จ้วง (Chuang)

ชื่อชนชาติ:    จ้วง (Zhuang, Chuang)

จ้วง เป็นชื่อที่รัฐบาลจีนใช้เรียกชนกลุ่มน้อยเผ่าที่มีประชากรมากที่สุดในมณฑลกวางสี (Guangxi) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยเหตุที่มณฑลนี้มีจ้วงเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ถึงกว่า 12 ล้านคน มณฑลจึงได้รับการกำหนดให้เป็นเขตปกครองตนเอง กวางสีจ้วง (The Guangxi – Zhuang Autonomous Region) อย่างไรก็ดี ตามความเป็นจริงเผ่าชนที่รัฐบาลจีนเรียกว่า จ้วงนั้นประกอบด้วยหลายเผ่าย่อยทั้งที่เรียกว่าตนเองว่าจ้วง และที่เรียกตนเองด้วยชื่ออื่นแตกต่างออกไป เช่น ผู้ไย้ ผู้ย้อย ปู้อี นุง และโท้ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าชื่อจ้วง เป็นชื่อทางการที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อความสะดวกในการปกครอง โดยอาจมีเกณฑ์อื่นๆ ประกอบ เช่น เกณฑ์ในเรื่องความเป็นอยู่ วัฒนธรรม เกณฑ์ความคล้ายคลึงทางภาษาและเกณฑ์ที่ผู้นั้นกำหนดให้ตัวเองเกณฑ์หลังนี้อาจเห็นได้ชัดจากการสอบถามทางด้านภาษา ซึ่งผู้เรียกตนเองว่า จ้วง ไม่รู้ภาษาจ้วงเลยแม้แต่น้อย แม้ดูเหมือนว่าเกณฑ์การกำหนดเชื้อชาติให้ตัวเองจะดูแปลก แต่ก็ไม่อาจตัดทิ้งไปได้เลยทีเดียว เพราะมีความเป็นไปได้เช่นกัน ที่คนๆนั้นจะสืบเชื้อสายเก่าแก่มาจากพวกจ้วง แต่ได้ทิ้งภาษาดั้งเดิมของตนไปแล้ว  ในที่นี้เราจะใช้ จ้วง เพื่อหมายเฉพาะถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในกวางสี และเรียกตนเองในปัจจุบันว่า “จ้วง” โดยไม่มีชื่ออื่นเรียกตนเองอีก ส่วนผู้ที่พูดภาษาที่ใกล้ชิดกับคนเหล่านี้ แต่มีชื่อเผ่าชัดเจน เช่น นุง ปู้-อี นั้น  ในปัจจุบัน คนเหล่านี้ก็ยังรักษาความเป็นเผ่าของตนไว้โดยเคร่งครัด

แหล่งที่อยู่อาศัย:    ชนชาติจ้วงอาศัยอยู่ในบริเวณทางตอนใต้ของจีนตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง ( Sung Period) ในแถบภาคตะวันตกของเขตปกครองตนเองกวางสี-จ้วง (The Guangxi-Zhuang Autonomous Region) ตั้งแต่ทิศเหนือจดทิศใต้

ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน:    ภาษาที่ใช้ในชิวิตประจำวันขึ้นอยู่กับผู้พูดว่าสูงอายุหรือไม่ และอาศัยอยู่ในเขตชนบท หรือในตัวเมือง ผู้สูงอายุในชนบทจะพูดภาษาจ้วงเท่านั้น ไม่สามารถพูดภาษาจีนไม่ว่าจีนถิ่นหรือจีนกลาง พูดจ้วงเมื่อยู่บ้านหรือสนทนากับคนจ้วง และพูดจีนกับคนแปลกหน้า และในการติดต่อทั่วไป แต่ในเขตท้องถิ่น ผู้พูดรุ่นเด็กยังพูดภาษาจ้วง และภาษาจีนถิ่นหรือจีนกลางแบบเดียวกับผู้พูดรุ่นกลาง ภาษาจ้วงอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ภาษาจ้วงเหนือและจ้วงใต้ ความแตกต่างของภาษา 2 กลุ่มใหญ่นี้อาจเห็นได้จากเสียงพยัญชนะกัก กล่าวคือ ภาษาจ้วงเหนือจะออกเสียงเป็นปี และต๊อง ส่วนจ้วงใต้ออกเสียง ว พี และท้อง ภาษากลุ่มจ้วงเหนือ และกลุ่มจ้วงใต้ ต่างก็แยกเป็นภาษาถิ่นย่อยอย่างน้อย 7 ถิ่น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มจ้วงใต้ ซึ่งมีภาษาจีนย่อยประมาณ 5 ถิ่น ภาษาถิ่นย่อยของจ้วงเหนือกลับแตกต่างระหว่างกันน้อยกว่า  ภาษาจ้วงไม่มีตัวเขียน ในสมัยโบราณใช้ตัวอักษรจีนที่มีเสียงใกล้เคียงกับคำจ้วงมาแทนคำจ้วงนั้น หรืออาจประดิษฐ์ตัวอักษรจีนขึ้นใช้แทนคำจ้วง ต่อมาในปี 1957 มีการใช้อักษรแทนเสียง โดยชุดอักษรดังกล่าวเป็นแบบอักษรรัสเซีย ในปัจจุบันเริ่มการใช้อักษรโรมันแทนเสียงทั้งเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ บ้านเขียนเป็น mbanj [บ] = mb, [า] = a, [น] = n


แหล่งเก็บข้อมูล:    – อำเภอหนานดาม (Nandan)
                           – อำเภอเถียนตง (Tiandong)
                           – อำเภอตู้อาบ (Duan)
                           – อำเภอเทียนเติ่ง อำเภอฉงจว่อ (Chongzwo)
                           – ท้องถิ่นหลงหลิน (Longlin County)

ลักษณะบ้านของจ้วง:    บ้านของคนจ้วงส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีลักษณะเดียวกับบ้านของคนจีน คือ ทำด้วยก้อนดินอัด ชั้นล่างติดดิน ซึ่งปรับพื้นแน่น หลังคามุงด้วยหญ้า หรือทำเป็นดาดฟ้า อย่างไรก็ดี ยังมีบ้านแบบเดิมของชาวจ้วงกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ เช่น ที่ท้องถิ่นหลงหลิน (Longlin County) บางแห่งในท้องถิ่นซานเจียง (Sanjiang County) บ้านจ้วงแบบเดิมเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงมีบันไดนอกบ้าน เรียกว่า เรือน ในบางพื้นที่ออกเสียงว่า หร่าน ใต้ถุนบ้านมักใช้เก็บสัตว์เลี้ยง เช่น หมู ควาย

เครื่องแต่งกาย:    โดยทั่วๆ ไปหญิงจ้วงในมณฑลกวางสีแต่งกายไม่ต่างกับคนจีน หญิงสมัยใหม่แต่งกายแบบสากล คือ ใส่เสื้อเชิ้ต นุ่งกางเกงสีต่างๆ ถ้าเป็นหญิงกลางคนหรือสูงอายุจะใส่เสื้อและนุ่งกางเกงแบบจีนสีน้ำเงินเข้มหรือดำ แต่ที่อาจทำนายได้ว่าเป็นชาวจ้วงก็คือ ผ้าโพกศีรษะ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปทั้งสี ลวดลาย และวิธีโพก เช่น เป็นสีดำพื้นหรือน้ำเงินเข้ม เป็นสีเทามีลวดลายตาราง หรือเป็นผ้าฝ้ายสีขาวมีลวดลายที่ชาย หรือใช้ผ้าขนหนูสีชมพูอ่อนหรือขาว วิธีโพกที่แตกต่างกัน เช่น อาจนำผ้ามาพันทบวางบนศีรษะ โพกขึ้นรูปทรงกระบอก เป็นต้น หญิงจ้วงในบางท้องที่ เช่น ในท้องถิ่นหลงหลิน ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้ยังคงรักษาชุดดั้งเดิมของตนไว้ในโอกาสสำคัญๆ ส่วนหญิงจ้วงแถบหลงโจวทางตอนใต้ โดยเฉพาะหญิงสูงอายุจะแต่งกายแบบจ้วงตลอดเวลา ลักษณะที่สำคัญของชุดดั้งเดิมของหญิงจ้วงก็คือ การนุ่งซิ่นที่มีลักษณะจับกลีบเล็กๆ รอบตัว การจับกลีบนี้จะทำโดยการพับผ้าเล็กๆ แล้วรัดไว้ด้วยเชือกให้กลีบอยู่ตัว ความยาวของซิ่นแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น หญิงจ้วงที่หลงหลินนุ่งซิ่นยาวแค่เข่า แต่หญิงจ้วงที่หลงโจวนุ่งซิ่นยาวถึงตาตุ่ม ส่วนซิ่นมักเป็นสีดำ แต่ที่หลงหลินหญิงสาวใส่ซิ่นสีฟ้าหม่น มีลวดลายสีขาว ลักษณะของซิ่นของหญิงจ้วงที่หลงหลินเป็นแผ่นผ้าพันรอบตัว โดยไม่เย็บเป็นตัวกระโปรง ด้วยเหตุนี้จึงใช้นุ่งทับกางเกงขายาวสีดำ เสื้อที่ใช้กับซิ่นเป็นเสื้อตัวสั้นๆ ป้ายขวา แต่งขอบด้วยการปักดอกไม้หรือผีเสื้ออย่างสวยงาม ในเวลาหนาวจะใส่เสื้อซ้อนกัน บางทีถึง 3 ชั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น ตัวในสุดมักเป็นสีขาว แขนยาวที่สุด ส่วนตัวที่ 2 มักเป็นสีอื่น เช่น ฟ้า ชมพูอ่อน แขนสั้นกว่าตัวใน และตัวนอกที่สุดมักเป็นสีดำ แขนสั้นที่สุด ดังนั้น เมื่อใส่เสร็จแล้ว จะเห็นแขนเสื้อเป็น 3 ชั้น ดูสวยงาม สำหรับชุดทางการที่กล่าวมานี้ หญิงจ้วงโพกศีรษะด้วยผ้าดำ ชายเป็นครุย ด้วยวิธีการที่ซับซ้อน ในเวลาอื่นๆ เขาจะโพกศีรษะแบบง่ายๆ ด้วยผ้าสีขาวปักลวดลายสีดำ หญิงจ้วงได้ชื่อว่าเป็นช่วงปักผ้าที่มีความชำนาญ ในบางพื้นที่ใช้วิธีทอลวดลายลวดไปในเนื้อผ้าเลย

ด้านศาสนา:   ชาวจ้วงไม่มีศาสนา แต่นับถือบรรพบุรุษ และเนื่องจากได้ติดต่อกับชาวจีนมาเป็นเวลาช้านาน ประเพณีของชาวจ้วงส่วนใหญ่ก็คล้ายคลึงกับของจีน ประเพณีสำคัญของชาวจ้วงถือเป็นประเพณีของเผ่าตนคือ ประเพณีวันที่สามเดือนสาม ซึ่งจะตกราวเดือนสี่ของไทยคือราวเดือนเมษายน ในงานนี้ชาวจ้วงจะมาชุมนุมกันมีการละเล่นรื่นเริงต่างๆ โดยเฉพาะการร้องเพลง ซึ่งเป็นอุปนิสัยของชนชาตินี้ เท่าที่สังเกตุชาวจ้วงสามารถนำเหตุการณ์ใดๆ มาร้องเป็นเพลงได้เสมอ

ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Privacy Policy
© Faculty of Arts – All Rights Reserved 2020