Pirates of the Academician: เมื่อโลกวิชาการขับเคลื่อนด้วยการเข้าถึงงานวิชาการอย่างผิดลิขสิทธิ์

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

.

ในโลกปัจจุบันที่การรณรงค์เรื่องลิขสิทธิ์ประสบความสำเร็จมากขึ้น ทุกคนสามารถดูหนัง ฟังเพลง หรือเล่นเกมอย่างถูกกฎหมายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายและมีราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้ แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งยังยากที่จะทำให้ทุกคนหันมาใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย เชื่อว่านิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างมาก นั่นคือบรรดาเปเปอร์และตำราวิชาการนั่นเอง 

.

องค์ความรู้ต่าง ๆ ในโลกวิชาการนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการศึกษาขั้นสูง ตั้งแต่นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี บัณฑิตศึกษา รวมไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิจัย กลุ่มคนที่กล่าวมาล้วนมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ทางวิชาการเพื่อสร้างงานของตน ในวงการวิชาการ องค์ความรู้เหล่านี้สามารถเข้าถึงได้ในผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือสำนักพิมพ์ต่าง ๆ  อย่างไรก็ตาม กำแพงสำคัญที่ขวางกั้นเหล่านิสิตนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยไม่ให้เข้าถึงองค์ความรู้อันมหาศาลนั้นคือ ค่าใช้จ่ายมหาศาลในการเข้าถึงสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว 

.

หากคุณเป็นนิสิตนักศึกษาหรือนักวิจัยที่มีสังกัดมหาวิทยาลัย คุณอาจจะโชคดีที่มหาวิทยาลัยได้ซื้อสิทธิ์การเข้าถึงฐานข้อมูลวิชาการที่คุณต้องการ แต่แน่นอนว่าหลายครั้ง สิทธิ์ที่มหาวิทยาลัยมอบให้ก็ไม่ได้ครอบคลุมมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ของความรู้ทางวิชาการ เมื่อคุณพบว่าคุณไม่สามารถเข้าถึงบทความหรือหนังสือที่คุณต้องการได้ สิ่งที่พวกเขาเสนอก็คือ คุณต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงมัน หากเป็นบทความ ราคาอาจจะอยู่ที่ราว 30-50 ดอลลาร์สหรัฐ (900-1,500 บาทโดยประมาณ) แต่ถ้าหากเป็นหนังสือตีพิมพ์ ราคาที่ต้องจ่ายก็อาจสูงยิ่งขึ้นไปอีกตามมาตรฐานของโลกที่หนึ่งที่ผลงานวิชาการระดับแถวหน้ามักตีพิมพ์ในนั้น คุณอาจจะต้องงดการกินหรูอยู่สบายไปทั้งเดือนหากคิดจะซื้อหนังสือเพียงสักเล่มเดียว และการที่จะผลิตงานขึ้นมาชิ้นหนึ่งได้ บทความวิชาการเพียงบทเดียว หรือหนังสือเพียงเล่มเดียวย่อมไม่เพียงพออย่างแน่นอน มูลค่าที่คุณต้องจ่ายอาจจะสูงจนคุณเริ่มคิดว่า เอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นดูจะได้ผลงอกเงยมากกว่าทำงานวิชาการเป็นแน่

.

แน่นอน คุณไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะนี้เพียงคนเดียว เพื่อนร่วมโลกจำนวนมากก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกับคุณ ดังนั้นจึงเกิดคนที่เป็น “โรบินฮู้ด” หาหนทางที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งพิมพ์ทางวิชาการฉบับเต็มได้ แม้ว่าจะผิดลิขสิทธิ์ก็ตาม เว็บไซต์หลายเว็บไซต์ผุดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับบรรดานักวิชาการ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นสามารถทำงานของตนไปได้โดยที่ไม่ต้องเดือดร้อนทางการเงินมากจนเกินไป 

.

