มอบหนังสือสำคัญแก่ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ


   โครงการอบรมภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ
(Intensive Thai Program) จัดพิธีมอบหนังสือสำคัญให้แก่
ผู้ผ่านการอบรมในระดับสูง ขั้น 3 (Advanced 3) ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด
ของโครงการ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ณ ห้อง 304
อาคารมหาจักรีสิรินธร อาจารย์ ดร. ปริดา มโนมัยพิบูลย์
รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจเป็นผู้แทนคณบดี คณะอักษรศาสตร์เป็นประธานมอบหนังสือสำคัญในครั้งนี้ ให้แก่ผู้ผ่านการอบรม จำนวน 11 คน ดังนี้

    1. Mr. Jing Xuan Oi ZHENG
    2. Mr. Jacques RIGOULET
    3. Ms. Ryoko FUJIOKA
    4. Ms. Sandra ALTMANN
    5. Mr. Toshiaki ITOHARA
    6. Mr. Wan Hee CHO
    7. Ms. Wan Yi JAN
    8. Mr. Yohei ITO
    9. Mrs. Yukiko TAHIRA
    10. Ms. Yuko YAMATO
    11. Mrs Yumi MATSUMOTO





 


 
     สัปดาห์อิตาเลียนสากล

   เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน 2555 เวลา 15.00-16.30 น. ณ ห้องประชุม 301-302 อาคารมหาจักรีสิรินธร ภาควิชาภาษาตะวันตก สาขาวิชาภาษาอิตาเลียนได้จัดกิจกรรมสัปดาห์ภาษาอิตาเลียนสากล ภายใต้หัวข้อ‘Seminar and Presentation of the Exhibition Catalogue: The Siamese Pavilion at Turin Expo 1911’ ในโอกาสนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับผู้มาร่วมงาน
โดยมีท่านเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน


 
     แนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย
   ฝ่ายวิจัย คณะอักษรศาสตร์ จัดการเสวนาในโครงการอาศรมวิจัย เรื่อง “แนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย” กล่าวถึงหลักการและหัวข้อที่ควรเขียนในข้อเสนอโครงการวิจัย ข้อบกพร่องที่มักพบในการเขียนโครงร่างงานวิจัย และประเด็นต่างๆ ที่ผู้ให้ทุนใช้พิจารณาโครงร่างงานวิจัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ณ ห้อง 707 อาคารบรมราชกุมารี
 
     ขอเยี่ยมชมคณะอักษรศาสตร์
   ด้วยบริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด ได้ขออนุเคราะห์คณะอักษรศาสตร์ ในการเยี่ยมชมและบันทึกภาพวีดิทัศน์ตามสถานที่ต่างๆ ในคณะ พร้อมรับฟังคำแนะนำจากผศ.สุนิจ สุตัณฑวิบูลย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณาจารย์และนิสิตในการเตรียมตัวที่จะเข้าศึกษาต่อ ในคณะอักษรศาสตร์
เมื่อวันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ณ ห้อง 814 อาคารมหาจักรีสิรินธร




 
     วันมหาธีรราชเจ้า

   ภาควิชาภาษาไทย จัดพิธีถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันมหาธีรราชเจ้า เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 นิสิตภาควิชาภาษาไทยจัดการแสดงต่าง ๆ ได้แก่ การบรรเลงและขับร้องเพลง วงมโหรี การอ่านบทอศิรวาทของนิสิตแต่ละชั้นปี การแสดงละครของชมรมภาษาไทยและนิสิตภาควิชาภาษาไทยจากบทพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และร่วมกันขับร้องเพลง
“มหาจุฬาลงกรณ์” ณ บริเวณโถงกลางชั้น 2 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์

 


     ภารตสมัย:วรรณกรรมอินเดียที่ประพันธ์เป็นภาษาอังกฤษ
   ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์อินเดียศึกษาแห่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเครือข่ายจุฬาฯ นานาชาติ
และสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดโครงการประชุม
วิชาการระดับนานาชาติ “ภารตสมัย:วรรณกรรมอินเดียที่ประพันธ์
เป็นภาษาอังกฤษ” ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2555
ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อเปิดเวทีวิชาการนานาชาติเพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับ
ประเทศอินเดียจากมุมมองทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
เพื่อเผยแพร่วรรณกรรมอินเดียร่วมสมัยที่ประพันธ์เป็น
ภาษาอังกฤษให้ผู้อ่านชาวไทย และเสริมสร้างเครือข่ายนักวิจัยทางมนุษยศาสตร์ในระดับนานาชาติ

 

    นักศึกษาจากอินโดนีเซียเยือนภาควิชาภาษาอังกฤษ  ASEAN Youth Friendship Network (AYFN)



