What if I don’t have a dream? จะเป็นอะไรไหมถ้าฉันจะอยู่อย่างไร้แพสชัน

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

“ความฝัน” คำสองพยางค์ที่มีความหมายและอิมแพคต่อใจของใครหลายคน ในที่นี้ฉันไม่ได้หมายถึงความฝันในแง่ของภาพที่เราเห็นเมื่อนอนหลับยามค่ำคืน หากแต่หมายถึงเป้าหมายในชีวิตที่เป็นอุดมคติและแรงขับเคลื่อนให้คนเราใช้ชีวิตในแต่ละวัน หลายคนมีความเชื่อว่ามนุษย์เราเติบโตและขับเคลื่อนชีวิตได้ด้วย “เป้าหมาย” ซึ่งกลั่นกรองจากแรงบันดาลใจที่เราได้รับในแต่ละช่วงชีวิตหรือเรียกอีกอย่างได้ว่า “แพสชัน” เป็นที่รู้กันในสังคมว่าผู้คนที่ประสบความสำเร็จมักจะใช้แพสชันในการขับเคลื่อนพวกเขาไปสู่ชีวิตในฝันได้ในที่สุด

.

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” คำถามที่ฉันมั่นใจว่าเด็กทุกคนได้ยินจนชินหู ในวัยอนุบาลฉันสามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างไม่คิดอะไรมากนัก เรียกได้ว่าแทบจะเปลี่ยนความฝันในทุกอาทิตย์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น นักอบขนม สัตวแพทย์ หรือแม้กระทั่งประธานาธิบดี เมื่อเวลาผ่านไป ฉันก็ยังถูกถามคำถามนี้อีกหลายครั้ง ทั้งในตอนสอบเข้าโรงเรียนประถม ตอนเลือกแผนการเรียนในช่วงมัธยม และตอนเลือกคณะที่อยากเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ฉันค้นพบว่า คำถามนี้มักมีระดับความจริงจังเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ยิ่งเราโตขึ้น สังคมก็ยิ่งต้องการคำตอบที่จริงจังและการวางแผนที่ชัดเจน  เห็นได้ชัดว่าการเลือกความฝันในวันที่ต้องเผชิญหน้ากับมันจริง ๆ แล้วนั้นไม่ได้ง่ายเหมือนตอนตอบผู้ใหญ่เรื่องความฝันเมื่อยังเด็กอีกต่อไป

.

ท่ามกลางแรงกดดันจากสังคมและคนรอบข้างที่บีบบังคับให้เด็กวัยรุ่นทุกคนต้องหาตัวเองเจอให้เร็วที่สุด  มีไม่กี่ประโยคที่มักถูกหยิบขึ้นมาพูดในบทสนทนาเกี่ยวกับเป้าหมายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น  “ยิ่งหาตัวเองเจอเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้นเท่านั้น” หรือ “คนที่รู้ตัวเองเร็วจะสบายกว่าคนอื่นนะ” ประโยคเหล่านี้ ล้วนเป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธ แต่ถ้าหากฉันยังไม่อยากเร่งรีบเพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายที่ฉันยังไม่ทันรู้เลยว่าคืออะไรล่ะ? ความฝันที่ฉัน “ควรจะมี” เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมคือความฝันแบบไหนกันนะ? ถ้าสิ่งที่ฉันอยากโฟกัสที่สุดตอนนี้ไม่ใช่การพุ่งไปข้างหน้าเพื่อหาความฝันอันเป็นนามธรรม จะทำให้ฉันกลายเป็นคนที่ไม่เอาไหนรึเปล่า?

.

บ่อยครั้งที่ฉันในวัยเยาว์นึกอิจฉาคนที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และสามารถทุ่มแรงกายและแรงใจให้กับสิ่งนั้น หากฉันเป็นแบบนั้นได้บ้าง จะทำให้ความรู้สึกหลงทางและโดดเดี่ยวนี้หายไปบ้างไหม? การใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายจะสามารถเติมเต็มช่องว่างในใจของฉันและคนไร้ฝันอีกมากมายได้หรือเปล่า?

.

เป็นเวลาสักพักแล้วที่ฉันมักครุ่นคิดถึงเรื่องความฝันในมุมมองที่ต่างจากคนอื่น ซึ่งมักมองความฝันด้วยดวงตาที่เป็นประกาย และเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงขับเคลื่อนที่พร้อมจะพุ่งไปหาเป้าหมายข้างหน้าเสมอ ส่วนฉันกลับมองความฝันเป็นชิ้นส่วนที่ขาดหายไป และในที่สุดก็เผลอนำมันไปกำหนดคุณค่าของตัวเองอย่างไม่ตั้งใจเสียแล้ว เช่นนั้นฉันจึงกดดันตัวเองอย่างเงียบ ๆ เสมอ ฉันกลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตพุ่งไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย หวังว่าสักวัน ทางเดินที่ฉันพุ่งไปจะแสดงเป้าหมายหรือ “ตัวตน” ที่ฉันต้องการจะเป็นอย่างชัดเจนได้สักที ฉันจบทุก ๆ วันด้วยความอ่อนล้าจากการวิ่งตามทุกอย่างในสังคมอย่างไร้ทิศทาง และยังคงไร้วี่แววที่จะได้พบความฝันหรือแพสชันของตัวเอง

.

แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันในตอนนั้นหลงลืมไปคือการใช้เวลากับความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการตื่นเช้ามาอ่านหนังสือที่ชอบพร้อมกับกาแฟแก้วโปรด การพบปะเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันมานาน หรือการทำขนมในบ่ายวันว่าง ๆ บางทีการเติมเต็มช่องว่างภายในหัวใจอาจไม่จำเป็นต้องเผชิญกับภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากมาย การค่อย ๆ ดื่มด่ำกับความสุขเล็ก ๆ ที่เรามักละเลย ก็อาจเพียงพอที่จะเป็นเป้าหมายให้เราตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตในทุก ๆ วันได้เช่นกัน

.

ในบางครั้ง ค่านิยมของสังคมอาจทำให้เรารู้สึกแย่และเผลอเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอ การที่เราพยายามแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ตัวเองตรงกับบรรทัดฐานของ “คนที่ประสบความสำเร็จ” ในสังคมได้นั้นจึงอาจทำให้เรารู้สึกหลงทางและรู้สึกว่าชีวิตของเราไม่เป็นไปตามแบบแผนที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในยุคสมัยของ Social Media ที่ทุกคนสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้เต็มที่ผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก การเฝ้าดูความสำเร็จของคนอื่นอาจทำให้เรารู้สึกตัวเล็กลงอย่างไม่ตั้งใจ รู้ตัวอีกทีก็เผลอกล่าวโทษตัวเองไปแล้วที่ไม่สามารถมีแพสชันมากพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างพวกเขาเหล่านั้น เราใช้เวลามากมายไปกับการติดตามชีวิตของผู้อื่น นำมันมาเปรียบเทียบและตัดสินตัวเองว่าความสุขของเรานั้นช่างเล็กน้อยนัก และอาจไม่ควรค่าที่จะได้รับคำชื่นชมหรือการยอมรับจากสังคม

.

หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว Life goal หรือเป้าหมายในชีวิตของเราอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการทำอาชีพในฝันที่ตรงตามค่านิยมของสังคม การซื้อบ้านหลังใหญ่ หรือการมีรถคันหรูเป็นของตัวเอง แต่อาจเป็นการได้กินอาหารเช้ามื้อโปรดในทุก ๆ วัน การตื่นมาให้อาหารเจ้าแมวที่รัก หรือการได้ดูหนังที่รอให้เข้าฉายมาแรมปี สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตเช่นกัน แม้ว่ามันจะไม่ได้ดูยิ่งใหญ่หรือเป็นไปตามความคาดหวังของสังคมก็ตาม เพราะความสำเร็จตามค่านิยมของสังคมนั้นก็ไม่ได้เท่ากับความสุขเสมอไป และมาตรวัดความสำเร็จหรือการ “บรรลุเป้าหมาย” ของเรานั้น มีเพียงแค่ตัวเราที่สามารถกำหนดมันขึ้นมาได้เอง แน่นอนว่าการนำความสุขของเราไปผูกกับคำนิยามความสุขของคนส่วนใหญ่ มากกว่าสนใจความสุขที่แท้จริงของตัวเองนั้น มีแต่จะทำให้เราเสียกำลังใจและมองตัวเองในแง่ลบมากกว่าเดิม

.

ท้ายที่สุดแล้ว ฉันได้เรียนรู้ว่า เราทุกคนล้วนเกิดมาเพื่อใช้ชีวิต จดจำรายละเอียดของวันดี ๆ ที่ได้พบเจอ นำมันไปกลั่นเป็นความทรงจำและพับเก็บไว้ในส่วนหนึ่งของหัวใจ เพื่อเติมแรงให้ตัวเองในวันที่เหนื่อยล้าและยากลำบาก การใช้ชีวิตแบบพุ่งไปข้างหน้าโดยใช้แพสชันเป็นแรงไฟในการนำทางนั้นอาจเป็นหนึ่งในหลายวิธีการดำเนินชีวิตที่เหมาะกับใครหลายคน แต่การที่เราจะใช้ชีวิตไปอย่างไม่รีบร้อน หรือพุ่งความสนใจไปที่ความสุขที่อยู่ตรงหน้าก่อนนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเรามีค่าน้อยกว่าใคร เราเพียงแค่ชอบการใช้ชีวิตคนละรูปแบบกันเท่านั้นเอง โปรดอย่าให้บรรทัดฐานของสังคมหรือใครก็ตามมาขีดเส้นวัดคุณค่าของเราได้ ไม่มีรูปแบบการใช้ชีวิตแบบไหนที่เป็นสูตรสำเร็จ และโปรดระลึกไว้เสมอว่าเราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์กับใครว่าเรากำลังใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ฉันเชื่อว่าทุกรูปแบบของการใช้ชีวิตมีคุณค่าในแบบของตัวเองเสมอ อาจมีบางรูปแบบที่แตกต่างจากคนอื่นในสังคมบ้าง แต่ความต่างนั้นไม่ได้ทำให้ชีวิตของใครคนไหนมีคุณค่าน้อยไปกว่ากันเลย

.

เนื้อหา : กันตาภา วรวิทยานนท์

พิสูจน์อักษร : ธนพงษ์ เมืองศิลปศาสตร์ และ ชามา หาญสุขยงค์

ภาพ : ภัทรัฏฐ์ อัชชเสวิน