เรียนรู้ภาษิตยวน
การเรียนรู้ภาษานอกจากเรียนรู้จากทักษะพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่าน การเขียนแล้วนั้น การเรียนรู้ภาษาควบคู่กับการศึกษาสังคมและวัฒนธรรม นอกจากจะช่วยให้เข้าใจความหมายแล้ว ยังสามารถช่วยให้เข้าใจถึงวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อเฉพาะตัวที่มีอยู่ในสังคมหรือวัฒนธรรมนั้น ๆ โดยผ่านการอ่านจากบทเรียน วรรณกรรม วรรณคดี หรือภาษิตซึ่งถือว่าเป็นข้อความที่ไว้เตือนใจ สั่งสอนในเชิงเปรียบเทียบมาอย่างช้านาน
ในบทความนี้จะมาเรียนรู้ตัวอย่างภาษิตยวน หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า คำบ่าเก่า หรือ คำก้อม จากอาณาจักรล้านนา หรือภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจวิถึชีวิตของชาวไทยวน และหลายภาษิตมีความคล้ายคลึงกับสำนวนภาษาไทย
ยามเมื่อรักน้ำส้มว่าหวาน ใจบ่เชยบานน้ำตาลว่าส้ม

ภาษิตยวนนี้ได้สั่งสอนในเรื่องของความรัก สามารถแปลตรงตัวได้ว่า “ยามเมื่อรักน้ำส้มว่าหวาน ใจไม่ชื่นบานน้ำตาลว่าส้ม” มีความคล้ายคลึงกับสำนวนไทยที่ว่า ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน ยามชังน้ำตาลยังว่าขม หมายถึง ในช่วงเวลาที่รักกัน อะไร ๆ ก็ดูดีไปทั้งหมด แต่ในช่วงเวลาที่เกลียดกันทุกสิ่งทุกอย่าง ดูขัดกันทั้งหมด
ในภาษิตนี้มีคำที่น่าศึกษาคือคำว่า บ่เชยบาน มีความหมายว่า ไม่ชื่นบาน
ไก่งามเพื่อขน คนงามเพื่อผ้า ท้าวพญางามเพื่อยศ

ภาษิตยวนนี้มีความคล้ายคลึงกับสำนวนไทยที่ว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ที่หมายถึง ความสวยงามเกิดได้เพราะความปรุงแต่ง แต่สำหรับภาษิตยวนนี้ได้เพิ่มประโยคว่า “ท้าวพญางามเพื่อยศ” ซึ่งมีความหมายว่า ความสง่างามของผู้นำที่มีความเคารพ น่าเกรงขามได้ ต้องเกิดขึ้นจากยศถาบรรดาศักดิ์ การสั่งสมงานหรือความสำเร็จที่เคยได้ทำ
ในภาษิตนี้มีคำที่น่าศึกษาคือคำว่า เพื่อ มีความหมายว่า เพราะ
สิบปากว่าบ่เท่าตาหัน สิบตาหันบ่เท่าเอามือซวาม

ภาษิตยวนนี้มีความคล้ายคลึงกับสำนวนไทยที่ว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ ที่หมายถึง การได้ยินคำบอกเล่าจากหลาย ๆ คน ไม่สู้เท่ากับการเห็นด้วยตาของตัวเอง และการได้รู้ได้เห็นจากหลาย ๆ คน หลาย ๆ ครั้ง ยังไม่สู้เท่ากับการลงมือทำเพียงครั้งเดียว นั่นคือ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ความคุ้นเคยจะเกิดได้ถ้าได้เห็นด้วยตาตนเอง และมีโอกาสได้ลงมือทำปฏิบัติจริง
ในภาษิตนี้มีคำที่น่าศึกษา 2 คำได้แก่
หัน มีความหมายว่า เห็น
ซวาม มีความหมายว่า คลำ, ลูบคลำ, สัมผัส
แกงบ่จางบ่รู้คุณเกือ หนูบ่ขบเสื้อผ้าบ่รู้คุณแมว

สัมผัสภาษิตยวนนี้มีคำแปลตรงตัวคือ “แกงไม่จางไม่รู้คุณเกลือ หนูไม่ขบกัดเสื้อผ้าไม่รู้คุณแมว” ในภาษาไทยมีสำนวนที่คล้ายกันคือ แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ หมายถึง การเห็นคุณค่าของบุคคลใดที่มีประโยชน์ หรือสิ่งใดที่มีคุณค่า ต่อเมื่อขาดบุคคลหรือสิ่งนั้นไป
ในภาษิตนี้มีคำที่น่าศึกษาคือคำว่า เกือ มีความหมายว่า เกลือ

หากสนใจภาษิตยวนอื่น ๆ และภาษิตต่าง ๆ ของกลุ่มชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและสาละวิน ได้แก่ ไทขึน ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทเหนือ และลาว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ภาษิตตระกูลไท ของอนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์ ที่พิพิธพัสดุ์ไท-กะได ชั้น 1 ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Privacy Policy
© Faculty of Arts – All Rights Reserved 2020