ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารรวมบทคัดย่อได้ที่นี่ PDF
ทัศนคติของผู้เรียนภาษาอังกฤษชาวไทยต่อสำเนียงภาษาอังกฤษในภูมิภาคอาเซียน
กิตตินาถ เรขาลิลิต
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทัศนคติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสื่อสารข้ามวัฒนธรรมประสบความสำเร็จนอกจากนี้ในปัจจุบันภาษาอังกฤษมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในฐานะภาษากลางของภูมิภาคอาเซียน (regional lingua franca) งานวิจัยนี้ต้องการเปรียบเทียบทัศนคติของคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษในระดับกลางจำนวน 80 คนว่า ผู้เรียนที่มีทัศนคติเชิงบวกหรือลบต่อสำเนียงภาษาอังกฤษของผู้พูดที่มีภาษาแม่แตกต่างกันได้แก่ ภาษาลาว ภาษาเขมร ภาษามาเลย์ ภาษาอินโดนีเซีย และภาษาไทย ผู้วิจัยใช้กลวิธีพรางเสียงคำพูด (verbal-guise technique) เพื่อให้ได้ทัศนติแบบไม่เปิดเผยมากที่สุด (covert prestige) ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีทัศคติค่อนข้างลบต่อสำเนียงภาษาอังกฤษในภูมิภาคอาเซียน แต่มีทัศนคติเชิงบวกต่อภาษาอังกฤษสำเนียงไทย ผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้เพื่อจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยให้สื่อสารข้ามวัฒนธรรมระหว่างผู้พูดในภูมิภาคอาเซียนประสบความสำเร็จมากขึ้น
ภาษากับการคอร์รัปชัน: การประยุกต์ใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม
โกสินทร์ ปัญญาอธิสิน, ญาณินท์ สวนะคุณานนท์, และนฤดล จันทร์จารุ
Communication, Computation and Cognition Research Cluster
บทความนี้นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัย ภาษากับการคอร์รัปชัน โดยแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้ความรู้ในแขนงต่างๆ ของภาษาศาสตร์ เพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม ส่วนที่หนึ่งของการนำเสนอ คือผลการวิจัยจากการเปรียบเทียบขอบเขตทางความหมายที่ปรากฏในการรายงานข่าวคอร์รัปชันในสื่อหนังสือพิมพ์ของประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย โดยใช้เครื่องมือทางภาษาศาสตร์คลังข้อมูล. ส่วนที่สองคือผลการศึกษาการแปรของโครงสร้างความหมายของคำว่า คอร์รัปชัน โดยคำนึงถึงปัจจัยทางสังคม เช่น เพศ อายุ และการศึกษา. ส่วนที่สามคือการทดลองเพื่อทดสอบว่า มโนอุปลักษณ์ของคอร์รัปชันที่ต่างรูปแบบกันนั้นมีผลต่อกระบวนการคิดและใช้เหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายป้องกันและแก้ไขคอร์รัปชันแตกต่างกันอย่างไร. ส่วนที่สี่คือการใช้โมเดลปริภูมิคำเพื่อหาความสัมพันธ์แบบกระสวนและกระบวนของคำว่า คอร์รัปชัน และคำอื่นๆ ที่ปรากฏในคลังข้อมูลภาษา. ส่วนที่ห้าคือการวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่มีต่อนโยบายปราบปรามคอร์รัปชันของประเทศไทยและประเทศจีน. และส่วนที่หกคือการจัดทำคู่มือสื่อเพื่อเสนอแนะแนวทางการใช้ภาษาอย่างสร้างสรรค์ ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน
การขยายหน้าที่ของคำว่า “แล้ว” ในภาษาไทย
คเชนทร์ ตัญศิริ
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คำกริยาแสดงความหมาย ‘เสร็จสิ้น’ ‘finish’ ในภาษาต่างๆ มีแนวโน้มที่จะผ่านกระบวนการขยายหน้าที่ไปแสดงความหมายเชิงไวยากรณ์กาล-การณ์ลักษณะ การเสร็จสิ้น (completive) เหตุการณ์ก่อน (anterior) การณ์ลักษณะสมบูรณ์ (perfective aspect) และ อดีตกาล (past tense) (Bybee, Perkins & Pagliuca, 1994) เช่นเดียวกับในภาษาไทย คำช่วยหลังกริยา แล้ว แสดงความหมายการณ์ลักษณะเหตุการณ์ก่อน (anterior) ผ่านกระบวนการขยายหน้าที่หรือกระบวนการกลายเป็นรูปไวยากรณ์จากอกรรมกริยาแสดงความหมายว่า ‘เสร็จสิ้น’ (มิ่งมิตร ศรีประสิทธิ์, 2546; คเชนทร์ ตัญศิริ, 2554; Howard, 2000) นอกจากนี้ คำช่วยหลังกริยา แล้ว ยังแสดงความหมายมูลบท (presupposition) ของการเปลี่ยนแปลงสภาพ (change of state) เช่นเดียวกัน (คเชนทร์, 2554) อย่างไรก็ดี ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดศึกษาเชิงลึกในด้านปัจจัยของบริบทที่มีผลต่อการขยายหน้าที่ดังกล่าว บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของบริบททางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ ที่มีต่อการขยายหน้าที่ของคำว่า แล้ว จากอกรรมกริยาไปสู่คำบ่งชี้ความหมายเชิงกาล-การณ์ลักษณะ ผลการศึกษาพบว่า อกรรมกริยา แล้ว เริ่มแสดงนัยความหมายเหตุการณ์ก่อนและนัยความหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพ เมื่อปรากฏเป็นกริยาแสดงผลหรือกริยาตัวที่สองในหน่วยสร้างก่อผล (resultative construction) ซึ่งแสดงเป็นผังภูมิโครงสร้างได้ดังนี้ [Subject + Verb1 + Object + Verb2/แล้ว] คำอกรรมกริยา แล้ว ในบริบททางวากยสัมพันธ์นี้แสดงเหตุการณ์ผล (caused event) ซึ่งเป็นเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพของนามวลีกรรมอันเนื่องมาจากเหตุการณ์เหตุ (causing event) ที่แสดงโดยกริยาตัวแรกของหน่วยสร้าง โดยที่เหตุการณ์เหตุการณ์เหตุจะต้องเกิดก่อนเหตุการณ์ผล ต่อมาคำว่า แล้ว ในตำแหน่งนี้ได้ขยายหน้าที่ไปสู่คำช่วยหลังกริยาแสดงความหมายเชิงกาล-การณ์ลักษณะ การขยายความหมายของ แล้ว สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการอนุมานความหมายตามบริบท (invited inference)
ทัศนคติต่อภาษาถิ่นไทยในกลุ่มนิสิตที่เคยเรียนและไม่เคยเรียนภาษาศาสตร์
จรัลวิไล จรูญโรจน์
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
เนื่องจากภาษาศาสตร์มักได้รับการมองว่าเป็นการศึกษาภาษาอย่างเป็นวัตถุวิสัย ดังนั้นนักภาษาก็น่าที่จะมองภาษาอย่างเท่าเทียมกันมากกว่าคนทั่วไป บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาคำตอบว่าวิชาภาษาศาสตร์สามารถกล่อมเกลาทัศนคติของผู้เรียนให้มองภาษาอย่างเป็นวัตถุวิสัยมากขึ้นหรือไม่ นั่นคือ นิสิตที่เรียนวิชาภาษาศาสตร์แล้วน่าจะมีทัศนคติที่ดีต่อภาษาถิ่นหรือภาษาที่ไม่ใช่ภาษามาตรฐานมากกว่านิสิตที่ยังไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์ ข้อมูลด้านทัศนคติในงานวิจัยนี้เก็บมาจากนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่เรียนวิชาภาษาศาสตร์แล้ว 236 คน และยังไม่ได้เรียน 192 คน ด้วยเทคนิคการพรางเสียงคู่ กลุ่มตัวอย่างจะได้ฟังเสียงอ่านข้อความจำนวน 6 ข้อความจากผู้พูดเพศชาย 3 คน แต่ละคนอ่านข้อความ 2 ครั้งด้วยสำเนียงภาษาถิ่นของตน และด้วยสำเนียงภาษาไทยมาตรฐาน แล้วกลุ่มตัวอย่างจะต้องประเมินผู้พูดใน 5 ด้าน คือด้านความเป็นมิตร ด้านสติปัญญา ด้านศีลธรรม ด้านความร่ำรวย และด้านความดึงดูดทางกายภาพ ด้วยมาตรวัด 5 ระดับ ผลโดยรวมพบว่าภาษาศาสตร์มีผลในการกล่อมเกลาทัศนคติของผู้เรียน แม้ว่านิสิตทั้งสองกลุ่มจะแสดงให้เห็นว่ามีทัศนคติที่ดีต่อภาษามาตรฐานมากกว่าภาษาถิ่นเช่นเดียวกับความคิดดั้งเดิมของคนทั่วไป (แสดงให้เห็นจากการที่ประเมินผู้พูดคนเดียวกันในขณะพูดภาษามาตรฐานสูงกว่าในขณะที่พูดภาษาถิ่น) แต่ทัศนคติของนิสิตที่เรียนรายวิชาภาษาศาสตร์แล้วต่อภาษาถิ่นโดยรวมก็ดีกว่านิสิตที่ยังไม่ได้เรียนรายวิชาภาษาศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นิสิตที่เรียนรายวิชาภาษาศาสตร์แล้วมีทัศนคติที่ดีต่อผู้พูดภาษาไทยถิ่นใต้และถิ่นอีสานสูงกว่านิสิตที่ยังไม่ได้เรียนรายวิชาภาษาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเป็นมิตร ด้านศีลธรรมและด้านความดึงดูดทางกายภาพ อย่างไรก็ตามในกรณีของผู้พูดภาษาไทยถิ่นเหนือนั้น นิสิตทั้งสองกลุ่มมีทัศนคติที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นในด้านความเป็นมิตร
ภาษากับความเจ็บป่วย: กรณีศึกษาภาษาโรคซึมเศร้า
จันทิมา อังคพณิชกิจ
