เทศกาลไหว้พระจันทร์ | Moon Festival🌕✨

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter


เทศกาลไหว้พระจันทร์

 

“เทศกาลไหว้พระจันทร์” คงเป็นชื่อเทศกาลที่ไม่ได้แปลกใหม่ในประเทศไทย อีกทั้งใครหลายคนก็อาจจะมีส่วนร่วมเป็นประจำทุกปี แต่ก็ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะประเทศจีนที่ริเริ่มเทศกาลไหว้พระจันทร์ และ ประเทศญี่ปุ่นที่รับเทศกาลนี้มาเช่นเดียวกับประเทศไทย ก็คุ้นเคยกับธรรมเนียมการไหว้พระจันทร์เป็นอย่างดีเช่นกัน

 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการไหว้พระจันทร์เหมือนกัน แต่กลับมีหลายสิ่งที่ไม่เหมือนกัน แล้วสิ่งนั้นคืออะไรบ้าง? บทความนี้จะพาทุกคนไปพบกับเกร็ดความรู้ดี ๆ ใน “เทศกาลไหว้พระจันทร์ของจีนและญี่ปุ่น” ที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน 👀

1. ขนมในเทศกาลไหว้พระจันทร์ 🥮🍡

 

🏵️|จีน|🏵️

 

เทศกาลไหว้พระจันทร์ (中秋節) หรือเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจีน ซึ่งขนมที่นิยมนำมาใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์จะประกอบด้วยขนมมงคลสี่อย่าง คือ ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมโก๋ ขนมเปี๊ยะ สาคูแดง

 

ขนมไหว้พระจันทร์ (Moon Cake) 🥮 จะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น แบบจีนกวางตุ้งซึ่งเป็นชนิดที่พบเห็นได้มากในประเทศไทย จะมีลักษณะเป็นชิ้นหนา เปลือกนิ่ม ส่วนแบบจีนแต้จิ๋วนั้นจะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง และมีเปลือกนอกที่ร่วนนิ่ม คล้ายขนมเปี๊ยะขนาดใหญ่ แต่ลักษณะโดยรวมคือ เป็นขนมที่มีทรงกลม ทำจากแป้งที่นำไปกดใส่พิมพ์ให้เป็นลวดลายและใส่ไส้ไว้ด้านใน ก่อนนำไปอบและทาผิวหน้าของขนมด้วยน้ำเชื่อม

 

สำหรับไส้ของขนมไหว้พระจันทร์นั้น ดั้งเดิมจะทำจากธัญพืชต่าง ๆ ที่เก็บเกี่ยวได้ในฤดูใบไม้ร่วง เช่น ถั่วแดง, งา, เมล็ดบัว แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการดัดแปลงนำผลไม้กวนและเนื้อสัตว์ต่าง ๆ มาทำเป็นไส้ของขนมไหว้พระจันทร์เช่นกัน

 

🌸|ญี่ปุ่น|🌸

 

เทศกาลไหว้พระจันทร์ของญี่ปุ่นนั้น เริ่มต้นเมื่อชนชั้นสูงในสมัยเฮอัน (ค.ศ.794 — 1185) นำประเพณีการชมจันทร์ในเทศกาลไหว้พระจันทร์จากประเทศจีนมาใช้เพื่อสังสรรค์ พร้อมทั้งชมความงดงามของพระจันทร์ไปด้วย หลังจากนั้นประเพณีนี้ก็ได้แพร่หลายไปสู่สามัญชน จึงกลายเป็นธรรมเนียมการไหว้ขอบคุณเทพเจ้าที่มอบผลผลิตทางเกษตรที่อุดมสมบูรณ์มาให้จนถึงปัจจุบัน

 

เทศกาลไหว้พระจันทร์ในประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเรียกว่า เทศกาลชมจันทร์ (月見 tsukimi) ซึ่งขนมที่นิยมนำมาไหว้ในวันชมจันทร์ คือ ทสึคิมิดังโงะ (月見団子 tsukimi dango) หรือ จูโกยะดังโงะ (十五夜団子 jyuugoya dango) ที่หมายถึง ดังโงะในคืนวันเพ็ญ 15

 

ดังโงะ 🍡 คือขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวและนำมาปั้นเป็นก้อนกลม จึงมีลักษณะคล้ายพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ โดยทสึคิมิดังโงะจะประกอบด้วยดังโงะจำนวน 12, 13 หรือ 15 ลูก ซึ่งจำนวนลูกที่ต่างกันก็จะมีความหมายแฝงที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

 

12 ลูก = สำหรับปีที่มี 365 วัน

13 ลูก = สำหรับปีที่มี 366 วัน

15 ลูก = วันขึ้น 15 ค่ำ

2. ของที่ใช้ไหว้พระจันทร์ 🌙

 

🏵️|จีน|🏵️

1. อาหารแห้งที่ยังไม่ได้ปรุง 5 อย่าง ได้แก่ วุ้นเส้น เห็ดหูหนู ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ และเห็ดหอม

2. ผลไม้ที่มีชื่อและมีความหมายเป็นสิริมงคล

3. ขนมหวาน เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมโก๋ ขนมเปี๊ยะต่าง ๆ

4. เครื่องไหว้ต่าง ๆ ได้แก่ ธูป เทียน กระถางธูป กระดาษเงินกระดาษทองลายโป๊ยเซียน ดอกไม้สด

5. ของใช้ส่วนตัวของสตรี เช่น ชุดเครื่องแป้ง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ

 

ผลไม้ที่มีชื่อและมีความหมายเป็นสิริมงคล 🍎🍇🍊🍐

  • ทับทิม หมายถึง ลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง
  • แอปเปิล หมายถึง ความสงบสุข
  • องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน
  • ส้ม หมายถึง ความเป็นมงคล
  • สาลี่/ส้มโอ หมายถึง ขอให้มีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิต
  • ลูกพลับ หมายถึง ความยั่งยืนและมั่นคง

* ไม่ควรใช้ผลไม้ที่มียางหรือมีหนาม *

 

[เกร็ดความรู้เพิ่มเติม] — วิธีไหว้พระจันทร์ 🕯️

 

ในสมัยก่อนชาวจีนที่เป็นผู้ชายจะไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าพระจันทร์นั้นถือเป็นหยินซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง และผู้ชายถือเป็นหยาง ดังนั้นจึงให้ผู้หญิงเป็นคนไหว้เท่านั้น แต่ปัจจุบันชาวจีนทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็สามารถไหว้พระจันทร์ได้ แต่มักจะให้ผู้หญิงเป็นคนไหว้คนแรก ซึ่งในการไหว้พระจันทร์จะต้องทำพิธี ดังนี้

 

  1. ไหว้เจ้าในช่วงเช้า จัดของไหว้เจ้าเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะ
  2. ไหว้บรรพบุรุษ จัดของไหว้บรรพบุรุษเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะ
  3. ไหว้เจ้าแม่ในตอนค่ำ เมื่อดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า

 

สำหรับสถานที่ไหว้พระจันทร์ในตอนค่ำนั้นควรเลือกที่ที่อยู่กลางแจ้ง ซึ่งอาจเป็นลานบ้าน หน้าบ้าน หรือดาดฟ้าก็ได้ และให้ตั้งโต๊ะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก รวมทั้งทำซุ้มต้นอ้อยให้เสร็จเรียบร้อยในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน หรือตอนหัวค่ำก่อนที่พระจันทร์จะลอยสูงเกินขอบฟ้า จุดธูปเทียนอธิษฐานขอพรจากพระจันทร์ และควรเก็บโต๊ะก่อนที่พระจันทร์จะเลยศรีษะไป หรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง

 

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีควรนำของไหว้มารับประทาน โดยเฉพาะขนมไหว้พระจันทร์ที่ควรนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว และควรแบ่งให้แต่ละชิ้นมีขนาดเท่ากัน เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บตามความเชื่อ ส่วนอาหารอื่น ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องทานให้หมด อาจเก็บไว้บางส่วน หรือนำไปแจกญาติ ๆ ก็ได้เช่นกัน

 

🌸|ญี่ปุ่น|🌸

 

1. 月見団子 (Tsukimidango) หรือ ทสึคิมิดังโงะ 🎑 เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวมาปั้นให้เป็นลูกกลม ๆ ขนาดประมาณ 4.5 ซม. จึงเปรียบได้กับรูปทรงของพระจันทร์เต็มดวงในคืนวันเพ็ญนั่นเอง ซึ่งการจัดทสึคิมิดังโงะเพื่อนำมาไหว้จะนิยมใช้จำนวน 12, 13, 15 ลูก

 

และในสมัยโบราณจะใช้พานแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า 三方 (ซัมโป) รองด้วยกระดาษสีขาว ก่อนจะวางทสึคิมิดังโงะลงไป แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีพานซัมโปก็จะใช้ภาชนะอื่น ๆ เช่น จานหรือชามที่มีอยู่ในบ้านแทน จากนั้นก็นำไปวางไว้ในที่เปิดโล่งที่สามารถมองเห็นพระจันทร์ได้ หรือวางไว้ในห้องรับแขก และหลังจากที่ไหว้พระจันทร์แล้ว ก็จะรับประทานของไหว้ต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล

 

 

2. ススキ (Susuki) หรือ หญ้าสึสึคิ 🌾 ซึ่งมีลักษณะคล้ายรวงข้าว เนื่องจากชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่ารวงข้าวเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้าที่ช่วยปกปักรักษาผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงช่วยปกป้องลูกหลานในครอบครัวและขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปได้ จึงมักนำมามาใช้ประดับตกแต่งในพิธี นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากนำหญ้าสึสึคิไปประดับไว้หน้าบ้านแล้ว จะทำให้ไม่เจ็บป่วยไปตลอดปีอีกด้วย

 

3. ผักหรือผลไม้ที่เก็บเกี่ยวได้ในฤดูใบไม้ร่วง 🥜🌰🍠 เนื่องจากฤดูใบไม้ร่วงเป็นช่วงเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร จึงมีการนำผลผลิตต่าง ๆ มาเซ่นไหว้เพื่อขอบคุณเทพเจ้า ประกอบด้วย พืชชนิดหัวต่าง ๆ เช่น เผือก มัน หรือพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วแระ เกาลัด นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหากถวายพืชไม้เลื้อย เช่น องุ่น จะช่วยเชื่อมสัมพันธ์กับเทพแห่งดวงจันทร์ให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย

 

4. เหล้าญี่ปุ่น หรือ สาเกซึกิมิ (月見酒) 🍶 เหล้าชนิดนี้หมักมาจากผลิตผลที่เก็บเกี่ยวได้ในฤดูใบไม้ร่วง จึงมักนำมาใช้เป็นของไหว้ เพื่อแสดงความขอบคุณต่อเหล่าเทพต่าง ๆ ที่ให้ผลผลิตเจริญงอกงาม ซึ่งการดื่มสาเกไปพร้อมกับการชมจันทร์หลังเสร็จสิ้นพิธี ก็นับได้ว่าเป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญของเทศกาลนี้

 

ประเพณีการดื่มสาเกขณะชมจันทร์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยเฮอัน (ช่วง ค.ศ. 794 — ค.ศ. 1185) เหล่าขุนนางจะผลัดกันรินเหล้าให้กัน และดื่มด่ำกับรสชาติของฤดูใบไม้ร่วงพร้อมทั้งเพลิดเพลินไปกับแสงจันทร์ยามค่ำคืน ต่อมาในสมัยคามาคุระ ประเพณีนี้ก็เริ่มแพร่หลายออกไป ตั้งแต่ในหมู่นักรบซามูไร ไปจนถึงชาวบ้านทั่วไป การดื่มสาเกในขณะชมจันทร์จึงกลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงในปัจจุบัน

หากสังเกตสิ่งต่าง ๆ ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นได้ว่าสิ่งของแต่ละอย่างที่ใช้ในเทศกาลนี้ ต่างก็มีที่มาและความหมายแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วการไหว้พระจันทร์ของสองประเทศนี้จะเน้นไปที่ การแสดงความขอบคุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยให้พืชผลทางเกษตรเจริญงอกงามและอุดมสมบูรณ์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การจัดเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้น ก็ยังมีนัยยะสำคัญที่สืบต่อกันมาคือ “การเฉลิมฉลอง” และการได้ใช้เวลาร่วมกันเพื่อชมแสงจันทร์ในคืนที่สว่างไสวที่สุดในรอบปีนั่นเอง

 

สุดท้ายนี้ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงและกาลเวลาจะล่วงเลยไปนานเพียงใด
ดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญก็จะยังคงส่องสว่างและงดงามดังเดิม 🌕✨

Reference

 

ประพันธ์ รัตนสมบัติ. (2559). เทศกาลชมจันทร์(月見Tsuki-mi). TPA news สนุกกับภาษา ฉบับเดือนตุลาคม 2559, 238, 57-58. https://www.tpa.or.th/tpanews/upload/mag_content/114/ContentFile2235.pdf

 

เรือนแก้ว ภัทรานุประวัติ. (2557). การสืบทอดความเป็นจีนสู่ลูกหลานในสังคมไทย. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, 34(2), 182. https://so06.tci-thaijo.org/index.php/utccjournalhs/article/view/189111

 

Pattranupravat, R. (2014). The Transmission of Chineseness to the Descendants in Thai Society. University of the Thai Chamber of Commerce Journal Humanities and Social Sciences, 34(2), 174–193. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/utccjournalhs/article/view/189111

 

日比谷花壇『十五夜(中秋の名月)のすすきの意味は?お月見のお供え物について』:https://www.hibiyakadan.com/lifestyle/z_0066/

 

蔵元特約店 吉祥『【月見酒】お月見はこの時期ならではの日本酒「ひやおろし」がおすすめ!』:https://jizake-ya.shop-pro.jp/?mode=f71