ประเด็นศึกษาเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ในสังคมไทย #PrideMonth2021

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

ใกล้จะหมดเดือนมิถุนายนแล้ว‼️

 

เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความเท่าเทียมกันของทุกเพศมากขึ้น พวกเรา ก.อศ. จึงขอส่งท้ายคอนเทนต์ #PrideMonth2021 🏳️‍🌈 เดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศกันแบบเลิศปัง! 🥳

 

✨ ทั้งนี้การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มต้นที่ตัวเองอย่างง่าย ๆ หยุดส่งต่อความไม่สบายใจให้กันและเลือกใช้คำพูดที่ใจดีต่อกัน เพื่อให้สังคมของเราเป็นอีกที่ที่ทุกคนจะ Pride! ที่ได้เป็นตัวเอง 🌈🦄

 

🌠 ตราบใดที่เราทุกคนล้วนเป็น ”มนุษย์” คนหนึ่งเช่นกันและแน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นเดือนไหนเราก็จงภูมิใจที่จะเป็นตัวเองได้เสมอ 🥳🏳️‍🌈

 

L = Lesbian (เลสเบี้ยน) หมายถึง ผู้หญิงที่รักผู้หญิง

 

G = Gay (เกย์) หมายถึง ผู้ชายที่รักผู้ชาย และสามารถหมายถึง “ผู้ที่รักเพศเดียวกัน” ที่เป็นเพศอื่นได้เช่นกัน

 

B = Bisexual (ไบเซ็กชวล) หมายถึง ผู้ที่สามารถรักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

 

T = Transgender/Transsexual (ทรานส์เจนเดอร์/ทรานส์เซ็กชวล) หมายถึง
คนข้ามเพศ หรือคนที่เปลี่ยนแปลงเพศตนเองให้เป็นอีกเพศหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตน

 

Q = มี 2 ความหมายคือ Queer (เควียร์) หมายถึง ผู้ที่ไม่ต้องการอยู่ในกรอบของเพศใด ๆ ตามขนบสังคม และ Questioning (เควสชันนิง) หมายถึง ผู้ที่ยังไม่แน่ใจในเพศวิถีของตนเอง

 

I = Intersex (อินเตอร์เซ็กซ์) หมายถึง ผู้ที่มีเพศทางกายภาพที่ซับซ้อนโดยกำเนิด (มีมากกว่า 1 เพศ)

 

A = Asexual (เอเซ็กชวล) หมายถึง ผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับเพศใด ๆ

 

+ = Plus หรือ บวก หมายถึง เพศอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง

 

สังคมในปจจุบันที่มีความหลากหลายทางเพศและการเปิดกว้างที่มากขึ้นนี้ การตระหนักรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนการปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสมกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทุกเพศ เนื่องจากจะทำให้สังคมของเราน่าอยู่และเป็นพื้นที่ที่สร้างความสบายใจให้แก่ทุกคนและให้ความรู้สึกปลอดภัยอยู่เสมอ

 

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางส่วนในสังคมที่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นภาพจำว่าคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นคนตลก หรือเป็นคนมีฝีปากจัดจ้าน หรือจะต้องแต่งตัวเก่งจัดหนักจัดเต็มอยู่เสมอ หรือแม้แต่คนที่มองว่ากลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นโรคทางจิตเภทก็เช่นกัน ซึ่งประเด็นข้างต้นนี้เป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องอยู่กับมันมาตลอด

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนบนโลกไม่ว่าจะเป็นใครหรือเพศใดก็สามารถมีหรือไม่มีลักษณะนิสัยหรือการใช้ชีวิตเช่นนั้นได้ เช่น อาจจะเป็นคนเฮฮาอารมณ์ดี เป็นคนสุขุม หรือจะเป็นคนอารมณ์ร้อนก็ย่อมได้ เพราะอย่างไรแล้ว แต่ละคนก็มีรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง และแน่นอนว่าไม่มีใครพอใจกับการถูกยัดเยียดลักษณะนิสัยหรือตัวตนให้ต้องเป็นไปตามความคาดหวังของผู้อื่น ตราบใดที่เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีการใช้คำเรียกที่ไม่เหมาะสมในการเรียกผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายครั้งมักเกิดจากการมีภาพจำและความเข้าใจผิดต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น คนในสังคมจำนวนไม่น้อยมักคิดว่า LGBTQIA+ ล้วนอยากถูกเรียกว่า “แม่” หรือ “พี่สาว/น้องสาว” ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะเกย์และกะเทยบางคนไม่ได้ต้องการที่จะถูกเรียกเช่นนั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมี “การไม่พยายาม” ทำความเข้าใจในความปกติธรรมดาและ “การไม่ตระหนักรู้” ของใครอีกหลายคนต่อความหลากหลายทางเพศของคนกลุ่มนี้อีกด้วย อีกทั้งยังมีการ misgender ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือการไม่ยอมรับสตรีหรือบุรุษข้ามเพศว่าเป็นสตรีหรือบุรุษคนหนึ่ง เช่น การที่คนในสังคมบางส่วนล้อเลียนสตรีข้ามเพศ (transwomen) ว่า “ลุง” เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการ “ไม่เคารพ” ในสิทธิ์ของผู้อื่น คิดว่าการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเปลี่ยนได้ หรือใช้ถ้อยคำดูถูกรสนิยมของผู้มีความหลากหลายางเพศ เช่น “นิ้วเย็น ๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่น ๆ”, “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ”, “ที่เป็น Asexual เพราะยังไม่เจอเซ็กส์ดี ๆ ล่ะสิ”, “เดี๋ยวถ้าเจอผู้ชายดี ๆ ก็เลิกเป็นเลสเบี้ยนเองนั่นแหละ” เป็นต้น

เราควรตระหนักถึงคำเรียกผู้มีความหลากหลายทางเพศและใช้ให้เหมาะสมมากขึ้น สื่อความหมายที่ชัดเจน เพราะในสังคมนั้นก็ยังมีคำเรียกมากมายที่อาจสื่อความหมายและแสดงออกถึงความไม่เท่าเทียม เช่น “เพศที่สาม” ที่เป็นการลำดับเพศ แสดงถึงความเหนือกว่าของเพศ เพศที่หนึ่งคือใคร เพศที่สองคือใคร แล้วทำไมคนกลุ่มนี้ถึงต้องเป็นเพศที่สาม และคำว่า “เพศทางเลือก” ก็เป็นการทำให้การเป็นผู้มีความหลากหลายนี้เป็นเพียงการ “เลือก” ออกจาก “ความปกติที่สังคมตีกรอบไว้” อย่างเพศหญิงและชาย ซึ่งในความจริงแล้วทุกเพศไม่ใช่ทางเลือก รวมถึงคำว่า “คนรักร่วมเพศ” ก็เช่นกัน เนื่องจากตัวคำศัพท์เองนั้นอาจสื่อไปในทางที่ไม่เหมาะสม และอาจสร้างภาพจำที่ไม่ดีให้กับพวกเขาว่าจะเป็นผู้ที่หมกมุ่นในเรื่องเพศโดยเฉพาะกับเพศเดียวกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้มีความหลากหลายทางเพศก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับสิทธิ์เสรีภาพเทียบเท่ากับมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่คนผิดปกติที่ต้องหาคำเรียกมาจำกัดพวกเขา หรือมากันเขาออกจาก “ความปกติ” ของสังคมเพราะเขาก็เป็นคนปกติเช่นกัน

 

ปัจจุบันมีหลายคำที่ใช้เรียกคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อาทิเช่น เพศที่สาม เพศทางเลือก คนรักร่วมเพศ หรือใช้คำที่ใช้เป็นคำด่า หรือนำคำเรียกเพศต่าง ๆ มาใช้เพื่อสื่อถึงการเหยียดเพศ เช่น พวกตุ๊ด พวกกะเทย เป็นต้น ถ้าเราใช้คำเหล่านี้จะแสดงถึงการลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนที่แปลกไปจากความปกติที่มีแค่เพศชายและเพศหญิงเท่านั้น ซึ่งคนที่ถูกเรียกด้วยคำเหล่าอาจไม่พอใจและมองว่าตัวเองแปลกประหลาด ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ความปกตินั้นไม่ได้มีเพียง 2 เพศนี้ แต่ยังเพศมีอีกมากมายตามรสนิยมของแต่ละคนที่ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิไปละเมิด ทุกคนจึงควรให้เกียรติและเคารพความหลากหลายทางเพศของผู้คน ไม่ใช่มองว่าความปกติคือชายและหญิงเท่านั้น อีกทั้งคำเหล่านี้ยังเป็นคำที่มีความหมายไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุมความหมายที่แท้จริง อย่างเช่นคำว่าคนรักร่วมเพศ ไม่ได้หมายว่าในโลกใบนี้จะมีแค่คนรักเพศเดียวกันอย่างชายรักชายหรือหญิงรักหญิง ทอมก็สามารถชอบเกย์ได้ เลสเบี้ยนก็อาจชอบเกย์ควีนก็ได้ จากความหลากหลายทางรสนิยมทางเพศของคน คำเรียกที่ว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นคำที่ครอบคลุมมากที่สุดและมีปัญหาด้านการอคติทางเพศน้อยที่สุด เพราะการใช้คำนี้ถือเป็นการเปิดกว้างต่อความหลากหลาย ไม่เหมือนคำอื่น ๆ อย่างเพศที่สามหรือเพศทางเลือกที่ได้กล่าวไป คำนี้เองยังไม่ถือว่าเป็นคำเรียกที่ใช้เหยียดและยังเป็นการสื่อนัยยะของความเคารพและเท่าเทียมกันทางเพศอีกด้วย อย่างไรก็ตามการใช้คำเรียกเพศของผู้อื่นควรคำนึงถึงความสมัครใจของผู้นั้นเป็นสำคัญ หากเป็นไปได้ก็ควรถามผู้นั้นโดยตรงว่าต้องการให้ใช้คำใด เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและไม่กลายเป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับผู้อื่น

 

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณจะนิยามตนเองอย่างไร จงภูมิใจในความเป็นตัวตนของคุณ #Pride