Categories วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ คาราวานและพ่อค้าทางไกล Post author By admin Post date 03/01/2022 "คาราวานและพ่อค้าทางไกล" พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อ “การค้าชายแดน และการปรับเปลี่ยนรูปแบบของรัฐบริเวณตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20″ปี: 2556 บทคัดย่อ: วิทยานิพนธ์นี้ต้องการศึกษาการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการค้าบริเวณตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่ออธิบายลักษณะการก่อตัวขึ้นของรัฐสมัยใหม่ และการปรับตัวของผู้กระทำการสำคัญทางการค้า รวมถึงคนกลุ่มต่างๆ ท่ามกลางบริบทการเข้ามาของระบอบอาณานิคม การศึกษานี้อาศัยวิธีการทางประวัติศาสตร์ในการสำรวจ รวบรวม และวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการค้าที่สำคัญและสัมพันธ์กับการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่คือ ความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลา ค.ศ.1911-1939 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐสยามขยายเส้นทางรถไฟไปยังล้านนา การค้าของล้านนาจากเดิมที่สัมพันธ์กับศูนย์กลางการค้าที่หลากหลาย เปลี่ยนมาเป็นการค้าที่สัมพันธ์กับรัฐสยามผ่านตลาดกลางที่กรุงเทพฯ รถไฟสายเหนือมีนัยสำคัญของการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐศูนย์กลางกับพื้นที่ชายแดน ผ่านการควบคุมเส้นทางการค้าและตลาด ทั้งนี้พบว่ายังมีปัจจัยเร่งให้เกิดกระบวนการแทรกแซงทางอำนาจของรัฐส่วนกลางไปยังพื้นที่ชายแดน อาทิ ปัญหาคนในบังคับ อิทธิพลทางการค้าของอังกฤษในล้านนา การต่อต้านของท้องถิ่นผ่านเหตุการณ์กบฏต่างๆ การปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการค้านำมาซึ่งกติกาใหม่หลายประการ ทั้งเรื่องมาตราการด้านภาษี, ระเบียบที่ร่างขึ้นเพื่อควบคุมการค้าข้ามพรมแดน, เงินตรา ฯลฯ ซึ่งฉายภาพให้เห็นการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ของสยามในท้ายที่สุด เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง ← การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6 → กรุงเทพฯ ยามราตรี