัยตามธรรมชาติ มนุษย์เกิดมาก็ “เห็น” ธรรมชาติเหล่านี้ แต่ดวงตาและสมองของมนุษย์ “มอง” สรรพสิ่งในธรรมชาติมากกว่าที่ “เห็น” และที่ “เป็น” เพราะมนุษย์สร้างสรรค์เรื่องเล่ามาอธิบายธรรมชาติที่มีรูปลักษณ์แปลก ๆ โดยผูกเป็นเรื่องราวเป็นนิทาน มีตัวละคร มีคำอธิบายว่าทำไมภูเขาลูกนั้นจึงมี “ช่องกระจก” ทำไมถ้ำนั้นจึงชื่อ “ถ้ำลอด” ทำไมเกาะนั้นจึงชื่อ “เกาะนมสาว” ทำไมหาดทรายยาวเหยียดนั้นจึงชื่อว่า “หาดแม่รำพึง” ฯลฯ

          ถ้าเราไปท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ ก็จะพบว่า ธรรมชาติที่ดูแปลก ๆ เช่น โขดหิน ๓ อันที่ตั้งเป็นแนวตรงเรียงติดกัน ที่ชื่อว่า “The Three Sisters” จะมีนิทานเรื่อง “The Three Sisters” ที่เป็นเรื่องของพี่สาวน้องสาวสามคนที่ตายอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองในออสเตรเลียเล่าให้นักท่องเที่ยวฟัง หรือป่าหินที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีตำนานเรื่อง “Ashima” ที่นาง Ashima ตายและร่างกายกลายเป็นโขดหินเล่าให้นักท่องเที่ยวฟัง ในประเทศไทยก็มีนิทานอธิบายสถานที่ในธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น เขานางรอง ภูพระบาท เขาช่องกระจก เกาะนมสาว เกาะสาก เกาะทะลุ หาดแม่รำพึง หอยเจดีย์ ล้วนมีนิทานอธิบายอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

The Three Sisters, Australia โดย Arjun Komath ที่มา https://unsplash.com/photos/m9FhlL9oBG4

          ความคิดและจินตนาการที่สร้างสรรค์ผูกเรื่องเป็นนิทานเพื่ออธิบายสภาพภูมิศาสตร์จึงสะท้อนเป็น “ความเป็นมนุษย์” ที่ “เป็นสากล” ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ว่า มนุษย์ชอบเล่านิทาน อันเป็นนิสัยในเชิงสร้างสรรค์ที่เกิดจากจินตนาการและความสามารถในการผูกเรื่องราวเพื่ออธิบายรูปลักษณ์ที่แปลก ๆ ของภูมิศาสตร์ในธรรมชาติ.

มนุษย์ใช้นิทานเป็นช่องทางในการระบายความคับข้องใจ

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ก็ต้องอยู่ร่วมกับคนหลากหลายภายใต้กติกาและกฎเกณฑ์ทางสังคม กฎเกณฑ์มักจะมาพร้อมกับข้อควรปฏิบัติและข้อห้าม แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่ใช้อารมณ์ความรู้สึก (มากกว่าใช้เหตุผล) กฎเกณฑ์คงจะ “ไม่ถูกใจ” คนทุกคนได้ และเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกติกาทางสังคมได้ ทำให้มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในครอบครัวเดียวกันและในสังคมเดียวกันอาจต้องอดทนกับข้อห้ามและกฎเกณฑ์บางประการ และรู้สึก “ถูกกดดัน” และมีความคับข้องใจ  

          นิทานบางประเภทจะทำหน้าที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกถูกกดดันในใจมนุษย์ด้วยการหยิบยื่น “ทางออก” ให้กับ “ความคับแค้นใจ”   ถ้าดูในสังคมตะวันตกซึ่งมักจะมีเรื่อง “ปมอิดิพุส” หรือ “ปมอีเล็คตร้า” ที่ลูกชายมักไม่ถูกกับพ่อ ลูกสาวไม่ถูกกับแม่  นิทานมหัศจรรย์ในสังคมตะวันตก ตัวร้ายจึงมักเป็นยักษ์ (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพ่อที่สูงใหญ่ดุร้าย เช่นเรื่อง “แจ๊กผู้ฆ่ายักษ์”) หรือ แม่มด แม่เลี้ยง (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนแม่ที่ใจร้ายในความรู้สึกของลูกสาว เช่น เจ้าหญิงนิทรา สโนว์ไวท์ ฯลฯ).   ความคับแค้นใจของเด็กทำให้มองพ่อแม่เป็นผู้ร้ายที่เป็นยักษ์ หรือ แม่มด

