
“ระบอบนาซี” กับเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายเกินกว่ามนุษย์จะจินตนาการได้ เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยครั้งเมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939–1945) แต่เราเคยรู้หรือไม่ว่าระบอบที่โหดร้ายนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
หลังจากที่เราได้นำเสนอเรื่องราวของแอนน์ แฟรงก์ หญิงสาวชาวยิวผู้เผชิญกับเคราะห์ร้ายซึ่งก็คืออุตสาหกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The Holocaust) ไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ในวันนี้ คณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ (ก.อศ.) จะพาทุกท่านย้อนกลับไปเรียนรู้สาเหตุของระบอบที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์นี้อีกครั้ง และเราหวังว่าหลังจากที่ท่านอ่านบทความนี้จบ ท่านจะได้ตระหนักรู้ถึงความโหดร้ายของระบอบนาซี ยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก และเป็นบทเรียนสำคัญในการใช้ชีวิตต่อไปในฐานะพลเมืองที่มีคุณภาพของโลกใบนี้
: รู้จักชุมชนเอกชาติพันธุ์

“ชุมชนเอกชาติพันธุ์” หรือ “Volksgemeinschaft”
ในภาษาเยอรมัน หมายถึง อุดมการณ์หลักของระบอบนาซีเยอรมนีที่มุ่งหมายให้เกิดการสร้างประเทศเยอรมนีให้เป็นชุมชน (Gemeinschaft; community) หรือดินแดนที่มีประชากรเพียงเชื้อชาติเดียว (Volk; folk) เท่านั้น ได้แก่ เชื้อชาติเยอรมัน
คำนี้มีคำแปลในภาษาอังกฤษว่า “national community” ซึ่งเมื่อแปลออกมาเป็นภาษาไทยจะตรงกับคำว่า “ชุมชนแห่งชาติ” เราจะเห็นว่าคำแปลทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทยไม่ตรงกับคำศัพท์ในภาษาเยอรมัน โดยเฉพาะการหายไปของประเด็น “เชื้อชาติ” ในคำศัพท์แปล ผลที่ตามมาคือเกิดการลดทอนความสำคัญของแนวคิดเชื้อชาตินิยม (racism) ในระบอบนาซีลง และหันไปเน้นความสำคัญของแนวคิดชาตินิยม (nationalism) หรือ แนวคิดคลั่งชาติ (chauvinism) แทน ยิ่งในปัจจุบันที่การกลับมาของการเมืองแบบขวาจัด การเหยียดชาติพันธุ์ และการต่อต้านผู้อพยพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทั่วโลกนั้น การทำความเข้าใจประเด็นเชื้อชาตินิยมในฐานะอุดมการณ์หลักของการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุดและรุนแรงที่สุดภายใต้ระบอบนาซีนั้นเป็นประเด็นที่ไม่อาจจะละเลยหรือลดทอนความสำคัญลงได้ไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น
ความหมายและความสำคัญของแนวคิดเชื้อชาตินิยมที่ปรากฏในอุดมการณ์ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” นั้น เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการเมืองและสังคมของเยอรมนีนับตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษ (1880–1920) เป็นต้นมา ความพยายามของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาทั้งในจักรวรรดิเยอรมนีและสาธารณรัฐไวมาร์ล้วนใช้อุดมการณ์นี้เพื่อโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเรียกคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปให้แก่กลุ่มการเมืองของตน ในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองหนึ่ง
“ชุมชนเอกชาติพันธุ์” มีจุดประสงค์หลักซึ่งเป็นแกนกลางของอุดมการณ์นี้คือ การสร้างอาณาจักรเยอรมันอันยิ่งใหญ่ที่ปราศจากชาวยิว (a Jew-free greater German Reich) ดังนั้นเราต้องกล้าหาญที่จะยอมรับความจริงว่า “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” สัมพันธ์โดยตรงกับแนวคิดการต่อต้านชาวยิว (antisemitism) และ “เชื้อชาติ” จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในปฏิบัติการของอุดมการณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” ในช่วงก่อนการขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์นั้น มีลักษณะเป็นการใส่ร้ายหรือโยนความคิดให้แก่ชาวยิวเป็นหลัก เช่น การใส่ร้ายชาวยิวว่าหนีทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจนเป็นเหตุให้เยอรมนีแพ้สงคราม แต่เราต้องไม่ลืมอีกเช่นกันว่าชาวยิวยังคงมีสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยสมบูรณ์ในอาณาจักรเยอรมนีนับตั้งแต่ ค.ศ. 1871 เป็นต้นมา เราคงนึกถึง Walther Rathenau นักธุรกิจชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในสาธารณรัฐไวมาร์ได้ อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ ค.ศ. 1933 เป็นต้นมา เมื่อพรรคนาซีครองอำนาจในเยอรมนี การต่อต้านชาวยิวเป็นไปอย่างเป็นระบบโดยพยายามทำให้เยอรมนีเป็นดินแดนที่ไม่น่าอยู่สำหรับชาวยิวอีกต่อไปและมุ่งหวังให้ชาวยิวอพยพออกจากประเทศไปเสีย เราจึงเห็นการออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ จำนวนมากที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เช่น การออกพระราชบัญญัตินูเรมเบิร์กว่าด้วยข้อกำหนดการเป็นพลเมืองและการกำหนดสิทธิความเป็นพลเมืองของชาวเยอรมันเชื้อสายยิว การออกมาตรการการริบทรัพย์สินชาวเยอรมันเชื้อสายยิวมาเป็นของรัฐหรือของ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” นั่นเอง
