thai lue bg
 
ไทลื้อ (Tai-Lue)

ชื่อชนชาติ: ไทลื้อ (Tai-Lue)

ชื่อที่ใช้เรียกตนเอง: ลื้อ, ไทลื้อ

ชื่อที่คนอื่นใช้เรียก: ลื้อ, ไทลื้อ, ไตลื้อ, ไปอี

แหล่งที่อยู่อาศัย: มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา  ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีประวัติการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐฉาน ประเทศพม่า ต่อมาชาวลื้อบางส่วนได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน 

เครื่องแต่งกาย: ในอดีต ผู้หญิงจะสวมใส่ “เสื้อปั๊ด” มีลักษณะแขนยาว เอวลอย ตัดเข้ารูป ตรงชายเสื้อจะยกลอยขึ้นทั้งสองข้างของลำตัว สีที่ใช้เป็นสีดำ สีคราม ด้านหน้าตัวเสื้อตัดแบบป้าย ส่วนมากจะป้ายจากขวาไปซ้าย และสวมซิ่นที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น กลางซิ่น และตีนซิ่น โดยมีลวดลายตรงกลางตัวซิ่น ส่วนหัวซิ่นเป็นผ้าฝ้ายสีดำ สีขาว หรือสีน้ำตาล ส่วนตีนซิ่นเป็นผ้าพื้นสีดำ โดยผู้หญิงไทลื้อจะสวมสีเสื้อผ้าตามโอกาสต่าง ๆ เช่น สวมใส่เสื้อปั๊ดสีขาวในงานบุญ โพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือสีขมพู สวมเสื้อสีดำในงานประเพณีหรืองานแต่งงาน โพกผมด้วยผ้าสีขาว สีดำ หรือสีชมพู นอกจากนี้ยังมีถุงย่ามที่ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งเวลาแต่งชุดลื้ออีกด้วย

ส่วนผู้ชายในอดีตจะสวมเสื้อคอกลมแขนยาวสีดำ สีขาว หรือสีคราม เป็นเสื้อตัวสั้น คอกลม เป็นผ้าสีล้วน โดยสวมสีเสื้อตามโอกาสเช่นเดียวกับผู้หญิง  ด้านหน้าของตัวเสื้อมีผ้าป้ายเฉียงจากขวาไปซ้ายหรือซ้ายไปขวา ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้สวมใส่ ส่วนกางเกงก็สวมสีเดียวกับสีเสื้อ มีสายยาวสองเส้นที่เย็บติดไว้ด้านหลังกางเกง สำหรับผูกเพื่อยึดกางเกงที่ด้านหน้า กางเกงมีลักษณะก้นลึก มีการเย็บ 3 ตะเข็บ ใช้ผ้าขาวม้าคาดพุง และโพกศีรษะด้วยผ้าสีน้ำตาล สีขาว หรือสีดำ

ปัจจุบันการแต่งกายของชาวลื้อก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เนื่องจากได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากทั้งตะวันตกและตะวันออก ส่วนชุดลื้อจะสวมใส่เฉพาะในงานประเพณี พิธีกรรม หรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีการสวมใส่ชุดลื้อเพื่อนำเสนอให้กับนักท่องเที่ยวในโอกาสที่มีคนมาเยือนอีกด้วย

ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Privacy Policy
© Faculty of Arts – All Rights Reserved 2020