การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันหรือบรรเทาการติดเชื้อหรือความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่

Share this story

ข้อสรุปหลักฐานเชิงประจักษ์

คำถาม: การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันหรือบรรเทาการติดเชื้อหรือความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่

จัดทำโด

ทรงพันธ์ เจิมประยงค์

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จัดทำเมื่อ 26 เมษายน 2564

คำชี้แจง

ข้อสรุปหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence packet) นี้มิได้เป็นข้อแนะนำทางการแพทย์ การพิจารณาการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของคนไข้แต่ละรายควรได้รับคำแนะนำของแพทย์ ผู้เรียบเรียงมิได้รับการฝึกอบรมทางด้านทางการแพทย์หรือสาธารณสุขมาโดยตรง ข้อสังเกตที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เกิดจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องโดยคร่าว มิได้ใช้กระบวนการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) และไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ จากการเรียบเรียงข้อสรุปทางหลักฐานเชิงประจักษ์นี้ขึ้นมา ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในเอกสารชิ้นนี้เป็นของผู้จัดทำเท่านั้น มิได้เป็นตัวแทนของหน่วยงานหรือองค์กรใด

คำตอบโดยสรุป

ไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ในทางคลินิกหรือทางชีววิทยาที่แน่ชัดว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีผลต่อการป้องกันหรือความรุนแรงของอาการจากติดเชื้อโควิด 19 อย่างไรก็ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในทางระบาดวิทยาในหลายประเทศชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า อัตราส่วนของผู้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความสัมพันธ์กับอัตราการติดเชื้อโควิด 19 ที่ลดลง รวมถึงยังมีความสัมพันธ์กับอัตราส่วนของผู้ป่วยโควิดที่มีอาการความรุนแรงและการเสียชีวิตที่ลดลงด้วย นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ในระดับเซลล์และระบบภูมิคุ้มกันว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจช่วยลดความเสี่ยงอาการที่รุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ หรือบุคลากรทางการแพทย์

คำตอบโดยละเอียด

ในช่วงเวลาที่การระบาดของโควิดเริ่มจะควบคุมไม่ได้และการฉีดวัคซีน COVID-19 ยังมีจำกัด หนึ่งในสมมติฐานที่มีความพยายามในการพิสูจน์และหาความเชื่อมโยง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (influenza vaccination) กับการติดเชื้อและความรุนแรงของอาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน CDC ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อในอเมริกาจะระบุว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ (Centers for Disease Control and Prevention, 2021a) และยังไม่มีการศึกษาเชิงคลินิกหรือชีววิทยาทางการแพทย์ที่จะยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อหรือลักษณะทางคลินิกที่เกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อโควิด 19 ได้ ผลการการศึกษาในเชิงระบาดวิทยา (epidemiology) ในหลายประเทศพบว่า อัตราส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจมีความสัมพันธ์เชิงผกผันกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 รวมถึงผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 อย่างมีนัยยะสำคัญ

Massoudi และ Mohit (2020) ทำการศึกษาในรูปแบบ case-control study ในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศอิหร่านจำนวน 261 คนแบ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวน 90 คนและกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวน 111 คน เพื่อพิจารณาz. ความสัมพันธ์ระหว่างการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (surface antigen, inactivated ผลิตโดย Abbot Labs) และการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ผลการศึกษาชี้ว่า อัตราส่วน Odds ของผู้ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีอาการจากการติดเชื้อโควิด 19 จะอยู่ที่ 0.4 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัดซีนไข้หวัดใหญ่ ในขณะที่อัตราส่วน Odds ของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการยืนยันการตรวจพบว่าติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อยู่ที่ 0.01 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่จำแนกตามกลุ่มลักษณะประชากรต่าง ๆ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การศึกษาแบบ retrospective cohort study ขนาดใหญ่ในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา (Conlon et al., 2021) ใช้ข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 จำนวน 27,201 ราย พบว่า การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ลดลงประมาณ 24%; p<.0001)  เมื่อควบคุมตัวแปรอื่นทางที่เป็นโรคประจำตัว คะแนน Exhauser (ชี้วัดภาพรวมปัญหาสุขภาพ (Comorbidity)) เชื้อชาติ อายุ BMI เพศ และประวัติการสูบบุหรี่ นอกจากนี้การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงในผลลัพธ์ทางคลินิกด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าพักในโรงพยาบาล การใช้เครื่องช่วยหายใจ การเข้ารักษาในห้อง ICU การเสียชีวิต และระยะเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