รวมถึงการออกข่าวเท็จสร้างความหวาดระแวงและความเกลียดชังระหว่างชาวเยอรมันกับชาวยิว เช่น การเชื่อมโยงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับชาวยิว การสร้างวิทยาศาสตร์เทียมว่าด้วยความสกปรกและความอ่อนแอและความเสื่อมทรามของชาติพันธุ์ยิวอันจะทำให้การสมรสและการมีชีวิตร่วมกันระหว่างประชากรของทั้งสองชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้จะก่อให้เกิดความเสื่อมถอยและความอ่อนแอเปราะบางต่อ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” ในที่สุด เพื่อเป็นการสถาปนาความยิ่งใหญ่แข็งแกร่งให้เกิดแก่ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” รัฐบาลพรรคนาซีจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดความสกปรกของกลุ่มบุคคลผู้ด้อยคุณค่าความเป็นมนุษย์เหล่านี้ออกไปจากเยอรมนี (ผมจงใจใช้คำจำนวนมากที่มีน้ำเสียงรุนแรง แต่นี่คือสิ่งที่เราต้องกล้าเผชิญ Viktor Klemperer และ Neil Gregor เห็นตรงกันว่าภาษาที่ระบอบนาซีใช้ต่อการบรรยายถึงกลุ่มคนที่ระบอบนาซีไม่พึงประสงค์นั้นล้วนเต็มไปด้วยน้ำเสียงรุนแรง เหยียดยาม และก้าวร้าว เสมือนหนึ่งการปฏิบัติต่อเชื้อโรคและสิ่งปฏิกูล ความรุนแรงที่ระบอบนาซีกระทำต่อเหยื่อจึงไม่ใช่แค่กระสุนและแก๊สพิษ แต่รวมถึงภาษาที่ออกจากปลายลิ้นของผู้นิยมอุดมการณ์ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” ทุกคนด้วย)
ความรุนแรงอย่างที่สุดของอุดมการณ์ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” ก็คือ การนำเอาแนวคิด “เชื้อชาตินิยม” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการการสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่จักรวรรดิเยอรมัน
“เชื้อชาตินิยม” เป็นแนวคิดที่สร้างขึ้นมาบนฐานขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ และพัฒนาไปสู่แนวคิดความสะอาดทางชาติพันธุ์ Mary Douglas นักมานุษยวิทยาคนสำคัญเตือนเราว่า “Dirt is a matter our of place. It exists only in the eyes of the beholder.” ความสกปรก หมายถึง สิ่งแปลกปลอมซึ่งขึ้นอยู่กับการมองหรือความคิดของผู้มองเท่านั้น ความสกปรกไม่ใช่สิ่งสากล ในแง่นี้ชาวยิวจึงไม่ใช่ “สิ่งสกปรก” เสมอไป แต่เป็น “สิ่งสกปรก” เฉพาะในมุมมองของผู้นิยมแนวคิด “เชื้อชาตินิยม” เท่านั้น สำหรับผู้นิยมอุดมการณ์ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” แล้ว การกำจัดชาวยิวเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่สุด กระนั้นก็ตาม “เชื้อชาติ” ในความหมายของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผูกติดกับ DNA ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ตาเปล่ามองไม่เห็น ดังนั้นวิทยาศาสตร์เทียมจึงสร้างชุดความรู้เทียมขึ้นมาเพื่อบ่งชี้ว่าใครคือยิว การสร้างความรู้เทียมขึ้นมานี้ ก่อให้เกิดความโกลาหลในการกำจัดชาวยิวออกไปจากเยอรมนี
งานวิจัยชั้นเลิศของ Michael Wildt ที่ศึกษาความรุนแรงต่อชาวยิวในเขตชนบทของ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” นั้นแสดงให้เห็นว่า ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าใครคือยิวด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ทางชีววิทยา ผู้ปฏิบัติการในระบอบนาซีจึงใช้วิธีการกำจัดชาวยิวแบบเหวี่ยงแห ด้วยการปิดล้อมและสังหารทั้งชุมชน ซึ่งแน่นอนว่ารวมผู้คนเชื้อสายอื่น ๆ เข้าไปด้วย การที่ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” มีจุดประสงค์ที่จะทำให้เยอรมนีมีประชากรภายในรัฐเพียงเชื้อชาติเดียวเท่านั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่สามารถมีรัฐใดที่จะทำให้ประชาชนภายในรัฐเหลือเพียงเชื้อชาติเดียวได้ เพราะว่า
1. เชื้อชาติไม่ได้มีลักษณะที่เป็นรูปธรรม เป็นความคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาลอย ๆ และไม่มีอยู่จริง
2. การทำให้ประชากรมีเชื้อชาติเดียวในรัฐจำเป็นต้องฆ่าคนจำนวนมหาศาลที่ไม่อาจนับจำนวนได้
ถ้าหากเราผลักตรรกะของความรุนแรงไม่ให้สุดความเป็นไปได้ของตรรกะนั้น รัฐที่ใช้อุดมการณ์ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” จำเป็นต้องสังหารผู้คนทุกคนในรัฐนั้นทั้งหมด เพราะไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ว่าใครเป็นสิ่งแปลกปลอมทางชาติพันธุ์ เพราะความสกปรกทางเชื้อชาติไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงหลักการลอย ๆ ที่พิสูจน์อะไรไม่ได้เลย เมื่อต้องสังหารประชากรทั้งหมด นี่คือความรุนแรงที่สุดของอุดมการณ์ที่มีหลักการ “เชื้อชาตินิยม” เป็นแกนกลางสำคัญ
ดังนั้นอย่าบิดเบือนหรือเลี่ยงประเด็นสาเหตุความโหดร้ายของระบอบนาซีไปอยู่ที่ “อุดมการณ์ชาตินิยม” เท่านั้น เราต้องตระหนักถึงอันตรายของ “อุดมการณ์เชื้อชาตินิยม” ด้วย นี่คือประเด็นที่สังคมไทยไม่ค่อยพูดถึงเท่าไรนัก และผมคิดว่าอันตรายมากที่จะเลี่ยงประเด็นเหล่านี้
. . .
