คติชนวิทยากับประวัติศาสตร์:
ข้อสังเกตเบื้องต้นจากประวัติศาสตร์นิพนธ์ฟิลิปปินส์
คติชนวิทยากับประวัติศาสตร์เป็นสาขาความรู้ที่มีความคาบเกี่ยวเหลื่อมซ้อนกัน นักคติชนและนักประวัติศาสตร์ต่างก็สนใจวิถีชีวิตและพยานหลักฐานทางวัฒนธรรมของผู้คนในอดีตทั้งที่ถ่ายทอดทางมุขปาฐะ ลายลักษณ์อักษร หรือวัตถุรูปธรรม แม้นักวิชาการสองกลุ่มนี้จะไม่ใคร่มีปฏิสัมพันธ์กันเท่าใดนัก ทว่าแขนงวิชาดังกล่าวมีศักยภาพที่จะเกื้อกูลส่งเสริมกัน นั่นคือ ประวัติศาสตร์ฉายให้เห็นมิติทางการเมืองของคติชนวิทยา โดยแสดงความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตความรู้แบบศาสตร์สมัยใหม่กับการสถาปนาและต่อรองความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ประวัติศาสตร์จึงชี้ชวนให้นักคติชนวิทยาตั้งคำถามว่า คติชนวิทยา(เคย)รับใช้อะไรใครหรือไม่? และด้วยอุดมการณ์แบบใด? ในขณะเดียวกัน คติชนวิทยาก็เป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เผยให้เห็นความเป็นอยู่และความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในอดีต โดยเฉพาะ “ชาวบ้าน” หรือมวลชนคนสามัญ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นักประวัติศาสตร์มักเผชิญกับข้อจำกัดในการเสาะแสวงและตีความหลักฐานในการศึกษา
ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคติชนวิทยากับการศึกษาประวัติศาสตร์ไว้สามประการด้วยกัน โดยยกกรณีศึกษาจากประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ยุคอาณานิคมสเปน (ค.ศ. ๑๕๖๕-๑๘๙๘) และยุคอาณานิคมสหรัฐ (ค.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๔๖) นั่นคือ
(๑) คติชนวิทยาถูกหล่อหลอมขึ้นในบริบทของลัทธิจักรวรรดินิยม และเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้เชิงชาติพันธุ์วรรณนาเพื่อสถาปนาระบอบอาณานิคม
(๒) คติชนเป็นเครื่องมือสำคัญของชาวพื้นเมืองอาณานิคมในการเคลื่อนไหวต่อต้านอาณานิคมและการสร้างชาติ
(๓) คติชนเป็นคลังจดหมายเหตุ (archive) สำหรับสดับสำเนียงของคนไร้เสียง-ไร้หน้า-ไร้นามในหน้าประวัติศาสตร์
(๑) คติชนวิทยา-มานุษยวิทยาอเมริกันกับลัทธิอาณานิคม
ประวัติความเป็นมาของคติชนวิทยาตามที่เรารับรู้กันโดยทั่วไปนั้น มักอธิบายว่าศาสตร์แขนงนี้ถือกำเนิดขึ้นจากการสืบสาว-สืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชาติต่าง ๆ ในยุโรป แต่งานวิชาการเชิงวิพากษ์ โดยเฉพาะที่ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาแนวหลังอาณานิคมหรือปลดปล่อยอาณานิคม (postcolonial / decolonial studies) ได้ชี้ให้เห็นว่า คติชนวิทยาก่อตัวและเติบโตขึ้นในบริบทของจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคม เป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้เกี่ยวกับอาณานิคมเพื่อประโยชน์ในการยึดครองและปกครอง คติชนวิทยามีส่วนสร้าง “คนอื่น” และ “ความเป็นอื่น” แบบจารีตในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับมนุษย์สมัยใหม่และภาวะสมัยใหม่แบบตะวันตก และตรึงอัตลักษณ์ของชาวพื้นเมืองไว้เพื่อให้สอดรับกับรัฐประศาสโนบายของเจ้าอาณานิคม ดังในกรณีอนุทวีปอินเดีย นักคติชนวิทยาอังกฤษ (พร้อมทั้งชาวพื้นเมืองผู้ช่วยวิจัย) ได้สร้างความรู้เกี่ยวกับระบบวรรณะและความแตกต่างระหว่างฮินดูกับมุสลิมที่มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide et impera) ของจักรวรรดิอังกฤษ