หนึ่งในเว็บไซต์ที่อาจเรียกว่าโด่งดังมากที่สุดในบรรดาเว็บไซต์เหล่านี้คือ Sci-Hub ก่อตั้งโดย อเล็กซานดรา เอลบาคยัน (Alexandra Elbakyan) โปรแกรมเมอร์ชาวคาซัคสถาน เธอสร้างเว็บ Sci-Hub ขึ้นมาจากความไม่พอใจที่เธอไม่สามารถเข้าถึงงานวิชาการได้ เนื่องด้วยราคาที่สูงลิ่ว เว็บไซต์นี้เปิดทางให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถเข้าถึงงานวิชาการได้ฟรี ๆ ยอดดาวน์โหลดมาจากที่อยู่ผู้ใช้งานกว่าสามร้อยล้านที่อยู่ไอพี (IP Address) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าตัวเลขใช้งานจริงอาจสูงกว่านั้น เนื่องจากในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเดียวกันจะเป็นที่อยู่ไอพีเดียวกัน ในการทำแบบสำรวจโดยเว็บไซต์ Science.org ในปี 2016 พบว่าเกือบ 90% จากผู้ทำแบบสำรวจราวหนึ่งหมื่นคนเห็นว่า การดาวน์โหลดบทความทางวิชาการแบบผิดลิขสิทธิ์ไม่ใช่เรื่องผิด แม้จะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน แต่ Sci-Hub รวมถึงเว็บไซต์ที่สามารถให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลทางวิชาการได้อย่างฟรี ๆ ก็ได้เปิดโอกาสในการต่อยอดองค์ความรู้ทางวิชาการ และเปิดทางสู่การศึกษาขั้นสูงให้กับหลาย ๆ คนเช่นเดียวกัน

.

การมีอยู่ของเว็บไซต์เช่นนี้ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมาก มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ที่ไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่สนับสนุนชี้ให้เห็นว่า เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนในประเทศโลกที่สามสามารถเข้าถึงงานทางวิชาการชั้นนำของโลก และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ของตนเองได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารายได้ขั้นต่ำของประเทศนั้นหลายเท่า  อีกทั้งพวกเขายังโจมตีการเอากำไรเกินควรของบรรดาสำนักพิมพ์วารสารวิชาการต่าง ๆ การตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์วิชาการมีราคาที่สูงทั้งกับนักวิจัยที่ต้องการจะตีพิมพ์เอง และผู้อ่านที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการ เม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าสู่บริษัทที่ตีพิมพ์วารสารเหล่านี้มากกว่าที่จะเข้าสู่นักวิจัย ส่วนฝ่ายที่คัดค้านย่อมมุ่งไปที่การกระทำที่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ผู้คัดค้านนอกจากจะเป็นบริษัทและสำนักพิมพ์วารสารวิชาการแล้ว ยังมีกลุ่มนักกิจกรรมไซเบอร์ที่สนับสนุนการเข้าถึงแบบเสรี (Open Access) สำหรับข้อมูลทางวิชาการที่มองว่าการมีเว็บไซต์ผิดกฎหมายเหล่านี้จะทำให้การเคลื่อนไหวรณรงค์การเข้าถึงแบบเสรีอย่างถูกกฎหมายเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

.

ปัญหาอันใหญ่หลวงนี้อยู่ในพื้นที่สีเทาซึ่งเกี่ยวพันกับปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของกฎหมายลิขสิทธิ์ ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศโลกที่หนึ่งกับโลกที่สาม หรือความเลวร้ายของทุนนิยม  การจะแก้ไขปมอันยุ่งเหยิงนี้ต้องการมากกว่าเพียงแค่ปิดเว็บไซต์ Sci-Hub หรือเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวารสารวิชาการได้ฟรีในทันที อีกทั้งยังเกินขอบเขตที่จะแก้ปัญหาในประเทศเดียว เพราะชุมชนวิชาการสนทนากันอย่างข้ามชาติ ปัญหานี้จึงยังคงจะคาราคาซัง และต้องขบคิดแก้ไขกันอีกต่อไปในอนาคต 

.

เนื้อหา : ดอม รุ่งเรือง

พิสูจน์อักษร : วรินทร สายอาริน และ อจลญา เนตรทัศน์

ภาพ : นิปุณ อังควิชัย

.

รายการอ้างอิง :

BBC. (2015, October 20). The scientists encouraging online piracy with a secret codeword. BBC News. เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565, จาก https://www.bbc.com/news/blogs-trending-34572462

Bohannon, J. (2016, April 28). Who’s downloading pirated papers? everyone. Science. เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565, จาก https://www.science.org/content/article/whos-downloading-pirated-papers-everyone?fbclid=IwAR3RFKn8GEJDd90bt_4zPHhJN721UbB4dy1P0byMxVFb5WvzwKOFS_WRlIk

Graber-Stiehl, I. (2018, February 8). Science’s Pirate Queen. The Verge. เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565, จาก https://www.theverge.com/2018/2/8/16985666/alexandra-elbakyan-sci-hub-open-access-science-papers-lawsuit

Travis, J. (2016, May 6). In survey, most give thumbs-up to pirated papers. Science. เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565, จาก https://www.science.org/content/article/survey-most-give-thumbs-pirated-papers