ตราสัญลักษณ์สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต
ทรัพย์ คือ ความรู้เป็นยอดแห่งทรัพย์ทั้งปวง

วาจ หรือ สรัสวตี: เทวีอักษรศาสตร์

ในคัมภีร์ฤคเวท อันเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย มีข้อความหลายตอนกล่าวถึงเทวีสององค์ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมากคือ วาจฺ หรือ วาทฺ หรือ วาคฺเทวี กับ สรสฺวตีเทวี ซึ่งในสมัยต่อมาคือสมัยมหากาพย์และปุราณะได้กลายเป็นเทวีองค์เดียวกัน และมีตำแหน่งเป็น เทพเจ้าแห่งอักษรศาสตร์และวิชาดนตรี เป็นที่นับถือเคารพบูชาของชาวอินเดียตลอดมาจนทุกวันนี้

วาจ เป็นเทวีในแบบบุคลาธิษฐานคือเดิมเป็น “เสียง” หรือ “ถ้อยคำ” ตรงกับภาษากรีกว่า Vox และภาษาอังกฤษว่า Voice มีลักษณะเป็นธรรมชาติมีแต่ภาวะแต่ไม่มีรูปร่างเป็นตัวตน คัมภีร์พระเวทถือว่าเป็นพลังอำนาจทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ทรงความศักดิ์สิทธิ์และสำคัญยิ่ง สามารถดลบันดาลให้เกิดความรู้ความฉลาดในหมู่มนุษย์ และเป็นราชินีแห่งทวยเทพผู้ทรงความฉลาดลึกล้ำเพราะเสียงหรือถ้อยคำนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งวิชาการทั้งปวง ซึ่งสมัยโบราณต้องท่องจำและถ่ายทอดสั่งสอนสืบกันมา และบทสวดสรรเสริญพระเจ้าในคัมภีร์พระเวทนั้น ถือว่าเป็นยอดแห่งความรู้ทั้งมวล ซึ่งจะถ่ายทอดสืบกันมาได้ก็ด้วยการเปล่งเสียงให้ถูกต้องและมีจังหวะจะโคนที่ถูกต้อง โดยอาศัยการฝึกหัดอบรมกันมาอย่างเคร่งครัดเป็นรุ่นๆ สืบมาเป็นเวลาเกือบสี่พันปีแล้ว ฉะนั้น วาจ หรือ วาคเทวี จึงได้รับความนับถือยกย่องว่าเป็นแกนสำคัญอย่างหนึ่งในการธำรงไว้ซึ่งรากฐานแห่งอารยธรรมของอินเดียโบราณทั้งมวล

คัมภีร์ภาควตปุราณะ อ้างถึง วาจ ว่า “เป็นผู้มีร่างกายบอบบางและเป็นธิดาผู้ทรงเสน่ห์ของพระพรหม” และมีเรื่องเล่าสืบไปว่า พระพรหมสร้างวาจขึ้นมาและเพราะเธอมีความงามพึงพิศหลายประการจึงให้ชื่อว่า “ศตรูปา” (มีรูปร้อยแบบ) และพระพรหมมีความเสน่หาในตัวนาง พระพรหมจึงเอานางเป็นชายาสร้างกำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษย์สืบมา แต่คัมภีร์ปัทมปุราณะมีข้อความต่างออกไปโดยกล่าวว่า วาจ เป็นลูกสาวของฤาษีกัศยป และเป็นมารดาของคนธรรพ์และนางอัปสรทั้งหลาย

ส่วนสรัสวตี เป็นศัพท์ที่สร้างขึ้นจาก สรสฺ (น้ำ) + วตี (เต็มไปด้วย) หมายถึง “เต็มไปด้วยน้ำ” คือแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ และเก่าแก่อันเป็นที่นับถืออย่างยอดยิ่งของคนอินเดียโบราณ เป็นแม่น้ำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของดินแดนพรหมาวรรต คือ อาณาจักรรุ่นแรกๆของพวกอารยันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย แม่น้ำสรัสวตีเป็นแม่น้ำที่มีลักษณะเป็นแม่น้ำ หัวด้วนปลายด้วน กล่าวคือต้นน้ำอยู่ใต้ดินไหลไปบรรจบกับแม่น้ำคงคาและยมุนา ส่วนปลายน้ำหายลงไปในทะเลทรายธาระ ตรงที่เรียกว่า “วินาศนะ” เพราะรังเกียจที่จะไหลต่อไปทางใต้อันเป็นที่อยู่ของพวกป่าเถื่อน แต่มหาภารตะกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ เกิดจากคำสาปของฤษีอุตัถยะ อย่างไรก็ดี มีร่องทรายเป็นแนวทางต่อไปทางตอนใต้ของแม่น้ำสินธุอันแสดงว่า แม่น้ำสรัสวตีเคยเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสินธุ แต่ภายหลังสายน้ำเปลี่ยนทางเดินและตื้นเขินไปในที่สุด ถ้าเป็นไปตามหลักฐานนี้ แม่น้ำสรัสวตีโบราณก็คือสาขาหนึ่งของแม่น้ำสินธุทั้ง 7 และมีชื่อเฉพาะว่า “สรรสตุ” (สรฺสฺตุ)

จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปได้ว่าต้นกำเนิดเดิมของ วาจ และ สรัสวตี ก็คือบุคลาธิษฐาน (personification) ของธรรมชาติคือ “เสียง” กับ “สายน้ำ” นั้นเอง ซึ่งสมมุติให้มีรูปร่างเป็นเทวีทั้งสององค์ และในที่สุดก็รวมเป็นองค์เดียวกัน ด้วยเหตุผลอันเหมาะสมอย่างยิ่ง กล่าวคือ เสียงหรือถ้อยคำของมนุษย์ ย่อมเกิดจากน้ำในร่างกาย เราจึงมีคำว่า “น้ำเสียง” แสดงว่า “เสียง” กับ “น้ำ” นั้นย่อมคู่กัน เมื่อมีน้ำเสียงก็แจ่มใส เมื่อคอแห้งผาก เสียงก็แหบแห้ง หรือไม่มีเสียงในที่สุด ฉะนั้น วาจ หรือ วาคเทวี กับ สรัสวตี จึงผสมกลมกลืนเป็นเทวีองค์เดียวกันด้วยประการฉะนี้

สรัสวตีเทวี ปรากฏในรูปร่างหญิงงามผิวขาวผุดผ่อง บางทีเป็นรูป 2 กร แต่ส่วนใหญ่มี 4 กร พระหัตถ์ถือดอกไม้ ถือคัมภีร์ใบลาน ถือสร้อยไข่มุกชื่อ ศิวมาลา และถือกลองทมรุ หรือมิฉะนั้นก็ถือพิณ ถ้าเป็นรูปมี 2 กรจะถือพิณอย่างเดียว ประทับบนพาหนะคือนกยูง แต่มีบางรูปมีพาหนะเป็นหงส์ ซึ่งเป็นพาหนะเเบบเดียวกับพาหนะของสวามีคือพระพรหม

โดยเหตุที่ สรัสวตี เป็นเทวีแห่งศิลปะวิทยาการโดยเฉพาะวิชาการทางอักษรศาสตร์ จึงกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่าเป็น เทวีอักษรศาสตร์ ในอินเดียถือกันว่าวันแรกของเดือนมาฆะ (ราวเดือนกุมภาพันธ์) เป็นวันที่ระลึกถึงพระสรัสวตีเรียกว่า ศรีปัญจมีบูชา ในวันดังกล่าวผู้คนจะหยุดการขีดเขียนทั้งปวง และการให้สมุดหรือเครื่องเขียนแก่กัน ถือว่าเป็นการให้ของขวัญอันมีค่ายิ่ง คนที่บูชาสรัสวตีเทวีถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับพรให้เป็นนักอักษรศาสตร์ที่ฉลาดเฉลียว ปราดเปรื่อง

อ้างอิงจาก

ทองปลิว ชูวงษ์. 2533. “การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องพระสรัสวตี-เทวีอักษรศาสตร์และศิลปวิทยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. 2534. วาจ หรือ สรัสวตี: เทวีอักษรศาสตร์. ในวรรณวิทยา: รวมบทความทางวิชาการภาคภาษาและวรรณคดีไทย-บาลี-สันสกฤตบางเรื่อง, หน้า 29-33. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.