ในกรณีฟิลิปปินส์ แม้คติชนวิทยาจะปรากฏอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปลายยุคอาณานิคมสเปน ทว่าเมื่อสหรัฐอเมริกายึดครองฟิลิปปินส์ต่อจากสเปนก็ได้นำเอาวิธีการเก็บข้อมูลและศึกษาเปรียบเทียบแบบใหม่เข้ามาในแวดวงคติชนฟิลิปปินส์ นักคติชนวิทยาและนักมานุษยวิทยาอเมริกันในช่วงแรกเริ่มมุ่งศึกษาแต่เฉพาะชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์กลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่มีวัฒนธรรมลายลักษณ์และมิได้เข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนา และเรียกคนเหล่านี้ว่า “อนารยชน” บ้าง “ชาวป่าเถื่อน” บ้าง งานศึกษาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการอาณานิคม และนำเสนอภาพความล้าหลังของชาวฟิลิปิโนโดยสอดรับกับอุดมการณ์ “กลมกลืนด้วยการุญ” (benevolent assimilation) ของจักรวรรดินิยมสหรัฐ นั่นคือ สหรัฐมีพันธกิจและความชอบธรรมในการยกระดับอารยธรรมของคนเหล่านี้ให้ “ศิวิไลซ์” ตามต้นแบบวัฒนธรรมอเมริกัน เพื่อให้เหมาะแก่การปกครองตนเองในอนาคต
(๒) กำเนิดคติชนวิทยาฟิลิปปินส์กับบูรพาคดีศึกษาแบบชาตินิยมต่อต้านอาณานิคม
คติชนวิทยามิได้เพียงผลิตความรู้เพื่อรองรับการสถาปนาระบอบอาณานิคมเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในการต่อต้านหรือรื้อถอนระบอบดังกล่าวด้วย คติชนวิทยาฟิลิปปินส์ถือกำเนิดขึ้นในปลายยุคอาณานิคมสเปนช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ และเป็นส่วนหนึ่งของบูรพาคดีศึกษา (Orientalism) หรือการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโลกตะวันออกในระดับนานาชาติ เคียงคู่กับสาขาวิชาอย่างนิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์วิทยา ในบริบทนี้ ปัญญาชนชาวพื้นเมืองฟิลิปิโน เช่น อิซาเบโล เด โลส เรเยส (Isabelo de los Reyes ซึ่งถือกันว่าเป็น “บิดาแห่งคติชนวิทยาฟิลิปปินส์”) มีบทบาทนำในการผลิตความรู้คติชนฟิลิปปินส์เผยแพร่ทั้งในฟิลิปปินส์และยุโรป เดโลสเรเยสเขียนหนังสือคติชนฟิลิปปินส์เรื่อง El Folk-Lore Filipino (๑๘๘๗) ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินในงานนิทรรศการฟิลิปปินส์ ณ กรุงมาดริดในปีดังกล่าว ทั้งยังเป็นสมาชิกในสมาคมวิชาการของยุโรปอีกหลายแห่ง และมีผลงานตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำของสาขาคติชนวิทยาในยุโรปด้วย

การเข้าร่วมกิจกรรมทางภูมิปัญญาใน “ศาสตร์ใหม่” (nueva ciencia) ระดับโลกนี้มีนัยทางการเมืองหลายประการ คติชนวิทยาฟิลิปปินส์แสดงให้เห็นสิทธิอำนาจ (authority) และความสามารถของชาวพื้นเมืองว่าทัดเทียมนักวิชาการในภาคพื้นยุโรป (รวมทั้งนักคติชนวิทยาในสเปน) และเหนือกว่าชาวสเปนในฟิลิปปินส์เสียด้วยซ้ำ ทั้งยังแสดงถึงความเก่าแก่และรุ่มรวยของวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ตั้งแต่ก่อนยุคอาณานิคมด้วย ยิ่งไปกว่านั้น คติชนยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมของชาวคริสต์ฟิลิปิโนในที่ลุ่มกับ “ชนกลุ่มน้อย” ในที่สูงว่าเป็น “พี่น้อง” (hermanos) ร่วมรากเดียวกัน คติชนจึงเป็นสื่อกลางของปัญญาชนฟิลิปิโนในการจินตนาการถึงหน่ออ่อนของ “ชาติ” ฟิลิปปินส์ ด้วยการนับญาติและผนวกเอาผู้คนต่างชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมเข้ามาเป็นหมู่เป็นพวกเดียวกันในชุมชนหนึ่งเดียวคือชาติ นอกจากนี้ งานเขียนทางคติชนวิทยาของปัญญาชนฟิลิปิโนยังมักสอดแทรกข้อคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบอาณานิคมสเปนไว้ด้วย เป็นต้นว่ามีการวิจารณ์การกดขี่ขูดรีดของพระสงฆ์สเปนโดยอาศัยพิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ คติชนวิทยาในฟิลิปปินส์จึงมีบทบาทพิเศษในฐานะเครื่องมือวิพากษ์ประเด็นปัญหาทางสังคมและการเมืองร่วมสมัยในเวลานั้น
(๓) พระมหาทรมานกลอนสวด (pasyon) กับโลกทัศน์ของชาวบ้านในการปฏิวัติฟิลิปปินส์
นักคติชนวิทยาไทยคงคุ้นเคยกับวรรณกรรมกลอนสวดในฐานะตัวบทและประเพณีสำคัญของชาวบ้าน เช่นประเพณีสวดพระมาลัยและสวดลำนอกต่าง ๆ เป็นต้น ในสังคมฟิลิปปินส์เองก็มีจารีตประเพณีที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ การสวดอ่านวรรณกรรมปาชอน (pasyon) ซึ่งเล่าเรื่องคริสตประวัติโดยเน้นที่พระมหาทรมานของพระคริสต์ (Passion of the Christ) ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ช่วงท้ายเทศกาลมหาพรต (Lent) ตัวบทกลอนสวดเรื่องพระมหาทรมานหรือปาชอนนี้จับความตั้งแต่ปฐมกาลของโลกมาจนกระทั่งการตรึงกางเขนและฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู นักประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์คนสำคัญ คือ เรย์นัลโด้ อิเลโต้ (Reynaldo Ileto) ได้ศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมปาชอน ประกอบกับข้อมูลคติชนอื่น ๆ—หรือที่อิเลโต้เรียกว่า “ปรัมปราวิทยาแบบชาวบ้าน” (popular mythology)—ในภาษาตากาล็อกอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณนา พิธีกรรม ตำนานวีรบุรุษ กวีนิพนธ์ กลอนเพลง (awit) เพลงเกี้ยว (kundiman) และความฝัน
อิเลโต้เสนอว่า คติชนเหล่านี้นอกจากจะหล่อหลอมโลกทัศน์ของชาวบ้านในฟิลิปปินส์ยุคอาณานิคมสเปนแล้ว ยังวางกรอบโครงให้แก่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ด้วย เมื่อเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบอาณานิคมสเปนในทศวรรษ ๑๘๙๐ มวลชนคนสามัญที่เข้าร่วมนั้นมิได้มีอุดมการณ์และความรู้สึกนึกคิดสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกันกับปัญญาชนนักปฏิวัติซึ่งได้อิทธิพลจากแนวคิดเสรีนิยม แต่อาศัยกรอบโลกทัศน์จากคติชนในการเข้าใจเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยเทียบเคียงกับบุคคลและเหตุการณ์ในคริสตประวัติและตำนานพื้นบ้าน เช่น ความเสื่อมถอยเมื่อฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมสเปนตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๖ นั้นเปรียบเสมือนการตกในบาปของมนุษย์คู่แรก (Fall of Man) ส่วนความทุกข์ยากของบ้านเมืองก็เทียบได้กับพระมหาทรมานของพระเยซู และการลุกฮือปลดแอกอาณานิคมก็เป็นการสละชีพเพื่อไถ่บาปเช่นเดียวกับการสละพระชนม์ชีพของพระองค์ การปฏิวัติของชาวบ้านจึงมีมิติทางจิตวิญญาณและทางอารมณ์ด้วย นั่นคือ เน้นย้ำการทำจิตใจหรือ “ภายใน” (loob) ให้บริสุทธิ์ผ่องใสโดยมีพระคริสต์เป็นแบบอย่าง และขับเคลื่อนด้วยความสงสาร (awa) ซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกสำคัญแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในระหว่างการสวดอ่านวรรณกรรมปาชอนและการประกอบพิธีกรรมช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์
