ประเด็นสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 – French Revolution

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

Liberté, Égalité, Fraternité แปลว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เป็นคำขวัญที่มาจากประโยคหนึ่งในงานเขียนของ Robespierre ที่กล่าวว่า “Liberté, Égalité, Fraternité, ou la Mort!” (เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย) โดยแต่ละคำมีความหมายดังนี้

 

  • Liberté (เสรีภาพ) หมายถึง การที่ปัจเจกชนมีอิสระในการเลือก ไม่ถูกควบคุมบังคับโดยผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งในด้านความคิด ความเชื่อ รวมไปถึงการแสดงออกทางการเมือง
  • Égalité (เสมอภาค) หมายถึง การที่คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันทั้งในด้านสิทธิและหน้าที่
  • Fraternité (ภราดรภาพ) หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

ภราดรภาพนั้นจะก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพและเสมอภาคในสังคม ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป

ในปัจจุบัน Liberté, Égalité, Fraternité เป็นคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศสที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

ชนวนการปฏิวัติฝรั่งเศส

 

สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในฝรั่งเศสหลังจากการเข้าร่วมสงครามเจ็ดปีและสงครามปฏิวัติอเมริกา ความทุกข์ยากก็ทวีความรุนแรงขึ้นในสมัย “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI)” ประชาชนต้องอดอยากและแบกรับภาระในการจ่ายภาษีแบบถดถอย กล่าวคือยิ่งมีรายได้มากยิ่งจ่ายภาษีน้อยลง ส่งผลให้สามัญชนผู้มีรายได้น้อยต้องจ่ายภาษีมากขึ้นในขณะที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้น้อยลงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนติดต่อกันหลายปี อีกทั้งอาหารก็ยังมีราคาสูงขึ้นจึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนเป็นวงกว้าง แต่พระเจ้าหลุยส์ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ จึงเกิดการเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การเปิดประชุมสภาฐานันดรเพื่อหาหนทางแก้วิกฤตการคลัง แต่เนื่องจากระบบลงคะแนนในสภานั้นแบ่งเป็นฐานันดร คือ พระ ขุนนาง สามัญชน ซึ่งแต่ละฐานันดรจะมีเพียง 1 เสียงเท่านั้น จึงไม่เป็นธรรมต่อฐานันดรที่สามหรือสามัญชนที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด เพราะเมื่อมีการลงคะแนนเสียง ฐานันดรที่หนึ่งและสอง (พระและขุนนาง) ซึ่งได้รับประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่และมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันก็จะชนะเสมอ ส่วนชนชั้นสามัญชนที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดก็จะไม่มีทางชนะเพราะมีสิทธิ์ออกเสียงเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การตั้งสมัชชาแห่งชาติของฐานันดรที่สามเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการทำลายคุกบัสตีย์สัญลักษณ์ของการใช้อำนาจในทางมิชอบของกษัตริย์และชนชั้นสูง เพื่อกดดันให้มีการปฏิรูปทางการเมือง หากแต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ไม่ได้ทรงจริงจังในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน การต่อสู้เรียกร้องจึงยังคงดำเนินมาเรื่อย ๆ จนในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.1789 ก็ได้มีการเดินขบวนสู่แวร์ซาย

บทบาทของ “ผู้หญิง” สู่ชัยชนะของประชาชน

 

To Versailles, To Versailles!” เสียงตะโกนโห่ร้องของผู้คนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

 

เหตุการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘ขนมปัง’

 

ในขณะที่ฝรั่งเศสกำลังอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายจากปัญหาทางการเมือง อีกทั้งมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และการเก็บเกี่ยวที่ไม่ได้ผลดี จีงส่งผลให้สามัญชนต้องพบเจอกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตและอดอยาก 

 

วันหนึ่งเหล่าสตรีในกรุงปารีสได้ไปจ่ายตลาดในตอนเช้า และก็พบว่าราคาขนมปังนั้นแพงมากจนถึงขนาดที่ไม่มีกำลังที่จะซื้อได้อีกต่อไป พวกเธอคิดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายจนกระทั่งแม้แต่ “ขนมปัง” ตนก็ไม่สามารถซื้อไปเลี้ยงปากท้องครอบครัวได้ แต่ในทางกลับกัน ขุนนางหรือชนชั้นสูงใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้ออยู่ในพระราชวัง ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายของสตรีกลุ่มนี้ขาดลง เหล่าสตรีที่โกรธแค้นกว่า 6,000 คน รวมตัวกันเดินหน้าสู่พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) เพื่อเรียกร้องอาหารและขนมปังจากจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และในระหว่างทาง สตรีหลายคนได้คว้ามีดทำครัวและอุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ เพื่อเป็นอาวุธ และกินอาหารทุกอย่างที่พบ

 

หลังจากเดินฝ่าสายฝนเป็นระยะทางกว่าหกชั่วโมงและเดินทางมาถึงพระราชวัง ความอลหม่านก็เกิดขึ้น เหล่าสตรีจัดการตัดหัวทหารทุกนายที่เข้ามาขัดขวาง สุดท้ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องออกมาเจรจา โดยมีจุดประสงค์เพื่อพาเสด็จกลับปารีส และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการปกครอง พระองค์ทรงให้คำมั่นว่าจะแก้กฎหมาย ให้มีกฎหมายสิทธิมนุษยชนและพลเมือง และรับสั่งให้นำอาหารออกมาแจกจ่าย 

 

เหล่าสตรีนำขนมปังทั้งหมดในพระราชวังออกมาใส่ไว้ในเกวียนและเดินทางกลับปารีสไปพร้อมกับชัยชนะ เป็นหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปฏิวัติโดยประชาชนของฝรั่งเศส เพราะเห็นได้ชัดว่าประชาชนไม่ได้ต้องการกษัตริย์อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลุ่มคนเหล่านั้นให้ความสำคัญกับความสุขสบายของตนและเลือกที่จะเพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของประชาชน

 

การปฏิวัติครั้งนี้ส่งผลให้มีการเรียกสิทธิต่าง ๆให้กับผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง ผู้หญิงเริ่มเข้าร่วมการพบปะทางการเมืองเพื่อถกเถียงปัญหา เพื่อให้เห็นว่าผู้หญิงเองก็เป็นประชาชนภายในรัฐ มีศักดิ์ศรี และศักยภาพ ควรได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นไม่น้อยไปกว่าเพศชาย นอกจากนี้ยังสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมด้านอื่น ๆ เช่น การแต่งงาน และการศึกษา เป็นต้น

สภาพสังคมฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติ 1789

 

การปฏิวัติฝรั่งเศสนี้ปลุกแนวคิดชาตินิยมของคนหมู่มากจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนครอบครัวและตัวตนของประชาชนในหลายด้าน โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกาย มีการประกาศใช้ ‘Freedom of Attire’ ในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1793 เพื่อเป็นการให้เสรีภาพกับทุกชนชั้นในการแต่งกายจากเดิมที่การแต่งกายบางสีมีการจำกัดไว้เพียงบางชนชั้นเท่านั้น

 

“Everyone is free to wear whatever clothing and accessories of his sex that he finds pleasing.”

 

แฟชั่นมีการลดความหรูหราฟู่ฟ่าลง ต่อต้านสีสันของศิลปะบาโรกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17–18 ที่จะเน้นความเป็นนาฏกรรม ศิลปะและเครื่องแต่งกายในสมัยบาโรกจึงมีความหรูหรา โอ่อ่า ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ภายหลังการฏิวัติฝรั่งเศสจึงลดความหรูหราฟุ่มเฟือยนี้ลง ในขณะเดียวกันสีของธงชาติฝรั่งเศสอย่างสีแดง สีน้ำเงิน และสีขาวก็กลายมาเป็นสีที่ได้รับความนิยมในการออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงอุดมการณ์ชาตินิยม

 

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการออกแบบ “ชุดประจำชาติ” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสตระหนักว่าตนเองมีความต่างจากยุคก่อนการปฏิวัติที่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองเก่าอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย

 

การปฏิวัติฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลต่อศิลปะในหลายด้าน ไม่เว้นแม้แต่ศิลปะของเครื่องใช้ในครัวเรือน จานชามเซรามิคที่ใช้ในชีวิตประจำวันจึงมีลวดลายที่สื่อถึงการปฏิวัติ คือ มีหมวกคณะปฏิวัติเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราอยู่กับอุดมการณ์ของคณะปฏิวัติทุกที่ทุกเวลา

ในช่วงก่อนการปฏิวัติ ฝรั่งเศสจะใช้มาตราชั่งตวงวัดแบบธรรมชาติ ไม่มีมาตรฐาน เช่น วัดความยาวขนมปังด้วยนิ้วมือ เหล่าขุนนางจึงอาศัยช่องโหว่นี้เอาเปรียบพ่อค้าแม่ค้าจนยากจน ไม่มีกำไรจากการค้าขาย เมื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลง รัฐบาลปฏิวัติจึงปฏิรูปประเทศให้ก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ รวมถึงการคิดค้นมาตราชั่งตวงวัดให้ได้มาตรฐาน คือ ระบบเมตริก (Metric System) โดยมาจากหน่วยวัดฐานสิบ คือ เมตร (Meter) ซึ่ง ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปีค.ศ. 1795 ระบบเมตริกนี้คิดค้นโดยมาร์กี เดอ กงดอร์เซ (Marquis de Condorset) ประชาชนต่างพอใจกับการนำระบบเมตริกมาใช้ชั่งตวงวัดเพราะเข้าใจง่ายและมีความแม่นยำมากกว่ามาตราชั่งตวงวัดแบบธรรมชาติ และยังทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวอำนาจมืดของขุนนางอย่างที่เคยเป็น 

 

 

คณะปฏิวัติฝรั่งเศสไม่เพียงแต่ปฏิรูปรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีการทำปฏิทินขึ้นใหม่ ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1793 คณะปฏิวัติได้เปลี่ยนจากการใช้ปฏิทินเกรกอเรียนที่ใช้กันมาอย่างยาวนานมาเป็นปฏิทินสาธารณรัฐฝรั่งเศส (ใช้ถึงปีค.ศ.1805) ชื่อเดือนแบบเก่าได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเพื่ออธิบายถึงเหตุการณ์ธรรมชาติในช่วงเวลานั้น ๆ ของปี อย่างช่วงเดือน avril หรือเดือนเมษายน เปลี่ยนเป็น “Floréal” สื่อถึงช่วงดอกไม้บาน และเดือน mai หรือเดือนพฤษภาคมเปลี่ยนเป็น “Vendémiaire” เป็นเดือนฤดูใบไม้ร่วง ช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวองุ่นสำหรับทำไวน์

สิทธิทางกฎหมายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม 1789

 

การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นผลมาจากแนวคิดในยุคแสงสว่างทางปัญญาที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคคล (Individualism) ซึ่งสามารถพบจากเนื้อความในประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and Citizen) ดังนี้

 

 

ข้อ 1 มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน (Men are born and remain free and equal in rights. Social distinctions may be based only on common utility.)

 

ข้อ 2 การกระทำทางการเมืองเป็นไปเพื่อการรักษาสิทธิทางธรรมชาติของบุคคล คือ สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน (The purpose of all political association is the preservation of the natural and imprescriptible rights of man. These rights are liberty, property, security, and resistance to oppression.)

 

ข้อ 6 ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกผู้แทนมาปกครอง เพื่อผดุงไว้ซึ่งสิทธิทางธรรมชาติของบุคคลอันเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน (The law is the expression of the general will. All citizens have the right to take part, in person or by their representatives, in its formation. It must be the same for everyone whether it protects or penalizes. All citizens being equal in its eyes are equally admissible to all public dignities, offices, and employment, according to their ability, and with no other distinction than that of their virtues and talents.)

เมื่อประชาชนเกิดการตื่นรู้ในสิทธิทางธรรมชาติของตนเอง และจากการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ทำให้ความคิดเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ (Liberty, Equality, Fraternity) เป็นที่ตระหนักรู้ ทำให้มีการฟ้องหย่าจากสตรีมากขึ้น เป็นจุดสำคัญที่บ่งบอกถึงสิทธิความเท่าเทียมกันในทุกคน

 

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ฟ้องหย่าเช่นนี้ ทำให้เพศชายรู้สึกว่าตนสูญเสียอำนาจชายเป็นใหญ่ (masculinity) ซึ่งหมายถึงการดูแลสตรี และให้สตรีดูแลบ้านเรือน ในช่วงระบอบนโปเลียน (1799–1815) จึงเกิดกฎหมายจำกัดสิทธิสตรี เพื่อพาสังคมกลับไปสู่สภาพสังคมชายเป็นใหญ่ (Suzanne Desan, The Family on Trial in Revolutionary France)

 

Suzanne Desan, The Family on Trial in Revolutionary France ศึกษาคดีความเกี่ยวกับครอบครัว และพบว่ามีสตรีฟ้องหย่าคู่สมรสตนเองเป็นจำนวนมาก เพราะปราศจากความสุขในการสมรส สามีกดขี่ แสดงว่าอุดมการณ์ Liberty, Equality, Fraternity ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องหย่าสามีด้วย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและสิทธิ เช่น การอนุญาตให้หย่าร้าง การรับมรดกอย่างเท่าเทียม การลดฐานะของบิดาและเพิ่มบทบาทของมารดา การให้สิทธิแก่บุตรนอกสมรส และการตั้งศาลครอบครัวปี 1793–1796 “Marriage is the social bond that unites the citizen to the patrie and the patrie to the citizen”

 

Desan ชี้ให้เห็นความสำคัญของสตรีทางการเมือง แม้จะถูกวางให้เป็นผู้มีศีลธรรม อ่อนไหวทางอารมณ์ และมีอำนาจในครัวเรือน แต่รัฐบาลปฏิวัติก็คาดหวังให้ใช้ความอ่อนไหวนี้กระตุ้นศีลธรรมให้บุรุษเช่นกัน แต่เมื่อนโปเลียนเข้ามาปกครองก็ออกกฎหมายลิดรอนสิทธิสตรีขึ้นมา

 

 

บรรณานุกรม

 

  • กรีนเลน. (2562). การเดินขบวนของสตรีในแวร์ซายส์: จุดเปลี่ยนในการปฏิวัติฝรั่งเศส. สืบค้นจาก https://www.greelane.com/th/womens-march-on-versailles-3529107
  • ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา. (2564). การเดินขบวนสู่แวร์ซาย (Women’s March on Versailles) สืบค้นจาก https://www.blockdit.com/posts/60cb8552931 cd80c87c56009
  • Cambridge University Press. (2001). Fashion and freedom in the French Revolution. Retrieved from http://www.cambridge.org/core/ journals/continuity-and-change/article/fashion-and-freedom-in-the-french-revolution/2789E4699B3F4D84D579468CB1EFFD7
  • D&Y. (2011). French Pottery: Ceramics from the French Revolution (Faience Revolutionaries). Retrieved from http://www.ceramopolis.com/?p=1932
  • Harman Patil. (2018). Women’s March on Versailles. Retrieved from https://alchetron.com/Women’s-March-on-Versailles
  • Traditions of the Ancestors. (n.d.). Fashions of the French Revolution. Retrieved from https://www.tota.world/article/3230/
  • Vladimir López. (2020). The French Revolution not only toppled a king: it also forged the metric system. Retrieved from https://www.nationalgeographic.com/history/history-magazine/article/french-revolution-toppled-king-forged-metric-system
  • Women and the Revolution. (n.d.). Retrieved from https://revolution.chnm.org/exhibits/show/liberty–equality–fraternity/women-and-the-revolution