Categories วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5 Post author By admin Post date 03/01/2022 "ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5" พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อ “การจัดการศึกษาภาษาอังกฤษของรัฐสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว“ปี: 2557บทคัดย่อ: แม้ความรู้ภาษาอังกฤษมีความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจและการค้าของสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่รัฐสยามจัดการศึกษาภาษาอังกฤษต่อเมื่อต้องรวมศูนย์อำนาจเป็นรัฐสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งต้องมีระบบราชการสมัยใหม่ และต้องใช้ข้าราชการส่วนหนึ่งที่รู้ภาษาอังกฤษ ทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่ารัฐสยามสมัยรัชกาลที่ 5 จัดการศึกษาภาษาอังกฤษอย่างจำกัดโดยแบ่งเป็น 2 ระดับตลอดมา คือ จัดการศึกษาที่มีภาษาอังกฤษให้ผู้ไปทำราชการเป็นหลัก และการศึกษาที่ไม่มีภาษาอังกฤษให้ราษฎรทั่วไป การให้การศึกษาแก่ผู้ไปทำราชการมุ่งที่ชนชั้นปกครองเดิมหรือมูลนายก่อน ทั้งเจ้านายและขุนนาง อย่างไรก็ดีการขยายตัวของระบบราชการ รวมถึงค่านิยมต่อการศึกษาภาษาอังกฤษที่แพร่หลายทั่วไป ทำให้รัฐจำต้องขยายกลุ่มผู้ได้รับการศึกษาโดยรวมสามัญชน บุตรจีน และสตรีชั้นสูง แต่รัฐก็ยังจำกัดฐานผู้ได้รับการศึกษาต่อไป ด้วยการให้ผู้เรียนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในการศึกษาจึงทำหน้าที่เป็นอุปสรรคหรือเครื่องกั้นให้เฉพาะคนส่วนน้อยซึ่งมีอัตภาพพอจ่ายได้ ได้ศึกษาภาษาอังกฤษ ดังนั้นแม้โรงเรียนราษฎร์ที่สอนภาษาอังกฤษโดยเฉพาะโรงเรียนคริสต์ ซึ่งดำรงอยู่มั่นคงแล้วในรัชสมัยนี้ ทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จะเหมือนเป็นทางเลือกทางการศึกษา แต่การศึกษาเอกชนโดยทั่วไป ก็อิงกับระบบตลาดหรือทุนนิยม ทำให้ต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือค่าเล่าเรียนเพื่อให้โรงเรียนดำรงอยู่ได้ การศึกษาภาษาอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีเพดานทางชนชั้นบางๆ และคงโครงสร้างเช่นนี้ในบางลักษณะสืบต่อมา เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง ← ประวัติศาสตร์ “สุโขทัย” ที่เพิ่งสร้าง → เปิดแผนยืดล้านนา