การเอาใจใส่ต่อประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ดังตัวอย่างข้างต้นนี้ช่วยให้นักคติชนวิทยาตระหนักว่า สาขาวิชาของตนก่อตัวและขยายตัวขึ้นโดยสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ นอกโลกวิชาการ รวมทั้งความสัมพันธ์เชิงอำนาจและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย ในทางกลับกัน นักประวัติศาสตร์ก็น่าจะได้ประโยชน์ไม่น้อยจากงานศึกษาทางคติชนวิทยา ข้อมูลคติชนโดยมากนั้นไม่ปรากฏผู้สร้างหรือผู้แต่ง แต่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ความ “นิรนาม” หรือความแผ่วจางของปัจเจกบุคคลในการสร้างสรรค์และสืบทอดคติชน ทำให้คติชนเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของจินตนาการและความรู้สึกนึกคิดแบบรวมหมู่ (collective imagination / mentality) ของชนกลุ่มหนึ่ง ฉะนั้นแม้เราอาจไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสืบสาวว่า “นายมี” หรือ “นางมา” ในฐานะปัจเจกบุคคลคิดเห็นอย่างไรกับเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ในอดีต แต่ข้อมูลคติชนอาจทำให้เราพอสันนิษฐานได้ว่า กลุ่มชนที่ “นายมีนางมา” เป็นสมาชิกนั้นน่าที่จะมีความคิดความเชื่ออย่างไร และสนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแก่ตนและชุมชนอย่างไร — การฟังเสียงกระท่อนกระแท่นของมวลชนคนสามัญแม้โดยรวมหมู่ (ซึ่งเป็นคนละอย่างกับการ “เหมารวม”) อาจจะดีกว่าปล่อยให้เสียงของคนเหล่านั้นเงียบงันอยู่ชั่วนาตาปี และการฟังเสียงแปลกต่างจากเบื้องล่าง (different voices from below) นี้เอง ที่ทำให้คติชนวิทยามีศักยภาพในการท้าทายหรือสั่นคลอนองค์ความรู้กระแสหลักที่อิงอยู่กับมุมมองวิธีคิดจากเบื้องบนและศูนย์กลาง
เอกสารอ้างอิงรายกรณี
(๑)
– Briggs, Charles L., and Sadhana Naithani. “The Coloniality of Folklore: Towards a Multi-Genealogical Practice of Folkloristics.” Studies in History 28, no. 2 (2012): 231-70.
– Lopez, Mellie Leandicho. A Handbook of Philippine Folklore. Diliman, Quezon City: University of the Philippines Press, 2006.
(๒)
– Anderson, Benedict R. O’G. Under Three Flags: Anarchism and the Anti-Colonial Imagination. London: Verso, 2005.
– Reyes, Isabelo de los. El Folk-Lore Filipino. Translated by Salud C. Dizon and Maria Elinora Peralta-Imson. Diliman: University of the Philippines Press, 1994.
– Thomas, Megan C. Orientalists, Propagandists, and Ilustrados: Filipino Scholarship and the End of Spanish Colonialism. Minneapolis: University of Minnesota Press, 2012.
(๓)
– Ileto, Reynaldo C. Filipinos and Their Revolution: Event, Discourse, and Historiography. Quezon City: Ateneo De Manila University Press, 1998.
– Ileto, Reynaldo C. Pasyon and Revolution: Popular Movements in the Philippines, 1840-1910. Quezon City: Ateneo de Manila University Press, 1979.

อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(นิสิตโครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษทางด้านภาษาและวรรณคดีไทย รุ่นที่ ๑๕)