: ความเป็นชุมชนเอกชาติพันธุ์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ลิดรอนสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในรัฐในฐานะ “พลเมือง” อย่างไร

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นลิดรอนเสรีภาพของทุกคน
ในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กล่าวคือประชาชนมีอำนาจสูงที่สุดในรัฐนั้น ๆ หากมีระบอบการเมืองหนึ่งมาลิดรอนสิทธิความเป็นพลเมืองและ ทรัพย์สิน (เช่น ตามกฎหมาย Aryanization 1933–1949 ว่าด้วยการริบทรัพย์สินชาวยิวให้เป็นของเยอรมนี) หลักการนี้ค้านกับระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน อย่าลืมว่า ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่พัฒนาขึ้นจากแนวคิด “แสงสว่างทางปัญญา” (The Enlightenment) ที่ให้ความสำคัญกับ “Life, Liberty & Property” ของปัจเจกชน
. . .
อุดมการณ์ทางการเมืองใดก็ตามที่อ้างความสุข ความเจริญ ความยิ่งใหญ่ของประชากรในรัฐ แต่ไม่เคารพ “Life, Liberty & Property” ของปัจเจกบุคคล อุดมการณ์ย่อมทำลายหัวใจพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยลงอย่างไม่มีเงื่อนไข ระบอบนาซีเป็นอุดมการณ์หนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย
หากจะกล่าวเป็นการเฉพาะถึงเหยื่อบางช่วงวัยว่าได้รับผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพอย่างไร เช่น วัยเด็ก เป็นต้น เราอาจนึกถึงบันทึกของ Anne Frank และบันทึกของเด็กอีกจำนวนมาก เราอาจนึกถึงการบังคับของระบอบนาซีที่ให้เยาวชนทุกคนทั้งชายและหญิงเข้าร่วมในองค์กรยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth) และพรากเวลาว่าง เวลาอันสันติสุขของเด็กและเยาวชนไปเพื่อการฝึกทหารและการสงครามในนามความมั่งคงแห่งรัฐ
กระนั้นผมอยากเตือนว่ายังคงมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่โชคชะตาโหดร้ายกับพวกเขา ไม่มีแม้แต่โอกาสและความสามารถที่จะหนีเอาตัวรอดด้วยซ้ำ เด็กเหล่านี้คือเด็กผู้พิการทางสภาพร่างกายและสภาพทางจิตมาแต่กำเนิด เด็กกลุ่มนี้ไม่ว่าจะมีเชื้อสายใด เยอรมัน หรือ ยิว ก็ตาม ระบอบนาซีจะพรากพวกเขาไปจากอ้อมกอดอันอบอุ่นและปลอดภัยของพ่อแม่ชั่วนิรันดร์ แพทย์ในระบอบนาซีจะสังหารตามปฏิบัติการ Aktion T-4 เพื่อปลิดชีวิตอันไร้คุณค่าต่อ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” นี้เสีย
ลองพิจารณาความไร้มนุษยธรรมในความคิดของ Dr. Wilhelm Bayer แพทย์ของระบอบนาซีที่ประจำการ ณ โรงพยาบาลฮัมบูร์ก แพทย์ผู้นี้กล่าวต่อศาลอาชญากรสงครามใน ค.ศ. 1945 ว่าตนเองไม่มีความผิดฐานฆ่าคน เพราะเด็กเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ แต่ไม่ใช่คน เมื่อเขาฆ่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน จะให้เขารับผิดต่ออาชญากรรมนั้นได้อย่างไร คำให้การของแพทย์ผู้นี้มีดังนี้
“As far as the alleged crime against humanity is concerned, I must therefore object, for such a crime can only be committed against human beings, while the living creatures that we were required to treat here could not be called ‘human beings’”
การปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นศาลของแพทย์ผู้นี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เขาใช้โอกาสในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ประกาศยืนยันอุดมการณ์ของตนเองว่าเป็นสิ่งที่สูงส่ง ถูกต้อง และชอบธรรม การสำนึกผิดเพื่อให้เกิดการลดโทษหรือหลุดพ้นข้อกล่าวหาเป็นสิ่งที่แพทย์ผู้นี้ไม่เลือก เขายืนยันอุดมการณ์ของตนเองตราบจนวินาทีสุดท้าย
การยืนยันอุดมการณ์ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์” ของแพทย์ในระบอบนาซีเช่นนี้เท่ากับเป็นความพยายามในการปิดกั้นเสียงและความพยายามลบความทุกข์ทรมานของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของระบอบนาซีออกไป โดยการย้ำว่าเด็กเหล่านั้นมิใช่มนุษย์ เราจะหาความโหดร้าย เลือดเย็นและป่าเถื่อนใดเทียบเท่ากับระบอบนาซีได้อีก
. . .