ผลการศึกษาจากการสร้างแบบจำลองการคาดการณ์การติดเชื้อโดยใช้วิธีการศึกษาแบบ prospective cohort ในกลุ่มผู้ป่วยที่ Cleveland Clinic โดยใช้ข้อมูลจากผู้ป่วยจำนวน 11,672 คน (ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อโควิดจำนวน 818 คน) ในพัฒนาแบบจำลองและทำการทดสอบแบบจำลองกับผู้ป่วยจำนวน 2,295 คนในช่วง 2-16 เมษายน 2563 ชี้ให้เห็นว่าการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 โดยปัจจัยอื่น ๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด ได้แก่ การได้รับวัคซีนนิวโมคอคคัส ผู้ที่ทานเมลาโทนิน paroxetine และ cavedilol (Jehi และคณะ, 2020) แบบจำลองที่พัฒนาในการศึกษาในครั้งนี้สามารถใช้ในการอธิบายการติดเชื้อโควิด 19 อยู่ในระดับที่ดีมา (c-statistic = 0.863 ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ในการพัฒนาแบบจำลอง และ c-statistic =.839 ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ทดสอบแบบจำลอง) ทั้งนี้ทีมนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนนิวโมคอคคัสกับการติดเชื้อโควิด 19 อาจเกี่ยวข้องกับการกระตุ้น Toll-Like Receptor 7 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเกาะจับไวรัสในระดับทางเดินหายใจที่มี RNA แบบ single-stranded อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเป็นเพียงเพราะกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนมักจะเป็นกลุ่มที่ดูแลสุขภาพที่มักจะดีกว่าก็เป็นได้

นอกจากนี้การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีสัมพันธ์กับอัตราการรักษาตัวในสถานพยาบาล อัตราส่วนผู้ป่วยที่การเข้ารับการรักษาในห้อง ICU และอัตราการเสียชีวิต

ผลการศึกษาแบบพิจารณาข้อมูลประวัติผู้ป่วยย้อนหลังในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่เข้ารับการรักษาตัวที่ University of Florida ในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563 จำนวน 2005 ราย (Yang และคณะ, 2020) พบว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ภายในระยะเวลา 1 ปีมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ภายในระยะเวลาเดียวกันในเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (odds = 2.44) รวมถึงการเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ด้วย (odd = 3.29) ทั้งนี้ในการวิเคราะห์ดังกล่าวได้ควบคุมตัวแปรทั้งที่เป็นข้อมูลเชิงประชากร ได้แก่ อายุ เชื้อชาติ เพศ และโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคหลอดลมอุดตันเรื้อรัง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ฉบับ preprint จากทีมนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนผู้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ขึ้นไปกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 ในระดับเขตเมือง (county) โดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยจากทั้งประเทศจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ผลจากการวิเคราะห์พบว่า เขตเมืองที่มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำ ทั้งนี้ได้มีการควบคุมตัวแปรกวนต่าง ๆ ที่มีผลต่ออัตราการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งที่เป็นตัวแปรทางด้านประชากรศาสตร์และโรคประจำตัวด้วยการปรับใช้ propensity score นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ยังชี้ด้วยว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุก 10% จะลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิดได้ 28% (Zanettini et al., 2020)

นอกจากนี้ยังมีบทความที่เป็นบทความวิชาการ (review article) (Thindwa  et al.., 2020) และจดหมายถึงบรรณาธิการอีกจำนวนหนึ่ง ในวารสารชั้นนำหลายชื่อเรื่องที่สนับสนุนสมมติฐานที่ว่าการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจช่วยลดความรุนแรงของภาวะการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ (Eldanasory et al., 2020; Marín‐Hernández et al., 2020; Salem & El-Hennaway, 2020; Thinda et al., 2020)

Marín‐Hernández และคณะ (2021) ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปกับสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อจากไวรัสโควิด 19 ในเขตต่าง ๆ ของอิตาลี จนถึงช่วงพฤษภาคม 2563 พบว่า สัดส่วนดังกล่าวมีความสัมพันธ์เชิงลบ (r=-0.5874) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P=0.0051 และมี R-square อยู่ที่ 0.3450 กล่าวคือ เขตที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีนมาก จะมีอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 น้อย อย่างไรก็ตามข้อมูลความสัมพันธ์ดังกล่าว ไม่ได้นำปัจจัยอื่น ๆ มาพิจารณา และผู้แต่งได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีปัจจัยอื่นที่อธิบายความสัมพันธ์นี้ ทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน สถานะทางเศรษฐกิจของผู้ฉีดวัคซีน (ผู้ที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มักจะเป็นผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าและมีการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพที่ดีกว่าโดยภาพรวม) หรืออาจจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้