   เมื่อวันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2555 ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ได้มีโอกาสต้อนรับกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 24 คน และผู้นำกลุ่มซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท 2 คน โดยนักศึกษาเหล่านี้เดินทางมาประเทศไทยในฐานะตัวแทนของกลุ่ม ASEAN Youth Friendship Network (AYFN) ซึ่งติดต่อภาควิชาภาษาอังกฤษมาให้ร่วมจัดโครงการ “Inter-cultural Learning and Friendship Program # 5” ทั้งนี้ก่อนหน้าทาง AYFN ได้เคยติดต่อให้ภาควิชาภาษาอังกฤษจัดโครงการ “Inter-cultural Learning and Friendship Program # 3” เมื่อวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา
   วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรม
ระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย โดยนักศึกษาเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย ดนตรีไทย การท่องเที่ยวของไทย นาฏศิลป์ไทย และการทำอาหารไทย นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสทัศนศึกษาที่วัดโพธิ์และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมถึงเยี่ยมชมพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย
   ภาควิชาภาษาอังกฤษได้รับความอนุเคราะห์จากคณะภาควิชาต่าง ๆ และ
วิทยากรหลายท่าน ได้แก่ อาจารย์กมลทิพย์ จิตรตระกูล และอาจารย์สุริยะ
ศรีพรหม จากหลักสูตร Intensive Thai มาบรรยายเกี่ยวกับภาษาไทย
พื้นฐาน อาจารย์ ดร.วิลลา วิลัยทอง จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มาบรรยาย
เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย รองศาสตราจารย์ นฤมล สมิตินันทน์ จาก
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มาบรรยายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คารินา โชติรวี จากภาควิชาภาษาอังกฤษ
มาบรรยายแนะนำภาษาไทย และประเทศไทย ทั้งนี้ ภาควิชาภาษาอังกฤษ
ยังได้รับความอนุเคราะห์จากหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัด
เตรียมเอกสารประกอบการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยของนักศึกษาเหล่านี้ นอกจากนี้ นิสิตเอกวิชาภาษาอังกฤษส่วนหนึ่ง และนิสิตจากชมรมดนตรีไทย คณะอักษรศาสตร์ได้มาช่วยจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ร่วมกับนักศึกษาอินโดนีเซีย พร้อมคอยดูแลให้ความสะดวกแก่นักศึกษาเหล่านี้ด้วย
   
โครงการนี้ประสบความสำเร็จด้วยดีตามวัตถุประสงค์ โดยทางกลุ่ม ASEAN Youth Friendship Network (AYFN) กล่าวว่าในอนาคต จะขอความร่วมมือมาที่ภาควิชาภาษาอังกฤษอีกในการจัดส่งนักศึกษาจากอินโดนีเซียรุ่นต่อไป เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ และกระชับความสัมพันธ์อันดีงาม สมกับที่ปี พ.ศ. 2558 เป็นปีแห่งการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

 




 
     Reaching the World
   คณะอักษรศาสตร์ ร่วมกับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A. Write Award) กรุงเทพมหานคร และ Asia Pacific Writers & Translators (AP Writers) จัดการประชุมนานาชาติ นักเขียนและนักแปล “Reaching the World” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลซีไรต์และเป็นงานแรกของกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็น “World Book Capital 2013” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา และรองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ เป็นเลขาธิการการจัดประชุม 
   งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเขียนและนักแปล
จากภูมิภาคเอเชียและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านวรรณกรรม เป็นเวทีเสวนาทางวิชาการสำหรับนักวิชาการและนักวิจัย รวมทั้งส่งเสริมให้นักเขียนเอเชียก้าวสู่ตลาดหนังสือของโลก มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน เป็นนักเขียน นักแปล นักวิชาการ และผู้พิมพ์จำหน่ายต่างชาติ จำนวน 150 คน จากกว่า 20 ประเทศ และกวี นักเขียน นักวิชาการ และผู้พิมพ์จำหน่ายชาวไทย อีกกว่า 50 คน
    “Reaching the World 2012” ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การสัมมนาทางวิชาการของนักเขียนและนักแปลวรรณกรรมระดับนานาชาติ จัด ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร ระหว่างวันจันทร์ที่ 5 ถึงวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ศาสตราจารย์ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฯพณฯ James Wise เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ร่วมเป็น ประธานในพิธีเปิดการประชุม กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และ ปราศรัยเกี่ยวกับความสำคัญของงานวรรณกรรมกับกระแสโลกาภิวัฒน์ สาระสำคัญของการสัมมนาทั้งสองวันเกี่ยวข้องกับคุณค่า และ ความหมายของการประพันธ์งานวรรณกรรมการมอบรางวัลทางวรรณกรรม
รวมทั้งการแปลงานวรรณกรรมอย่างมีคุณภาพเพื่อส่งเสริม
ให้นักเขียนเอเชียเป็นที่รู้จักในเวทีโลก และก้าวสู่ตลาดหนังสือของโลก