: ข้อแตกต่างของระบอบนาซีกับพรรคคอมมิวนิสต์อื่น

Holocaust คือการฆ่า “ล้าง” เผ่าพันธุ์ ที่ไม่ใช่แค่ชาวยิว แต่รวมไปถึงชาวเยอรมันกลุ่มอื่นที่ไม่มีประโยชน์ในมุมมองของนาซีด้วย “ไม่มีประโยชน์” ในที่นี้ ระบอบนาซีใช้คำว่า “lebensunwert” หรือ “ชีวิตที่ไร้คุณค่า” หมายถึง ไม่สามารถทำให้เยอรมนียิ่งใหญ่และเข้มแข็งได้ในการสงคราม
เมื่อระบอบนาซี Holocaust ทำเป็นระบบและมีศูนย์กลางคือ Concentration camps (ค่ายกักกัน) ซึ่งมีทั้งสิ้น 24 ค่ายหลัก แต่ละค่ายหลักจะมีค่ายกักกันบริวารอีก 1,000 ค่าย รวมจำนวนค่ายกักกันทั้งสิ้นกว่า 24,000 ค่ายทั่วยุโรป ระบบค่ายกักกันนาซีนั้นสร้างขึ้นเพื่อ “ทำลาย” ปัจเจกบุคคลที่มีอุดมการณ์หรือทัศนคติทางการเมืองไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ของ “ชุมชนเอกชาติพันธุ์”
ลองพิจารณาแถลงการณ์ของ Heinrich Himmler ผู้ปฏิบัติการคนสำคัญของระบอบนาซีเมื่อ ค.ศ. 1937 ที่ว่า
“I am of opinion that we must keep a large proportion of the political and criminal; offenders in the camps for many years, at the very least until they have become accustomed to order, not until we are convinced that they have become decent people, but rather until their will is broken. There will be very many who can never be released.”
ค่ายกักกันนาซีนั้นเป็นค่ายที่ตั้งขึ้นเพื่อ “ทำลาย” เจตจำนงทางการเมืองของปัจเจกชนที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐ สิ่งที่น่าสนใจคือค่ายเหล่านี้กุมขังบุคคลผู้ไม่พึงประสงค์ หรือ “ผู้สกปรก” เหล่านี้ชั่วชีวิต
— There will be very many who can never be released. —
นักประวัติศาสตร์จึงเห็นว่าค่ายกักกันนาซีนั้นโดยธรรมชาติแล้วเป็นค่ายทำลาย(destructive camps) ซึ่งแตกต่างจากค่ายกักกันของระบอบการเมืองอื่น ๆ เช่น ค่ายกักกันของระบอบสตาลิน (Gulag) ที่มีลักษณะเป็น “ค่ายฟื้นฟูจิตวิญญาณคอมมิวนิสต์” (redemptive camps) คือเหยื่อถูกนำเข้า Gulag เพื่อฝึกแรงงานตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และโดยหลักการแล้วจะได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อเหยื่อเปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองของตน ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงจะมีผู้รอดชีวิตออกมาจากความยากลำบากและภูมิอากาศอันหนาวเย็นเป็นจำนวนน้อยมากก็ตาม
กระนั้นเราต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าค่ายกักกันทั้งสองระบอบนั้นแตกต่างกัน นอกจากนี้นับตั้งแต่การขยายตัวของจักรวรรดิเยอรมนีเข้าไปในยุโรปตะวันออกตั้งแต่ ค.ศ. 1941 มีผลให้จำนวนประชากรยิวเพิ่มสูงขึ้นในจักรวรรดิเยอรมนี การกักกันชาวยิวเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและเป็นภาระต่อระบอบนาซีมากขึ้น พลวัตที่ตามมาคือการสร้างค่ายสังหาร (extermination camps) ขึ้น หมายความว่า เกิดการสังหารเหยื่ออย่างเป็นระบบ มีการนำเหยื่อจากทุกสารทิศในดินแดนยึดครองของนาซีเยอรมนีมาเข้าสู่ค่ายสังหารซึ่งทำหน้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมแห่งความตายที่เหยื่อเมื่อถูกนำตัวมาถึงแล้วจะต้องถูกสังหารโดยเร็ว ฉากสำคัญได้รับการบันทึกในงานเขียนคลาสสิคของ Elie Wiesel เรื่อง Night
ไม่มีระบอบการปกครองใดที่กระทำเช่นนี้กับเหยื่อในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งนำโดย Philip Morgan จะเสนอให้หันมาพิจารณาสิ่งที่เรียกว่า “The Italian Holocaust” เพื่อชี้ให้เห็นถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The Holocaust) ที่เกิดขึ้นกับชาวยิวและชาวแอฟริกันในดินแดนภายใต้การปกครองของระบอบฟาสซิสต์อิตาลีก็ตาม กระนั้นเราต้องระลึกไว้เสมอว่าระดับและมาตรการสร้างความรุนแรงในกรณีของระบอบฟาสซิสต์อิตาลีนั้นเทียบไม่ได้เลยกับการกระทำของระบอบนาซีเยอรมนี
เมื่อครั้งที่อิตาลียึดครองเอธิโอเปียนั้น รัฐบาลฟาสซิสต์ออกคำสั่งห้ามมีการปะปนทางเชื้อชาติระหว่างชาวอิตาเลียนผิวขาวกับชาวเอธิโอเปียผิวสี ชาวอาณานิคมไม่ได้รับสิทธิทางการเมืองใด ๆ แต่พฤติการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดทั่วไปในดินแดนอาณานิคมของชาวยุโรปในเอเชียและแอฟริกาอยู่แล้ว หรือแม้แต่การที่มุสโสลินีให้ความหมายกับชาวยิวในอิตาลีในฐานะผู้ต่อต้านระบอบฟาสซิสม์ เช่น ในกรณีของ Primo Levi นักเคมีชาวอิตาเลียนเชื้อสายยิว ที่ถูกมองด้วยความรังเกียจจากสายตาของเพื่อนชาวอิตาเลียนที่นับถือคริสต์ศาสนา ดังที่ Levi เองบรรยายไว้ว่า
“Every look exchanged between me and them was accompanied by a miniscule but perceptible flash of mistrust and suspicion.”