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความเจ็บป่วยของผู้คนในสังคมไม่ว่าจะด้วยโรคใดโรคหนึ่ง นอกจากจะแสดงออกด้วยอาการทางกายภาพแล้ว ภาษาก็น่าจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นภาวะความเจ็บป่วยเหล่านั้นได้ บทความนี้ต้องการจะนำเสนอให้เห็นว่าภาษากับความเจ็บป่วยนั้นสัมพันธ์กัน ลักษณะภาษาบางประการสามารถบ่งชี้ถึงอาการเจ็บป่วยของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้ ในกรณีนี้เน้นศึกษาภาษาโรคซึมเศร้า ข้อมูลที่นำมาศึกษาเก็บรวบรวมจากอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและได้รับการรักษาอยู่จำนวน 40 คน โดยเป็นข้อมูลจากการเขียนบันทึกเล่าเรื่องของตนเองเป็นเวลา 2 เดือนต่อเนื่องกัน และเป็นข้อมูลจากการสนทนากับผู้วิจัยเป็นเวลา 2 ครั้ง แล้วถ่ายถอดข้อมูลเป็นตัวบทเพื่อวิเคราะห์ลักษณะภาษาผลการวิเคราะห์ทำให้เห็นว่าภาษาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้สื่อให้เห็นถึงประสบการณ์ ความคิดและความรู้สึกของตนเองในฐานะที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การศึกษานี้ทำให้เห็นว่าความเจ็บป่วยนั้นมีผลต่อภาษาที่ใช้สื่อสาร ลักษณะทางภาษาไม่ว่าจะเป็นคำ โครงสร้างประโยค หัวข้อเรื่องที่พูดคุย รวมไปถึงการใช้อุปลักษณ์การเปรียบเทียบย่อมทำให้เห็นมิติมุมมองของบุคคลที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ลักษณะทางภาษาเช่นนี้อาจจะใช้เป็นเครื่องมือสังเกตอาการบ่งชี้ภาวะซึมเศร้าของบุคคลทั่วไปได้อีกด้วย
ลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของวรรณยุกต์ภาษาไทยที่ออกเสียงโดยผู้พูดที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่
ชมนาด อินทจามรรักษ์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
การศึกษาลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของวรรณยุกต์ภาษาไทยที่ออกเสียงโดยผู้พูดที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ อันได้แก่ 1. ผู้พูดที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง มี 2 กลุ่มย่อยคือ ผู้พูดภาษาไม่มีวรรณยุกต์ (ผู้พูดภาษาเขมร และผู้พูดภาษามลายู) และผู้พูดภาษามีวรรณยุกต์ (ผู้พูดภาษาเวียดนาม และผู้พูดภาษาพม่า) และ 2. ผู้พูดที่เป็นผู้พูดหลายภาษา (ผู้พูดภาษาลัวะเมืองน่าน) พบว่ามีความแตกต่างกันไปตามแบบลักษณ์ภาษาและประสบการณ์ในการใช้ภาษาไทย การเป็นผู้พูดภาษามีวรรณยุกต์ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนภาษาที่สองที่เป็นภาษามีวรรณยุกต์ในช่วงเริ่มเรียน นอกจากนี้ประสบการณ์ภาษาไทย ได้แก่ ระยะเวลาในการเรียน ความถี่ในการใช้ภาษาไทย และจุดมุ่งหมายหรือแรงจูงใจในการเรียนภาษาไทย มีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้วรรณยุกต์ภาษาไทย ส่วนผู้พูดที่เป็นผู้พูดหลายภาษา วรรณยุกต์ของภาษาที่เป็นภาษาหลักหรือภาษากลางประจำถิ่นแทรกแซงการออกเสียงวรรณยุกต์ภาษาไทย ในกรณีนี้คือวรรณยุกต์ภาษาคำเมืองน่านแทรกแซงการออกเสียงวรรณยุกต์ภาษาไทยของผู้พูดภาษาลัวะ
ความเป็นสากลและความเป็นไทย: กลไกดัดแปลงภาษา
ตามใจ อวิรุทธิโยธิน
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือเปรียบเทียบกลไกดัดแปลงภาษาที่ปรากฏในภาษาต่าง ๆ กับที่ปรากฏในภาษาไทยว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร โดยศึกษาจากการเล่นทางภาษาซึ่งเป็นการดัดแปลงภาษาอย่างเป็นระบบ ผลการศึกษากลไกดัดแปลงภาษาแบบข้ามภาษาที่ผ่านมาพบว่ากลไกดัดแปลงภาษาที่ปรากฏในภาษาต่าง ๆ มีสี่ประเภท ได้แก่ การเติม (insertion) การจัดเรียงใหม่ (rearrangement) การแทนที่ (substitution) และการลด (deletion) ผู้วิจัยได้ศึกษาการเล่นทางภาษาของคนไทยจำนวน แปดประเภท ได้แก่ ภาษาเส ภาษาส่อ ภาษาหล่อ ภาษาแหล่ ภาษาไหล ภาษาลู ภาษาคอคา และภาษามะละกอ ผลการศึกษาพบว่ากลไกดัดแปลงภาษาที่ปรากฏในภาษาไทยมีเพียงสามประเภท ได้แก่ การเติม การจัดเรียงใหม่ และการแทนที่ ผู้วิจัยคาดว่าลักษณะเฉพาะของภาษาไทย (การเป็นภาษาคำโดด) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลไกการลดไม่สามารถปรากฏได้ในการดัดแปลงภาษาอย่างเป็นระบบ
ภาษาโคราช: จากลาวเป็นไทยบนหลักฐานใหม่
ธนานันท์ ตรงดี
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาษาโคราชซึ่งมีผู้พูดอยู่ในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างภาคอีสานกับภาคกลางของไทยนั้น ได้มีนักภาษาศาสตร์เสนอว่าเป็นภาษาลูกผสม ล่าสุดมีผู้เสนอแย้งว่าภาษาโคราชเป็นภาษาที่เกิดจากการที่ผู้พูดภาษาลาวได้เปลี่ยนภาษา ของตนมาเป็นภาษาไทย แต่ยังคงอิทธิพลของภาษาพื้นเดิมไว้ โดยเฉพาะในระบบวรรณยุกต์ บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนข้อเสนอล่าสุดดังกล่าว โดยจะเสนอหลักฐานเพิ่มเติมทางด้านคำศัพท์ เน้นเฉพาะคำที่เรียกว่า อีดิโอโฟน ซึ่งเป็นคำประเภทที่ใช้พรรณนารูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เช่น (อ้วน) จ้ำม่ำ (หอม) ฉุย (หวาน) จ๋อย (ดัง) โป้ง (เย็น) เจี๊ยบ เป็นต้น ข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์ผู้พูดภาษาโคราช จำนวน ๒ คน และภาษาชัยภูมิ จำนวน ๒ คน สาเหตุที่เลือกภาษาชัยภูมิ เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับภาษาโคราช และเชื่อว่าเป็นภาษาลาวที่มีบรรพบุรุษส่วนหนึ่งเปลี่ยนภาษาไปเป็นภาษาไทยแต่ได้กลายเป็นภาษาโคราชดังกล่าว ข้อมูลที่ได้ได้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับคำอีดิโอโฟนในภาษาไทยมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า คำอีดิโอโฟนในภาษาโคราช มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาลาวชัยภูมิมากกว่าภาษาไทยมาตรฐาน จึงสนับสนุนได้ว่า ภาษาโคราชเป็นภาษาที่เกิดจากการที่ผู้พูดภาษาลาวได้เปลี่ยนภาษาของตนมาเป็นภาษาไทย แต่ยังคงอิทธิพลของภาษาพื้นเดิมไว้ โดยเฉพาะคำอีดิโอโฟน
Carto-Conceptual Network Approach: โมเดลใหม่เพื่อการเปรียบเทียบความหมายข้ามภาษา
นฤดล จันทร์จารุ
Cambridge University
บทความนี้นำเสนอโมเดลใหม่ที่ใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบความหมาย ซึ่งเรียกว่า Carto-Conceptual Network (CCN) และแสดงให้เห็นวิธีการทำงานโดยนำไปประยุกต์ใช้กับชุดข้อมูลจริง วิธีที่เสนอใหม่นี้ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่ในโมเดลที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งก็คือ Semantic Map (SM) และ Multidimensional Scaling (MDS). CCN แตกต่างกับ SM ตรงที่ CCN ไม่ได้อาศัยหลักการ perfect fit และนำผลไปคำนวณโดยใช้คอมพิวเตอร์ได้ จึงสามารถจัดการกับข้อมูลจำนวนมากได้ นอกจากนี้ CCN ยังแตกต่างกับ MDS ตรงที่ CCN มีวิธีในการแสดงรูปทางเรขาคณิต ซึ่งสื่อถึงความใกล้ชิดทางมโนทัศน์ระหว่างความหมายต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ และยังสามารถแสดงให้เห็นถึงสากลลักษณ์ในรูปแบบของ implicational hierarchy ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย. เมื่อนำ CCN มาประยุกต์ใช้กับชุดข้อมูลเก่า คือ indefinite pronouns ของ Haspelmath (1997) ทำให้เห็นแนวโน้มทางแบบลักษณ์ภาษาบางประการที่น่าสนใจ ซึ่งถูกละเลยในโมเดลรุ่นก่อนๆ นอกจากนี้ CCN ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน เมื่อนำมามาประยุกต์ใช้กับชุดข้อมูลใหม่ คือ negative constructions ซึ่งมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น
การแปรและการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ในภาษาตระกูลไทบางภาษา
พิณรัตน์ อัครวัฒนากุล
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยพายัพ
การแปรและการเปลี่ยนแปลงของภาษาเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในตัวภาษา ในแง่ของวรรณยุกต์ ยังไม่มีการกล่าวถึงการแปรและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในมากนัก การนำเสนอครั้งนี้มุ่งแสดงตัวอย่างการแปรและการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ในภาษาตระกูลไทบางภาษาที่พูดในบริเวณต่าง ๆ ของประเทศไทยที่เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการสัมผัสภาษา และที่เป็นผลมาจากปัจจัยภายใน โดยเฉพาะการออกเสียงวรรณยุกต์ให้มีสัทลักษณะซับซ้อนน้อยลง นอกจากนี้การแปรของวรรณยุกต์ในบางภาษายังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบวรรณยุกต์ด้วย เช่น มีผลต่อจำนวนหน่วยเสียงวรรณยุกต์ และมีผลทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของการแยกเสียงรวมเสียงของวรรณยุกต์ เป็นต้น
การสำเหนียกรู้ระบบเสียงกับปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กไทย
พุทธชาติ โปธิบาล
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
ในประเทศไทยพบว่าเด็กนักเรียนที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนต้นแล้วแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านหนังสือไม่คล่องมีอยู่จำนวนมาก ในการคัดกรองเด็กที่มีปัญหาอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้เด็กจะได้รับการประเมินว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (เด็กแอลดี) การศึกษาพัฒนาการทางภาษาของเด็กพบว่าความบกพร่องในการสำเหนียกรู้ระบบเสียงของภาษาเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอาการอ่านไม่ออกซึ่งมีผลทำให้เขียนไม่ได้ไปด้วย บทความนี้จะนำเสนอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสำเหนียกรู้ระบบเสียง และกรณีศึกษาการอ่านคำเทียมและการเขียนคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้นในจังหวัดยะลา ราชบุรี ลำพูน เลย โดยมีวิธีการเก็บข้อมูลคือให้นักเรียนอ่านคำเทียมจำนวน 20 คำ และเขียนคำตามคำบอกจำนวน 60 คำ ข้อมูลที่นำมาแสดงผลการวิเคราะห์ในบทความนี้เป็นข้อมูลการอ่านและการเขียนของนักเรียนที่มีปัญหาในการอ่านและการเขียน ผลการศึกษาสามารถสะท้อนให้เห็นลักษณะความบกพร่องในการสำเหนียกรู้ระบบเสียงภาษาไทยของเด็กได้
ความเป็นชายในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร
ภาวดี สายสุวรรณ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การศึกษาด้านภูมิทัศน์ภาษา (Linguistic Landscape) ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มุ่งให้ความสนใจกับการใช้ภาษาในพื้นที่สาธารณะในแง่ของนโยบายภาษาและอัตลักษณ์ ยังมีงานวิจัยจำนวนไม่มากนักที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภูมิทัศน์ภาษากับเพศ (เช่น Piller 2010, Milani 2014, Kerry 2016, Milani & Levon 2016) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทเอเชีย บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การสร้างความเป็นชายบนป้ายโฆษณาผลิตภัณฑ์ความงามในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานครด้วยการวิเคราะห์สื่อหลากรูปแบบ (multimodal analysis) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวบทกับภาพในการสร้างความหมายทางเพศในพื้นที่สาธารณะ ที่มีลักษณะของ “การกลายเป็นหญิงของความเป็นชาย” (Iida 2005) อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับลักษณะความเป็นชายแบบเหมารวม (stereotype) และบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ (heteronormativity) อีกด้วย
ผลิตภาวะเชิงหน่วยคำของตัวบ่งชี้นามวลีแปลง การ- และ ความ- และการจัดประเภทของคำกริยายืมในภาษาไทยด้วยตัวบ่งชี้นามวลีแปลง การ- และ ความ-