นอกจากนี้ Salem และEl-Hennaway (2020) ตั้งข้อสันนิษฐานโดยอ้างอิงรายงานกรณีศึกษาทั้งในผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการไม่รุนแรง และการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันทั้งในระดับเซลล์และกระแสโลหิตรวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับปริมาณและคุณภาพของภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ว่า ภูมิคุ้มกันที่ได้รับการกระตุ้นจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจมีผลต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู่กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ SARS-CoV-2 นอกจากนี้เนื่องจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นได้น้อย ดังนั้น Salem และ El-Hennaway จึงสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฐานะการป้องกันเสริมที่ช่วยลดความรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19

Thinda และคณะ (2020) ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและชี้ว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากความบังเอิญหรือเป็นผลจากการได้รับวัคซีนโดยตรง ในขณะเดียวกันก็ยังไม่พบหลักฐานทางการแพทย์ว่าผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีอาการทางคลินิกที่แตกต่างไปจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อ การที่อาการของโรคไข้หวัดใหญ่มีความใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดโควิด 19 สามารถอนุมานได้ว่าการได้รับวัคซีนจะช่วยเพิ่มความจำเพาะ (specificity) ของระบบเฝ้าระวังอาการ (syndromic surveillance) ของโรคโควิด 19 ได้ นอกจากนี้ความเพิ่มจำนวนของผู้ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มีเชื้ออ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) ในกลุ่มเด็กจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคที่เกี่ยวข้องในกลุ่มผู้สูงอายุตามหลักการภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) และเพิ่มประโยชน์ในการลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด 19 Thinda และคณะยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ระดับของการป้องกันความรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 อาจจะอยู่ในระดับที่น้อย แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถจะปฏิเสธความเป็นไปได้ที่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และนิวโมคอคคัสจะช่วยลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากการติดเชื้อโควิด 19 ได้

ถึงแม้ว่าบทความเหล่านี้จะไม่มีขั้นตอนการศึกษาอย่างเป็นระบบและนำเสนอข้อสรุปในรูปแบบของข้อคิดเห็นเชิงสมมติฐานมากกว่าข้อค้นพบเชิงประจักษ์ แต่สามารถชี้ให้เห็นถึงข้อคิดเห็นทางการแพทย์ที่สนับสนุนการบูรณาการการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในการจัดการภาวะระบาดของโรคไวรัสโควิด 19

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเข้ารับฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาลว่าอาจจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโควิด 19 เพิ่มมากขึ้น กระนั้น Thinda และคณะ (2020) พิจารณาว่าความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะอยู่ในระดับที่น้อย (คาดการณ์ว่าความเสี่ยงจะสูงขึ้นประมาณ 0.3-1.3%) ทั้งนี้ระดับความเสี่ยงยังขึ้นอยู่กับประสิทธิผลในการควบคุมการติดต่อสัมผัส) การที่ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนจำนวนมากจะช่วยให้ลดจำนวนผู้เข้ารับการรักษาจากโรคไข้หวัดใหญ่และนิวโมคอคคัสซึ่งจะเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

อนึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันในประเทศต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน (เช่น ความครอบคลุมของสายพันธุ์ ชนิดของเชื้อโรค และช่องทางในการได้รับวัคซีน) ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบของความแตกต่างของวัคซีนไข้หวัดใหญ่แต่ละประเภทที่มีต่อผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ อาการ หรือการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิดอย่างเป็นระบบ

บทสรุป

ในช่วงที่ยังไม่สามารถกระจายวัคซีนโควิด 19 ได้อย่างกว้างขวาง วัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความต้องการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์สำหรับโรคโควิด 19 ได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีภาวะเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และในพื้นที่หรือกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยกว่าที่จะเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็วหรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19

วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นการป้องกันพื้นถิ่นที่อยู่กับระบบสาธารณสุขไทยมาอย่างยาวนานและมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง (ดูเพิ่มเติมที่ http://www.thainihnic.org/influenza/main.php)  และเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยโดยทั่วไป[1] ดังนั้นหนึ่งในทางเลือกในการวางแผนในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและจัดการสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ของไทย ควรพิจารณาการกระจายการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ครอบคลุม

Department of Health ของรัฐบาลออสเตรเลียแนะนำให้เว้นระยะระหว่างการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนโควิดอย่างน้อย 14 วันเพื่อป้องกันไม่ให้ผลข้างเคียงที่อาจเกิดร่วมกันของวัคซีนหลายชนิด (Australia Government, Department of Health, 2021) ซึ่งเป็นข้อแนะนำเดียวกันกับ CDC ในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, 2021b)

ทั้งนี้กรมควบคุมโรคของไทยได้วางแผนในการส่งเสริมการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เรียบร้อยแล้ว และทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็มีการจัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 6.4 ล้านโดส และเริ่มงานแผนในการฉ๊ด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 (hfocus team, 2564) อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่รุนแรงในปัจจุบันถือเป็นความท้าทายในการส่งเสริมการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางมาตรการในการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ (ดูเพิ่มเติมข้อแนะนำของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention, 2021b)

ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่มีอาการจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือผู้ที่ผ่านการฟื้นฟูจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19

รายการอ้างอิง

Australia Government, Department of Health. (2021, April 23). Is it true? Will the flu vaccine protect me from getting COVID-19? https://www.health.gov.au/initiatives-and-programs/covid-19-vaccines/is-it-true/is-it-true-will-the-flu-vaccine-protect-me-from-getting-covid-19

Centers for Disease Control and Prevention. (2021a). Influenza (Flu): Vaccine benefits. https://www.cdc.gov/flu/prevent/vaccine-benefits.htm

Centers for Disease Control and Prevention. (2021b, April 6). Interim Guidance for Routine and Influenza Immunization Services During the COVID-19 Pandemic. https://www.cdc.gov/vaccines/pandemic-guidance/index.html

Conlon, A., Ashur, C., Washer, L., Eagle, K. A., & Bowman, M. A. H. (2021). Impact of the influenza vaccine on COVID-19 infection rates and severity. American journal of infection control. https://doi.org/10.1016/j.ajic.2021.02.012

Eldanasory, O. A., Rabaan, A. A., & Al-Tawfiq, J. A. (2020). Can influenza vaccine modify COVID-19 clinical course?. Travel medicine and infectious disease, 37, 101872. https://doi.org/10.1016/j.tmaid.2020.101872

Fink, G., Orlova-Fink, N., Schindler, T., Grisi, S., Ferrer, A. P., Daubenberger, C., & Brentani, A. (2020). Inactivated trivalent influenza vaccine is associated with lower mortality among Covid-19 patients in Brazil. BMJ Evidence-Based Medicine. https://doi.org/10.1136/bmjebm-2020-111549

Grohskopf, L. A., Alyanak, E., Broder, K. R., Blanton, L. H., Fry, A. M., Jernigan, D. B., & Atmar, R. L. (2020). Prevention and Control of Seasonal Influenza with Vaccines: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices – United States, 2020-21 Influenza Season. MMWR. Recommendations and reports : Morbidity and mortality weekly report. Recommendations and reports, 69(8), 1–24. https://doi-org.cuml1.md.chula.ac.th/10.15585/mmwr.rr6908a1

Hesse, E. M., Navarro, R. A., Daley, M. F., Getahun, D., Henninger, M. L., Jackson, L. A., Nordin, J., Olson, S. C., Zerbo, O., Zheng, C., & Duffy, J. (2020). Risk for Subdeltoid Bursitis After Influenza Vaccination: A Population-Based Cohort Study. Annals of internal medicine, 173(4), 253–261. https://doi.org/10.7326/M19-3176

Hfocus Team. (2564, มีนาคม 7). หมอแนะ ปชช. 7 กลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดความสับสนกับโควิด-19. https://www.hfocus.org/content/2021/03/21183

Jehi, L., Ji, X., Milinovich, A., Erzurum, S., Rubin, B. P., Gordon, S., … & Kattan, M. W. (2020). Individualizing risk prediction for positive coronavirus disease 2019 testing: results from 11,672 patients. Chest, 158(4), 1364-1375.

