เกี่ยวกับเรา

“วรรณคดีเปรียบเทียบเป็นศาสตร์ซึ่งนำวรรณคดีไปสู่มิติของความเป็นสากล ข้ามขอบเขตของความเป็นชาติ ภาษา ยุคสมัย ปราศจาก”รั้วล้อม” ของศาสตร์เฉพาะสาขาและศิลปะเฉพาะแขนง วรรณคดีเปรียบเทียบนำวรรณคดีไปสัมพันธ์กับกิจกรรมทางปัญญาและการแสดงออกของมนุษย์ในลักษณะอื่นๆ หรือนำวรรณคดีไปสู่บริบทของโลก  วรรณคดีเปรียบเทียบจึงเป็นศาสตร์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ในยุคที่โลกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารหรือโลกยุค “ไร้พรมแดน” วรรณคดีเปรียบเทียบมุ่งไปสู่ความไร้พรมแดนของโลกศิลปะสาขาวรรณศิลป์ แต่กระนั้นก็มิได้ละเลยความหลากหลายแตกต่าง (diversity) ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม หากแต่มองโลกด้วยมิติของความแตกต่างอันเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคม (the particular) พร้อมๆ กันก็มุ่งหลอมรวมเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว (unity) และความเป็นสากล (universal) ของมนุษยชาติ”

รองศาสตราจารย์ ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร
หนึ่งในคณาจารย์ผู้ก่อตั้งภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ

วรรณคดีเปรียบเทียบ

วรรณคดีเปรียบเทียบ (Comparative Literature) เป็นศาสตร์สหวิทยาการที่ศึกษาเปรียบเทียบวรรณคดีที่มาจากภาษา วัฒนธรรม หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ศาสตร์วรรณคดีเปรียบเทียบยังรวมไปถึงการศึกษาเปรียบเทียบวรรณคดีแบบ “ข้ามศิลป์” โดยวิเคราะห์วรรณคดีในรูปแบบศิลปะที่แตกต่างกัน เช่น ภาพยนตร์ ละคร งานจิตรกรรม ฯลฯ รวมทั้งการศึกษาแบบ “ข้ามศาสตร์” อันหมายถึงการศึกษาวรรณคดีโดยอาศัยองค์ความรู้จากศาสตร์อื่น เช่น ทฤษฎีจิตวิทยา แนวคิดมาร์กซิสม์ การศึกษาด้านเพศสภาพ ฯลฯ

วรรณคดีเปรียบเทียบอาจกล่าวได้ว่ามีรากฐานมาจากแนวคิดเรื่อง “วรรณคดีโลก” (World Literature) ของปราชญ์ชาวเยอรมันโยฮันน์ วูล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่อ (Johann Wolfgang von Goethe) ผู้บุกเบิกการวิจารณ์วรรณคดีโดยอาศัยการเปรียบเทียบลักษณะของวรรณคดีที่เขียนขึ้นในบริบททางภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในปี ค.ศ. 1827

ในยุโรปช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 วรรณคดีเปรียบเทียบกลายเป็นศาสตร์ที่เติบโตขึ้นพร้อมๆกับกระบวนทัศน์วรรณคดีวิจารณ์หลากหลายสำนัก โดยมีศูนย์กลางอยู่ในฝรั่งเศสและเยอรมนี ในปัจจุบัน วรรณคดีเปรียบเทียบเป็นศาสตร์ที่ศึกษากันอย่างแพร่หลายในมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรปและอเมริกา วิชาวรรณคดีเปรียบเทียบยังได้ขยายวงกว้างขึ้นดังที่เห็นได้จากแนวทางการศึกษาที่มีปฏิสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ หลากหลายสาขา เช่น การแปล สังคมวิทยา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา และประวัติศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย 

ประวัติภาควิชา

ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ เดิมมีสถานะเป็นหน่วยวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 และดำเนินการผลิตมหาบัณฑิตสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบมาโดยตลอด ในปี พ.ศ.2541 ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้ปรับสถานะเป็นภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) จึงนับเป็นภาควิชาแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ และเปิดสอนรายวิชาเลือกของคณะอักษรศาสตร์ และรายวิชาการศึกษาทั่วไปในระดับปริญญาบัณฑิต ในปีการศึกษา 2546 ภาควิชาได้เปิดหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีและวรรณคดีเปรียบเทียบ โดยร่วมมือกับภาควิชาอื่นๆ ในคณะอักษรศาสตร์