ภีมพสิษฐ์ เตชะราชันย์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตัวบ่งชี้นามวลีแปลง การ- และ ความ- (ต่อไปนี้จะใช้ การ- และ ความ-) เป็นหน่วยคำที่มีผลิตภาวะสูงในภาษาไทยเพราะสามารถเติมหน้าคำกริยาในภาษาไทยทุกคำเพื่อแปลงเป็นนามวลี ทั้งนี้คำกริยาในภาษาไทยสามารถจัดเป็นประเภทได้ตามการปรากฏร่วมกับ การ- และ ความ- โดยกริยาสกรรมและอกรรมจะปรากฏร่วมกับตัวบ่งชี้นามวลี การ- เท่านั้น (การฆ่า/*ความฆ่า) ขณะที่กริยาคุณศัพท์จะปรากฏร่วมกับ ความ- (ความสวย/*การสวย) เท่านั้น ส่วนกริยาต้องเติมเต็มสามารถปรากฏได้กับทั้ง การ- และ ความ- บทความนี้มุ่งศึกษาผลิตภาวะ และการจัดประเภทของคำยืมจากภาษาต่างประเทศมาใช้เป็นคำกริยาในภาษาไทยตามการปรากฏร่วมกับ การ- และ ความ- โดยใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติและจากอินเทอร์เน็ต ผลการศึกษาพบว่า คำยืมที่นำมาใช้เป็นกริยาสกรรมในภาษาไทยจะปรากฏร่วมกับ การ- เท่านั้น (การอัพเดตข้อมูล การฮั้วประมูล) ส่วนคำยืมที่นำมาใช้อย่างคำกริยาคุณศัพท์ในภาษาไทยจะปรากฏร่วมกับ ความ- เท่านั้น (ความเซนซิทีฟ ความเฮง ความคิกขุ) ผลการศึกษานอกจากจะสอดคล้องกับการจัดประเภทของคำกริยาในภาษาไทยตามการปรากฏร่วมกับ การ- และ ความ- แล้ว ยังแสดงให้เห็นผลิตภาวะของตัวบ่งชี้นามวลี การ- และ ความ- ที่สามารถนำไปแปลงฐานศัพท์ที่เป็นคำยืมจากภาษาต่างประเทศได้อย่างไม่ติดขัดซึ่งสามารถนำไปพยากรณ์การแปลงคำยืมจากภาษาต่างประเทศที่อาจจะนำเข้าใช้ในอนาคต นอกจากนี้ ผลการศึกษายังสอดคล้องกับผลิตภาวะของกระบวนการแปลงเป็นนามวลีในหลายภาษาที่ใช้ตัวบ่งชี้นามวลีแปลงในภาษาตนเองแปลงฐานศัพท์ที่เป็นคำยืมจากภาษาต่างประเทศอีกด้วย
ผีและคำเรียกผี: ภาพสะท้อนวัฒนธรรมอาเซียนตามแนวทางอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์
มนสิการ เฮงสุวรรณ
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาคำเรียกผีของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นระบบตามแนวทางอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความคิดว่าภาษาเป็นสิ่งสะท้อนความนึกคิดและการมองโลกของผู้พูด ด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบทางความหมายเพื่อให้เข้าถึงระบบความคิด ทัศนคติ วัฒนธรรม และทำความเข้าใจโลกทัศน์ของผู้ใช้ภาษาที่มีร่วมกันในภูมิภาคนี้ได้อย่างถ่องแท้ ผลจากการวิเคราะห์คำเรียกผีที่รวบรวมจากผู้บอกภาษาชาวลาว เขมร มาเลย์ และเมียนมาร์ จำนวน 137 คำ พบว่าคำเรียกผีแต่ละคำมีมิติแห่งความแตกต่างทางความหมาย 11 มิติด้วยกันคือ มิติหน้าที่ มิติที่อยู่ มิติสถานภาพ มิติลักษณะการตาย มิติเพศ มิติอายุ มิติอาหาร และ มิติลักษณะพิเศษ โดยมีมิติอำนาจเหนือธรรมชาติ มิติตัวตน และมิติดีร้าย เป็นมิติเด่นที่ครอบคลุมคำเรียกผีทุกคำ นอกจากนี้ ทั้ง 4 ภาษายังพบคำเรียกผีที่ประกอบด้วยอรรถลักษณ์เด่น เหมือนกันเช่น [+สูงชะลูด] [+เครื่องใน] และ [+อยู่ติดที่ตาย] เป็นต้น ผลการตีความโลกทัศน์ของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สะท้อนจากระบบคำเรียกผี สรุปได้ว่า ผีมีวิถีชีวิตและอุปนิสัยเหมือนมนุษย์ มีอำนาจให้คุณให้โทษ และโลกของผีมีลักษณะเช่นเดียวกับโลกของคน
รูปปฏิเสธ ma:j2 ในฐานะที่เป็นดัชนีวัจนปฏิบัติในบทสนทนาแบบกันเองในภาษาไทยนครศรีธรรมราช
รุจิรา บำรุงกาญจน์
คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาหน้าที่ที่นอกเหนือจากการแสดงการปฏิเสธของรูปปฏิเสธ ma:j2 ในบทสนทนาแบบกันเองในภาษาไทยนครศรีธรรมราช จากการสังเกตการสนทนาของผู้พูดภาษาไทยนครศรีธรรมราช พบประเด็นที่น่าสนใจว่า นอกจากผู้พูดจะใช้รูปปฏิเสธ ma:j2 เพื่อแสดงการปฏิเสธแล้ว ผู้พูดยังสามารถเลือกใช้รูปปฏิเสธดังกล่าวเพื่อทำหน้าที่เป็นดัชนีวัจนปฏิบัติในระหว่างการสนทนาได้ เช่น แสดงการโต้ตอบเพื่อให้ข้อมูล แก้ไขความเข้าใจผิดของผู้ร่วมสนทนา และแสดงให้ทราบว่าผู้พูดเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ร่วมสนทนาได้กล่าวไว้ในผลัดก่อนหน้านั้น เป็นต้น
พัฒนาการโครงสร้างระดับมหภาคในเรื่องเล่าของเด็กไทย
สรบุศย์ รุ่งโรจน์สุวรรณ
สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของโครงสร้างระดับมหภาค (แก่นเรื่อง) ในเรื่องเล่าของเด็กไทย โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล Thai Frog Story ของ Zlatev & Yangklang (2018) ซึ่งประกอบด้วยเรื่องเล่า 50 เรื่อง ของเด็กกลุ่มอายุ 4 6 9 11 และกลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มละ 10 เรื่อง องค์ประกอบของโครงสร้างระดับมหภาคได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยในอดีต แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การเริ่มเรื่อง (onset) ปัญหา (problem) และ ความคลี่คลายของปัญหา (resolution) แต่ละองค์ประกอบแบ่งออกเป็นองค์ประกอบย่อยที่เชื่อมโยงกับภาพในเรื่อง Frog, where are you? (Mayer, 1967) ผลการศึกษาพบว่า เด็กกลุ่มอายุ 6 ปีขึ้นไปสามารถเชื่อมโยงและระบุองค์ประกอบสำคัญในเรื่องได้อย่างเป็นรูปธรรม พิจารณาในแง่ขององค์ประกอบพบว่า องค์ประกอบการเริ่มเรื่องเป็นองค์ประกอบที่รับรู้ได้ก่อน ในขณะที่องค์ประกอบด้านความคลี่คลายของปัญหาเป็นองค์ประกอบที่เรียนรู้ได้ช้าที่สุด ทั้งนี้ พัฒนาการทางปริชานน่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการเชื่อมโยงภาพและเนื้อหาของเรื่อง
ประเภทของกริยากับการใช้โครงสร้างกรรมวาจกในภาษาอังกฤษของผู้เรียนชาวไทย
วัชริศ ฉันทจินดา และธีราภรณ์ รติธรรมกุล
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการศึกษาอิทธิพลของประเภทของกริยาที่มีต่อการใช้โครงสร้างกรรมวาจกในภาษาอังกฤษของผู้เรียนชาวไทย ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากผู้เรียน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มความสามารถสูงและกลุ่มความสามารถต่ำ โดยให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยตัดสินความยอมรับได้ของประโยคกรรมวาจกโดยที่มีกริยาประเภทต่างๆ กริยาที่ใช้ในงานวิจัยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) กริยาที่มีนัยทางร้าย (adversative) 2) กริยาที่มีความหมายเป็นกลาง (neutral) และ 3) กริยาที่ไม่ปรากฏในโครงสร้างกรรมวาจกในภาษาไทย สมมุติฐานของการศึกษาคือ ผู้เรียนกลุ่มความสามารถต่ำจะได้รับอิทธิพลจากประเภทของกริยาในโครงสร้างกรรมวาจก โดยจะยอมรับประโยคที่มีกริยาที่มีนัยทางร้ายมากที่สุด และยอมรับประโยคที่มีกริยาที่ไม่ปรากฏในโครงสร้างกรรมวาจกในภาษาไทยน้อยที่สุด ส่วนผู้เรียนกลุ่มความสามารถสูงนั้นไม่ได้รับอิทธิพลจากประเภทของกริยา
การปรับค่าความถี่ฟอร์เมินท์เพื่อศึกษาการแปรของสระในภาษาไทย
ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ของสระแปรตามปัจจัย 2 ประการ คือปัจจัยทางกายภาพของผู้พูดและปัจจัยทางสังคม เพื่อสะท้อนให้เห็นอย่างลึกซึ้งว่า การแปรของสระนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยทางสังคม ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ของสระจะต้องผ่านการปรับค่า (normalization) เพื่อขจัดการแปรอันเป็นผลมาจากสรีระของผู้พูด การปรับค่าความถี่ฟอร์เมินท์ของสระนั้นมีหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่นิยมในการศึกษาทางภาษาศาสตร์สังคมคือการแปลงค่าด้วยการคำนวณจากค่าเซนทรอยด์ (centroid) โดยวิธีดั้งเดิมใช้กรณีของสระในภาษาอังกฤษเป็นวิธีต้นแบบ (Watt and Fabricius, 2002; Fabricius, Watt and Johnson, 2009) เนื่องจากระบบสระในภาษาไทยแตกต่างจากภาษาอังกฤษ งานวิจัยนี้จึงจะพิสูจน์วิธีการปรับค่าความถี่ฟอร์เมินท์ดังกล่าวโดยใช้ข้อมูลจากภาษาไทย ผู้วิจัยพบว่า โดยภาพรวม พื้นที่สระของภาษาไทยมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายคลึงกับภาษาอังกฤษ ดังนั้นสระที่เป็นจุดตรึงของการคำนวณค่าเซนทรอยด์ควรเป็นสระ /i:, u:, a:/ แต่ควรใช้เป็นค่าจริงทั้งหมดซึ่งแตกต่างจากวิธีต้นแบบ ทั้งนี้เป็นเพราะความสัมพันธ์ของตำแหน่งของสระ /u:/ เมื่อเทียบกับสระ /i:/ ในภาษาไทยมีหลายรูปแบบ และตำแหน่งของสระ /a:/ ในภาษาไทยค่อนข้างอยู่ในจุดกึ่งกลางมากกว่าภาษาอังกฤษ ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ของสระแต่ละภาษาอย่างละเอียดก่อนนำไปปรับค่าเพื่อการศึกษาทางภาษาศาสตร์สังคม