Paget, J., Caini, S., Cowling, B., Esposito, S., Falsey, A. R., Gentile, A., Kyncl, J., MacIntyre, C., Pitman, R., & Lina, B. (2020). The impact of influenza vaccination on the COVID-19 pandemic? Evidence and lessons for public health policies. Vaccine, 38(42), 6485–6486. https://doi.org/10.1016/j.vaccine.2020.08.024

Perez-Vilar, S., Hu, M., Weintraub, E., Arya, D., Lufkin, B., Myers, T., Woo, E. J., Lo, A. C., Chu, S., Swarr, M., Liao, J., Wernecke, M., MaCurdy, T., Kelman, J., Anderson, S., Duffy, J., & Forshee, R. A. (2021). Guillain-Barré Syndrome After High-Dose Influenza Vaccine Administration in the United States, 2018-2019 Season. The Journal of infectious diseases, 223(3), 416–425. https://doi-org.cuml1.md.chula.ac.th/10.1093/infdis/jiaa543

Marín‐Hernández, D., Schwartz, R.E. and Nixon, D.F. (2021), Epidemiological evidence for association between higher influenza vaccine uptake in the elderly and lower COVID‐19 deaths in Italy. J Med Virol, 93: 64-65. https://doi.org/10.1002/jmv.26120

National Center for Immunization and Respiratory Diseases (2011). General recommendations on immunization — recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). MMWR. Recommendations and reports : Morbidity and mortality weekly report. Recommendations and reports, 60(2), 1–64.

Nichol, K. L., Margolis, K. L., Lind, A., Murdoch, M., McFadden, R., Hauge, M., Magnan, S., & Drake, M. (1996). Side effects associated with influenza vaccination in healthy working adults. A randomized, placebo-controlled trial. Archives of internal medicine, 156(14), 1546–1550.

Salem, M. L., & El-Hennawy, D. (2020). The possible beneficial adjuvant effect of influenza vaccine to minimize the severity of COVID-19. Medical hypotheses, 140, 109752. Advance online publication. https://doi.org/10.1016/j.mehy.2020.109752

Thindwa, D., Garcia Quesada, M., Liu, Y., Bennett, J., Cohen, C., Knoll, M. D., von Gottberg, A., Hayford, K., & Flasche, S. (2020). Use of seasonal influenza and pneumococcal polysaccharide vaccines in older adults to reduce COVID-19 mortality. Vaccine, 38(34), 5398–5401. https://doi.org/10.1016/j.vaccine.2020.06.047

Yang, M. J., Rooks, B. J., Le, T. T. T., Santiago, I. O., Diamond, J., Dorsey, N. L., & Mainous, A. G. (2021). Influenza vaccination and hospitalizations among COVID-19 infected adults. Journal of the American Board of Family Medicine, 34(Supplement), S179-S182.

Zanettini, C., Omar, M., Dinalankara, W., Imada, E. L., Colantuoni, E., Parmigiani, G., & Marchionni, L. (2020). Influenza Vaccination and COVID19 Mortality in the USA. medRxiv: the preprint server for health sciences, 2020.06.24.20129817. https://doi.org/10.1101/2020.06.24.20129817

เชิงอรรถ

[1] วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยทั้งในกลุ่มผู้ที่มีและไม่มีไข้ (National Center for Immunization and Respiratory Diseases, 2011) อนึ่งการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรพิจารณาเป็นพิเศษในกลุ่มผู้ทีมีอาการเจ็บป่วยในระดับปานกลางถึงรุนแรง รวมถึงการให้วัคซีนชนิดเชื้ออ่อนแรงที่ให้ด้วยการพ่นทางจมูก(LAIV) ให้แก่กลุ่มผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract) อาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีนก็ยังขึ้นอยู่กับประเภทของวัคซีนที่ได้รับ เช่น ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดที่ใช้เชื้อโรคที่ตายแล้ว มักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับการฉีด (Nichol et al., 1996) อาการปวดบวมอักเสบอาจเกิดขึ้นได้ (Hesse et al., 2020) ในขณะที่อาการข้างเคียงชนิดรุนแรง เช่น ภาวะ Guillain-Barré syndrome (Perez-Vilar et al., 2021) การภูมิแพ้ฉับพลันที่เกิดจากอิมมูโนโกลบูลินชนิด E (IgE) (Grohskopf et al., 2020) เป็นต้น มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระดับน้อยมาก


Share this story

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.