ไทขืน (Tai-Khuen)

ชื่อที่ใช้เรียกตนเอง:    ไทขืน (Tai-Khuen)

ชื่อที่คนอื่นใช้เรียก:    ไทขืน

แหล่งที่อยู่อาศัย:    แม่อาย สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

แหล่งเก็บข้อมูล:     บ้านตางัว (Ta-Ngua) ตำบลบ้านกลาง (Banklang) อำเภอสันป่าตอง (Sanpathong) จังหวัดเชียงใหม่

เครื่องแต่งกาย:    การแต่งกายของชาวบ้านผู้หญิง เหมือนผู้หญิงภาคกลาง คือ ใส่ผ้าถุง และเสื้อเชิ้ต หรือเสื้อปกฮาวาย ผมตัด แต่มีการเก็บซิ่นและเสื้อของเก่าไว้บ้าง มีวัฒนธรรมประเพณีเก่าที่ยังปฏิบัติอยู่บ้าง การสอบถามข้อมูลในช่วงอายุย่า และยายยังพอเป็นไปได้ ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อมูลการแต่งกายของหญิงไทขืน เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน หญิงไทขืนในหมู่บ้านตางัวมีการแต่งกายที่อาจแบ่งได้ตามอายุ และฐานะทางการเงิน ดังนี้ เด็กหญิงอายุ 12-15 ปี ไม่ใส่เสื้อ และนุ่งซิ่นที่ไม่มีการต่อหัวหรือตีนซิ่น มีเฉพาะผ้าซิ่นซึ่งเรียกว่า (ผ้าก้อม) เด็กสาวอายุ 17 ปีขึ้นไป เมื่ออายุประมาณ 17 ปี เด็กสาวจะต้องใส่เสื้อเวลาออกไปนอกบ้านและเมื่ออยู่ในบ้านจะห่มออกก็ได้ เมื่ออายุ 19 ปีจึงจะนิยมออกเรือน หรือเรียกว่า กินแขก ตามประเพณีไทขืน หญิงที่ครองเรือนแล้ว จะแต่งตัวแบบเดียวกันกับผู้สูงอายุ ดังนี้ คือ ในเวลาร้อนหากอยู่บ้านมักไม่ใส่เสื้อ หากยังไม่แก่นัก ก็จะเอาผ้าสพายมารัดอกไว้ ตามคำบอกเล่าไม่สู้เรียบร้อยนัก เวลาออกจากบ้านถ้าไม่ได้ไปวัดหรือไปทำงานที่ไร่ จะเอาผ้าซิ่นขึ้นมากระโจมอกไว้ แต่ถ้าจะไปวัดจะใส่เสื้อแขนยาวที่เป็นสีน้ำเงินหรือสีหม้อฮ่อม เรียกว่า เสื้อซอน มีลักษณะผ่าหน้ามีสาบ แล่นตั้งแต่คอลงมาข้างหน้าเป็นแบบป้ายหน้า ตรงเอวมีการต่อผ้าเป็น 3 แฉก เวลาใส่ปลายเสื้อจึงผายออกเล็กน้อย ตัวเสื้อรัดรูป และแขนก็พอดี การต่อแขนเสื้อต่อที่ต้นแขนไม่ใช่ที่ไหล่ มีเสื้ออีกแบบหนึ่งเป็นผ้ากำมะหยี่สีดำและซับในด้วยผ้าสีแดง เวลาใส่เห็นผ้าสีแดงที่คอนิดหน่อย เสื้อกำมะหยี่นี้ไม่มีความต่างในรูปแบบจากเสื้อหม้อฮ่อม หรือเสื้อซอนแต่อย่างใด แต่แสดงฐานะผู้สวมใส่ คือ ถ้าใส่เสื้อกำมะหยี่แดง หรือต้องเป็นผู้มีฐานะ เพราะเสื้อนี้ต้องแลกด้วยเงิน 3 แตบ (เงินรูปี 3 เหรียญ) ซิ่นของไทขืนในปัจจุบันได้กล่าวแล้ว ซิ่นไทขืนเป็นผ้าพิมพ์จากตลาด แต่ในสมัยก่อนจะมีซิ่นทอด้วยมือ เรียกว่า ซิ่นนี้จะแบ่งเป็น 3 ตอนคือ หัวซิ่น และ ผ้ามีลวดลายเป็นเส้นขวาง ตีนซิ่นเป็นสีดำ แต่พวกสาวๆ มักชอบตีนซิ่นเป็นสีๆ เช่น สีแดง พื้นซิ่นตรงกลางเป็นสีดำ ส่วนลายขวางอาจเป็นสีแดงหรือเหลืองก็ได้ สีแดงนั้น ไม่ใช่แดงชาดเป็นแดงออกน้ำตาล

ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Privacy Policy
© Faculty of Arts – All Rights Reserved 2020