ลักษณะทางกลสัทศาสตร์และการรับรู้ความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาวไม่เต็มขั้นในภาษาไทย
สิรีมาศ มาศพงศ์
Cornell University
สระเดี่ยวในภาษาไทยมีความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาว แต่สระ /ɛ-ɛː/ และ /ɔ-ɔː/ มีความต่างด้านความสั้นยาวที่ไม่เต็มขั้น (marginal contrast) ต่างจากสระอื่น งานวิจัยนี้ศึกษาความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาวที่ไม่เต็มขั้นในลักษณะทางกลสัทศาสตร์ (acoustics) และการรับรู้ (perception) ผลการศึกษาพบว่าความต่างที่ไม่เต็มขั้นนี้ปรากฏในลักษณะทางกลสัทศาสตร์ โดยค่าระยะเวลาของสระ /ɛ-ɛː/ และ /ɔ-ɔː/ มีเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนระหว่างสระสั้นยาว ต่างจากสระ /a-aː/ ที่มีความต่างเต็มขั้น แต่ลักษณะดังกล่าวไม่ปรากฏในการรับรู้ความสั้นยาวของสระ
มโนทัศน์เรื่อง “ชาติ” “ศาสนา” “ภาษา” และ “ประชาธิปไตย” ในรัฐธรรมนูญประเทศกลุ่มอาเซียน
อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นหลักของการปกครองและการบริหารประเทศ กฎเกณฑ์และแนวคิดหรือมโนทัศน์สำคัญระดับชาติมักแสดงออกทางภาษาหรือถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ งานวิจัยนี้ศึกษามโนทัศน์เรื่อง “ชาติ” “ศาสนา” “ภาษา” และ“ประชาธิปไตย”จากคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญของประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ โดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) คือนับความถี่ของคำที่เกี่ยวข้องกับมโนทัศน์ดังกล่าว แล้วเปรียบเทียบความเด่นระหว่างมโนทัศน์ที่ต่างกัน และระหว่างประเทศที่ต่างกัน ผลการวิจัยพบว่าในจำนวนมโนทัศน์ที่ศึกษาทั้งหมด รัฐธรรมนูญของทุกประเทศเน้นเรื่อง “ชาติ” มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศ พบว่าเรื่อง “ชาติ” และ”ประชาธิปไตย” ปรากฏเด่นชัดมากที่สุดในรัฐธรรมนูญของประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นหลายเท่า ในด้านมโนทัศน์ “ศาสนา” พบว่ารัฐธรรมนูญของประเทศอิสลาม 3 ประเทศ คือ มาเลเชีย อินโดนีเชีย และบรูไนให้ความสำคัญเท่าๆกัน และมากกว่าที่อื่นประมาณหนึ่งเท่าตัว สำหรับมโนทัศน์ “ภาษา” พบว่าถูกเน้นมากเป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีการวางแผนภาษาและดำเนินการอย่างยาวนานกว่าจะได้ภาษาประจำชาติ คือประเทศอินโดนีเชีย และฟิลิปปินส์ ส่วนรัฐธรรมนูญของประเทศนอกจากนี้ คือไทย พม่าและสิงคโปร์ ไม่มีการเน้นมโนทัศน์ใดมากกว่าประเทศอื่น
ระบบโครงสร้างทางโมเดลปัญญาประดิษฐ์ deep neural network เพื่อค้นหาคำเชื่อมล่องหน
อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำเชื่อมในภาษาต่างๆ มีลักษณะพิเศษตรงที่สามารถละได้ในบางบริบทโดยไม่เปลี่ยนแปลงความหมายที่เชื่อมระหว่างสองประโยค เช่น บ้านหลังนี้แข็งแรงมาก (เพราะว่า)ผู้รับเหมาเลือกวัสดุคุณภาพสูง คำว่า เพราะว่า สามารถถูกละออกไปได้โดยที่ประโยคสองประโยคนั้นยังคงประสานกันสนิทเช่นเดิม ทั้งนี้ผู้ใช้ภาษาสามารถอนุมานว่าคำเชื่อมที่หายไปได้อย่างง่ายดาย แต่ว่าระบบประมวลภาษาธรรมชาติ (natural language processing systems) กลับทำได้ด้อยกว่ามนุษย์เป็นอย่างมาก จุดประสงค์ของโครงงานนี้คือ การศึกษาโมเดลปัญญาดิษฐ์ deep neural network ที่ชื่อว่า Long-Short Term Memory Network ในการประมวลความหมายของประโยคที่ถูกเชื่อมด้วยคำเชื่อมล่องหน เพื่อที่จะอนุมานมาว่าคำเชื่อมที่ถูกละไปนั้นต้องการสื่อความหมายในลักษณะใด เราทดสอบโมเดลที่ประมวลความหมายไล่จากโครงสร้างตื้น ผ่านทางโครงสร้างถุงคำ (bag of words) เลยไปถึงโครงสร้างประโยคเชิงลึกผ่านทางโครงสร้างต้นไม้วากยสัมพันธ์ (syntactic tree) เพื่อตรวจสอบว่าความหมายในระดับใดนั้นส่งผลต่อการอนุมานความสัมพันธ์ระหว่างประโยค