ภาวะรังเกียจเดียดฉันกันเองระหว่างกลุ่มคนเช่นนี้แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเยอรมันภายใต้ระบอบนาซีเองเช่นกัน กระนั้นเราไม่พบปรากฏการณ์การระดมทรัพยากรของรัฐเพื่อดึงชาวยิวออกจากสังคมอิตาเลียนและสังหารหมู่ (mass killing) ดังที่เกิดขึ้นทั่วไปในดินแดนยึดครองของนาซีเยอรมนี ลองพิจารณาข้อความที่ชาวนาโปแลนด์ในเขตยึดครองของระบอบนาซีเยอรมนีพูดต่อหน้าพ่อค้าชาวยิวซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อนบ้านของตนในขณะที่พ่อค้าชาวยิวรายนี้กำลังหนีความตายจากการสังหารหมู่โดยทหารนาซี ชาวนาชาวโปแลนด์กล่าวว่า
“Since you are going to die anyway, why should someone else get your boots? Why not give them to me so I will remember you?”
ข้อความนี้ปรากฏในงานวิจัยชิ้นสำคัญเรื่อง Golden Harvest ของ Jan Tomasz Gross เราจะเห็นว่าระบอบนาซีได้เปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนในดินแดนยึดครองของตนให้เลือดเย็นกับเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ชนิดที่ระบอบฟาสซิสต์ของอิตาลียังห่างไกลเกินกว่าจะนำมาเทียบเคียงได้ หรือแม้แต่คำประกาศมาตรา 7 ของ “The Manifesto of November 1943 of the Republican Fascist Party” ที่ว่า
“All those who belong to the Jewish race are foreigners. For the duration of the war, they shall be regarded as being of enemy nationality.”
กระนั้นการถอดสิทธิพลเมืองและการประกาศความเป็นศัตรูกับชาวยิวของระบอบฟาสซิสต์อิตาลีมีจุดเน้นอย่างเป็นรูปธรรม “ในช่วงระหว่างสงคราม” (for the duration of the war) ในขณะที่แถลงการณ์ข้อที่ 4 ของพรรคนาซี ประกาศตั้งแต่ ค.ศ. 1920 ว่า
“Only members of the nation may be citizens of the State. Only those of German blood, whatever their creed, may be members of the nation. Accordingly, no Jew may be a member of the nation.”
เราจะเห็นภาวะการเป็นสากลและไร้กาลเวลาของความเกลียดชังชาวยิวในอุดมการณ์ของพรรคนาซีมากกว่าอย่างปฏิเสธได้ยาก
ดังนั้นถึงแม้ว่าทั้งสองระบอบจะได้รับอิทธิพลทางความคิดเรื่องเชื้อชาตินิยม แนวคิดการต่อต้านชาวยิว แนวคิดสังคมแบบดาร์วิน (Social Darwinism) เหมือนกัน แต่ระบอบฟาสซิสต์อิตาลีมุ่งหมายเพียงแต่ “isolate, exclude, and segregate” กลุ่มคนที่ “สกปรก” ทางชาติพันธุ์ออกจากชนชาติ “อารยันแห่งเมดิเตอร์เรเนียน” หรือชาวอิตาเลียนเท่านั้น การสังหารหมู่การทำลายล้าง (The Holocaust) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านระบบค่ายกักกันดังที่เกิดขึ้นในระบอบนาซีเยอรมนีนั้นยังห่างไกลอีกมาก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของระบอบนาซีเยอรมนีจึงเป็น “singular phenomenon” นั่นเอง
. . .
แล้วแนวคิดใดจะยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้ได้อีก ?

คำตอบของใครหลาย ๆ คนจะหนีไม่พ้นแนวคิดประชาธิปไตย หรือเสรีนิยม ในฐานะเครื่องมือป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เนื่องจากผมสนใจในยุคแสงสว่างทางปัญญาหรือ The Enlightenment ในยุโรปสมัยศตวรรษที่ 18 จึงขอยกแนวคิด “Menschlichkeit” ซึ่งผมคิดว่าเป็นแนวคิดสำคัญที่จะทำให้ไม่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซ้ำรอยดังที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อีก
“Menschlichkeit” (เมน-ชลิช-ไคท์) เป็นคำภาษาเยอรมันซึ่งมีรากมาจากความคิดของชาวยิว ใกล้เคียงกับคำว่า Humanity ในภาษาอังกฤษมากที่สุด หมายความว่า A man of great humanity หรือผู้มีมนุษยธรรม ปรัชญาดังกล่าวสรรเสริญคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความหลากหลาย และความเป็นพี่น้องกันของมวลมนุษยชาติ (humankind) ซึ่งประกอบไปด้วย ความเห็นอกเห็นใจ มีเมตตาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น (humility, gratitude, kindness, integrity, compassion) เคารพต่อสังคม มีความยุติธรรม (respect fairness and community) อันจะสามารถช่วยให้รักและเข้าใจเพื่อนมนุษย์ได้อย่างแท้จริง และจะนำไปสู่สังคมที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
Natural Rights — อีกแนวคิดที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับ “Natural Rights” หรือสิทธิตามธรรมชาติของปัจเจกบุคคล เน้นสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพในการดำเนินชีวิต และสิทธิที่จะปกป้องทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล (life, liberty, property) ซึ่งสิทธิดังกล่าวรวมถึงการแสวงหาความสุขให้กับตนเองและการมีความเป็นอยู่ที่ดีให้สมกับฐานะของ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ด้วย สิทธิทางธรรมชาติเป็นสิทธิที่เป็นสากล ผูกติดกับตัวคนทุกคนและอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของรัฐ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กฎหมายหรือขนบธรรมเนียมจารีตใด ๆ ก็ตาม ไม่มีใครสามารถมาพรากสิทธินี้ไปได้
Racism — สุดท้ายคือต้องกำจัดแนวคิด “racism” หรือเชื้อชาตินิยมออกไปเสีย เนื่องจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอาชญากรรมที่ผูกพันกับเชื้อชาติ มองข้ามความเป็นมนุษย์ด้วยกัน และด้อยค่าชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วยการเชิดชูยกย่องเชื้อชาติของตนเอง ให้ความชอบธรรมการก่ออาชญากรรมและเลือกปฏิบัติต่ออีกฝ่ายอย่างทารุณเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ดังนั้นสรุปได้ว่าหากไม่มีแนวคิด racism ก็จะไม่มีเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นอีกนั่นเอง เราจึงต้องต่อสู้และปฏิเสธแนวคิดเชื้อชาตินิยมในทุกกรณี
. . .
ถอดบทเรียนนาซี และการเรียนรู้ที่จะอยู่ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกต่อไป
หลายประเทศทั่วโลกต่างเห็นด้วยกับบทเรียนในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเกิดสงครามใด ๆ ขึ้นอีก
สิ่งที่จะสามารถหยุดยั้งเหตุการณ์อย่าง Holocaust ได้ คือแนวคิด Menschlichkeitสิ่งที่เห็นได้ชัดจากแนวคิดนี้ หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพยุโรป (EU) ได้นำเพลง Ode to Joy มาใช้เป็นเพลงประจำองค์กรเพื่อสื่อถึงจุดประสงค์ที่ต้องการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำลายความเป็นมนุษย์ขึ้นมาอีก
เราต้องเข้าใจก่อนว่า Ode to Joy เป็นกวีนิพนธ์ที่ประพันธ์โดย Friedrich Schiller กวีเยอรมันจากยุคแสงสว่างทางปัญญา แม้จุดประสงค์ดั้งเดิมของการประพันธ์จะเป็นการสรรเสริญมิตรภาพระหว่างกวีกับเพื่อนของเขา แต่เนื้อหาของกวีนิพนธ์บทนี้ประพันธ์ขึ้นบนฐานคิดของ Menschlichkeit โดยแท้ ต่อมาคีตกวี Ludwig van Beethoven นำกวีนิพนธ์บทนี้มาใส่ทำนองเป็น Symphony №9 อันลือชื่อ และ Beethoven เองก็สนับสนุนแนวคิดแสงสว่างทางปัญญาของ Schiller เป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อสหภาพยุโรปเลือก Ode to Joy เป็น National Anthem ขององค์กร
จึงเท่ากับว่า Ode to Joy ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงอุดมการณ์ที่ยุโรปต้องการสื่อถึงตัวเองและผู้อื่นให้เห็นว่า “This is a new Europe.” ยุโรปที่สรรเสริญมนุษยภาพและสันติภาพถาวรของมวลมนุษยชาติ

แต่ในประเทศไทย ในวิชาประวัติศาสตร์ที่เรียนในโรงเรียนมัธยมกลับกล่าวถึง Holocaust เพียงแค่ไม่กี่บรรทัดเท่านั้น สื่อให้เห็นว่าเราไม่ได้ให้สำคัญกับชีวิตมนุษย์เลย Holocaust เป็นเพียงส่วนผนวกหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น แนวคิดเชื้อชาตินิยมที่เป็นแก่นมรณะของอุดมการณ์นาซีก็มิได้อภิปรายให้ละเอียด กล่าวแต่เพียงสั้น ๆ พอผ่าน ๆ ไปเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างน้อยสองมิติ
1. ทั่วโลกศึกษาประเด็น The Holocaust โดยที่ไม่อาจละทิ้งการศึกษาเชื้อชาตินิยมได้ หากเราไม่ศึกษาแนวคิดนี้อย่างจริงจัง การกลับมาและการยอมรับได้ของแนวคิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ซึ่งเป็นสิ่งอันตรายต่อสังคมไทยและสังคมโลก ในยุคสมัยที่การกลับมาของการเมืองแบบขวาจัดกำลังจะเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป
2. การศึกษาในโรงเรียนทั้งชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโลกตะวันตกนั้น หัวข้อ The Holocaust มีจุดประสงค์ที่จะ educate เด็กนักเรียนให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองของโลก (world citizens) ที่แชร์คุณค่าและอุดมการณ์อันสูงส่งร่วมกัน นั่นคือ การยึดมั่นในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตตนเองและของผู้อื่นที่อาศัยร่วมโลกของกันและกัน โดยมี The Holocaust เป็นกรณีศึกษาถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้นเมื่อการยึดมั่นในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ถูกทำลายลง
ดังนั้นหากเยาวชนไทยไม่ได้รับการศึกษาในเรื่องนี้อย่างละเอียดพอ และไม่แม้แต่จะได้อ่านบันทึกของเหยื่อทั้งที่รอดและไม่รอดชีวิตอย่างจริงจังแล้ว เยาวชนไทยจะไม่มีวันเข้าใจความโหดร้ายของระบอบนาซีได้เลย และที่ร้ายไปกว่านั้นเราจะไม่สามารถแชร์อุดมการณ์อันสูงส่งที่ประชาคมโลกมีร่วมกันได้ ในมิติทางภูมิปัญญา คุณค่าและอุดมการณ์ทางสังคมและการเมือง เราอาจจะกลายเป็นมนุษย์ต่างดาวบนโลกใบนี้ก็เป็นได้
การศึกษา The Holocaust จึงเป็นมากกว่าการศึกษาอดีต แต่เป็นการสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทางจิตวิญญาณให้กับผู้ศึกษาทุกคน

แนวคิด Menschlichkeit เป็นแนวคิดที่สำคัญมากเพราะจะทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าในชีวิตของตนเองและผู้อื่น และเมื่อมีความคิดเช่นนี้ก็จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เพราะจะทำให้เห็นทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากัน แม้ว่าจะไม่ได้มีชาติพันธุ์เดียวกันก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายอย่างที่เคยเกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะฉะนั้นเราควรให้ความสำคัญและปลูกฝังแนวคิดนี้อย่างจริงจัง
. . .
รายวิชานาซีเยอรมนี (Nazi Germany)
หนึ่งในรายวิชาสังกัดภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายวิชานี้เน้นศึกษาไปที่การถกประเด็นต่าง ๆ ในทางประวัติศาสตร์ และเน้นการอ่านเอกสารชั้นต้นจำนวนมาก โดยให้นิสิตได้ร่วมกันอภิปรายในชั้นเรียนเท่าที่สามารถทำได้
เนื้อหาก่อนการสอบกลางภาคเริ่มตั้งแต่การขึ้นมามีอำนาจของพรรคนาซี โครงสร้างทางการเมือง สังคมวัฒนธรรม นโยบายต่างประเทศ อุตสาหกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งในแต่ละหัวข้อจะมีการร่วมถกประเด็นของหัวข้อกันเพื่อศึกษาว่านักประวัติศาสตร์แต่ละคนอธิบายปรากฏการณ์นั้น ๆ อย่างไร โดยมีจุดประสงค์เพื่อ
1. ให้นิสิตได้รับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนาซีเยอรมนี
2. ให้นิสิตควรรู้จักการถกประเด็นใหญ่ ๆ ของนักประวัติศาสตร์จากหลายสำนักเพื่อศึกษาประเด็นการโต้แย้ง

ในการสอบผมไม่ต้องการลำดับเหตุการณ์ แต่ผมต้องการคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ วิชานี้จะไม่ลดทอนประวัติศาสตร์เหลือแค่เหตุการณ์ในอดีต แต่จะทำให้นิสิตตระหนักว่าประวัติศาสตร์คือข้อถกเถียงอันไม่รู้จบระหว่างนักเรียนประวัติศาสตร์ หลักฐานชั้นต้น และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ขาดทั้งสามอย่างนี้ไปผมถือว่าทรยศต่อวิชาชีพ และผมจะไม่กระทำสิ่งนั้น
รายวิชานี้มีหนังสือสองเล่มที่ต้องอ่าน ชิ้นหนึ่งเป็นเอกสารชั้นต้น อีกชิ้นหนึ่งเป็นตัวอย่างงานวิจัยชั้นเลิศ เพื่อให้นิสิตเข้าใจแนวคิดโดยรวมของรายวิชาทั้งหมด โดยจะแบ่งเป็นสองช่วงคือ
- สัปดาห์ที่ 1–3 จะอ่านหนังสือ Night ของ Elie Wiesel ทั้งเล่ม 120 หน้า
- สัปดาห์ที่ 4–6 จะอ่านงานวิจัยชื่อ Golden Harvest ของ Jan Tomasz Gross ทั้งเล่ม 140 หน้า
นอกจากนี้ยังมี course package รวมบทความและเอกสารชั้นต้นจำนวนมากที่นิสิตต้องอ่านเองด้วย ทั้งนี้แล้วแต่การจัดสรรเวลาของนิสิต ไม่ใช่ภาคบังคับ
เนื้อหาหลังการสอบกลางภาคจะแบ่งออกเป็นสามส่วน
1. หัวข้อวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับระบอบนาซี เช่น นาซีกับสิ่งแวดล้อม บริโภคนิยม ความบันเทิงกับความรุนแรง หรือหัวข้อที่หลายคนไม่คิดว่าเป็นประวัติศาสตร์ แต่ด้วยความสนใจของผมเอง ผมก็จะนำมาสอนด้วย และคิดว่ามีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าประวัติศาสตร์การสงครามและการทูต เช่น จดหมายรัก ความรักครอบครัวในยามสงคราม จินตนาการทางเพศและและเพศวิถีสมัยสงคราม เป็นต้น จนกว่าเราจะศึกษาบทบาทของรัฐนาซีที่เข้าแทรกแซงแม้แต่จินตนาการทางเพศของพลเมือง เมื่อนั้นเราถึงจะประหวั่นพรั่นพรึงกับระบอบเผด็จการนาซีที่ล่วงล้ำเข้ามาแม้แต่พื้นที่ส่วนตัวอันลึกล้ำที่สุดของชีวิตมนุษย์
2. นิสิตต้องอ่านและนำเสนองานทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ทั้งข้อเขียนและการนำเสนอปากเปล่าหน้าชั้นเรียนเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่นิสิตอ่านจากบันทึกประเภทอัตชีวประวัติ ไดอารี ภาพถ่าย กวีนิพนธ์ บันทึกความทรงจำของเหยื่อผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
3. การจัดการอดีต — เยอรมนีจัดการกับอดีตของระบอบนาซีอย่างไร ทั้งในมิติของการเมือง การจ่ายเงินชดเชยต่อเหยื่อในบริบทของสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในมิติของวรรณกรรมและสื่อสาธารณะ เช่น วรรณกรรมและภาพยนตร์เรื่อง The Reader (Der Vorleser) รวมถึงศึกษากลุ่มคนและกลยุทธ์ที่ใช้ในการปฏิเสธการมีอยู่จริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย (Holocaust denial)
. . .
รายวิชานาซีเยอรมนี (Nazi Germany)
หนึ่งในรายวิชาสังกัดภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายวิชานี้เน้นการถกประเด็นทางประวัติศาสตร์ และการอ่านเอกสารชั้นต้นจำนวนมาก โดยให้นิสิตได้ร่วมกันอภิปรายในชั้นเรียนเท่าที่สามารถทำได้
เนื้อหาเริ่มตั้งแต่การขึ้นมามีอำนาจของพรรคนาซี โครงสร้างทางการเมือง สังคมวัฒนธรรม นโยบายต่างประเทศ อุตสาหกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งในแต่ละหัวข้อจะมีการร่วมถกประเด็นของหัวข้อกันเพื่อศึกษาว่านักประวัติศาสตร์แต่ละคนอธิบายปรากฏการณ์นั้น ๆ อย่างไร และ

ผมไม่ต้องการลำดับเหตุการณ์ แต่ผมต้องการคำอธิบายทางประวัติศาสตร์
วิชานี้จะไม่ลดทอนประวัติศาสตร์เหลือแค่เหตุการณ์ในอดีต แต่จะทำให้นิสิตตระหนักว่าประวัติศาสตร์คือข้อถกเถียงอันไม่รู้จบระหว่างนักเรียนประวัติศาสตร์ หลักฐานชั้นต้น และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ขาดทั้งสามอย่างนี้ไปผมถือว่าทรยศต่อวิชาชีพ และผมจะไม่กระทำสิ่งนั้น
รายวิชานี้มีหนังสือสองเล่มที่ต้องอ่านเพื่อให้นิสิตเข้าใจแนวคิดโดยรวมของรายวิชาทั้งหมด
- สัปดาห์ที่ 1–3 จะอ่านหนังสือ Night ของ Elie Wiesel ทั้งเล่ม 120 หน้า
- สัปดาห์ที่ 4–6 จะอ่านงานวิจัยชื่อ Golden Harvest ของ Jan Tomasz Gross ทั้งเล่ม 140 หน้า
นอกจากนี้ยังมี course package รวมบทความและเอกสารชั้นต้นจำนวนมากที่นิสิตต้องอ่านเองด้วย ทั้งนี้แล้วแต่การจัดสรรเวลาของนิสิต ไม่ใช่ภาคบังคับ
เนื้อหาหลังการสอบกลางภาคจะแบ่งออกเป็นสามส่วน
1. หัวข้อวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับระบอบนาซี เช่น นาซีกับสิ่งแวดล้อม บริโภคนิยม ความบันเทิงกับความรุนแรง หรือหัวข้อที่หลายคนไม่คิดว่าเป็นประวัติศาสตร์ แต่ด้วยความสนใจของผมเอง ผมก็จะนำมาสอนด้วย และคิดว่ามีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าประวัติศาสตร์การสงครามและการทูต เช่น จดหมายรัก ความรักครอบครัวในยามสงคราม จินตนาการทางเพศและและเพศวิถีสมัยสงคราม เป็นต้น จนกว่าเราจะศึกษาบทบาทของรัฐนาซีที่เข้าแทรกแซงแม้แต่จินตนาการทางเพศของพลเมือง เมื่อนั้นเราถึงจะประหวั่นพรั่นพรึงกับระบอบเผด็จการนาซีที่ล่วงล้ำเข้ามาแม้แต่พื้นที่ส่วนตัวอันลึกล้ำที่สุดของชีวิตมนุษย์
2. นิสิตต้องอ่านและนำเสนองานทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ทั้งข้อเขียนและการนำเสนอปากเปล่าหน้าชั้นเรียนเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่นิสิตอ่านจากบันทึกประเภทอัตชีวประวัติ ไดอารี ภาพถ่าย กวีนิพนธ์ บันทึกความทรงจำของเหยื่อผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
3. การจัดการอดีต — เยอรมนีจัดการกับอดีตของระบอบนาซีอย่างไร ทั้งในมิติของการเมือง และในมิติของวรรณกรรมและสื่อสาธารณะ เช่น วรรณกรรมและภาพยนตร์เรื่อง The Reader (Der Vorleser) รวมถึงศึกษากลุ่มคนและกลยุทธ์ที่ใช้ในการปฏิเสธการมีอยู่จริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย (Holocaust denial)