Categories
วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์

คาราวานและพ่อค้าทางไกล

"คาราวานและพ่อค้าทางไกล"

พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อ 

“การค้าชายแดน และการปรับเปลี่ยนรูปแบบของรัฐบริเวณตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20″

ปี: 2556

 

บทคัดย่อ:

          วิทยานิพนธ์นี้ต้องการศึกษาการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการค้าบริเวณตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่ออธิบายลักษณะการก่อตัวขึ้นของรัฐสมัยใหม่ และการปรับตัวของผู้กระทำการสำคัญทางการค้า รวมถึงคนกลุ่มต่างๆ ท่ามกลางบริบทการเข้ามาของระบอบอาณานิคม การศึกษานี้อาศัยวิธีการทางประวัติศาสตร์ในการสำรวจ รวบรวม และวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการค้าที่สำคัญและสัมพันธ์กับการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่คือ ความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลา ค.ศ.1911-1939 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐสยามขยายเส้นทางรถไฟไปยังล้านนา การค้าของล้านนาจากเดิมที่สัมพันธ์กับศูนย์กลางการค้าที่หลากหลาย เปลี่ยนมาเป็นการค้าที่สัมพันธ์กับรัฐสยามผ่านตลาดกลางที่กรุงเทพฯ รถไฟสายเหนือมีนัยสำคัญของการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐศูนย์กลางกับพื้นที่ชายแดน ผ่านการควบคุมเส้นทางการค้าและตลาด ทั้งนี้พบว่ายังมีปัจจัยเร่งให้เกิดกระบวนการแทรกแซงทางอำนาจของรัฐส่วนกลางไปยังพื้นที่ชายแดน อาทิ ปัญหาคนในบังคับ อิทธิพลทางการค้าของอังกฤษในล้านนา การต่อต้านของท้องถิ่นผ่านเหตุการณ์กบฏต่างๆ การปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการค้านำมาซึ่งกติกาใหม่หลายประการ ทั้งเรื่องมาตราการด้านภาษี, ระเบียบที่ร่างขึ้นเพื่อควบคุมการค้าข้ามพรมแดน, เงินตรา ฯลฯ ซึ่งฉายภาพให้เห็นการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ของสยามในท้ายที่สุด

Categories
วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์

การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6

"การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6"

พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิตในหัวข้อ

“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการสร้างภาพลักษณ์ทางการทหาร”

ปี: 2556

 

บทคัดย่อ:
          การสร้างภาพลักษณ์ทางการทหารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผลสืบเนื่องจากการที่พระองค์ไม่ทรงเป็นที่ยอมรับจากบรรดาทหารในกองทัพ รวมทั้งพระราชประสงค์ในการคานพระราชอำนาจทางการทหารระหว่างพระองค์และบรรดาพระเชษฐาพระอนุชา ซึ่งมีพระอำนาจ และเป็นที่เคารพของทหารใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบรมราโชบายทางการทหารที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ทางการทหารในพระองค์จึงปรากฏผ่านพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ทั้งการก่อตั้งกองทหารส่วนพระองค์ การมีส่วนร่วมในการพัฒนากองทัพ การนำสยามเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 การพระราชนิพนธ์บทความต่าง ๆ เพื่อแสดงความรู้ทางการทหารของพระองค์ รวมไปถึงการปลูกฝังจิตสำนึกทหารให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แม้การสร้างภาพลักษณ์ทางการทหารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นมรดกตกทอดจากการสร้างภาพลักษณ์ทางการทหารในพระองค์ คือจิตสำนึกแห่งความจงรักภักดีของทหารต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งยังคงเป็นหลักการสำคัญของทหารที่ได้รับการเชิดชูมาจนถึงทุกวันนี้

Categories
วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์

รัฐสยามกับการจัดการธรรมชาติ

"รัฐสยามกับการจัดการธรรมชาติ"

พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิตในหัวข้อ

“แนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทย พ.ศ. 2435-2487″

ปี: 2555

 

บทคัดย่อ:

          ศึกษาแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทย พ.ศ. 2435 ถึง พ.ศ. 2487 โดยเน้นศึกษาความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทย ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการศึกษาพบว่าแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทยก่อน พ.ศ. 2435 มีความสัมพันธ์กับความคิดความเชื่อในทางพุทธศาสนา และความคิดความเชื่อดั้งเดิมตลอดจนบริบททางสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ปัญหาศัตรูพืชไม่มีความสำคัญมากนัก ในช่วงหลัง พ.ศ. 2435 บริบททางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ทำให้มุมมองของคนในสังคมที่มีต่อศัตรูพืชเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาศัตรูพืชจึงมีความสำคัญและได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มข้าราชการและปัญญาชนชั้นนำในกระทรวงเกษตร คนกลุ่มนี้นอกจากจะมีบทบาทในการทำให้ปัญหาศัตรูพืชมีความสำคัญมากขึ้นแล้ว ยังได้นำเอาแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชสมัยใหม่แบบตะวันตก ที่มีความสัมพันธ์กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างมากเข้ามาใช้ และเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนอีกด้วย ส่งผลให้แนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชหลัง พ.ศ. 2435 แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชสมัยใหม่แบบตะวันตกกับแบบดั้งเดิมในสังคมไทย ซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้ทำให้วิธีจัดการปัญหาศัตรูพืชในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังทำให้กลุ่มทุนธุรกิจการค้าเคมีภัณฑ์และเครื่องมือทางการเกษตรสมัยใหม่ ที่เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชถือกำเนิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย

Categories
วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์

เมียนมาร์-สยามยุทธ์

"เมียนมาร์-สยามยุทธ์ "

พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อ

“พลวัตของสงครามไทย-พม่า ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19″ 

ปี: 2548

 

บทคัดย่อ:
          ศึกษาพลวัตของสงครามไทย-พม่า ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านการวิเคราะห์ศึกษาการเติบโตและพัฒนาการของรัฐพม่า ตั้งแต่สมัยอาณาจักรตองอูยุคต้น อาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟู และอาณาจักรคองบองตอนต้น เป็นหลัก ผลการศึกษาพบว่า ความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงของรัฐพม่า ทั้งในด้านโครงสร้างทางอำนาจ โครงสร้างการปกครอง การทำหนดขอบเขตปริมณฑล อำนาจของอาณาจักร ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้านานาชาติ อันเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดพลวัต หรือความเปลี่ยนแปลงอย่างสืบเนื่องในสงครามไทย-พม่า ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งในด้านมูลเหตุความขัดแย้งอันนำไปสู่สงคราม ปฏิบัติการทางการทหารทั้งด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีและวิถีการสงคราม การกำหนดยุทธศาสตร์การทำสงครามของรัฐพม่าต่อรัฐไทย สัมพันธ์กับการกำหนดขอบเขตปริมณฑลอำนาจของรัฐพม่าแต่ละสมัยอาณาจักรเป็นสำคัญ รัฐพม่าในสมัยอาณาจักรตองอูยุคต้นและสมัยอาณาจักรคองบองตอนต้นได้ถือเอารัฐไทย ที่มีศูนย์กลาง ณ กรุงศรีอยุธยา เข้าเป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลอำนาจ ในขณะที่รัฐพม่าสมัยอาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟูมิได้ผนวกรวมเอารัฐไทยเข้าไว้ในปริมณฑลอำนาจ ด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาความขัดแย้งที่มีกับรัฐไทยจึงมีระดับปฏิบัติการที่แตกต่างกัน กล่าวคือ อาณาจักรตองอูยุคต้น และอาณาจักรคองบองตอนต้น มุ่งทำสงครามเพื่อพิชิตราชธานีของรัฐไทยเป็นหลัก ส่วนอาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟูจำกัดขอบเขตการทำสงครามเพียงแค่บริเวณพื้นที่ชายขอบเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว พลวัตของวิถีแห่งการสงครามและปฏิบัติการทางการทหารของรัฐพม่า อันปรากฏในสงครามในไทย-พม่าตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการปกครองของรัฐพม่า จากเดิมที่เป็นโครงสร้างการปกครองระบบอุปถัมภ์แบบหลวม เปลี่ยนสู่แนวโน้มการเป็นรัฐ ที่มีการวางระบบบริหารราชการแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้วิถีแห่งการสงครามหรือปฏิบัติการทางการทหารของรัฐพม่า ในการโจมตีกรุงราชธานีของรัฐไทย ระหว่างอาณาจักรตองอูยุคต้นและอาณาจักรคองบองตอนต้นจึงแตกต่างกัน กล่าวคือ วิถีการสงครามของอาณาจักรตองอูยุคต้นเป็นไปเพื่อการสร้างเครือข่ายความจงรัภักดี จึงเก็บรักษากรุงศรีอยุธยาไว้ในฐานะประเทศราช ในขณะที่วิถีการสงครามของอาณาจักรคองบองตอนต้นเป็นไปเพื่อการปราบปรามศูนย์กลางอำนาจต่างๆ ให้สิ้นสูญ จึงทำลายกรุงศรีอยุธยาให้แตกสลาย กลายเป็นบ้านเมืองที่อ่อนแอจนไม่อาจกลับขึ้นมาท้าทายอำนาจอาณาจักรคองบองได้อีก

Categories
กิจกรรมวิชาการ ข่าวประชาสัมพันธ์

กิจกรรมสัมนาบัณฑิตศึกษาภาคต้น 2561

โปรดรอการอัพเดท…

Categories
กิจกรรมวิชาการ ข่าวประชาสัมพันธ์

กิจกรรมสัมนาบัณฑิตศึกษาภาคปลาย 2561

Categories
กิจกรรมวิชาการ ข่าวประชาสัมพันธ์

กิจกรรมการบรรยายพิเศษ Prof. Rana Mitter