สโนไวท์
ที่มา : https://bkksr.com/th/movies/snow-white

          โลกของนิทานอาจหยิบยื่นทางออกที่เป็น “ความปรารถนา” ที่มนุษย์อยากจะทำอะไรบางอย่างที่ทำไม่ได้ในชีวิตจริง  ในสังคมประเพณีของคนไทย มีธรรมเนียม “แต่งลูกเขยเข้าบ้าน” ทำให้ลูกเขยต้องเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของพ่อตาและอยู่ท่ามกลางวงศาคณาญาติของฝ่ายหญิง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “พ่อตากับลูกเขย” ในนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ของไทยจึงมักเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างพระเอกกับยักษ์หรือพระราชาที่เป็นพ่อตา ในชีวิตจริงลูกเขยทำร้ายพ่อตาไม่ได้ แต่ในนิทาน ลูกเขยอย่างเจ้าเงาะก็ “เอาชนะ” พ่อตาอย่างท้าวสามลได้ หรือ สุวรรณหงส์ก็ถูกหอกยนต์ของพ่อตาฆ่าตาย เมื่อฤาษีชุบให้สุวรรณหงส์ฟื้นแล้ว สุวรรณหงส์ก็กลับมาฆ่าพ่อตาที่เป็นยักษ์ตาย นิทานจึงหยิบยื่นทางออกที่ “เด็ดขาด” สร้างความพึงพอใจให้คู่ขัดแย้งในครอบครัวได้.  นอกจากนั้น ในครอบครัวไทย เมื่อลูกเขยย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านภรรยาซึ่งในบ้านอาจมี “น้องเมีย”   ในสังคมไทยจึงมีข้อห้ามระหว่าง “พี่เขย-น้องเมีย” ไม่ให้อยู่ใกล้กัน ให้เลี่ยงกัน แต่ในคลังนิทานไทย ก็มักมีมุขตลกเกี่ยวกับ “พี่เขยเข้าหาน้องเมีย”!

          นอกจากนั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพนับถือพระสงฆ์ ผู้ถือศีล ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ ซึ่ง “เป็นบุคคลที่เราไม่พึงวิจารณ์”  ยิ่งสังคมเคร่งครัดเรื่องใด คนในสังคมก็จะรู้สึก “ถูกกดดัน” จากกฎเกณฑ์ที่ไม่สามารถวิจารณ์บุคคลเหล่านั้นได้  นิทานมุขตลกมักทำหน้าที่ให้คนในสังคมได้หัวเราะ “บุคคลต้องห้าม” ดังกล่าว จึงมักมีมุขตลกเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ทำผิดศีล หรือ มุขตลกเรื่อง “ตาเถรเข้าหายายชี” หรือนิทานเรื่อง “ศรีธนญชัย” ที่ทำให้คนที่เป็นผู้ปกครอง “ได้อาย” หรือเป็นที่หัวเราะเยาะ ในหลายประเทศในอุษาคเนย์ก็มีนิทานที่มีตัวละครประเภทศรีธนญชัยเช่นกัน หรือในประเทศเยอรมัน มีนิทานเรื่อง “ทิล ออยเลนชปีเกิล” คล้าย ๆ เรื่อง “ศรีธนัญชัย แต่ทิลมักจะทำให้พ่อค้า ชนชั้นกลาง “ได้อาย” จากการกระทำที่ “เถนตรง” ของตน

          สังคมมีกฎเกณฑ์ แต่สังคมก็รู้ดีว่ามนุษย์จะรู้สึก “ถูกกดกัน” เพราะกฎเกณฑ์ สังคมก็หาทางออกให้มนุษย์ ผ่านกลไกนิทาน  นิทานซึ่งเป็นข้อมูลคติชนจึงทำหน้าที่สำคัญด้วยการเป็น “ช่องทาง” ระบายความคับข้องใจให้กับบุคคลต่าง ๆ ในสังคม เพราะสังคมก็รู้ว่า เมื่อมนุษย์รู้สึกถูกกดกัน มนุษย์ต้องมีทางระบายออกซึ่งความคับข้องใจนั้น!

