Categories
วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์

หยดเลือด จารึก และแท่นพิมพ์

"หยดเลือด จารึก และแท่นพิมพ์"

พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิตในหัวข้อ

“การปรับตัวทางความรู้ ความจริง และอำนาจของชนชั้นนำสยาม พ.ศ. 2325-2411”

ปี: 2540


บทคัดย่อ:
          ชนชั้นนำสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์แบ่งความรู้ออกเป็น ความรู้ทางโลกย์กับความรู้ทางธรรม การแบ่งความรู้ดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อการสร้างวาทกรรมการรับ และการเผชิญหน้ากับความรู้สมัยใหม่จากตะวันตก ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของสยาม เพราะเมื่อมิชชันนารีชาวตะวันตกนำความรู้สมัยใหม่ และคริสต์ศาสนามาเผยแพร่ ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นถูกชนชั้นนำสยามรับเอามาใช้ อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ แต่คริสต์ศาสนากลับถูกปฏิเสธและไม่ได้รับการยอมรับ แม้ว่ามิชชันนารีจะพยายามผูกปมให้คริสต์ศาสนากับความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก็ถูกชนชั้นนำสยามจับแยกออกจากกัน โดยให้เหตุผลว่า ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นความรู้ทางโลกย์ ส่วนคริสต์ศาสนาเป็นความรู้ทางจิตวิญญาณ การรับความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นการรับความรู้ทางโลกย์ที่ธรรมดาสามัญ ส่วนความรู้ในคริสต์ศาสนาซึ่งถูกมองว่าเป็นความรู้ทางจิตวิญญาณนั้น ก็เชื่อว่ามีแต่ความรู้ในพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นความรู้ที่เที่ยงแท้ และเป็นเหตุผลทำให้คริสต์ศาสนาถูกปฏิเสธ การรับความรู้ทางโลกย์และปฏิเสธความรู้ทางจิตวิญญาณของตะวันตก ทำให้สยามเปลี่ยนจาก “สยามเก่า” มาสู่ “สยามใหม่” โดยในด้านหนึ่งยังคงสืบเนื่องในความคิดกับจารีต แต่ในอีกด้านหนึ่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหันมารับความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ของตะวันตกอย่างเข้มข้น