th en  
Banner

 

ประวัติภาควิชา

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
2471
(ค.ศ.1928)
เปิดสอนวิชาภาษาบาลีในแผนกภาษาไทยและโบราณตะวันออก
2488
(ค.ศ.1945)
เปิดสอนวิชาภาษาญี่ปุ่น
2504
(ค.ศ.1961)
จัดตั้งแผนกวิชาภาษาตะวันออก
2505
(ค.ศ.1962)
เปิดสอนวิชาภาษามาเลย์
2509
(ค.ศ.1966)
เปิดสอนวิชาภาษาญี่ปุ่น (อีกครั้ง)
2514
(ค.ศ.1971)
ย้ายวิชาบาลีมาสังกัด และก่อตั้งสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต และสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
2516
(ค.ศ.1973)
เปิดสอนวิชาภาษามาเลย์และภาษาจีน  และก่อตั้งสาขาวิชาภาษามาเลย์
2520
(ค.ศ.1977)
ก่อตั้งสาขาวิชาภาษาจีน
2522
(ค.ศ.1979)
เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาภาษาตะวันออก
2531
(ค.ศ.1988)
เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลี
2540
(ค.ศ.1997)
เปิดสอนวิชาภาษาเวียดนาม
2545
(ค.ศ.2002)
เปิดสอนวิชาภาษาพม่า
2547
(ค.ศ.2004)
ก่อตั้งสาขาวิชาภาษาเวียดนาม
2548
(ค.ศ.2005)
ก่อตั้งสาขาวิชาภาษาเกาหลี
2552
(ค.ศ.2009)
เปิดสอนวิชาภาษาอาหรับ
2554
(ค.ศ.2011)
เปิดสอนวิชาภาษาอินโดนีเซีย สังกัดสาขาวิชาภาษามาเลย์
2556
(ค.ศ.2013)
ก่อตั้งสาขาวิชาภาษาอาหรับ
2557
(ค.ศ.2014)
เปิดสอนวิชาภาษาฮินดี สังกัดสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต
2558
(ค.ศ.2015)
ปลี่ยนชื่อสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต เป็นสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้

            ภาษาตะวันออกภาษาแรกที่มีการจัดการเรียนการสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ภาษาบาลี โดยคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้เปิดสอนภาษาบาลีเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2471 ในช่วงนั้นภาษาบาลียังเป็นรายวิชาหนึ่งในแผนกภาษาไทยและโบราณตะวันออก

ในปีพ.ศ. 2488 ได้เปิดสอนภาษาญี่ปุ่นตามสภาพการเมืองที่รัฐบาลไทยเป็นพันธมิตรกับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา แต่ได้ยกเลิกไปในปีเดียวกันภายหลังกองทัพญี่ปุ่นแพ้สงคราม

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2504 มีมติให้จัดตั้งแผนกวิชาภาษาตะวันออกในคณะอักษรศาสตร์เพื่อจัดการเรียนการสอนภาษาตะวันออกเช่น ภาษามลายู (ปัจจุบันเรียกว่าภาษามาเลย์) และเริ่มสอนจริงเป็นวิชาพิเศษภาคค่ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505  และในปีพ.ศ. 2509 ได้เปิดสอนภาษาญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยภาษาญี่ปุ่นมีสถานะเป็นวิชาภาษาตะวันออกวิชาเดียวที่เป็นวิชาเลือก กำหนดให้นิสิตชั้นปีที่ 3 – 4 เลือกเรียน โดยมีรายวิชาดังต่อไปนี้

ปี 3 : ภาษาพูด, การอ่านและเขียน, ทฤษฎีภาษาศาสตร์, การสนทนา, หนังสือที่กำหนดให้เรียน,
ลักษณะของภาษา, ปี 4 : การสนทนา, ภาษาในปัจจุบัน, การแต่งและเขียนจดหมาย, วรรณคดี,
หนังสือกำหนดให้เรียน, ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

โดยรายวิชาภาษาญี่ปุ่นเหล่านี้ใช้เป็นต้นแบบในกรณีมีการเปิดสอนภาษาตะวันออกอื่น ๆ เช่น มลายู จีน พม่า ฮินดี และเขมร

ในปีพ.ศ. 2514 ทางคณะย้ายรายวิชาภาษาบาลี-สันกฤตมาสังกัดแผนกวิชาภาษาตะวันออก และจัดตั้งสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต คู่กับสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น จัดหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตวิชาเอกภาษาบาลี-สันสกฤตและภาษาญี่ปุ่น โดยบัณฑิตอักษรศาสตร์วิชาเอกรุ่นแรกจะเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 (พ.ศ. 2516) หลักสูตรวิชาเอกทั้งสองหลักสูตรถือเป็นหลักสูตรภาษาบาลี-สันสกฤต และภาษาญี่ปุ่นหลักสูตรแรกของประเทศไทย

            ปีพ.ศ. 2516 ตั้งสาขาวิชาภาษามาเลย์และเปิดสอนภาษามาเลย์เป็นวิชาเลือก  นอกจากนี้ยังเปิดสอนภาษา จีนกลางเป็นวิชาเลือกอีกด้วย  หลังจากนั้น ในปีพ.ศ. 2520 จึงก่อตั้งสาขาวิชาภาษาจีน 

            ในปีพ.ศ. 2522 แผนกวิชาภาษาตะวันออกเปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาภาษาตะวันออกประกอบด้วยสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต ภาษาญี่ปุ่น ภาษามาเลย์ และภาษาจีน และเปิดหลักสูตรวิชาเอกภาษาจีนเป็นแห่งแรกของประเทศไทยในปีพ.ศ. 2524

            นอกจากภาษาหลักทั้ง 4 ภาษาแล้ว ภาควิชาภาษาตะวันออกยังเปิดสอนภาษาอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียต่อมา โดยในพ.ศ. 2531 เปิดสอนภาษาเกาหลีเป็นแห่งแรกของประเทศไทย พ.ศ. 2540 เปิดสอนภาษาเวียดนาม ในพ.ศ. 2545 เปิดสอนภาษาพม่า  และได้ตั้งสาขาวิชาภาษาเวียดนามในพ.ศ. 2547 ภาษาเกาหลีในพ.ศ. 2548 ตามลำดับ  นอกจากนี้ ยังเปิดสอนภาษาอาหรับเพิ่มเติมในปีพ.ศ. 2552 และภาษาอินโดนีเซียซึ่งเป็นรายวิชาหนึ่งในสังกัดสาขาวิชาภาษามาเลย์ในปีพ.ศ. 2554 ในพ.ศ. 2556 ได้ตั้งสาขาวิชาภาษาอาหรับเพิ่มเป็นสาขาวิชาที่ 7 ของภาควิชา และเปิดสอนภาษาฮินดีเพิ่มเติมในปีพ.ศ.2557  

            ในปีพ.ศ. 2558 สาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตได้เปลี่ยนชื่อเป็นสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดสอนภาษาในภูมิภาคเอเชียใต้อื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต นอกเหนือจากการสอนภาษาบาลี-สันสกฤตและภาษาฮินดี

            ปัจจุบันภาควิชาภาษาตะวันออกประกอบด้วย 7 สาขาวิชาได้แก่ ภาษาเอเชียใต้ ภาษาญี่ปุ่น ภาษามาเลย์ ภาษาจีน ภาษาเวียดนาม ภาษาเกาหลี และภาษาอาหรับ เปิดสอนหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตวิชาเอก 3 สาขา คือ ภาษาบาลี-สันสกฤต ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีน และวิชาโท 7 สาขา คือ ภาษาบาลี-สันสกฤต ภาษาญี่ปุ่น ภาษามาเลย์ ภาษาจีน ภาษาเวียดนาม ภาษาเกาหลี และภาษาอาหรับ  เปิดสอนเป็นวิชาเลือกภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม 3 ภาษา คือ ภาษาพม่า ภาษาอินโดนีเซีย (สังกัดสาขาวิชาภาษามาเลย์) และภาษาฮินดี (สังกัดสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้)

            ในปีพ.ศ. 2558 ภาควิชาภาษาตะวันออกมีคณาจารย์ประจำทั้งสิ้น 42 คน เป็นอาจารย์สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ 6 ท่าน สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น 13 ท่าน (เป็นอาจารย์ชาวต่างชาติ 3 ท่าน) สาขาวิชาภาษามาเลย์ 2 ท่าน สาขาวิชาภาษาจีน 13 ท่าน (เป็นอาจารย์ชาวต่างชาติ 3 ท่าน) สาขาวิชาภาษาเกาหลี 5 ท่าน (เป็นอาจารย์ชาวต่างชาติ 1 ท่าน)  สาขาวิชาภาษาเวียดนาม 1 ท่าน และสาขาวิชาภาษาอาหรับ 2 ท่าน

 
รายชื่อหัวหน้าภาควิชา
Head, Department of Eastern Languages


1.
ศาสตราจารย์ ฉลวย  วุธาทิตย์                                    (รักษาการ 2507 – 2508, 2508 – ก.ย.2517)

2. ศาสตราจารย์ วิสุทธิ์  บุษยกุล                                       (ต.ค.2518 – พ.ค.2522)

3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพิณมโนมัยวิบูลย์               (มิ.ย.2522 – ธ.ค.2527)

4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยะจิต  ทาแดง                             (ธ.ค.2527 – ธ.ค.2531)

5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐานิสร์  ชาครัตพงษ์                       (ธ.ค.2531 – มี.ค.2535)

6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยะจิต  ทาแดง                              (มิ.ย.2535 – เม.ย.2536)

7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัลยาณี  สีตสุวรรณ                  (พ.ค.2536 – ต.ค.2539)

8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราณี  ฬาพานิช                      (ก.พ.2540 – ก.ย.2542)

9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยะจิต  ทาแดง                             (ต.ค.2542 – ต.ค.2543)

10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์  อัศววิรุฬหการ          (ธ.ค.2543 – พ.ย.2551)

11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวุฒิ  จิราสมบัติ                   (พ.ย.2551 – พ.ย.2553)

12. รองศาสตราจารย์ มณฑา  พิมพ์ทอง                          (ธ.ค.2553 – ต.ค.2555)

13. รองศาสตราจารย์ ดร. สิริมนพร  สุริยวงศ์ไพศาล           (ต.ค.2555 – ต.ค.2556)

14. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรีย์  ชุณหเรืองเดช                (ต.ค.2556 – ก.ย.2560)

15. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชมนาด  ศีติสาร                    (ต.ค.2560 – ปัจจุบัน)

 

fl
© 2014 Chulalongkorn University, Department of Eastern Languages. All Right Reserved..
fr