ไหว้ครู-ไหว้อะไร ?: เมื่อพิธีไหว้ครู ไม่ได้ไหว้ครู (มนุษย์)

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

“ไหว้ครู” ในวัฒนธรรมไทยเดิมนั้นเป็นพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อสักการะ “ผี” หรือ “เทพ” ดังที่ปรากฏอยู่ในพิธีไหว้ครูทางนาฏศิลป์ พิธีไหว้ครูทางดนตรีไทย พิธีไหว้ครูช่าง (ศิลปะ) แต่ละอาชีพมีคำเรียก “ครู” ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ครูหมอ ครูโขน ครูละคอน ฯลฯ โดยสักการะ “ครู” ซึ่งอยู่ในสถานะนามธรรมผ่านสัญลักษณ์ ยกตัวอย่างเช่น หน้ากากพราน เทริด หัวโขน รูปปั้นพระอิศวร เป็นต้น วัฒนธรรมการกราบไหว้สิ่งของนี้มาจากประเพณีการเลี้ยงผีที่สิงอยู่ในเครื่องมือทำกินในศาสนาผี ต่อมาในวัฒนธรรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยได้รับอิทธิพลดังกล่าวมาเช่นกันดังปรากฏว่าก่อนการเล่นเครื่องดนตรีไทยแต่ละครั้ง นักดนตรีจะต้องไหว้เครื่องดนตรีก่อนเพื่อแสดงความนอบน้อมต่อผีที่สิงอยู่ในเครื่องดนตรี และได้ผสมผสานกับศาสนาพุทธรวมถึงพรามหณ์-ฮินดูด้วยเช่นกัน

พิธีไหว้ครู โขน ขอบคุณภาพจาก https://mgronline.com/south/detail/9580000118176

พิธีไหว้ครูในปัจจุบันได้ดัดแปลงพิธีกรรมไหว้ครูจากแขนงวิชาอื่น โดยเฉพาะจากพิธีกรรมไหว้ครูทางนาฏศิลป์และพิธีกรรมไหว้ครูดนตรีไทย แต่ได้ตัดองค์ประกอบบางประการทิ้งไป เช่น การบวงสรวงด้วยเครื่องสังเวย และการเข้าทรง ฯลฯ และได้เพิ่มเติมองค์ประกอบ บางประการ เช่น การบูชาครูมนุษย์ด้วยพานดอกไม้และพานธูปเทียนแพ ควรกล่าวด้วยว่า การใช้ดอกไม้และธูปเทียนแพไหว้ครูเพื่อแสดงตนเป็นศิษย์นั้นเป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณเช่นกัน แต่ได้กลายมาเป็นพิธีกรรมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงผนวชและจำพรรษา ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระองค์ได้ให้พระยาศรีสุนทรโวหารแต่งคำนมัสการคุณานุคุณประจำพิธีไหว้ครู และต่อมาได้กลายเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิบดีกรมสามัญศึกษาในขณะนั้น ได้ออกหนังสือแจ้งถึงคณะกรรมการจังหวัดเรื่องแบบของพิธีไหว้ครู เมื่อพ.ศ. 2486 โดย “ให้จัดการประกอบพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2486 ในตอนเช้าทุกโรงเรียน” พิธีไหว้ครูจึงกลายเป็นพิธีกรรมทางการและดำเนินการอย่างเคร่งครัดมาจนถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี ในวัฒนธรรมการไหว้ครูเดิมนั้น ทั้งครูและศิษย์จะร่วมกันสักการะสัญลักษณ์ของหลักการบางอย่างในแขนงอาชีพตน แต่มีบางกรณีที่ครูมนุษย์จะทำหน้าที่เป็น “สื่อกลาง” ระหว่างผีหรือเทพกับนักเรียนผ่านการอ่านองการหรือการเข้าทรง ขณะที่ในพิธีไหว้ครูปัจจุบัน นักเรียนจะสักการะครูมนุษย์โดยตรงซึ่งมีพานดอกไม้และพานธูปเทียนแพเป็นเครื่องสักการะ ถึงแม้บทไหว้ครูจะสักการะ “บูรพคณาจารย์ผู้กอปรประโยชน์ศึกษา” ซึ่งไม่ได้เจาะจงเฉพาะตัวบุคคล หากแต่มีสถานะนามธรรม กล่าวคือ ครูในความหมายของพิธีไหว้ครูซึ่งเดิมเป็นสัญลักษณ์ของวิชาความรู้ ได้แปรเปลี่ยนมาสู่ครูในฐานะตัวบุคคลในพิธีไหว้ครูปัจจุบัน โดยที่ครูในปรัมพิธีมักมาจากระบบตัวแทนซึ่งส่วนมากเป็นผู้บริหารสถานศึกษาหรือแม้กระทั่งครูผู้สอนซึ่งไม่มีความยึดโยงประการใดกับนักเรียนผู้สักการะ

พิธีไหว้ครู ขอบคุณภาพจาก http://btec.ac.th/news/views/พิธีไหว้ครู.html

สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่หลังพิธีกรรมไหว้ครูคือมายาคติ “พระคุณที่สาม” ดังปรากฏว่าพิธีไหว้ครูนั้นอุดมไปด้วยองค์ประกอบซึ่งย้ำเตือนให้นักเรียนซาบซึ้งและระลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์อยู่ตลอดพิธี หนึ่งในนั้น คือ บทเพลง “พระคุณที่สาม” ซึ่งผลิตซ้ำวาทกรรม “ครูในฐานะผู้ให้” โดยที่ไม่หวังผลตอบแทน รวมถึงการเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อสอนให้ศิษย์ได้ดี ดังปรากฏในเนื้อเพลง “ท่านสั่งสอนเรา อบรมให้เราไม่เว้น ท่านอุทิศ ไม่คิดถึงความยากเย็น” แนวคิดนี้ทำให้พฤติกรรมการบูชาครูใด ๆ เป็นเรื่องพึงกระทำอย่างมิต้องสงสัย เนื่องจากมีฐานคิดว่าครูนั้นมีบุญคุณ ศิษย์จึงต้องแสดงความกตัญญูกตเวที ดังนั้น กลไกทางวัฒนธรรมจึงผนวกเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมอย่างแนบเนียน การหมอบกราบโดยจำนนจึงเป็นสิ่งที่นักเรียนพึงกระทำ (ด้วยสำนึกในพระคุณครู) เพราะมิเช่นนั้นแล้ว นักเรียนจะถูกตีตราให้เป็นผู้เนรคุณไปโดยปริยาย 

อีกประการหนึ่งที่สะท้อนได้จากพิธีไหว้ครูคือการผดุงความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีด้วยระเบียบแบบแผนซึ่งจะทำให้นักเรียนนั้น “เรียบร้อย” เงื่อนไขเหล่านี้สอดรับกัน ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า พิธีไหว้ครูอาศัยกลไกทางวัฒนธรรมอันได้แก่มายาคติเรื่องบุญคุณ รวมไปถึงการประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในการปลูกฝังวัฒนธรรมอำนาจนิยมอย่างแนบเนียน พร้อมกับอำนาจละมุนเหล่านี้ ยังมีการเน้นย้ำถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพิธีเพื่อความศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ ซึ่งนั่นหมายรวมตั้งแต่ก่อนนักเรียนจะเข้าร่วมพิธี อาทิ การกำหนดทรงผมและเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะในช่วงพิธีกรรมที่ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีคือเรื่องที่นักเรียนต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากดังปรากฏว่าในพิธีไหว้ครูของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อปีการศึกษา 2562 พิธีกรได้ขอให้ “นักเรียน” ระวังการเลื่อนเก้าอี้เสียงดัง เหตุเพราะจะกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม

ลักษณะอำนาจนิยมที่แสดงออกมาเช่นนี้ มาจากฐานคิดที่ไม่เชื่อว่ามนุษย์สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เองได้ จึงต้องมีกฎเกณฑ์มาคอยกำกับ และรองรับกับอำนาจอย่างอ่อนที่ปลูกฝังควบคู่กันมา และเมื่อลองคำนวณอย่างง่ายว่านักเรียนที่สำเร็จการศึกษาขั้นบังคับ (ป.1-ม.6) ได้เข้าร่วมพิธีไหว้ครูมาแล้ว 12 ครั้งใน 12 ปี อำนาจที่ปลูกฝังให้นักเรียนอย่างมีระเบียบแบบแผนและเป็นทางการ ทำให้นักเรียนชินชากับวัฒนธรรมอำนาจนิยมโดยปราศจากการตั้งคำถาม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “วัฒนธรรมการยอมจำนน” (conformism) โดยที่นักเรียนสมาทานมโนทัศน์ มายาคติ และมีคุณลักษณะอุดมคติเดียวกันดังที่ปรากฏสัญลักษณ์ในพานไหว้ครู กล่าวคือ ต้องเป็นผู้มีปัญญาแหลมคม (ดอกเข็ม) และแตกฉานในวิชาความรู้อย่างมีระเบียบ (ข้าวตอก) และในขณะเดียวกัน ต้องเป็นผู้มีความอดทน (หญ้าแพรก) และนอบน้อมต่อ “ผู้ใหญ่” (ดอกมะเขือ) จึงจะถือว่าเป็นนักเรียนที่ดีโดยสมบูรณ์

องค์ประกอบพาน ขอบคุณภาพจาก https://mobile.twitter.com/ThaiLifePlc/status/1217642629590024192

ในแง่นี้ พิธีไหว้ครูจึงเป็นพื้นที่ทางอำนาจของสถานศึกษาในการผลิตปัญญาชนผู้มีระเบียบและ “เรียบร้อย” ตามขนบธรรมเนียม โดยใช้อำนาจของพิธีกรรมประกอบกับมายาคติเรื่องพระคุณที่สามยึดครองปริมณฑลทางจิตสำนึกและความคิดของนักเรียน สถานศึกษาในฐานะผู้ผลิตพลเมือง จึงได้สร้างพลเมืองที่คุ้นชินต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมและมีแนวโน้มจะเพิกเฉยต่อการปกครองระบอบอำนาจนิยม รวมไปถึงการสร้างผู้สืบทอดมายาคติซึ่งหนุนรับกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ดี บทความนี้มิได้มีจุดประสงค์เพื่อปลุกระดมให้นักเรียนไม่เคารพครู หรือ “บูรพคณาจารย์” แต่อย่างใด หากแต่มีจุดประสงค์เพื่อถอดรื้อบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปจากพิธีไหว้ครูในวัฒนธรรมเดิม และยังเป็นการสอบทานมายาคติรวมถึงวัฒนธรรมที่พิธีกรรมประกอบสร้างขึ้น ทั้งหมดนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้พิธีไหว้ครูเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักเรียนในการแสดงความเคารพต่อครู มิใช่การบูชาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นการเคารพอย่างสมัครใจด้วยฐานะมนุษย์ซึ่งมีภาระหน้าที่ต่อกัน ความตั้งใจนี้กอปรขึ้นจากเจตนาอันบริสุทธิ์ที่ศิษย์ต้องการน้อมวันทาครู และต้องการสักการะครูด้วยสัญลักษณ์แห่งปัญญามิใช่พฤติการณ์แห่งการลบหลู่ดูหมิ่นแต่อย่างใด 

” น้อมวันทาครูด้วยเจตนา อันบริสุทธิ์และสมัครใจ “