   ส่วนที่สองคือ Author Showcase Readings เป็นการอ่านบทกวีและงานประพันธ์โดยกวีและนักเขียนที่ได้รับรางวัล จัด 4 ครั้ง ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2555 เวลา 18.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในการอ่านบทกวี มีกวีชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีชื่อเสียง รวมทั้งกวีซีไรต์ ร่วมอ่านและแสดงลีลาประกอบการอ่าน และมีวงประสานเสียงของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีรองศาสตราจารย์จารุณี หงส์จารุ เป็นผู้ควบคุมวงร้องเพลงประกอบการอ่านบทกวี หลังการอ่านบทกวีม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยง Welcoming dinner ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่องความสำคัญของงานวรรณกรรมในบริบทของสัมคมร่วมสมัย
    ส่วนที่สามคือ Creative Writing Workshops ในวันพุธที่ 7 และวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน 2555 ณ ห้อง 814 และ 815 อาคารมหาจักรีสิรินธร สำหรับนักเขียนและผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียน ได้เรียนรู้ทฤษฎีและฝึกปฏิบัติกับนักเขียนนานาชาติระดับมือรางวัล
    “Reaching the World” จบลงด้วยงานพระราชทานรางวัลซีไรต์ แก่นักเขียนจาก 8 ประเทศ ผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2012 และงาน Gala Dinner ณ ห้อง แกรนด์ บอลรูม โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ในวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2555

     Enfoque reflexivo-participativo en la ense?anza de ELE para los tailandeses

   ภาควิชาภาษาตะวันตก สาขาวิชาภาษาสเปน ร่วมกับบริษัท เอเลคอนเนคชัน จำกัด ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติระหว่างผู้สอนภาษาสเปนในฐานะภาษาต่างประเทศ (III Jornada de ELE en Bangkok) ระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2555 โดยได้รับความสนใจจากผู้ที่อยู่ในแวดวงการสอนภาษาสเปนจากหลากหลายประเทศในเอเชีย (ไทย จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์) รวมทั้งจากประเทศสเปนรวมกว่า 60 คน ในการนี้ อาจารย์ ดร. เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปนได้ร่วมเสนอผลงานวิชาการในหัวข้อ “Enfoque reflexivo-participativo en la ense?anza de ELE para los tailandeses”

     “คติชนสร้างสรรค์”: พลวัตและการนำคติชนไปใช้ในสังคมไทยร่วมสมัย”

   หากเราพิจารณาสภาวะทางสังคมไทยในปัจจุบันทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่า สังคมไทย
ได้เปลี่ยนไป อย่างมาก ในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ มีปรากฏการณ์
ทางสังคมวัฒนธรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย รวมทั้งปรากฏการณ์พลวัต
ของข้อมูลคติชน เช่น คติชนสมัยใหม่ และการนำคติชนไปใช้ในบริบททางสังคมใหม่ๆ ในปัจจุบัน เช่น การนำนิทานตำนานไปใช้เพื่อการท่องเที่ยว การปรับเปลี่ยนประเพณีหรือประดิษฐ์ประเพณีใหม่ๆ เพื่อการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น หรือเพื่อกิจการ “เชิงพาณิชย์” แต่ในวงวิชาการคติชนวิทยาไทย
ยังเพิ่งเริ่มศึกษาปรากฏการณ์ใหม่ๆ เหล่านี้ และยังไม่สามารถอธิบายภาพรวม ประเภทของการสร้างสรรค์คติชน และ กรณีศึกษาจำนวนที่มากพอเกี่ยวกับปรากฏการณ์คติชนในปัจจุบัน หรือ เพื่ออธิบายวิธีคิดของคนไทยในการนำข้อมูลคติชนไปปรับใช้ในปัจจุบัน
    เหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการนำเสนอชุดโครงการเมธีวิจัยอาวุโส เรื่อง “คติชนสร้างสรรค์”: พลวัตและการนำคติชนไปใช้ในสังคมไทยร่วมสมัย” ต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยใน พ.ศ. 2554 ชุดโครงการนี้ประกอบด้วยโครงการย่อย 10 โครงการ มีระยะเวลาดำเนินการ 2-3 ปี
ขณะนี้โครงการวิจัยได้ดำเนินไปแล้ว 1 ปี จึงเห็นสมควรจัดการประชุมวิชาการ
ระดับชาติเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการวิจัยและเผยแพร่ผลการวิจัยในเบื้องต้นแก่วงวิชาการและสาธารณชนผู้สนใจ

   ในภาพรวม โครงการวิจัยต่างๆ รวมทั้งบทสังเคราะห์งานวิจัยภายใต้ร่มโครงการวิจัย เรื่อง
“คติชนสร้างสรรค์”: พลวัตและการนำคติชนไปใช้ในสังคมไทยร่วมสมัย จะมีคุณูปการต่อวงการคติชนวิทยาในประเด็นการวิเคราะห์ลักษณะของพลวัตและการนำคติชนไปใช้ “อย่างสร้างสรรค์” ในปัจจุบัน และมีคุณูปการต่อวงการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์โดยรวมเนื่องจาก ทิศทางการวิเคราะห์จะชี้ให้เห็น วิธีคิดของคนไทย ในการประยุกต์ “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่มีอยู่ในสังคมไทยไปใช้ในบริบทใหม่ด้วยวัตถุประสงค์อันหลากหลาย เพื่อชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ “คติชนสร้างสรรค์” เป็นการ “พัฒนาวัฒนธรรม” ไปตามบริบททางสังคมใหม่ๆ ในปัจจุบันเพื่อให้คติชนที่สืบทอดมาในสังคมประเพณีดำรงอยู่ได้ต่อไปในรูปลักษณ์ใหม่ ในสังคมไทยปัจจุบันและในอนาคต
ทั้งนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจในภาพกว้างและความซับซ้อนเกี่ยวกับ
ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน

 

   ทางภาควิชาภาษาไทย และ ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ
การนำเสนอความก้าวหน้าชุดโครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 1 เรื่อง “คติชนสร้างสรรค์”: พลวัตและการนำคติชนไปใช้ในสังคมไทยร่วมสมัย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการเสนอผลงานความก้าวหน้าในครั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 และวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร มีหัวข้อการบรรยายดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2555
     • คติชนสร้างสรรค์
   o ภาพรวมโครงการ บริบท และ แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
โดย ศาสตราจารย์ ดร. ศิราพร ณ ถลาง
   บทความนี้กล่าวถึงที่มาและภาพรวมของชุดโครงการวิจัย เรื่อง “คติชนสร้างสรรค์ฯ” นำเสนอบทปริทัศน์บริบททางสังคม แนวคิด และวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ “คติชนสร้างสรรค์”
   ทุกวันนี้ วัฒนธรรมโดยเฉพาะคติชนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งไม่ใช่เป็นความเปลี่ยนแปลงตามปกติธรรมดาของวัฒนธรรม แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงอันมีปัจจัยทางสังคมเป็นตัวเร่งและเป็นตัวกำหนด ทำให้เกิดการสร้างสรรค์คติชนขึ้นหลายลักษณะ โครงการ “คติชนสร้างสรรค์ฯ” เป็นโครงการวิจัยที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์พลวัตของคติชนในลักษณะต่างๆ ในบริบททางสังคมไทยในปัจจุบัน

   บทความนี้นำเสนอว่าบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ “คติชนสร้างสรรค์” ได้แก่ บริบทสังคมโลกาภิวัตน์และการท่องเที่ยว บริบททุนนิยมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และบริบทข้ามชาติ-ข้ามพรมแดน บทความนี้ บริทัศน์และสรุปแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แนวคิดเรื่อง คติชนแท้-คติชนเทียม (Folklore-Fakelore), “ของแท้” “ของดั้งเดิม” “วิถีดั้งเดิม” (Authenticity), ประเพณีประดิษฐ์ (Invented Tradition) และ อัตลักษณ์ (Identity) รวมทั้งยกตัวอย่างวิทยานิพนธ์ในประเทศไทยที่ใช้แนวคิดดังกล่าวเป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์ โดยเฉพาะในประเด็นการใช้คติชนในการสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ คติชนประดิษฐ์ในบริบทข้ามพรมแดน ประเพณีประดิษฐ์จากรากฐานทางพุทธศาสนา และประเพณีประดิษฐ์เพื่อการท่องเที่ยวและการพาณิชย์

 
     • คติชน วัตถุมงคล ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
   o นิทานผสานความเชื่อ : ทุนวัฒนธรรมในการผลิตวัตถุมงคลในปัจจุบัน
โดย รองศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา
   นับตั้งแต่รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์กำหนดให้นำทุนทางวัฒนธรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ดังปรากฏในยุทธศาสตร์ที่ 6 ของแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติ(พ.ศ.2550-2559) วัตถุมงคล ได้กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรม(cultural products)ที่มีการนำเรื่องเล่า และความเชื่อมาผสมผสาน ตีความใหม่ และผลิตขึ้นใหม่ โดยใช้ความศรัทธานำการตลาดจนทำให้ตลาดวัตถุมงคลขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและต่างประเทศ
   บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่าวัตถุมงคลเป็นทุนทางวัฒนธรรมอย่างไร วัฒนธรรมที่ฝังตัว ( embodied culture) อยู่ในวัตถุมงคลมีอะไร ความแตกต่างของ embodied cultureในวัตถุมงคลมีผลอย่างไรต่อความหลากหลายของวัตถุมงคล
   ผลจากการศึกษาพบว่า วัตถุมงคลที่ผลิตขึ้นในปัจจุบันส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากคติชน-ประเภทนิทาน ทั้งนิทานชาดก นิทานวรรณคดี เทวตำนาน และตำนานท้องถิ่น โดยนิยมนำบุคคลในเรื่อง เช่น พระพิฆเนศ ชูชก นางแก้วหน้าม้า ฯลฯหรือวัตถุวิเศษ เช่น หน้ากากพรานบุญ นาคบาศ ฯลฯ มาสร้างขึ้น ผสมผสานกับความเชื่อ ทั้งความเชื่อดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ความเชื่อที่สร้างขึ้นใหม่หรือเกิดจากการตีตวามใหม่ ตลอดจนความเชื่อในผู้สร้างและรุ่นที่สร้าง ความหลากหลายของวัฒนธรรมที่ฝังตัวอยู่นี้มีส่วนในการเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุมงคล ขณะเดียวกันก็มีส่วนในการลดทอนคุณค่าของวัตถุมงคลด้วยเช่นกัน
 
   o เรื่องเล่าพื้นบ้านกับการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวท้องถิ่นในภาคกลาง:มิติความสัมพันธ์
ระหว่างปรากฏการณ์โหยหาอดีตกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดย อาจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
   
ปัจจุบันมีการนำเรื่องเล่าพื้นบ้านมาใช้อย่างมีนัยยะสำคัญในฐานะทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่
ผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวในภาคกลาง โดยเน้นให้ผลิตภัณฑ์หรือการท่องเที่ยวเหล่านั้น “บอกเล่า”
อดีตที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ผ่านการ “จำลองอดีตเก่า” และ “สร้างอดีตใหม่” ท่ามกลางการโหยหา “วิถีไทย”
   บทความนี้จึงมุ่งศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยใช้กลุ่มข้อมูลทั้งเรื่องเล่าที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไป อาทิ กลุ่มนิทาน
เก่า เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน รามเกียรติ์ ฯลฯ กลุ่มเรื่องสร้างสรรค์ใหม่ เช่น พระอภัยมณี แผลเก่า คู่กรรม
และกลุ่มข้อมูลที่เป็นเรื่องที่รับรู้ในท้องถิ่น อาทิ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตำรับอาหารท้องถิ่น ฯลฯ
   ผลการศึกษาพบว่าเรื่องเล่าพื้นบ้านมีบทบาทที่น่าสนใจในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยว
ท้องถิ่นในท่ามกลางปรากฏการณ์โหยหาอดีตในสังคมไทย ทั้งในฐานะส่วนหนึ่งของการจำลองและสร้าง “อดีต”
เพื่อการท่องเที่ยว ฐานะเครื่องมือเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยว และฐานะการสร้างภาพลักษณ
์ความเป็น “คนไทยรุ่นใหม่” แก่ผู้บริโภคซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างสำคัญในการใช้คติชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่
ผลิตภัณฑ์ และการท่องเที่ยวท้องถิ่นตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์
     • คติชนประดิษฐ์ การท่องเที่ยวเทศน์มหาชาติ
   o การจัดการท่องเที่ยวในงานประเพณีที่ “หมู่บ้านวัฒนธรรมหนองขาว”
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรมินท์ จารุวร
   บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จัดประเพณีเทศน์มหาชาติขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันขึ้น 9 ค่ำ
ถึง 11 ค่ำ เดือน 12 แม้ประเพณีดังกล่าวจะสูญไปอย่างมากแล้วโดยเฉพาะในสังคมไทยภาคกลางบทความนี้จึงมุ่ง
รวบรวมข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับองค์ประกอบและบริบทของพิธีเทศน์มหาชาติที่บ้านหนองขาว เพื่อนำมาวิเคราะห์
วิธีคิดของชาวหนองขาวในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวในงานประเพณีเทศน์มหาชาติ
และวิเคราะห์ภาพลักษณ์ “หมู่บ้านวัฒนธรรมหนองขาว” ที่นำเสนอผ่านการจัดการท่องเที่ยวดังกล่าว
   ผลการศึกษาพบว่า ประเพณีเทศน์มหาชาติที่บ้านหนองขาวเน้นความสัมพันธ์ของชาวบ้านในฐานะที่เป็น “คนใน”
อย่างมาก และมีวิธีคิดในการจัดการท่องเที่ยวที่เน้นการสืบทอดประเพณีตามที่เคยปฏิบัติมาอย่างเหนียวแน่น
ทำให้นักท่องเที่ยวในฐานะ “คนนอก” สามารถร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวคือการร่วมชมที่ขบวนแห่
และชมคติชนประเภทวัตถุประเภทต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของประเพณีนี้ตามที่ชุมชนได้จัดแสดงไว้
มากกว่าการเข้าร่วมฟังเทศน์มหาชาติร่วมกับคนในชุมชน อย่างไรก็ตาม การจัดการที่สะท้อนให้เห็นการแบ่งหน้าที่
กันในชุมชนอย่างชัดเจนและทุกครัวเรือนมีส่วนร่วมในประเพณีเทศน์มหาชาติ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการเป็น
ชุมชนที่เข้มแข็งที่ยังคงสืบทอดวิถีชีวิตในอดีตไว้ได้ท่ามกลางสังคมไทยร่วมสมัยที่มีพลวัตทางวัฒนธรรมสูง
 
   o แม่น้ำโขงกับการเป็นเวทีของประเพณีประดิษฐ์ในอีสาน
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ
   
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำเสนอภาพและความหมายของแม่น้ำโขงในฐานะที่ถูกสร้างให้
กลายเป็นเวทีของประเพณีประดิษฐ์ในชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงแถบอีสาน โดยศึกษาจากประเพณีที่กลุ่มคนริมน้ำโขง
ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในเขตอำเภอต่างๆ ของ 7 จังหวัดภาคอีสานโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ติดกับลำน้ำโขงเป็นหลัก ซึ่งมีประเพณีที่นำมาใช้ในการศึกษาในครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 20 ประเพณี
   ผู้เขียนได้จำแนกประเพณีที่สร้างขึ้นในชุมชนลุ่มน้ำโขงแถบอีสานเหล่านี้โดยใช้กรอบแนวคิดเรื่องการนำเสนอภาพตัวแทน (Representation) และการประดิษฐ์ประเพณี (Invention of tradition) โดยจำแนกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) การเป็นเวทีของประเพณีแนวจารีตดั้งเดิม 2) การเป็นเวทีของประเพณีแนวพระพุทธศาสนา 3) การเป็นเวทีของประเพณีแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ 4) การเป็นเวทีของประเพณีแนวความสัมพันธ์ข้ามชาติ และ 5) การเป็นเวทีของประเพณีแนวท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชาติพันธุ์
   สำหรับวิธีการประดิษฐ์ประเพณีในชุมชนอีสานแถบลุ่มน้ำโขงนั้น พบว่ามีวิธี ได้แก่ 1) ประดิษฐ์โดยการหยิบยืมประเพณี 2) ประดิษฐ์โดยการรื้อฟื้นประเพณี 3) ประดิษฐ์โดยการอนุรักษ์สืบทอดประเพณี และ 4) ประดิษฐ์โดยการปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่ ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญา และวิธีคิดของผู้คนชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงในการประยุกต์และ “แปรรูป” ประเพณีภายใต้บริบทใหม่ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการใช้ข้อมูลทางคติชนแบบสร้างสรรค์ด้วยการนำเสนอภาพแม่น้ำโขงให้มีฐานะเป็นเสมือน “เวทีของประเพณีประดิษฐ์” ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ
 
     • คติชนในสื่อสมัยใหม่
   o พลวัตของนิทานในหนังสือนิทานแนวสาระบันเทิงภาษาไทย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร ภักดีผาสุข
   
หนังสือนิทานแนวสาระบันเทิงเป็นหนังสือนิทานแนวใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน หนังสือนิทานกลุ่มนี้ผลิตขึ้น
เพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้แนวใหม่ที่เน้นทั้งการให้ความรู้และความบันเทิงไปด้วยกัน หนังสือนิทานกลุ่มนี้จัดได้ว่า
เป็นสื่อสาระบันเทิง (edutainment media) ชนิดหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจในแง่การนำคติชนไปใช้ในปริบท
สังคมไทยร่วมสมัย
   บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตของนิทานในหนังสือนิทานแนวสาระบันเทิงภาษาไทยทั้งในระดับ
ตัวบทและการประยุกต์ใช้ตัวบท โดยใช้แนวคิดเรื่องสหบทและสหวาทกรรม รวมทั้งแนวคิดเรื่องลักษณะคู่ผสาน
และวัฒนธรรมประชานิยมเป็นกรอบในการศึกษาข้อมูลหนังสือนิทานแนวสาระบันเทิงจำนวน 132 เล่ม
   ผลการศึกษาพบว่าในระดับตัวบท ลักษณะพลวัตที่พบในหนังสือนิทานเหล่านี้ ได้แก่ การสร้างนิทานใหม่
เพื่อนำเสนอสาระความรู้ การดัดแปลงหรือประยุกต์ใช้นิทานเก่าเพื่อนำเสนอสาระความรู้ การสร้างสหบทและ
สหวาทกรรม เพื่อนำเสนอสาระความรู้ ส่วนพลวัตในแง่การใช้นั้นได้แก่ การใช้นิทานเพื่อวัตถุประสงค์ใหม่
และการใช้นิทาน ในลักษณะใหม่ ลักษณะสหบทและสหวาทกรรมที่พบในหนังสือนิทานแนวสาระบันเทิง
ภาษาไทยเป็นเครื่องบ่งบอก และสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมไทยร่วมสมัย ได้แก่ การแผ่ขยายของการเรียนตามหลักสูตร การศึกษาสู่กิจกรรมการเรียนรู้ในภาคครัวเรือน ลักษณะดังกล่าวส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลเนื่องมาจากความต้องการเตรียมความพร้อมทางการศึกษาให้แก่บุตรหลาน เพื่อที่จะสามารถแข่งขัน
กับผู้อื่นได้และได้รับโอกาสที่ดีกว่าในสังคม
วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2555
     • คติชน พลวัต อัตลักษณ์ การผลิตซ้ำ
   o ปอยส่างลอง: พลวัตและการขยายพื้นที่ของชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่
โดย อาจารย์ ดร.สุพิน ฤทธิ์เพ็ญ
   งานปอยส่างลองคืองานบวชเณรลูกหลานชาวไทใหญ่ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีคุณค่าและความหมายต่อชาวไท
ใหญ่ในฐานะงานที่บ่งบอกถึงความเคารพเลื่อมใสและการร่วมสืบสานพระพุทธศาสนา แต่เดิมนิยมจัด ณ วัดที่เป็น
ศูนย์กลางของชาวไทใหญ่ แต่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ปอยส่างลองได้ขยายพื้นที่ออกไปมากกว่าปอยอื่นๆ และมีการรวมตัวของชาวไทใหญ่อย่างหนาแน่น ทั้งยังได้รับความร่วมมือและความสนใจจากชาวไทยวน ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดพลวัตขึ้นกับปอยส่างลองซึ่งเสมือนการขยายพื้นที่ของชาวไทใหญ่
ในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับสังคมวัฒนธรรมไทใหญ่และไทยวนอันเนื่องมาจากพลวัตดังกล่าว
   ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ปอยส่างลองขยายพื้นที่จากศูนย์กลางไปสู่แหล่งต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่
ได้แก่ 1) ความต้องการสืบสานวัฒนธรรมพุทธศาสนาของชาวไทใหญ่ 2) ความเข้มแข็งของเครือข่ายชาวไทใหญ่
ในจังหวัดเชียงใหม่ 3) การได้รับการประโยชน์ด้านการศึกษาของภิกษุสามเณรชาวไทใหญ่ในเชียงใหม่ 
และ4) การที่ชาวไท ยวนยอมรับและชื่นชมความศรัทธาในวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ ผลที่เกิดขึ้นจากการขยาย
พื้นที่ปอยส่างลองทำให้พื้นที่ของไทใหญ่ในเชียงใหม่กว้างขึ้นและวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่หยั่งรากจน
เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในท้องถิ่นไทยวน
 
   o พลวัตของพิธีสืบชะตา : การผสมผสานความเชื่อและศาสนาในสังคมล้านนาปัจจุบัน
โดย อาจารย์เชิดชาติ หิรัญโร
   ในระยะ 10 – 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในสังคมภาคเหนือตอนบน นั่นคือ กระบวนการฟื้นฟูและการนำเอาพิธีกรรมแบบล้านนาโบราณมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความหลากหลายและแตกต่างจากรูปแบบพิธีกรรมตามแบบจารีตโบราณ บางพิธีกรรมก็เป็นการประยุกต์ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบของพิธีกรรมโบราณในบางส่วน และบางพิธีกรรมก็เป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากการตีความของชาวบ้านเอง เพื่อให้เข้ากับบริบทของปัญหาในชุมชนของตน
   พิธีสืบชาตา นับเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาต่างๆ ของชุมชน ทั้งในสังคมเมืองและในสังคมชนบทของภาคเหนือตอนบนอย่างกว้างขวาง อาจจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่มีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของสังคมปัจจุบัน และมีการดัดแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบ ขั้นตอนของพิธีกรรมให้เข้ากับวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ
   การนำเอาพิธีกรรมสืบชาตามาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ นั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการผสมผสานทางความเชื่อและศาสนาหลายรูปแบบ กล่าวคือ รูปแบบการผสมผสานพิธีกรรมล้านนาอื่นๆ เข้ากับพิธีสืบชาตา, รูปแบบการผสมผสานพิธีกรรมข้ามความเชื่อทางศาสนาเข้ากับพิธีสืบชาตา และรูปแบบการผสมผสานพิธีกรรมข้ามท้องถิ่นเข้ากับพิธีสืบชาตา ทั้งนี้ลักษณะการผสมผสานดังกล่าวเห็นได้จาก องค์ประกอบต่างๆ ของพิธีกรรม และ สัญลักษณ์ในพิธีกรรม
   นอกจากนี้ ผู้ศึกษายังพบว่า มีการนำพิธีสืบชาตามานำเสนอในรูปแบบของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยวในงานเทศกาลประเพณีต่างๆ ของหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน
 
   o พระอุปคุตปราบมาร: การสืบทอดและการผลิตซ้ำในสังคมไทยปัจจุบัน
โดย อาจารย์วัชราภรณ์ ดิษฐป้าน
   บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาปรากฏการณ์การสืบทอดและการผลิตซ้ำคติความเชื่อเรื่อง “พระอุปคุตปราบ
มาร” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน อันมีความหลากหลายทั้งรูปแบบและพื้นที่
   ผลการวิจัยพบว่าการสืบทอดคติความเชื่อเรื่องพระอุปคุตปราบมารปรากฏในพิธีกรรมอัญเชิญพระอุปคุต
มาคุ้มครองงานพิธีทางพุทธศาสนา พิธีกรรมดังกล่าวยังคงมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่องในวัฒนธรรมของคนไทย
ภาคเหนือและภาคอีสาน ในปัจจุบันยังพบว่ามีการผลิตซ้ำความเชื่อเรื่องพระอุปคุตปราบมารผ่านการนำพิธีกรรม
การอัญเชิญพระอุปคุตไปใช้ในบริบทอื่นที่มิใช่งานพิธีทางพุทธศาสนารูปแบบเดิม นอกจากนี้ยังมีการสร้างพระอุปคุตเพื่อป้องกันภัยพิบัติในบางจังหวัดบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันตกและภาคใต้ด้วย ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นพลวัตของความเชื่อ ตำนานและพิธีกรรมเรื่องพระอุปคุตปราบมารที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน อันมีทั้งรูปแบบที่มีการสืบทอดและการผลิตซ้ำในบริบทใหม่ที่แตกต่างจากเดิม
     • คติชนเปรียบเทียบ: ไทย – ญี่ปุ่น
   o การศึกษาเปรียบเทียบการสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟของชาวไทยและชาวญี่ปุ่น
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชมนาด ศีติสาร
   บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาวิธีและแนวทางการสืบสานประเพณี ตลอดจนวัตถุประสงค์ในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟของชาวไทยและชาวญี่ปุ่น โดยใช้ข้อมูลภาคสนามใน 3 พื้นที่ คือ บ้านน้อยหัวคู ตำบลขมิ้น อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร, บ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และ พิธีบั้งไฟบั้งไฟที่ศาลเจ้า Muku จังหวัด Saitama ประเทศญี่ปุ่น
   จากการเก็บข้อมูลสนาม ในเบื้องต้นพบว่า การสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟของไทยต่างจากญี่ปุ่นตรงที่ ของไทยจะเน้นการถ่ายทอดวิธีการทำบั้งไฟโดยยึดตัวบุคคลเป็นหลัก และผู้มีบทบาทมากคือพระสงฆ์ ซึ่งนอกจากจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำบั้งไฟแล้ว ยังเป็นผู้มีวิชา มีคาถาอาถมซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งคนไทยเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บั้งไฟขึ้นดีหรือไม่ดี ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้นจะเน้นการทำงานเป็นกลุ่ม มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยต่อผู้มาร่วมงานเป็นอันดับแรก การแข่งขันจึงออกไปในเชิงการประกวดความสวยงามมากกว่าจะเน้นด้านความสูง เพราะดินปืนที่ใช้อย่างมากก็แค่ 3 กิโลกรัม จุดขึ้นไปได้สูงเพียง 500 เมตร
   วัตถุประสงค์ของการจัดงานนั้น พิธีของไทยเน้นเรื่องการขอฝนให้ตกถูกต้องตามฤดูกาล หรือเป็นการอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่พิธีของญี่ปุ่นซึ่งจัดในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว จะเน้นเรื่องการแสดงความขอบคุณต่อเทพเจ้าที่ทำให้พืชผลงอกงามดี และทำให้ชีวิตในปีนั้น ๆ ดำเนินมาได้อย่างราบรื่น แต่ไม่ว่าทั้งประเพณีของไทยหรือของญี่ปุ่นก็แฝงแง่มุมการจัดเพื่อความบันเทิงและการแข่งขันไว้ด้วย โดยเฉพาะของไทยนั้นมีปัจจัยเรื่องการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก
   ต่อด้วยการอภิปรายทั่วไป “พลวัตสังคม พลวัตคติชน” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์ศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว นำอภิปราย และศาสตราจารย์ ดร. ศิราพร ณ ถลาง ดำเนินรายการ ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร