พระราชนิพนธ์รวมเรื่อง ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

01 รวมบทพระราชนิพนธ์ (พ.ศ.2510-2520)
รวมบทพระราชนิพนธ์ (พ.ศ.2510-2520)

เป็นรวมบทพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510-2520 ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เช่นเรื่อง บิดา ฉันชอบอ่านหนังสือ ชนพูพาน Le pas de mon pere, Ombre mysterieuse เป็นต้น

เฉลิมพระเกียรติ และ รวมพระราชนิพนธ์ (พ.ศ.2510-2520)

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2521

รวมบทพระราชนิพนธ์ ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรองภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ บทพระราชนิพนธ์ทางวิชาการและบทเพลงพระราชนิพนธ์ ที่ได้ทรงนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์และภาพถ่ายเอกสารต่าง ๆ อันเนื่องด้วยพระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยยศและพระราชอิสริยศักดิ์ บทพระราชนิพนธ์ ได้แก่ ว่าด้วยสำเภาในการเทศน์มหาชาติ พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง ฉันชอบอ่านหนังสือ Le temps qui passe ห้องสมุดในทัศนะของข้าพเจ้า เป็นต้น

02 มณีพลอยร้อยแสง
มณีพลอยร้อยแสง

อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น 41 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายเป็น ‘ของขวัญ’ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ พ.ศ.2533

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ ทรงพระวิริยะอุตสาหะค้นหารวบรวมจัดทำต้นฉบับ ทรงเล่าเกร็ดประวัติอันเนื่องด้วยพระราชนิพนธ์เหล่านั้น และทรงสนพระราชหฤทัยไต่ถามแนะนำเกี่ยวแก่การจัดพิมพ์โดยตลอด
“ความเป็นนักปราชญ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น ปรากฎชัดในศาสตร์และศิลป์ทั้งหลายในพระราชนิพนธ์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง เช่น ปาฐกถา บทความวิชาการ บทวิทยุ สารคดี บทร้องเพลงไทย กวีนิพนธ์ขนาดสั้น หรือ คำฉันท์ดุษฎีสังเวยต่าง ๆ” – คณะผู้จัดทำ

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์  Bharata in reflection

ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย – อินเดีย ในปี พ.ศ.2550 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลลี สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ เมืองกัลกัตตา และเมืองเจนไน ได้ร่วมกันจัดงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงใช้ภาพเหล่านี้ประกอบการศึกษาเรื่องอินเดีย และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีไทยร่วมกับคณะศิลปินกรม ศิลปากร ที่ประเทศอินเดีย

03 ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง
ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง (Always roaming with a hungry heart)

รวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จากงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายในสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดย กรุงเทพมหานคร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ สมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
“การแสดงภาพถ่ายชุดนี้แปลกกว่าครั้งก่อนคือไม่แยกประเทศ เป็นภาพที่ถ่ายที่โน่นที่นี่ตามชอบใจตั้งแต่ พ.ศ.2547-2551 วิธีการถ่ายก็เป็นแบบเดิม คือเป็นภาพที่ถ่ายโดยปัจจุบันทันด่วน ไม่มีการตั้งรอ ยิ่งภาพคนยิ่งไม่กล้าไปจ้องถ่าย เพราะรู้สึกว่าเสียมารยาท ครั้นจะไปขอร้องหรือจ้างคนให้แสดงท่า ก็เกรงว่าจะดูไม่เป็นธรรมชาติ
ส่วนใหญ่เวลาถ่ายภาพ จะไม่ทราบเสียด้วยซ้ำว่าชีวิตนี้จะไปเจออะไร และจะเป็นภาพที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ถ่ายไม่ค่อยทัน บางภาพถ่ายมาแล้วกว่าจะพิมพ์และแสดงนิทรรศการก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นภาพอะไร ต้องเดาเอา อย่างไรก็ตามถือว่า ภาพทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “รส” ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง
ชื่อนิทรรศการ ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีเรื่อง “Ulysses” ของ Lord Alfred Tennyson หลายตอน” – พระราชนิพนธ์คำนำ

04 ปุษปสระปทุม
ปุษปสระปทุม : สมุดบันทึกภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

“…ตรงระเบียงพระตำหนักใหญ่ เป็นที่สมเด็จพระพันวัสสาฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถือว่าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์  ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จมาประทับที่พระตำหนักใหม่จนที่สุด แห่งพระชนม์ชีพ หลังจากนั้นไม่มีใครมาพักอาศัยอยู่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้ามาอยู่ที่นี่ ก็ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ข้าพเจ้ามาช่วยดูแลและทำพิพิธภัณฑ์ที่ตำหนักใหญ่ แสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาฯ เพราะเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยทราบกัน…”
ทรงเล่าถึงสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในวัง  ตลอดเล่มเป็นสมุดบันทึกสลับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ดอกบัวหลากหลายพันธุ์ที่ปลูก ไว้ภายในวัง พร้อมข้อมูลทางวิชาการของบัวแต่ละพันธุ์ เช่น ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ชื่อไทย ชื่อสามัญ ถิ่นกำเนิด ประวัติ ลักษณะพันธุ์

05 ครัวสระปทุม
ครัวสระปทุม

เป็นสมุดบันทึกประจำวัน  ประกอบภาพการทำอาหารและตำราอาหาร ภาษาอังกฤษและภาษาไทย  ตำรับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เช่น Boston Baked Beans  ขนมปังหน้าผักโขม กุ้งบ่อมรกต(กุ้งเผาสาหร่าย) พายฟักทอง ขนมรวงผึ้ง ไก่นาบกระทะ  เป็นต้น

06 ไทยทำ ไทยกิน กับข้าวฝรั่ง
ไทยทำ ไทยกิน กับข้าวฝรั่ง

ทรงทำกับข้าวฝรั่ง ตามตำราอาหารที่สตรีชาวฝรั่งเศสจดถวาย เมื่อครั้งเสด็จฯ เมืองตูร์ ประเทศฝรั่งเศส และประทับที่บ้านสุภาพสตรีชาวฝรั่งเศส อายุ 60 ปีเศษ ชื่อ มาดามนิโคล เดอมองเต๊กซ์ ซึ่งเป็นผู้ทำอาหารฝรั่งเศสถวายทุกมื้อ  จึงทรงถามวิธีทำ และถ่ายรูปอาหารไว้ทุกจาน
“…นิโคลยังใจดีเขียนตำรา อาหารเหล่านี้ใส่สมุดกลับมาลองทำ  ข้าพเจ้ายังทำไม่ครบทุกอย่าง (ถ้าจะให้ครบคงอีกนาน)…  ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองทำกับข้าวฝรั่งเศสได้อร่อย คนอื่น ๆ ที่มาชิมก็ชมกันทั่วหน้า จึงขอเผยแพร่ให้ทุกท่านที่ชอบอาหารพวกนี้ทดลองทำรับประทานเอง
มีอยู่ตำราเดียวคือ ยำเกสรชมพู่ที่เป็นอาหารไทยขนานแท้ ขอนำมาใส่ไว้ด้วย ถือว่าเป็นการแสดง “ฝรั่งไทยสามัคคี” ก็แล้วกัน”

07 ทอสีเทียบฝัน
ทอสีเทียบฝัน : จิตรกรรมฝีพระหัตถ์

โรงเรียน จิตรลดาและอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 41 ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดพิมพ์ขึ้น เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 40 พรรษา พ.ศ.2538  รวบรวมภาพฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดระหว่าง พ.ศ.2525-2538 รวม 101 ภาพ ทั้งภาพสีน้ำ สีน้ำมัน สีเทียน สีดินสอ สีดินสอโปสเตอร์ และหมึกจีน  ส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ทรงวาดจากจินตนาการบ้าง จากแบบของจริง หรือภาพถ่ายบ้าง  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัมภาษณ์ และทรงค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติภาพฝีพระหัตถ์จากบันทึกส่วนพระองค์ และเอกสารอื่น ๆ ด้วย

08 จงจรเที่ยว
จงจรเที่ยว….

สมุดบันทึกภาพ ถ่ายฝีพระหัตถ์ 12 ประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ประจำปี 2554 ที่งดงามด้วยภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ และบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงเล่าเหตุการณ์ ความรู้สึก ตลอดจนความทรงจำที่มากด้วยสาระ และแฝงพระอารมณ์ขัน ชวนติดตามตลอดเล่ม

“จงจรเที่ยว” มาจากบทร้อยกรองวรรคหนึ่งในหนังสือนิทานเวตาล พระนิพนธ์ของพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.)
จงจรเที่ยว เทียวบทไป
พงพนไพร ไศละดำเนิน …

ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Privacy Policy
© Faculty of Arts – All Rights Reserved 2020