Categories วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ รัฐสยามกับการจัดการธรรมชาติ Post author By admin Post date 03/01/2022 "รัฐสยามกับการจัดการธรรมชาติ" พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิตในหัวข้อ“แนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทย พ.ศ. 2435-2487″ปี: 2555 บทคัดย่อ: ศึกษาแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทย พ.ศ. 2435 ถึง พ.ศ. 2487 โดยเน้นศึกษาความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทย ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการศึกษาพบว่าแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทยก่อน พ.ศ. 2435 มีความสัมพันธ์กับความคิดความเชื่อในทางพุทธศาสนา และความคิดความเชื่อดั้งเดิมตลอดจนบริบททางสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ปัญหาศัตรูพืชไม่มีความสำคัญมากนัก ในช่วงหลัง พ.ศ. 2435 บริบททางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ทำให้มุมมองของคนในสังคมที่มีต่อศัตรูพืชเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาศัตรูพืชจึงมีความสำคัญและได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มข้าราชการและปัญญาชนชั้นนำในกระทรวงเกษตร คนกลุ่มนี้นอกจากจะมีบทบาทในการทำให้ปัญหาศัตรูพืชมีความสำคัญมากขึ้นแล้ว ยังได้นำเอาแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชสมัยใหม่แบบตะวันตก ที่มีความสัมพันธ์กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างมากเข้ามาใช้ และเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนอีกด้วย ส่งผลให้แนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชหลัง พ.ศ. 2435 แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างแนวคิดและความรู้เรื่องศัตรูพืชสมัยใหม่แบบตะวันตกกับแบบดั้งเดิมในสังคมไทย ซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้ทำให้วิธีจัดการปัญหาศัตรูพืชในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังทำให้กลุ่มทุนธุรกิจการค้าเคมีภัณฑ์และเครื่องมือทางการเกษตรสมัยใหม่ ที่เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชถือกำเนิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
Categories วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ เมียนมาร์-สยามยุทธ์ Post author By admin Post date 03/01/2022 "เมียนมาร์-สยามยุทธ์ " พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อ“พลวัตของสงครามไทย-พม่า ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19″ ปี: 2548 บทคัดย่อ: ศึกษาพลวัตของสงครามไทย-พม่า ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านการวิเคราะห์ศึกษาการเติบโตและพัฒนาการของรัฐพม่า ตั้งแต่สมัยอาณาจักรตองอูยุคต้น อาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟู และอาณาจักรคองบองตอนต้น เป็นหลัก ผลการศึกษาพบว่า ความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงของรัฐพม่า ทั้งในด้านโครงสร้างทางอำนาจ โครงสร้างการปกครอง การทำหนดขอบเขตปริมณฑล อำนาจของอาณาจักร ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้านานาชาติ อันเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดพลวัต หรือความเปลี่ยนแปลงอย่างสืบเนื่องในสงครามไทย-พม่า ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งในด้านมูลเหตุความขัดแย้งอันนำไปสู่สงคราม ปฏิบัติการทางการทหารทั้งด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีและวิถีการสงคราม การกำหนดยุทธศาสตร์การทำสงครามของรัฐพม่าต่อรัฐไทย สัมพันธ์กับการกำหนดขอบเขตปริมณฑลอำนาจของรัฐพม่าแต่ละสมัยอาณาจักรเป็นสำคัญ รัฐพม่าในสมัยอาณาจักรตองอูยุคต้นและสมัยอาณาจักรคองบองตอนต้นได้ถือเอารัฐไทย ที่มีศูนย์กลาง ณ กรุงศรีอยุธยา เข้าเป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลอำนาจ ในขณะที่รัฐพม่าสมัยอาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟูมิได้ผนวกรวมเอารัฐไทยเข้าไว้ในปริมณฑลอำนาจ ด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาความขัดแย้งที่มีกับรัฐไทยจึงมีระดับปฏิบัติการที่แตกต่างกัน กล่าวคือ อาณาจักรตองอูยุคต้น และอาณาจักรคองบองตอนต้น มุ่งทำสงครามเพื่อพิชิตราชธานีของรัฐไทยเป็นหลัก ส่วนอาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟูจำกัดขอบเขตการทำสงครามเพียงแค่บริเวณพื้นที่ชายขอบเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว พลวัตของวิถีแห่งการสงครามและปฏิบัติการทางการทหารของรัฐพม่า อันปรากฏในสงครามในไทย-พม่าตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการปกครองของรัฐพม่า จากเดิมที่เป็นโครงสร้างการปกครองระบบอุปถัมภ์แบบหลวม เปลี่ยนสู่แนวโน้มการเป็นรัฐ ที่มีการวางระบบบริหารราชการแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้วิถีแห่งการสงครามหรือปฏิบัติการทางการทหารของรัฐพม่า ในการโจมตีกรุงราชธานีของรัฐไทย ระหว่างอาณาจักรตองอูยุคต้นและอาณาจักรคองบองตอนต้นจึงแตกต่างกัน กล่าวคือ วิถีการสงครามของอาณาจักรตองอูยุคต้นเป็นไปเพื่อการสร้างเครือข่ายความจงรัภักดี จึงเก็บรักษากรุงศรีอยุธยาไว้ในฐานะประเทศราช ในขณะที่วิถีการสงครามของอาณาจักรคองบองตอนต้นเป็นไปเพื่อการปราบปรามศูนย์กลางอำนาจต่างๆ ให้สิ้นสูญ จึงทำลายกรุงศรีอยุธยาให้แตกสลาย กลายเป็นบ้านเมืองที่อ่อนแอจนไม่อาจกลับขึ้นมาท้าทายอำนาจอาณาจักรคองบองได้อีก เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง