People Pleaser: จำใจยอมเพราะการปฏิเสธนั้นยากกว่าสิ่งใด

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

คุณเคยเป็นหรือเปล่า? หลายครั้งต้องยอมทำบางอย่างทั้ง ๆ ที่ในใจไม่เคยอยากทำสิ่งเหล่านั้นเลย ยอมช่วยเหลือ ยอมทำตาม ยอมลำบากแทน หรือแม้แต่ยอมเป็นคนแบกรับภาระมากมาย ทั้ง ๆ ที่คุณมีสิทธิปฏิเสธที่จะทำสิ่งเหล่านี้ แต่คุณรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกินที่จะพูดคำว่า “ไม่…” ออกไป

ถ้าคุณเคยเผชิญกับความรู้สึกข้างต้นนี้ อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังมีบุคลิกแบบ People Pleaser ซึ่งเป็นบุคลิกการยอมที่จะหวนกลับมาทำร้ายคุณเอง

People Pleaser คืออะไร?

โดยนิยามแล้ว People Pleaser เป็นคนที่ชอบเอาอกเอาใจผู้อื่น โดยพวกเขาพร้อมจะเสียสละความสุขส่วนตัว อดทนกับความอึดอัดและความลำบากใจ เพียงเพื่อสนองความต้องการบางอย่างของตัวเอง เช่น การเป็นที่ยอมรับ การเป็นที่รักของคนอื่น ๆ การเป็นที่ชื่นชมของสังคม จนอาจนำไปสู่การละเลยตนเองและความคิดของตนเองอย่างรุนแรง

การเป็น People Pleaser มันร้ายแรงด้วยหรอ?

ในความเป็นจริง ความต้องการเป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่หากคุณลองจินตนาการว่า คุณต้องอุทิศเวลาทั้งหมดในการช่วยเหลือหรือทำในสิ่งที่ผู้อื่นจะมีความสุข เพื่อพวกเขาเหล่านั้นจะได้ยอมรับและชื่นชมคุณ คุณเองต่างหากที่อาจจะตกที่นั่งลำบากและเผชิญหน้ากับสภาวะทางอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ เช่น

8 ทริคสำหรับการเลิกเป็น People Pleaser!

  1. เริ่มต้นด้วยสิ่งเล็ก ๆ : การเป็น People Pleaser มานานอาจเป็นเรื่องยากที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จงเริ่มต้นปฏิเสธในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน
  2. กำหนดขีดจำกัดในการช่วยเหลือ : คุณควรกำหนดขีดจำกัดของคุณว่า คุณสามารถช่วยเหลือผู้คนโดยมีขอบเขตแค่ไหน หากคนอื่นมาขอความช่วยเหลือเกินขอบเขตที่คุณตั้งไว้ก็ต้องทำให้พวกเขารู้ว่ามันเกินความสามารถของคุณ จงปฏิเสธพวกเขาไป
  3. กำหนดเป้าหมายและความสำคัญ: คุณควรตั้งเป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญของคนและงานเพื่อที่จะได้รู้ว่าสิ่งไหนที่คุณควรให้ความสนใจและช่วยเหลือก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อคุณทำเช่นนี้แล้ว คุณจะสามารถเลือกทำในสิ่งที่คุณให้ความสำคัญได้ และรู้จักปฏิเสธในสิ่งที่อาจจะไม่สำคัญกับคุณ
  4. ขอเวลา: แทนที่คุณจะตอบตกลงทุกครั้งที่มีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือ คุณควรขอเวลาในการคิดทบทวน ก่อนให้คำตอบ การวิจัยพบว่าการเว้นระยะเวลาให้ได้คิดจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจมากขึ้น
  5. ประเมินคำขอร้อง: คุณควรจะรู้จักประเมินเบื้องต้นว่าผู้อื่นกำลังหาประโยชน์กับความใจดีของคุณอยู่หรือไม่ ถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังถูกหลอกใช้ จงใช้เวลาประเมินสถานการณ์ว่าคุณควรจัดการอย่างไร
  6. หลีกเลี่ยงการให้เหตุผลเพิ่มเติม: เวลาคุณปฏิเสธที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คุณไม่จำเป็นต้องหาข้อแก้ตัวหรือให้เหตุผลเพิ่มว่า เพราะเหตุใดคุณถึงปฏิเสธในการให้ความช่วยเหลือหรือปฏิบัติตามคำขอ เนื่องจากการอธิบายอาจทำให้ผู้ขอเห็นช่องว่างในการเปลี่ยนแปลงคำร้องขอได้ ดังนั้นแค่ปฏิเสธอย่างหนักแน่นก็เพียงพอแล้ว
  7. จำไว้ว่าในความสัมพันธ์ ต้องมีทั้งการให้และการรับ: ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นย่อมต้องผลัดกันเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับเสมอ แม้ว่าคุณจะชอบให้ แต่จงอย่าลืมว่าอีกฝ่ายก็ต้องเรียนรู้ที่จะให้คุณกลับเช่นกัน
  8. ให้ความช่วยเหลือเมื่อคุณอยากจะช่วยเหลือ: คุณไม่จำเป็นต้องเลิกใจดีหรือเลิกช่วยเหลือผู้อื่น แต่คุณควรพิจารณาว่า สิ่งที่คุณกำลังจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งที่ใจคุณต้องการทำจริง ๆ หรือทำไปเพียงเพื่อต้องการความชื่นชม ชื่นชอบ และยอมรับเท่านั้น

เราไม่ได้กำลังบอกให้คุณปฏิเสธไปซะทุกอย่าง แต่บางครั้งหากคุณรู้สึกไม่เต็มใจจะทำสิ่งเหล่านั้น หรือเหนื่อยล้าเกินกว่าจะช่วยเหลือใครไหว ลองพูดคำว่า “ไม่…” ออกไปบ้างก็ได้นะ บางทีคำว่า “ไม่…” อาจไม่ใช่สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา แต่เป็นคำที่ทำให้คุณพบกับความสุขและความสบายใจมากกว่า “การยอมเอาอกเอาใจคนอื่น” ก็เป็นได้ 🙂

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงกำลังย้อนถามตัวเองอยู่ว่า “ นี่ฉันเป็น People Pleaser ไหมนะ?” เราเลยขอฝากแบบทดสอบง่าย ๆ ทิ้งท้ายไว้เพื่อช่วยคลายข้อสงสัยของคุณ กดลิงก์ได้เลย!

https://scienceofpeople.typeform.com/to/k55Rcc?typeform-source=www.scienceofpeople.com

เนื้อหา : พลอยณภัค ลิ้มมีโชคชัย
พิสูจน์อักษร : เธียรชัย ทองเงิน, วรินทร สายอาริน
ภาพ : สุพิชญา สิงสาหัส

อ้างอิง

https://www.verywellmind.com/how-to-stop-being-a-people-pleaser-5184412 https://medium.com/mind-cafe/how-to-stop-being-a-people-pleaser-a2f48619f3cf https://www.scienceofpeople.com/people-pleaser/