ไทแดง (Tai-Daeng)

ชื่อชนชาติ:    ไทแดง (Tai Daeng)

ชื่อที่ใช้เรียกตนเอง:    ไทลำ (Tai Lam)

ชื่อที่คนอื่นใช้เรียก:    

แหล่งที่อยู่อาศัย:    แขวงหัวพัน ประเทศลาว

แหล่งเก็บข้อมูล:    บ้านหนองแปน (Nongpaen) แขวงเวียงจันท์ (Veintiane) ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Laos) บ้านนี้อยู่ลึกเข้าไปจากถนนที่มุ่งหน้าไปหลวงพระบางประมาณ 60 กิโลเมตร แยกลึกเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตรเป็นดินลูกรัง รถเข้าไม่ได้นอกจากรถจิ๊ปและปิ๊กอัพ บ้านนี้มีประชากรประมาณ 70 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นไทแดง ส่วนน้อยเป็นพวน มีไทดำอยู่บ้างเล็กน้อย ในหมู่บ้านมีต้นไม้ใหญ่ๆ เป็นไม้ปลูก เช่น มะขาม ส้มโอ หมากน้ำนม (ต้นที่ใบข้างบนเขียว ข้างล่างน้ำตาล มีคนว่ากรุงเทพฯ เรียกว่า Star Apple) บ้านส่วนใหญ่มีคอกไก่ทำเป็นบ้านหลังเล็ก มีการเลี้ยงหมูและปลูกผักบนแคร่สูงๆ  หญิงไทแดงที่บ้านนี้บอกว่าตนเองย้ายมาจากซำเหนือ ผู้หญิงสาวไทแดงกับผู้หญิงมีอายุไทแดงจะแต่งตัวไม่ต่างกันยกเว้นสีเสื้อ หญิงสูงอายุใส่เสื้อสีดำ ฟ้า หรือเขียว ส่วนหญิงสาวจะใส่สีอ่อนๆ เช่น สีฟ้าอ่อน ลักษณะเสื้อเป็นเสื้อคอกลมตื้นมาก จึงใส่หัวไม่ได้ต้องผ่าที่บ่าทั้ง 2 ข้าง และติดกระดุมแบบห่วงบ่าละ 1 เม็ด กระดุมนี้เรียกว่า หมากต้อง หรือตรงกับภาษาไทยว่า หมากท้อง รอบๆ คอเสื้อติดกระดุมเงินเป็นรูปดอกไม้กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร เรียกว่า หมากแนก ตัวเสื้อต่อที่แขน มีแขนยาวลีบติดแขน ตัวเสื้อแคบสั้นแค่อก  ซิ่นของหญิงไทแดงยาวมาก เวลานุ่งขึ้นไปจนจดใต้ราวนมพอดีกับเสื้อตัวสั้นๆ จึงมีคำกล่าวว่า “ซิ่นเหลือ เสื้อ บ่ พอ” ซิ่นประกอบด้วยตัวซิ่น ซึ่งมีหลายแบบมาก บ้านที่เราไปเป็นซิ่นสีดำมีทางลงเล็กๆ หรือบางทีเป็นลายมุกต่อลายยกไหมเป็นขั้นๆ บนพื้นสีดำแดงแก่ ลายมุกมีตั้งแต่มุก 4 ไปจนมุก 6 ซิ่นนี้อาจมีตีนเป็นตีนจก หรือดำไม่มีลวดลาย หัวซิ่นเป็นสีดำต่อด้วยผ้าทางลงเป็นลายลงสีเทาดำ ส่วนใหญ่และต่อด้วยผ้าดำอีกต่อหนึ่ง เวลานุ่งไปจนจรดดอกใช้เหน็บไว้ เอวรัดด้วยผ้ารัดเอวเรียกว่า สายแอ่งแหล้ ผ้ารัดเอวนี้โดยมากเป็นสีเขียวตองอ่อน ก่อนรัดจะร้อยสายสร้อยเงิน 4 สายซึ่งผูกติดอยู่กับหมากหลาว อันหนึ่งใหญ่อันหนึ่งเล็ก หมากหลาวนี้เป็นรูปคล้ายหัวใจเป็นกล่องลึกประมาณ ครึ่งนิ้ว มีฝาเปิดปิดได้ไว้เก็บของมีค่าเช่นแหวน ต่างหู ระหว่างหมากหลาวมีตัวผีเสื้อเล็กเรียกว่า แมงหวี อยู่ตรงกลางกำกับสายสร้อยเงิน 4 เส้นให้เรียงเป็นแนวจากกันเป็นแผ่น หมากหลาวอันใหญ่จะเอาขึ้นไปเหน็บไว้ที่ผ้ารัดเอวเห็นโผล่ขึ้นมาจากผ้านิดหน่อย ส่วนสายสร้อยเงินนั้นห้อยทาบบนตัวซิ่น  สอบถามได้ความว่า ชุดนี้ได้ใช้ใส่ทุกโอกาสเวลาไปงานศพก็ใส่เช่นนี้ แต่โดยมากนิยมใส่ชุดเก่าๆ และมักเป็นซิ่นพื้นดำ หรือสีแก่ไม่ฉูดฉาด (คนไทแดงชอบสีดำ และแดง) นอกจากนี้หญิงไทแดงอาจห่มส่วนบนในลักษณะห่มเฉียงด้วยผ้าห่มเรียกว่า ผ้าทุ้ม ผืนที่เห็นเป็นพื้นสีแดง ทอเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ด้วยไหมขาว มีลิง ช้าง ตัวตั๋ง นกกาแก ไก่ ผ้าห่มนี้บางคนทอด้วยฝ้ายเป็นลวดลายเรขาคณิตใช้ห่มนอนก็มีเครื่องประดับ  หญิงไทแดงใส่ปลอกคอ ปลอกแขน เรียกว่า ปอกคอ ปอกแขนทำด้วยเงิน ถ้ารวยมากก็ใส่หลายอัน และอาจใส่ตุ้มหูเป็นห่วงเล็กๆ เกลี้ยงๆ เป็นแบบขดเกลียว และแบบมีสองปลายอยู่ห่างจากกันเรียกว่า ปอกแขน และปอกแขนต่อปากตามลำดับ เรียกว่า ต่องปิ้ง สำหรับปลอกแขนที่เห็น การเกล้าผมตั้งกลางบนศีรษะอาจมีปิ่นปักเรียกว่า เสี้ยมเกล้าฝม และโพกหัวด้วยผ้าสีดำ (หญิงแต่งงาน) หรือ เขียวหรือฟ้า (หญิงไม่มีเรือน) เวลาโพกเอาผ้าพันทบจนกว้างประมาณ 5 นิ้ว มัดไขว้หลังศีรษะเอาปลายข้างหนึ่งต่อขึ้น อีกข้างปล่อยปลาย หรือเหน็บชาย ผ้าโพกหัวเรียกว่า ผ้าขัน

ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Privacy Policy
© Faculty of Arts – All Rights Reserved 2020