“Quarter-life Crisis” จากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ วิกฤตของชีวิตที่มาโดยไม่มีสัญญาณเตือน

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

สวัสดีปีใหม่ เผลอแป๊บเดียวก็เติบโตขึ้นมาอีกปีแล้วสินะ …

เคยรู้สึกเหมือนกันไหมว่า เวลาบนโลกนี้ช่างผ่านไปรวดเร็วเสียจนไม่ทันได้ตั้งตัว ในขณะที่สิ่งต่าง ๆ รอบกายเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ในช่วงเวลาที่ผู้คนต่างแข่งขันไขว่คว้าหาชัยชนะ และถวิลหาความสำเร็จ บางครั้ง ฉันก็แค่อยากนั่งพักอยู่กับที่ ฉันเป็นเพียงวัยรุ่นที่ยังไม่มีแม้แต่ความฝัน แต่สังคมมักกดดันให้รีบค้นหา ฉันหวาดกลัว กังวล และกำลังหลงทาง แต่พ่อแม่กลับเร่งเร้าให้รีบตามหาเส้นทางของตัวเอง ฉันยังไม่อยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่เวลาที่แปรเปลี่ยนไปไม่เคยเดินถอยหลัง ฉันยังอายุไม่ถึงสามสิบด้วยซ้ำ แต่กำลังพะว้าพะวงกับอนาคตในอีกสิบปีข้างหน้า และสุดท้ายฉันก็พบว่า ฉันกำลังสับสนและเคว้งคว้าง ในภาวะ “วิกฤตหนึ่งส่วนสี่ของชีวิต”

 

Quarter-life Crisis หรือวิกฤตหนึ่งส่วนสี่ของชีวิต คือภาวะที่ผู้คนในวัย 18-30 ปี เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง สับสน และเคว้งคว้าง อันเกิดจากการเผชิญหน้ากับช่วงเวลาแห่งการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังไม่คุ้นชิน และต้องเข้าสู่โลกของการทำงานอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ สภาพสังคมรอบข้างยังคอยกดดัน และเร่งเร้าให้เรารีบประสบความสำเร็จในการเรียนหรือสายงานที่ทำ คาดหวังให้เรามีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน ทั้งยังตีกรอบชีวิตของเราในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า ‘จบไปจะทำงานอะไร’ ‘เรียนจบแล้วเมื่อไรจะรีบหางานทำ’ ‘ดูซิ คนอื่นเขาประสบความสำเร็จกันไปถึงไหนแล้ว’ และอีกสารพันคำพูดที่ถาโถมเข้ามา ทำให้วัยรุ่นตอนปลายและผู้ใหญ่ตอนต้นทั้งหลายที่กำลังเจ็บปวดกับรสชาติอันขมปร่าของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งรู้สึกทรมานใจ และตั้งคำถามต่อคุณค่าของชีวิตตัวเองมากขึ้น

 

หลายครั้งหลายคราที่ผู้ใหญ่ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนมักบอกให้ผู้ใหญ่มือใหม่ทั้งหลายรีบหางานทำให้เป็นหลักเป็นแหล่ง “ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” พวกเขามักบอกเราแบบนั้น ทว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคสมัยอันไร้ซึ่งความมั่นคงเช่นนี้ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่ใครต่อใครคิด เพราะผู้คนในวัย 18-30 ปีบางคนนั้น อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชนมากพอจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ไม่ทันไรก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่างในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งเสียแล้ว ความรู้สึกหวาดกลัว วิตกกังวล และสับสนจึงประเดประดังเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อให้วัยรุ่นได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ มีแต่จะต้องท่องจำบทเรียนที่ใช้ไม่ได้ในชีวิตจริง แต่ทันทีที่ก้าวออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย สังคมกลับคาดหวังให้เรารีบค้นหาเป้าหมายในชีวิตของตัวเองให้เจอทันทีเสียอย่างนั้น วัยรุ่นผู้เคยไม่ยี่ระกับเรื่องของอนาคต ในวันนี้กลับกลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเสียแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะสามารถปรับตัวให้พร้อมตั้งรับกับภาระหน้าที่อันเคียงขนานมากับความเจ็บปวดนี้

 

ในช่วงเวลาอันแสนเคว้งคว้างที่ใครหลายคนต้องพบเจอวิกฤตหนึ่งส่วนสี่ของชีวิต ทั้งยังต้องรับมือกับความกดดันซึ่งเกิดจากการทำงาน ครอบครัว สภาพสังคม และคนรอบข้าง ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้อาจทำให้เราเสียศูนย์และไม่รู้จะเดินไปทางไหน แต่ไม่ว่าจะเจ็บปวดจึงเพียงใด โปรดเชื่ออยู่เสมอว่า ทุกวิกฤตของชีวิตย่อมมีจุดสิ้นสุด เหมือนฟ้าหลังฝนที่ย่อมสวยงามเสมอ

 

การจะผ่านพ้นวิกฤตหนึ่งส่วนสี่ของชีวิตไปได้นั้น การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเราอาจเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองเป็นอันดับแรก

– ใจดีกับตัวเองให้มาก ๆ ชื่นชมตัวเองให้เยอะ ๆ พึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มีมนุษย์คนไหนสมบูรณ์แบบ

– ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะเราทุกคนล้วนมีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนรอบข้าง

– ระบายความกังวลใจให้คนที่ไว้ใจฟัง ไม่เก็บกักความรู้สึกเจ็บปวดนั้นไว้จนมันกัดกินจิตใจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ เราล้วนเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก และร้องไห้ได้เป็นเรื่องปกติ

– เริ่มต้นตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในชีวิต แล้วค่อยขยับไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นโดยไม่กดดันตัวเองมากจนเกินไป และไม่นำความคาดหวังของคนในสังคมมาตีกรอบชีวิตตัวเอง

 

เพราะจังหวะชีวิตของมนุษย์ทุกคนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ต่อให้ค่านิยมในสังคมจะกดดันให้เรารีบเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากแค่ไหน หรือคาดหวังให้เราประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้นเพียงใด โปรดจดจำไว้เสมอว่า เราทุกคนมีสิทธิที่จะกำหนดเส้นทางและความเร็วในการดำเนินชีวิตของตัวเอง ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า ดอกไม้นานาพันธุ์ต่างมีฤดูกาลแห่งการผลิบานของตัวเองฉันใด มนุษย์เราก็มีช่วงเวลาแห่งการเติบโตเป็นของตัวเองฉันนั้น

 

 

Flowers need time to bloom.

So do you.

 

 

เนื้อหา : ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

พิสูจน์อักษร :

ภาพ : ฮุสนา น้อยเรืองนาม

 

 

รายการอ้างอิง

Bradley University. (n.d.). Understanding The Quarter-life Crisis. Retrieved from https://onlinedegrees.bradley.edu/blog/understanding-the-quarter-life-crisis/
Ran Zilca. (2016). Why Your Late Twenties Is the Worst Time of Your Life. Retrieved from https://hbr.org/2016/03/why-your-late-twenties-is-the-worst-time-of-your-life