สรุป

          จากข้อมูลคลังนิทานของกลุ่มชนทั้งหลายทั่วโลก ทำให้สรุปได้ว่า มนุษย์ชอบเล่าเรื่อง (stories) ชอบแต่งเรื่อง ชอบเขียนเรื่อง ชอบฟังนิทาน ชอบอ่านนิทาน ชอบติดตามเรื่อง ชอบความตื่นเต้นในเรื่องเล่า รวมทั้งชอบความเศร้าในเรื่องเล่าด้วย

          การที่มนุษย์ชอบสร้าง stories เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มนุษย์ใช้ภาษา (verbal language) ในการผูกเรื่องเพื่อเล่าหรือเขียนให้เป็นเรื่องที่ประกอบด้วยตัวละคร (ผู้แสดง) เหตุการณ์ ความขัดแย้งในเรื่อง การคลี่คลายเรื่อง ซึ่งการ “เล่าเรื่อง” นี้แสดงออกในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเล่านิทาน การเขียนเพลงยาว การแสดงละคร การแต่งวรรณคดี การแต่งกวีนิพนธ์ การแต่งนวนิยาย การสร้างภาพยนตร์ การนำเสนอข่าว การเล่าข่าวในทีวี ในหนังสือพิมพ์ การเล่าเรื่องของตัวเองในเฟซบุ๊ก ตลอดจนการถ่ายคลิปวิดิโอเพื่อโพสต์ในเฟซบุ๊กหรือเพื่อให้ “เป็นเรื่อง เป็นข่าว” ในโลกโซเชียลมีเดีย

          นี่คือนิสัยและการแสดงออกของมนุษย์ที่พัฒนามาจากการใช้ภาษาและการ “สร้างเรื่อง” ทั้งสิ้น ซึ่งต้องนับว่าเป็นนิสัยของมนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลจนถึงปัจจุบันอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่รูปแบบและช่องทางการ “สร้างเรื่อง” และ “เล่าเรื่อง” อาจพัฒนาเปลี่ยนไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยีในการเล่าเรื่อง

          มาถึงจุดนี้จึงน่าจะเห็นได้แล้วว่า นิทานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตของความเป็นมนุษย์ไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป หากมองให้สัมพันธ์กับธรรมชาติในเชิงสร้างสรรค์ของมนุษย์และศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์.

บรรณานุกรม

ประคอง นิมมานเหมินท์. (๒๕๕๑). นิทานพื้นบ้านศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศิราพร ณ ถลาง. (๒๕๓๙). ในท้องถิ่นมีนิทานและการละเล่น: การศึกษาคติชนในบริบททางสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน.

________. (๒๕๔๙). “ตำนานตัวอักษร: กลไกทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ที่ไม่มีตัวอักษร”. วารสารอักษรศาสตร์, ๓๕(๒) (กรกฎาคม-ธันวาคม), น. ๑๙๔-๒๑๒.

________. (๒๕๕๗). ทฤษฎีคติชนวิทยา: วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ ๓.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Thompson, Stith. (1955). Motif-Index of Folk Literature. 6 Vols. Revised and enlarged edition. Bloomington: Indiana University Press.

หมายเหตุ

[1] ข้อเขียนนี้ ข้าพเจ้าเขียนให้เนื่องในโอกาสการเปิดตัวเว็บไซต์ https://www.arts.chula.ac.th/folklore/ ของ ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[2] ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[3] ในข้อเขียนนี้ จะใช้คำว่า “จินตความคิด” แทนคำว่า “อนุภาค” หรืออาจใช้แทนกัน ในความหมายเดียวกัน ซึ่งหมายถึง ความคิดหรือจินตนาการของมนุษย์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ภาพเปิดเรื่องโดย Victoria Priessnitz จาก unsplash.com

หมายเหตุ

[1] ข้อเขียนนี้ ข้าพเจ้าเขียนให้เนื่องในโอกาสการเปิดตัวเว็บไซต์ https://www.arts.chula.ac.th/folklore/ ของ ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[2] ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[3] ในข้อเขียนนี้ จะใช้คำว่า “จินตความคิด” แทนคำว่า “อนุภาค” หรืออาจใช้แทนกัน ในความหมายเดียวกัน ซึ่งหมายถึง ความคิดหรือจินตนาการของมนุษย์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ผู้เขียน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง
คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย